“กัญชา”ยาเสพติดแบบอ่อน ย้อนสู่จุดเริ่มต้น 6 โรค/ภาวะใช้ได้ประโยชน์   

“กัญชา”ยาเสพติดแบบอ่อน ย้อนสู่จุดเริ่มต้น 6 โรค/ภาวะใช้ได้ประโยชน์   

กัญชากลับเป็นยาเสพติดแบบอ่อน เป็นการย้อนสู่จุดเริ่มต้น ใช้ประโยชน์กัญชาทางการแพทย์ แต่ไม่ทั้งหมด เพราะยังมีการปลดล็อกให้นำมาใช้เชิงเศรษฐกิจได้   ทั้งนี้ในไทยมี 6 โรค/ภาวะที่กรมการแพทย์ระบุใช้กัญชาได้ประโยชน์

KEY

POINTS

  • ชัดเจนว่ากัญชาจะคืนกลับเป็นยาเสพติดแบบอ่อน หรือ Soft Drug ภายในสิ้นปี  2567 แต่ยังไม่ชัดว่า “กัญชง”จะนำกลับไปยาเสพติดด้วยหรือไม่ และกัญชาส่งผลร้ายต่อร่างหายมากกว่าเหล้า บุหรี่อย่างไร
  • เท่ากับกัญชาจะย้อนไปสู่จุดเริ่มต้นที่มีการนำมาใช้ประโยชน์ ซึ่งช่วงแรกให้ใช้กัญชาทางการแพทย์เท่านั้น ซึ่งกรมการแพทย์ระบุมี 6 โรคที่ใช้ได้ประโยชน์
  • กัญชา Soft Drug เรียนรู้จากประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งมีการใช้ประโยชน์จากกัญชงและกัญชาเชิงพาณิชย์และทางการแพทย์

สมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข จะบอกว่า เรื่องกัญชาจะยังไม่มีไทม์ไลน์ในการคืนกลับเป็นยาเสพติด เพราะจะทำแบบเร็วด่วนไม่ได้ แต่จะดำเนินการได้ภายในสิ้นปี 2567 ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายอย่างแน่นอน

แต่ที่ชัดเจน คือ “กัญชา จะคืนกลับไปเป็นยาเสพติดแน่นอน โดยเป็น “Soft Drug”ยาเสพติดแบบอ่อน หรือยาเสพติด

กัญชา Soft Drug ใช้ทางการแพทย์ เชิงพาณิชย์ 

เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ประหนึ่งเรื่อง “กัญชา”ถูกย้อนกลับสู่จุดเริ่มต้นของการใช้นำกัญชากัญชงมาใช้ประโยชน์ แต่ก็ไม่ทั้งหมด เพราะในช่วงเริ่มต้น มุ่งนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์เท่านั้น ตามที่กำหนดไว้ใน มาตรา 58 ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 ว่า

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขอาจประกาศกำหนดยาเสพติดให้โทษในประเภท  5  ที่ให้เสพเพื่อการรักษาโรคตามคำสั่งของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม  ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม  ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย  ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์  หรือหมอพื้นบ้าน หรือเสพเพื่อการศึกษาวิจัย

กระทั่ง ภายหลังมีการปลดล็อกออกจากยาเสพติดให้โทษประเภท 5 มีผลบังคับใช้เมื่อ 9 มิ.ย.2565 “กัญชาถูกนำมาสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจด้วย”

“กัญชา”ยาเสพติดแบบอ่อน ย้อนสู่จุดเริ่มต้น 6 โรค/ภาวะใช้ได้ประโยชน์   

ภาพรวมของอุตสาหกรรมกัญชงกัญชา ผู้ปลูกและโรงงานสกัดมีการลงทุนรวมกว่า 25,000 ล้านบาท  ผู้ปลูกมีใบอนุญาตกว่า 10,000 ใบ โรงงานสกัดมีใบอนุญาต 40 แห่ง

และมีผลิตภัณฑ์ทั้งอาหาร เครื่องสำอางที่เกี่ยวข้องกับกัญชากัญชงได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)แล้วกว่า 1,400 รายการ 

