รพ.สธ.สำรองน้ำ 2 สัปดาห์ รับมือภัยแล้ง
ภัยแล้ง ชุมชนเสี่ยงขาดแคลนน้ำมากกว่า 1,200 แห่ง รพ.สังกัดกระทรวงสาธารณสุขสำรองน้ำให้พอใช้อย่างน้อย 2 สัปดาห์ จัดหาแหล่งน้ำอื่นๆ ย้ำไม่กระทบบริการ พร้อมเตือนประชาชนใส่ใจสุขอนามัย ป้องกันโรค
KEY
POINTS
- ภัยแล้ง สำรวจพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค 2567 มีจำนวนหมู่บ้าน/ชุมชนที่เสี่ยงมาก 1,274 แห่งใน 57 จังหวัด และ10 อันดับจังหวัดที่มีชุมชน/หมู่บ้านที่มีความเสี่ยงมาก
- แผนระบบสาธารณสุขรับมือภัยแล้ง รพ.สังกัดกระทรวงสาธารณสุข สำรองน้ำอย่างน้อย 2 สัปดาห์ พร้อมประสานหน่วยงาน จัดหาแหล่งน้ำอื่นๆ
- เตือนโรค7 โรคหน้าแล้งที่ต้องระวังช่วงภัยแล้ง เสี่ยงระบบทางเดินหายใจ โรคจากสัตว์เลี้ยง โรคไข้หวัดหน้าล้อน โรคเครียด
ปรากฎการณ์เอลนีโญจากปี 2566 เรื่อยมาจนถึงกลางปี 2567 ส่งผลให้เกิดน้ำน้อย ภัยแล้ง สร้างผลกระทบต่อภาคส่วนต่างๆ แม้จะมีการคาดว่าใกล้จะสิ้นสุดสถานการณ์แล้งแล้ว แต่ยังจำเป็นจะต้องเตรียมการรับมือ โดยเฉพาะระบบสาธารณสุข ในส่วนของรพ. เพื่อไม่ให้กระทบต่อการให้บริการประชาชน
กว่า 1,200 แห่งเสี่ยงมากขาดน้ำ
จากการสำรวจพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค 2567 ครั้งที่ 1 เดือนมีนาคม 2567 ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) กระทรวงมหาดไทย(มท.) ระบุว่า มีจำนวนหมู่บ้าน/ชุมชนที่เสี่ยงมาก(สีแดง) 1,274 แห่งใน 57 จังหวัด เสี่ยงปานกลาง(สีส้ม) 1,898 แห่ง ใน 63 จังหวัด เฝ้าระวัง(สีเหลือง) 7,670 แห่งใน 69 จังหวัด และไม่มีความเสี่ยง(สีเขียว) 32,346 แห่ง ใน 76 จังหวัด
ทั้งนี้ 10 อันดับ จังหวัดที่มีหมู่บ้าน/ชุมชนเสี่ยงมาก ได้แก่ แม่ฮ่องสอน จันทบุรี ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี อุดรธานี พิจิตร ฉะเชิงเทรา และสุรินทร์
ใส่ใจสุขอนามัย ป้องกันโรคหน้าแล้ง
สำหรับการเตรียมความพร้อมของระบบสาธารณสุข นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อขาดน้ำจะมีปัญหาเรื่องสุขอนามัย จำเป็นต้องสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ ในการรักษาดูแลเรื่องสุขาภิบาล อนามัยสิ่งแวดล้อม
เนื่องจากหน้าแล้งจะมีโรคต่างๆเกิดขึ้นได้ เช่น โรคทางเดินอาหาร โรคอุจจาระร่วง โรคอาหารเป็นพิษ โรคฮีทสโตรก และโรคไข้หวัดหน้าร้อน เป็นต้น
“วันที่อากาศร้อนมาก ก็หลีกเลี่ยงการที่จะต้องออกไปเผชิญกับแดดมาก ที่สำคัญพออากาศร้อน โรคทางเดินอาหาร เชื้อโรคที่เกิดกับอาหารการกินมีส่วนสำคัญ ยิ่งเมื่อมีน้ำจำกัด เรื่องการทำความสะอาดก็อาจจะจะลดน้อยลง ขอให้ประชาชนระมัดระวังเรื่องอาหารการกิน”นพ.สุรโชคกล่าว
สำรองน้ำอย่างน้อย 2 สัปดาห์
ส่วนของโรงพยาบาล(รพ.) ให้มีการสำรองน้ำ ลดการใช้น้ำ โดยใช้อย่างอื่นมาแทน เช่น การทำความสะอาดบางอย่าง ใช้แอลกอฮอล์แทนเพื่อลดการใช้น้ำลง บางกิจกรรมมีการควบคุมการใช้น้ำ ซึ่งรพ.ทุกแห่งจะมีระบบสำรองน้ำอยู่แล้ว โดยส่วนใหญ่สำรองไว้ใช้ได้ประมาณอย่างน้อย 2 สัปดาห์ รวมถึง ให้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเตรียมน้ำ และในแง่ของสาธารณภัยอาจจะเกิดพายุ ได้เตรียมเรื่องการจัดการต่างๆไว้พร้อมรับมือสถานการณ์เหล่านี้
