"13 สิทธิสวัสดิการผู้สูงอายุ" ที่คนไม่รู้ มีเพียง 59 % รับรู้เข้าถึง
สิทธิสวัสดิการผู้สูงอายุตามกฎหมาย13 เรื่อง แต่คนรู้จักแค่เบี้ยยังชีพที่เหลือรับรู้ เข้าใจ เข้าถึงแค่ 59 % เงินซ่อมแซมบ้าน 40,000บาทต่อหลัง กู้ประกอบอาชีพปลอดดอกเบี้ย เงินช่วยเหลือครั้งละ 3,000 บาท ขณะที่ไทยมี 1 จ.เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอดแล้ว
KEY
POINTS
- สถานการณ์ผู้สูงอายุประเทศไทย มี 1 จังหวัดที่เข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสุดยอดแล้ว คือ จ.ลำปาง
- เมื่อประเทศเป็นสังคมผู้สูงอายุ เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่จะเกิดขึ้น และสิ่งที่รัฐดำเนินการเพื่อข้ามาสนับสนุน
- เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ คนรู้จักและเข้าถึงมากที่สุด 97.3 % ส่วนเป็นสิทธิสวัสดิการผู้สูงอายุอื่นๆตามกฎหมายอีก 13 เรื่อง รับรู้ เข้าถึงเพียง 59 %
- 13 สิทธิสวัสดิการผู้สูงอายุที่คนยังรับรู้และเข้าถึงน้อย ตัวอย่างเช่น เงินซ่อมแซมบ้าน 40,000 บาท กู้ปลอดดอกเบี้ยสูงสุด 1 แสนบาท เงินช่วยเหลือ 3,000 บาทต่อครั้ง เป็นต้น
เมื่อวันที่ 21 มี.ค.2567 ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีการสัมมนา “จาก Aged Society สู่ Happy Young Old” จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย น.ส.แรมรุ้ง วรวัธ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ : ความท้าทายและการเตรียมรับ”และกล่าวเปิดโครงการว่า ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุตั้งแต่ปี 2548 มีอัตราส่วนของประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป 10 % ของประชากรทั้งประเทศ
จำนวนประชากรไทยณ 31 ธ.ค.2566 พบว่ามีจำนวนผู้สูงอายุกว่า 13 ล้านคน คิดเป็น 20 % ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสมบูรณ์
1 จ.เป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอดแล้ว
ในปี 2576 คาดว่า ประชากรสูงอายุจะเพิ่มขึ้น 3.5 %ต่อปีและมีจำนวนสูงขึ้นถึง 28 % และจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด แต่ขณะนี้มี 1 จังหวัดในประเทศที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอดแล้ว คือ จ.ลำปาง โดยมีผู้สูงอายุ 28 %
ทั้งนี้ กลุ่มผู้สูงอายุเปราะบาง เป็นผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพกว่า 10 ล้านคนแต่ไม่ใช่ทุกคนจะยากจน กลุ่มผู้สูงอายุที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐกว่า 5.3 ล้านคน และผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงและไม่มีผู้ดูแล 26,663 คน
“เมื่อประเทศเป็นสังคมผู้สูงวัย เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม เช่น งบประมาณในการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น การใช้จ่ายของประเทศชะลอตัว ความจำเป็นในการบริโภคสินค้าและบริการด้านสุขภาพสูงขึ้น อีกทั้ง ผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น วัยแรงงานลดลง ภาครัฐจำเป็นต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายทางด้านสวัสดิการ และความคิดและพฤติกรรมของประชากรยุคใหม่ คำนึงถึงการวางแผนระยะสั้นมากกว่าระยะยาว”น.ส.แรมรุ้งกล่าว
4 แผนปฏิบัติเรื่องผู้สูงอายุ
ในดำเนินการเกี่ยวกับผู้สูงอายุตามแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุระยะที่ 3(พ.ศ.2566-2580) มี 4 แผนปฏิบัติการย่อย ประกอบด้วย
1.เตรียมความพร้อมของประชากรก่อนวัยผู้สูงอายุ
2.ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุทุกมิติอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม
3.ปฏิรูปและบูรณาการระบบบริหารเพื่อรองรับสังคมสูงวัยอย่างมีคุณภาพ
