กัญชาเสรีที่ (ไม่) มีอยู่จริง | ณัฐนันท์ วิจิตรอักษร
หลังจากรัฐบาลที่แล้วได้ปลดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดเมื่อประมาณกลางปี 2565 คำว่า “กัญชาเสรี” กลายเป็นคำที่คุ้นหูและติดปากในสังคมไทย ไม่ว่าคำนี้จะมีที่มาอย่างไร แต่ได้สร้างความเข้าใจผิดและนำไปสู่ความต้องการหรืออยากลองใช้กัญชาที่เพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ผู้เขียนได้พยายามหาที่มาของคำนี้โดยแปลกลับไปเป็นภาษาอังกฤษด้วยคำว่า “liberalization” แต่ก็ไม่พบที่มาของคำนี้ในกรณีของต่างประเทศเท่าใดนัก สิ่งที่พบคือคำว่า “legalization” หรือ “การทำกัญชาให้ถูกกฎหมาย” ซึ่งน่าจะตรงกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในไทยและต่างประเทศมากกว่า
อย่างไรก็ตาม คำว่า “กัญชาเสรี” นี้อาจจะถูกต้องในบริบทของสังคมไทยก็ได้ ด้วยเหตุที่ตอนปลดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดมีเพียงกฎกระทรวงสาธารณสุขซึ่งการบังคับใช้กลับเต็มไปด้วยปัญหาทำให้คนปลูกและใช้กัญชากันแทบจะเสรี
ในต่างประเทศ การใช้กัญชาจำแนกได้เป็น 2 ลักษณะคือ เพื่อการแพทย์ (medical) กับไม่ใช่เพื่อการแพทย์ (non-medical) หรือ เพื่อนันทนาการ (recreational) กับไม่ใช่เพือนันทนาการ (non-recreational)
สำหรับประเทศไทย กลับจำแนกได้เป็น 3 ประเภทคือ 1. เพื่อการแพทย์ 2. เพื่อนันทนาการ และ 3. เพื่ออื่น ๆ สำหรับเหตุผลที่ต้องมีกรณีอื่น ๆ ด้วยนั้น เนื่องจากความคลุมเครือ (หรือการใช้แบบเทา ๆ) ที่ไม่ชัดเจน เพื่อการแพทย์ก็ไม่ใช่ หรือจะเพื่อนันทนาการก็ไม่เชิง เช่น การนำใบสดมาต้มดื่มหรือใบ/ช่อดอกแบบแห้งมาปรุงอาหาร “(สายเขียวบอกกับผู้เขียนว่าเป็นการใช้ที่เลวที่สุดเพราะทำให้เสียของ) การใช้แบบเทา ๆ” นี้เพิ่มขึ้นมากหลังจากการทำให้กัญชาถูกกฎหมาย
แม้ว่าการใช้กัญชาทางการแพทย์จะยังคงเป็นที่ถกเถียงกันในวงวิชาการเกี่ยวกับสรรพคุณและผลข้างเคียง แต่การใช้กัญชาเพื่อนันทนาการเป็นสิ่งที่น่ากังวลทั้งในไทยและต่างประเทศโดยเฉพาะการใช้ในกลุ่มเด็กและเยาวชน
ในต่างประเทศ เช่น แคนาดาทำให้กัญชาถูกกฎหมายสำหรับการใช้ที่ไม่ใช่เพื่อการแพทย์ในพ.ศ. 2561 แต่การใช้เพื่อนันทนาการก็ไม่ได้เสรีแถมยังถูกจำกัด เช่นเดียวกันกับกรณีของเนเธอร์แลนด์ที่มักถูกกล่าวถึงเป็นกรณีตัวอย่างของการใช้เพื่อนันทนาการ ซึ่งในความเป็นจริงรัฐบาลก็ควบคุมการใช้อย่างเข้มงวด
ล่าสุดรัฐบาลพยายามลดจำนวนร้านคาเฟ่กัญชาลงเกือบร้อยละ 50 ขณะที่ในบางเมืองอนุญาตให้ประชาชนเนเธอร์แลนด์เท่านั้นที่เข้าถึงกัญชาได้
เหตุที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากรัฐบาลกังวลว่านักท่องเที่ยวที่เข้ามาใช้กัญชานั้นเป็นกลุ่มรายได้และคุณภาพต่ำซึ่งไม่ได้เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจแต่กลับสร้างปัญหาสังคม เช่น การกลายเป็นแหล่งค้าหรือพักยาเสพติดชนิดอื่น ๆ ด้วย เป็นต้น
สิ่งที่เกิดขึ้นในต่างประเทศสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามในการลดผลกระทบเชิงลบ (harm reduction) ที่มีต่อสังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเด็กและเยาวชน
เมื่อหันกลับมาพิจารณาในกรณีของประเทศไทยแล้ว ผู้เขียนยังไม่พบว่ารัฐบาลจะมีนโยบายหรือมาตรการที่ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องกัญชาโดยเฉพาะในประเด็นการใช้เพื่อนันทนาการ แม้ว่าร่างกฎหมายกัญชากัญชงฉบับล่าสุดพยายามสื่อให้เห็นว่ารัฐบาลไม่สนับสนุนการใช้เพื่อนันทนาการ แต่นิยามของการใช้เพื่อการนี้ก็ยังคลุมเครือซึ่งจะสร้างปัญหาต่อการบังคับใช้กฎหมายได้
