พ.ร.บ.กัญชากัญชง ฉบับใหม่ต้องไม่คลุมเครือ ทางแก้ปัญหาไทยใช้กัญชาแบบเทาๆ
10 เท่าตัวคือจำนวนการใช้กัญชาเพื่อนันทนาการที่เพิ่มขึ้น ตัวเลขดังกล่าวมาจากผลการประเมินสถานการณ์การใช้กัญชาในประเทศไทยของงานวิจัยบางชิ้น
ซึ่งพบว่าหลังจากที่รัฐบาลปลดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดกลางปี 2565 มีการใช้กัญชาเพื่อนันทนาการเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งสอดคล้องกับผลที่ได้จากแผนงานวิจัยของผู้เขียน
การใช้ที่เพิ่มขึ้นนี้มาจากกฎหมายและข้อบังคับที่ไม่ชัดเจน ทำให้การบังคับใช้หละหลวมและความสับสนจากคำว่า “กัญชาเสรี” ทั้งที่จริงแล้วไม่ได้เสรีอย่างที่คนทั่วไปเข้าใจ
นอกจากนั้น การใช้แบบเทาๆ ที่ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าเป็นเพื่อการแพทย์หรือเพื่อนันทนาการก็มีเพิ่มขึ้น เช่นกัน การใช้ในกลุ่มนี้คือการนำมาต้มดื่มหรือปรุงอาหาร ขณะที่การใช้เพื่อการแพทย์ ซึ่งรวมแพทย์ทางเลือกและแพทย์แผนไทยด้วยนั้นยังเป็นการใช้เพื่อ “บรรเทา” อาการ และไม่ใช่เป็นตัวเลือกแรก ในหลายๆ กรณีเป็นทางเลือกท้ายๆ
อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์จากสารสกัดกัญชาที่บางคนเรียกว่า “ยา” เช่น น้ำมันและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องนี้มีออกมาเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ (ไม่นับรวมขนมหรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชา ซึ่งจัดว่าเป็นการใช้เพื่อนันทนาการ) สิ่งที่น่ากังวลคือมีผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐานอยู่เป็นจำนวนมาก และในบางกรณีเสี่ยงต่อการนำไปใช้เพื่อนันทนาการ
สำหรับประเด็นด้านเศรษฐกิจที่หลายคนมองว่าจะเป็นประโยชน์นั้น ผลกลับไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมายที่คาดหวัง เพราะหลังจากที่รัฐบาลปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด ทำให้ปริมาณกัญชาและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องออกมาเป็นจำนวนมาก
ผู้ประกอบการโดยเฉพาะกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ดำเนินการตามกฎระเบียบมาตั้งแต่ปี 2562 ประสบกับปัญหาขาดทุนจากการที่มีคู่แข่งเพิ่มขึ้น และเป็นพวกที่ไม่ได้ปฏิบัติตามกฎระเบียบของทางราชการ (จากความเข้าใจผิดเรื่องกัญชาเสรี) ขณะที่ผลจากการท่องเที่ยวก็ยังไม่มีข้อมูลหรือหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ออกมาอย่างชัดเจน
โดยรวมแล้วการพิจารณาผลกระทบภายใต้แผนงานวิจัยของผู้เขียนนี้ คณะผู้วิจัยพิจารณาทั้งผลเชิงบวกและผลเชิงลบ ผลเชิงบวกนั้นอาจเกิดขึ้นจากการใช้เพื่อการแพทย์ (รวมแพทย์ทางเลือก) และผลทางเศรษฐกิจ ขณะที่ผลเชิงลบนั้นเกิดจากการใช้เพื่อนันทนาการ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งในต่างประเทศที่ปลดกัญชาออกจากยาเสพติดให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก
ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลไทยควรต้องพิจารณาคือการเพิ่มหรือสนับสนุนผลเชิงบวก และลดหรือขจัดผลเชิงลบ ซึ่งเครื่องมือสำคัญในการจัดการเรื่องนี้คือ “การบังคับใช้” กฎหมาย (จริงอยู่ว่ากฎหมายนั้นเป็นส่วนสำคัญ แต่การบังคับใช้ก็สำคัญไม่น้อยไปกว่าตัวกฎหมาย)
ทั้งนี้ คณะผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะดังนี้
1.กรณีปัญหาความคลุมเครือที่มาจากกฎระเบียบที่ไม่ชัดเจน ดังนั้น ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชงฉบับใหม่ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภานั้น ควรกำหนดนิยามและกิจกรรมในการใช้กัญชาเพื่อการแพทย์และเพื่อนันทนาการให้ชัดเจน เพื่อขจัดความคลุมเครือเกี่ยวกับกิจกรรมที่อาจสร้างความเข้าใจผิด หรือเสี่ยงต่อการฉวยประโยชน์จากความคลุมเครือ
2.รัฐบาลควรสำรวจและประเมินผลภายหลังจากที่มีการบังคับใช้ พ.ร.บ.กัญชา กัญชง (ฉบับที่...) พ.ศ.... ไปแล้ว 3 ปี โดยหน่วยงานเชิงวิชาการและไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) หรือสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นต้น (ตัวอย่างของประเทศที่อนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อนันทนาการและดำเนินการในเรื่องนี้คือ แคนาดา)
3.รัฐบาลควรติดตามและประเมินผลกระทบจากการดำเนินนโยบายด้านกัญชา โดยเก็บรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ สุขภาพ และสังคมที่เกิดขึ้นตามมาด้วย
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนงานวิจัยเรื่อง “แผนงานวิจัยการประเมินสถานการณ์และจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม จากกัญชาและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง”
สนับสนุนโดยคณะกรรมการกำกับทิศทางการวิจัยประเด็นปัญหาวิกฤติสำคัญของประเทศ (National Crisis Management) เรื่องกัญชา สกสว. และ วช.
ภายใต้แผนงานวิจัยนี้ คณะผู้วิจัยยังมีข้อเสนอแนะในรายละเอียดด้านต่างๆ ซึ่งจะได้นำเสนอเป็นระยะๆ ในลำดับถัดไป.