4.เพิ่มศักยภาพการวิจัยการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมรองรับสังคมสูงวัย
รู้-เข้าถึงสิทธิสวัสดิการแค่ 59 %
ขณะที่นายโอภาศ ศรีฉันทะมิตร ผู้อำนวยการกองส่งเสริมสวัสดิการและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ผู้สูงอายุมีสิทธิและสวัสดิการตามพ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 โดยเรื่องสิทธิมักเป็นเรื่องของภาคราชการ เช่น เบี้ยยังชีพ การให้เงินซ่อมแซมบ้าน การเดินทาง สิ่งอำนวยความสะดวก
ส่วนเรื่องสวัสดิการ เป็นสิ่งที่เสริมเข้าไป ไม่จำเป็นต้องจากภาครัฐ ซึ่งมีหลายส่วนที่จะเข้ามาเติมเต็มในเรื่องของสวัสดิการ เช่น การออมที่เป็นสำรองเลี้ยงชีพ เป็นต้น
สิทธิและสวัสดิการเป็นสิ่งที่จะต้องไปด้วยกัน ทั้งนี้ มีงานวิจัยที่พม.เคยดำเนินการเรื่องการเข้าถึงและความพึงพอใจของผู้สูงอายุต่อบริการที่ได้รับตามพ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 และฉบับแก้ไขพ.ศ.2553 โดยสิทธิที่ผู้สูงอายุรับทราบและเข้าถึงมากที่สุด คือ เบี้ยยังชีพถึง 97.3 % รองลงมาสิ่งอำนวยความสะดวกที่ได้รับในสถานพยาบาลของรัฐ เช่น ทางลาด ห้องน้ำ ป้ายบอกผู้สูงอายุ 93 %
เมื่อดูภาพรวม โดยแบ่งการรับรู้ เข้าใจ เข้าถึง เป็น 3 ระดับ คือ สูง กลาง และน้อย น่าตกใจเพราะพบว่า ระดับสูงและกลางรวมกันอยู่ที่ 59 % ส่วนผู้สูงอายุที่รับรู้ระดับน้อยยังมีอีกถึง 41 %
เรื่องสิทธิสวัสดิการผู้สูงอายุที่ภาครัฐจัดให้มีมากมาย เช่น เรื่องสุขภาพมีกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)เป็นเจ้าภาพหลัก มีช่องไร้คิวให้ผู้สูงอายุในรพ. มีเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวก มิติสภาพแวดล้อมจะพยายามให้ผู้สูงอายุอยู่ในสิ่งน่าอยู่และปลอดภัย ซึ่งกรมมีเงินสนับสนุนเรื่องของการซ่อมแซมบ้านหลังละไม่เกิน 40,000 บาท โดยตั้งเป้าเบื้องต้นปี 2567ทั่วประเทศให้ได้ 4,000 หลัง
มิติเศรษฐกิจ กระทรวงแรงงานจัดหางานให้ผู้สูงอายุที่มีศักยภาพทำงานได้ต่อ ฝึกอาชีพของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และมีกองทุนผู้สูงอายุมีเงินทุนประกอบอาชีพ และมิติเทคโนโลยีเพราะมีผู้สูงอายุตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพจำนวนมาก เป็นต้น
13 สิทธิสวัสดิการผู้สูงอายุ
สำหรับสิทธิและสวัสดิการ สำหรับผู้สูงอายุ ตามพ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 มาตรา 11 มีทั้งสิ้น 13 ข้อ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้สูงอายุ และประชาชนทั่วไปควรรับทราบ ประกอบด้วย
1.เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ โดยผู้ที่อายุ 60-69 ปีได้รับ 600 บาทต่อเดือน อายุ 70-79 ปี ได้รับ 700 บาทต่อเดือน อายุ 80-89 ปีได้รับ 800 บาทต่อเดือน และอายุ 90 ปีขึ้นไปได้รับ 1,000 บาทต่อเดือน
2.การลดหย่อนค่าโดยสาร ได้รับส่วนลดค่าโดยสารในการเดินทาง 50 % สำหรับขสมก. เรือโดยสาร และรถไฟฟ้า MRT ส่วนรถไฟฟ้า BTS และแอร์พอร์ตเรียลลิงค์ ให้บัตรโดยสารผู้สูงอายุลด 50 %
3.ลดหย่อนภาษี บุตรที่เลี้ยงดูบิดามารดา ยื่นขอลดหย่อนภาษีได้ 30,000 บาท ต่อผู้สูงอายุ 1 คนต่อปี
4.ปรับสภาพที่อยู่อาศัย สามารกขอปรับสภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะวดให้มีความปลอดภัย ในอัตราเหมาจ่าย 22,500 บาท หรือ 40,000 บาท
คุณสมบัติเป็นผู้มีฐานะยากจน หรือรายได้ไม่เพียงพอต่อการยังชีพ ไม่ได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยงานของรัฐ หรือได้รับแต่ไม่เพียงพอ และที่อยู่อาศัย ไม่มั่นคง ไม่เหมาะสม หรือไม่ปลอดภัยกับการดํารงชีวิตของผู้สูงอายุ สามารถยื่นได้ที่กรมกิจการผู้สูงอายุ หรือสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด(พมจ.)