หากพิจารณาในแง่ของผลประโยชน์หรือผลกระทบเชิงบวกที่คาดว่าจะมาจากกัญชาแล้วมีอยู่หลัก ๆ 2 ประการด้วยกันคือ 1) ด้านการแพทย์ซึ่งรวมถึงแพทย์ทางเลือกเช่นแพทย์แผนไทย และ 2) ด้านเศรษฐกิจ ในกรณีด้านการแพทย์ไม่ว่าจะเป็นแพทย์แผนปัจจุบันหรือแพทย์ทางเลือก
การนำยาหรือสารสกัดจากกัญชามาใช้นั้นส่วนใหญ่ยังไม่ใช่เป็นทางเลือกแรก และเป็นไปในลักษณะการ “บรรเทา” มากกว่าการ “รักษา” (การใช้กัญชาเพื่อ “รักษา” นั้นต้องเป็นสารสกัดที่เข้มข้นมากในการฆ่ามะเร็งและประสบความสำเร็จเพียงในระดับหลอดทดลองเท่านั้น)
ยิ่งไปกว่านั้น การตอบสนองของผู้ป่วยต่อสารสกัดกัญชายังแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล อย่างไรก็ตาม การใช้กัญชาทางการแพทย์ในประเทศไทยส่วนใหญ่อยู่ในผู้ป่วยกลุ่มอาการโรคลมชัก (เฉพาะที่ดื้อยา) และการคลื่นไส้อาเจียนจากการรับยาเคมีบำบัด
สำหรับผลประโยชน์จากกัญชาต่อเศรษฐกิจไทยนั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัดนัก หลังจากที่รัฐบาลปลดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด ปริมาณกัญชาในตลาดได้เพิ่มขึ้นอย่างมากโดยเฉพาะกลุ่มคุณภาพต่ำทำให้ราคากัญชาลดต่ำลง
ในขณะเดียวกันกฎระเบียบที่ไม่ชัดเจนทำให้ผลิตภัณฑ์กัญชา (รวมถึงสารสกัดต่าง ๆ) ในตลาดเพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่งผลให้วิสาหกิจชุมชนจำนวนไม่น้อยที่ปฏิบัติตามกฎที่ออกมาใน ปี 2532 ประสบปัญหาขาดทุน ภาคเอกชนที่ลงทุนในเรื่องกัญชาเองมีเพียงไม่กี่รายที่สามารถคุ้มทุนและอยู่รอดต่อไปได้
ขณะที่ผลด้านเศรษฐกิจที่มาจากการท่องเที่ยวก็ยังไม่ชัดเจน รวมไปถึงคำกล่าวอ้างที่ว่าเศรษฐกิจในบางพื้นที่ดีขึ้นจากนักท่องเที่ยวที่เข้ามาใช้กัญชานั้น กลับไม่มีข้อมูลหรือหลักฐานเชิงประจักษ์และการวิเคราะห์ที่รัดกุมรองรับ การฟื้นตัวจากการท่องเที่ยวที่เห็นได้ชัดคือสถานการณ์ที่คลี่คลายลงของโรคระบาดโควิด-19 ผู้เขียนเองไม่แน่ใจว่าฝ่ายสนับสนุนกัญชาที่กล่าวอ้างในเรื่องผลดีต่อเศรษฐกิจนั้นมองแต่การท่องเที่ยวแบบเทา ๆ ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจสีเทาหรือไม่
เมื่อนำผลได้และผลเสียมาพิจารณาร่วมกันแล้วกลายเป็นว่าการปลดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดของไทยกลับได้ไม่คุ้มเสีย จริงอยู่ว่าเราคงไม่สามารถนำกัญชากลับเข้าไปเป็นยาเสพติดเหมือนเดิมได้ (ซึ่งจริง ๆ แล้วมีหลายฝ่ายรวมทั้งผู้สนับสนุนเรื่องการใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ต้องการให้เป็น) แต่เราควรจะปล่อยให้การใช้กัญชาแบบเทา ๆ ภายใต้กฎหมายและการบังคับใช้แบบเทา ๆ นี้ยังคงอยู่ต่อไปหรือไม่? ซึ่งขึ้นอยู่กับผู้คนในสังคมไทยว่าจะตัดสินใจอย่างไร
สิ่งที่เป็นอยู่ในสังคมไทยขณะนี้ไม่ต่างจากเพลงในอดีตที่ร้องว่า “ลา มะลิลา ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่ แต่พอเหลาลงไปกลายเป็นบ้องกัญชา”
ติดตามบทความชิ้นต่อไป โดยเป็นการนำเสนอผลประเมินสถานการณ์การใช้กัญชาและข้อเสนอแนะที่ได้จากแผนงานวิจัยการประเมินสถานการณ์และจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม จากกัญชาและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนงานวิจัยเรื่อง “แผนงานวิจัยการประเมินสถานการณ์และจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม จากกัญชาและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง” สนับสนุนโดยคณะกรรมการกำกับทิศทางการวิจัยประเด็นปัญหาวิกฤติสำคัญของประเทศ (National Crisis Management) เรื่อง เรื่องกัญชา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