12 บ้านพักคนชราของรัฐ ผู้สูงอายุอยู่ฟรี ถ้าเข้าเกณฑ์
สวัสดิการผู้สูงอายุ สิทธิที่อยู่อาศัยของรัฐ เปิด 12 บ้านพักคนชรา พม.ให้อยู่ฟรีถ้าเข้าเกณฑ์ ไม่ได้มีแค่บ้านบางแค ค่าซ่อมแซมบ้านผู้สูงอายุ 40,000 บาท พร้อมแนวทางการเข้าอยู่และรับเงินครอบครัวอุปถัมภ์ผู้สูงอายุ 3,000 บาท
KEY
POINTS
- ประเทศไทยเป็นสังคมสูงวัย เรื่องที่อยู่อาศัยผู้สูงอายุเป็นเรื่องสำคัญ ที่จะต้อง เตรียมพร้อม เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายขึ้นในบ้าน
- สิทธิสวัสดิการผู้สูงอายุของรัฐเรื่องที่อยู่อาศัย มอบเงินค่าซ่อมแซมบ้าน 40,000 บาท ต่อหลัง จัดให้บริการฟรีใน 12 บ้านพักคนชรากระจายทุกภูมิภาคเต็มเวลา 11 แห่ง และรูปแบบเดย์ เซ็นเตอร์ 1 แห่ง และการรับเงินครอบครัวอุปถัมภ์ผู้สูงอายุ 3,000 บาท
- หลักเกณฑ์การเข้าอยู่บ้านพักคนชราของรัฐใน 12 แห่งสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) เข้าอยู่ฟรี หากเข้าเกณฑ์ แนวทางรับเงินสนับสนุนครอบครัวอุปถัมภ์ผู้สูงอายุ
สิทธิสวัสดิการที่อยู่อาศัยผู้สูงอายุ
ค่าซ่อมแซมบ้านผู้สูงอายุ 40,000 บาท
ในการปรับสภาพแวดล้อมในบ้านผู้สูงอายุ หากสำรวจพบว่ามีจุดที่จะต้องปรับปรุง หากเป็นเรื่องเล็กน้อย จะมีช่างชุมชนที่มีความรู้เรื่องการออกแบบอารยสถาปัตย์เพื่อผู้สูงอายุให้บริการ
นอกจากนี้ กรมกิจการผู้สูงอายุมีเงินสนับสนุน เรื่องของค่าซ่อมแซมบ้านผู้สูงอายุ หลังละไม่เกิน 40,000 บาท โดยตั้งเป้าเบื้องต้นปี 2567ทั่วประเทศให้ได้ 4,000 หลัง
สำหรับซ่อมแซมบ้านผู้สูงอายุให้เหมาะสมและปลอดภัย เช่น เปลี่ยนโถสุขภัณฑ์ ติดราวจับเปลี่ยนฝ้าผนัง เพดาน ประตู หน้าต่าง หลังคา ปรับทางเดินให้เรียบ ดำเนินการเป็นอัตราเหมาจ่าย
คุณสมบัติขอรับค่าซ่อมแซมบ้านผู้สูงอายุ
- มีฐานะยากจน หรือรายได้ไม่เพียงพอต่อการยังชีพ
- ไม่ได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยงานของรัฐ หรือได้รับแต่ไม่เพียงพอ
- ที่อยู่อาศัย ไม่มั่งคง ไม่เหมาะสม หรือไม่ปลอดภัยกับการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุ
- กรณีที่อยู่อาศัยและ/หรือที่ดินที่เป็นที่ตั้งของที่อยู่อาศัยไม่ได้เป็นของผู้สูงอายุ หรือทายาท ต้องอาศัยอยู่จริงไม่น้อยกว่าหนึ่งปี และได้รับความยินยอมจากเจ้าของกรรมสิทธิ์ให้ปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย
- สามารถยื่นได้ที่กรมกิจการผู้สูงอายุ หรือสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด(พมจ.)
ครอบครัวอุปถัมภ์ผู้สูงอายุ 3,000 บาท
ปี 2567 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) จะดำเนินการโครงการใหม่ “ครอบครัวอุปถัมภ์ผู้สูงอายุ” ซึ่งเป็นครอบครัวที่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีหรือผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วแต่กรณี ให้เป็นครอบครัวอุปถัมภ์ผู้สูงอายุที่มีฐานะยากจน และไม่มีผู้ดูแลหรือ มีแต่ไม่สามารถเลี้ยงดูได้
ด้วยการสนับสนุนงบประมาณเดือนละ 3,000 บาทให้แก่ลูกหลาน เครือญาติ หรือคนในชุมชน ที่ดูแลผู้สูงอายุเปราะบางแล้วไม่มีใครดูแล เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเข้าไปอยู่ในศูนย์พัฒนาการและสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ จะให้การสนับสนุนจนกว่าผู้สูงอายุจะเข้มแข็งขึ้นหรือเสียชีวิต ปีแรกตั้งงบประมาณรองรับ 1,100 ราย จากนั้นจะประเมินผลและตั้งงบฯรองรับเพิ่มเติมต่อไป
เงื่อนไข ครอบครัวอุปถัมภ์ผู้สูงอายุ
- มีสัญชาติไทย
- มีอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์ หรือผู้ที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปี ซึ่งมีความพร้อมและศักยภาพในการดูแลผู้สูงอายุ อาจได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการ เป็นราย ๆ ไป
- มีที่อยู่อาศัยที่เป็นหลักแหล่งและอยู่ในอาณาบริเวณเดียวกับผู้สูงอายุ
- ได้รับความยินยอมจากสมาชิกทุกคนในครอบครัวว่ามีความพร้อมในการคุ้มครองผู้สูงอายุ
- ไม่เป็นผู้ต้องหาว่ากระท้าผิดอาญา และอยู่ระหว่างการสอบสวนของพนักงานสอบสวน หรืออยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาล
- ยื่นคำขอได้ที่ กรมกิจการผู้สูงอายุ ,ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด
บ้านพักคนชราของรัฐ อยู่ฟรี
สำหรับผู้สูงอายุที่ไม่มีที่อยู่อาศัย หรืออยู่อาศัยคนเดียว รัฐโดยกรมกิจการผู้สูงอายุมี ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ (ศพส.) หรือบ้านพักคนชราของรัฐพร้อมให้การดูแล