กู้ปลอดดอกเบี้ยสูงสุด 1แสนบาท
5.กู้ยืมเงินทุนประกอบอาชีพ สามารถยื่นกู้ปลอดดอกเบี้ย จากกองทุนผู้สูงอายุ อัตราเหมาจ่าย รายบุคคลได้วงเงินไม่เกิน 30,000 บาทต่อคน รายกลุ่ม ไม่น้อยกว่า 5 คน ได้วงเงินไม่เกิน 100,000 บาท แต่จะต้องมีผู้ค้ำประกัน และชำระคืนทุกเดือนเป็นระยะเวลา 3 ปี
6.สิทธิทางอาชีพ สามารถขอข้อมูล คำปรึกษาการรับสมัครงาน ตำแหน่งงานว่าง การอบรมอาชีพ และฝึกอาชีพ ได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทั่วประเทศ
7.ด้านการบริการสาธารณะและสิ่งอำนวยความสะดวก ในพิพิธภัณฑ์ โบราณสถาน หอจุดหมายเหตุ หรืออื่นๆ จะจัดจุดอำนวยความสะดวก เช่น ลิฟต์ ราวบันได ทางลาด ที่จอดรถและการช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ให้ความสะดวก รวดเร็วและปลอดภัย
8.สิทธิทางการศึกษา โดยสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย หรือกศน.พัฒนาหลักสูตร เพื่อให้ผู้สูงอายุ ได้เรียนรู้ตลอดชีวิตและสอดคล้องกับความต้องการ ทำให้สามารถดำรงชีวิตอย่างมีความสุข
เงินช่วยเหลือครั้งละ 3,000 บาท
9.สิทธิทางการแพทย์และสาธารณสุข ในสถานพยาบาลของรัฐ จะได้รับบริการผ่านช่องทางพิเศษ เพื่อให้เกิดความสะดวก รวดเร็วไม่ต้องรอคิวนาน
10.สิทธิการช่วยเหลือทางกฎหมาย กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ เช่น สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจ้างทนาย ค่าธรรมเนียมขึ้นศาล ค่าวางเงินประกันปล่อยตัวชั่วคราว เป็นต้น
11.ยกเว้นค่าเข้าชมสถานที่ของรัฐ เช่น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นต้น
12.สิทธิการมีส่วนร่วมในกิจการสังคม จะได้รับการส่งเสริมให้มีกิจการรสังคมภายในชุมชน เช่น ชมรมผู้สูงอุ สนามกีฬา ศูนย์สุขภาพ โดยไม่เสีนค่าใช้จ่าย ศูนย์กีฬาในร่วมได้รับส่วนลด50 %
13.ผู้สูงอายุที่ยากจน ทุกข์ยาก เดือดร้อนเรื่องอาหารและเครื่องนุ่งห่ม จะได้รับการช่วยเหลือเป็นเงินไม่เกินวงเงินครั้งละ 3,000 บาท ไม่เกิน 3 ครั้งต่อคนต่อปี
และผู้สูงอายุที่ยากจนและขาดผู้ดูแลสามารถแจ้งความประสงค์ขอเข้าใช้บริการได้ที่ ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุได้ และเมื่อมีการเสียชีวิต สามารถยื่นขอรับเงินจัดการศพรายละไม่เกิน 3,000 บาท สามารถยื่นความประสงค์ได้ที่สำนักงานเขต หรืออบต.หรือเทศบาล ภายใน 6 เดือนนับจากวันที่ออกใบมรณบัตร