นพ.สุรโชค กล่าวด้วยว่า พื้นที่เขตในเมืองจะมีการประสานเรื่องน้ำประปา ซึ่งแต่ละจังหวัดจะจัดลำดับความสำคัญในการสนับสนุนน้ำให้เพียงพอต่อการใช้ของรพ. แต่ในพื้นที่ที่เป็นถิ่นทุรกันดารหรือห่างไกล จะมีการเจาะบาดาลไว้อยู่แล้ว แต่บางพื้นที่ก็ปิดไป จึงให้มีการเตรียมที่จะน้ำบาดาลมาใช้ได้ในช่วงเวลาที่จำเป็นด้วย
“ทุกโรงพยาบาลจะมีแผนการสำรองน้ำอยู่เสมอ มีถังสำรองน้ำขนาดใหญ่ มีจัดหาแหล่งน้ำจากหลายแหล่งไว้รองรับทั้งการเจาะบาดาล น้ำประปา โดยมีทิศทางการใช้น้ำการบริหารจัดการน้ำได้หลายรูปแบบ”นพ.สุรโชคกล่าว
หน้าแล้งเบา-สิ้นสุดเร็วกว่าที่คาด
อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประมาณการว่าในอีก 2-3 เดือนน่าจะสิ้นสุดหน้าแล้ง เร็วกว่าที่คาดไว้ ซึ่งก่อนหน้าเตรียมการไว้ หากแล้งตามที่ประมาณการ ก็จะประสานท้องถิ่นและการประปา เพื่อให้สนับสนุนน้ำให้กับระบบสาธารณสุขก่อน ทว่า ขณะนี้จากที่ติดตามสถานการณ์ เดือนมิ.ย.น่าจะสิ้นสุดหน้าแล้ง ดังนั้น ภัยแล้งน่าจะเบากว่าที่เราคาดการณ์ไว้
นพ.สุรโชค กล่าวด้วยว่า ปีนี้ยังไม่ได้รับรายงานว่ามีรพ.ได้รับผลกระทบจากขาดแคลนน้ำช่วงหน้าแล้ง แต่ก็มีการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องช่วงพ.ค.-มิ.ย. ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นจังหวัดที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีที่มีปัญหาเรื่องการเข้าถึงน้ำ จะมีแผนรับมือไว้พร้อมรับสถานการณ์ โดยเมื่อปีที่ผ่านมาได้รับรายงานช่วงพ.ค.มี 31 จังหวัด และมิ.ย. มี 27 จังหวัด
ไม่กระทบให้บริการประชาชน
จังหวัดที่ประสบปัญหาเป็นประจำทุกปี จะเตรียมการประสานการประปาในพื้นที่ และพื้นที่ข้างเคียง ซึ่งระดับจังหวัดก็มีการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนให้กับระบบสาธารณสุขเป็นหลักด้วย พื้นที่ที่คาดว่าอาจจะไม่มีน้ำก็มีการขุดบาดาลไว้แล้ว
“ภัยแล้งจะไม่ส่งผลกระทบกับการให้บริการประชาชน เนื่องจาก 1.เคยมีประสบการณ์อยู่แล้ว 2.มีการเตรียมตัวในโรงพยาบาล 3.มีหน่วยงานที่พร้อมจะช่วยสนับสนุน ไม่ให้โรงพยาบาลขาดน้ำเพราะว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการดูแลคนไข้”นพ.สุรโชคกล่าว
7 โรคหน้าแล้งที่ต้องระวัง
กรมอนามัย ได้ระบุถึงผลกระทบต่อสุขภาพและโรคที่เป็นปัญหาสุขภาพของประชาชนช่วงหน้าแล้ง ประกอบด้วย 1.โรคอุจจาระร่วง เกิดจากการติดเชื้อหลายประเภททั้งแบคทีเรีย ไวรัส และกลุ่มเชื้อโปรโตซัวที่ปนเปื้อนอยู่ในอาหาร หน้าร้อนมีโอกาสบูดเสียได้มากขึ้น
2.โรคอาหารเป็นพิษ เกิดจากการรับประทานอาหารที่มีการปนเปื้อนของสารพิษที่เกิดจากเชื้อบิด เชื้อสแตปฟีโลคอกคัส และเชื้อบาซิลลัส โดยเชื้อมีความสามารถในการทนความร้อน พบบ่อยในอาหารทะเล อาหารประเภทแป้ง
3.โรคไข้หวัดหน้าร้อน มีสาเหตุมาจากเชื้อไข้หวัดใหญ่ การแสดงอาการอาจถูกกระตุ้น จากปัจจัยการเปลี่ยนแปลงของอากาศร่วมกับการรับเชื้อไวรัสไข้หวัด มีอาการตั้งแต่น้อยไปถึงมาก เช่น อาการหวัดธรรมดาจนถึงหลอดลมอักเสบ ปอดบวม เป็นต้น