12 แห่ง โดยมีการจัดบริการผู้สูงอายุรูปแบบในสถาบัน ซึ่งเป็นการบริการด้านที่พักอาศัยแก่ผู้สูงอายุแบบเต็มเวลา จํานวน 11 แห่ง และรูปแบบDay Center 1 แห่ง ประกอบด้วย
1.ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านบางแค(กรุงเทพฯ ราชบุรี เพชรบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ ประจวบคีรีขันธ์)
2.ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุภูเก็ต(ภูเก็ต พังงา กระบี่ ระนอง ชุมพร)
3.ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านบางละมุง(ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว)
4.ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุวาสนะเวศม์(rพระนครศรีอยุธยา อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี ชัยนาท นครสวรรค์ อุทัยธานี)
5.ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุจังหวัดนครพนม(นครพนม สกลนคร มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด อำนาจเจริญ อุดรธานี ขอนแก่น เลย หนองบัวลำภู กาฬสินธุ์ หนองคาย บึงกาฬ)
6.ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุจังหวัดสงขลา(สงขลา พัทลุง ตรัง นครศรีธรรม สุราษฎร์ธานี)
7.ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านธรรมปกรณ์(เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน พะเยา แพร่ น่าน ลำพูน)
8.ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านทักษิณ(ยะลา สตูล ปัตตานี นราธิวาส)
9.ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุจังหวัดขอนแก่น(รูปแบบDay Center)
10.ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านบุรีรัมย์(บุรีรัมย์ นครราชสีมา สุรินทร์ ศรีสะเกษ ชัยภูมิ มหาสารคาม อุบลราชธานี)
11.ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุจังหวัดลำปาง(ลำปาง พิษณุโลก อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร เพชรบูรณ์)
12.ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุจังหวัดปทุมธานี(ปทุมธานี นนทบุรี สุพรรณบุรี นครนายก นครปฐม กาญจนบุรี)
อย่างไรก็ตาม
หลักเกณฑ์เข้าอยู่บ้านพักคนชราของรัฐ
ผู้สูงอายุที่มีความประสงค์เข้าใช้บริการในศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ
ต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
- มีอายุเกิน 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และมีสัญชาติไทย
- ไม่เป็นผู้ต้องหาว่ากระทําผิดอาญาและอยู่ระหว่างการสอบสวนของพนักงานสอบสวน หรืออยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาล
- ไม่เป็นโรคติดต่อตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2523 และพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558
- มีความสมัครใจ
- สามารถช่วยเหลือตนเองในกิจวัตรประจําวัน
- ไม่มีอาการทางจิตที่รุนแรง หรือมีพฤติกรรมด้านลบที่จะส่งผลกระทบต่อผู้อื่น
- ไม่ติดสารเสพติด หรือติดสุรา
- กรณีคนเร่ร่อน ถูกทอดทิ้งหรือคนไร้ที่พึ่ง ต้องผ่านกระบวนการตามพระราชบัญญัติคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งพ.ศ. 2557 ก่อน
- ต้องเป็นผู้ประสบปัญหาความเดือดร้อนอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้ มีฐานะยากจน ไม่มีที่อยู่อาศัย
- ขาดผู้อุปการะ หรือผู้ให้ความช่วยเหลือดูแล
ประเภทของผู้รับบริการ บ้านพักคนชราบางแค
ทั้งนี้ ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านบางแค ระบุ ประเภทของผู้รับบริการ
1. ประเภทสามัญ ให้การอุปการะเลี้ยงดูผู้สูงอายุโดยไม่ต้องเสียค่าบริการใด ๆ ทั้งสิ้น
2. ประเภทเสียค่าบริการแบบหอพัก แบ่งออกเป็นห้องเดี่ยว เสียค่าบริการคนละ 1,500 บาทต่อเดือน และห้องคู่เดือนละ 2,000 บาท มีบริการทั้งหมด 40 ห้อง
3. ประเภทพิเศษ (บังกะโล) เป็นบ้านเดี่ยวที่ปลูกสร้างตามแบบแปลนที่กำหนดในที่ดินของศูนย์พัฒนาฯ โดยผู้ปลูกสร้างสามารถพักอาศัยอยู่ได้จนถึงแก่กรรม
- ค่าบำรุงแรกเข้า เป็นเงิน 300,000 บาท (สามแสนบาทถ้วน) เพื่อนำเงินดังกล่าวมาใช้ในการปรับปรุงซ่อมแซมบังกะโลที่จะเข้าพัก
- ค่าบริการรายเดือนกรณีพักคนเดียว เดือนละ 1,500 บาท และในกรณีเข้าพัก 2 คน เช่น คู่สามีภรรยา หรือพี่น้องเพศเดียวกัน เดือนละ 2,000 บาท
- ค่าน้ำประปา เดือนละ 100 บาทต่อคน และค่าไฟฟ้าคิดค่าใฃ้จ่ายตามจริง