4.โรคผิวหนัง กลาก เกลื้อน เกิดเมื่อไม่รักษาความสะอาดที่ผิวหนัง สาเหตุมักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ผิวหนังและรูขุมขนอักเสบมีแผลเป็นตุ่มหนอง มีเชื้อราตามจุดอับชื้นต่างๆ
5.โรคจากสัตว์เลี้ยง โรคพิษสุนัขบ้า หรือโรคกลัวนํ้า สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัสเรบี ที่มีอยู่ในนํ้าลายสัตว์ ติดต่อได้จากการถูกสุนัข หรือแมวที่มีเชื้อโรคชนิดนี้กัด ข่วน เลียบาดแผล หรือ นํ้าลายกระเด็นเข้าตา ปาก จมูก ซึ่งสัตว์นําโรคที่พบมากที่สุด คือ สุนัข แมว หมู ม้า วัว ควาย ลิง ชะนี กระรอก กระแต เป็นต้น เมื่อติดเชื้ออันตรายถึงตาย หากไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันทันท่วงที
6.โรคเครียด หงุดหงิด ปวดศีรษะ วิธีแก้ควรหลีกเลี่ยงอากาศที่ร้อนอบอ้าว อาบนํ้าบ่อยขึ้น ใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี หางานอดิเรกทํา
7.โรคลมแดด หรือฮีทสโตรก เป็นภาวะวิกฤติของร่างกายที่ไม่สามารถควบคุมความร้อนได้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักเกิดอาการจากการได้รับความร้อนมากเกินไป
แผนรับเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ได้จัดทำแผนปฏิบัติการด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านสาธารณสุข พ.ศ.2564-2573 ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์
ยุทธศาสตร์ที่ 1: การเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและทักษะของประชาชน ในการปรับตัวและจัดการตนเองต่อภัยสุขภาพจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มุ่งเน้นให้ประชาชนมีความรู้ มีทักษะสามารถดูแลสุขภาพตนเอง และกลุ่มเสี่ยง ได้รับการดูแลคุ้มครองสุขภาพจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเหมาะสม และชุมชนมีส่วนร่วม
ยุทธศาสตร์ที่ 2: การบูรณาการศักยภาพทุกภาคส่วน ร่วมขับเคลื่อนการสาธารณสุขจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเข้มแข็ง เน้นการระดมศักยภาพของทุกภาคส่วนในการผลักดันและขับเคลื่อนให้เกิดนโยบายด้านการจัดการสาธารณสุขจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ยุทธศาสตร์ที่ 3: การเสริมสร้างความพร้อมของประเทศด้านการสาธารณสุขจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รองรับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ มุ่งเน้นการเพิ่มสมรรถนะของระบบสาธารณสุขในพื้นที่เสี่ยง พื้นที่เศรษฐกิจ เขตเศรษฐกิจพิเศษพื้นที่ความมั่นคง และพื้นที่ท่องเที่ยว รวมทั้งคุ้มครองแรงงาน
ยุทธศาสตร์ที่ 4: การพัฒนาระบบการสาธารณสุขของประเทศรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมีมาตรฐานสากล เน้นการพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศ ทั้งความเป็นผ็นำ ระบบข่อมูล งานวิจัย การเฝ้าระวังและเตือนภัย บุคลากร การให้บริการ กฎหมาย มาตรฐาน เทคโนโลยี และงบประมาณให้พร้อมรับมือความเสี่ยง ที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ครอบคลุมพื้นที่และประชากรทุกกลุ่มวัย