เพราะฉะนั้น แม้รัฐบาลนี้จะให้นำกัญชาคืนกลับเป็นยาเสพติด ก็จะไม่ปิดเรื่องการใช้ประโยชน์กัญชากัญชงเฉพาะทางการแพทย์และศึกษาวิจัยเท่านั้น แต่จะคลายล็อกเรื่องใช้ทางเศรษฐกิจด้วย

“ต้องทำกฎกระทรวงเรื่องการอนุญาตต่างๆ  เช่น ปลูก ผลิต นำเข้าส่งออกจำหน่าย มีไว้ในครอบครอง แปรรูป ต้องออกเป็นกฎกระทรวงมาพูดคุยกัน และออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 58 ให้มีไว้เพื่อเสพตามคำสั่งของแพทย์ แพทย์แผนไทย แพทย์โบราณ แพทย์พื้นบ้าน หรือเสพเพื่อวิจัย จะเขียนประกาศไว้ให้ แต่จะเขียนอย่างไรต้องมาคุยกัน"นายสมศักดิ์กล่าว 

การออกกฎกระทรวงดังกล่าว จะส่งผลให้ “ผลิตภัณฑ์กัญชากัญชง”มีกฎหมายเฉพาะในการควบคุม กำกับ จากที่ปัจจุบันในการขออนุญาตผลิตภัณฑ์เหล่านี้ จะใช้กฎหมายของผลิตภัณฑ์นั้นๆในการพิจารณา เช่น หากเป็นอาหาร ก็จะใช้พ.ร.บ.อาหาร หากเป็นเครื่องสำอาง ใช้พ.ร.บ.เครื่องสำอาง  หากเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพร ใช้พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร เป็นต้น 

ค้านกัญชายาเป็นติด หนุนออกพ.ร.บ.ควบคุม

ทว่า สิ่งที่ยัง “ไม่เคลียร์” คือ การคืนกลับเป็นยาเสพติดแบบอ่อนรอบนี้ จะคืนกลับไปทั้งกัญชากัญชงเหมือนตอนปลดล็อกจากยาเสพติดพร้อมกันหรือไม่ หรือจะกลับไปเป็น Soft Drug เฉพาะกัญชาเท่านั้น ส่วนกัญชงก็ยังคงไม่เป็นยาเสพติดเช่นเดิม

และกัญชานั้นร้ายหรือส่งกระทบอันตรายต่อร่างกายมากกว่าเหล้า บุหรี่มากน้อยแค่ไหน อย่างไร  ทำไมกัญชาถึงเป็น “ยาเสพติด” ส่วนเหล้า บุหรี่ เป็นเพียง “สารเสพติด”

ประสิทธิ์ชัย หนูนวล เลขาธิการเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย  ตั้งคำถามตัวโตๆกับเรื่องนี้ว่า ไม่เห็นด้วยที่จะนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด ไม่ว่าจะเป็นการนำกลับทั้งหมด หรือกลับเป็นยาเสพติดเพียงบางส่วนก็ตาม แต่เห็นว่า การคุมโดยใช้กฎหมายระดับพ.ร.บ.มีคุณภาพมากกว่า ประสิทธิภาพมากกว่า เพราะจะสามารถนำเอาส่วนที่ดีของกัญชามาใช้ประโยชน์ได้ และควบคุมส่วนเสียได้

“เมื่อไหร่ก็ตามที่มันเป็นยาเสพติดจะทำอะไรไม่ได้เลย และจะมีกติกาเฉพาะให้คนที่มีคุณสมบัติเท่านั้นที่ปลูกได้ เป็นการกีดกัน”ประสิทธิ์ชัยกล่าว 

และในวันที่ 16 พ.ค.2567 เครือข่ายฯ จะรวมตัวกันเดินทางไปที่กระทรวงสาธารณสุข เพื่อขอให้กระทรวงสาธารณสุขทำเรื่องเดียว คือ การทำข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ เปรียบเทียบระหว่างบุหรี่ สุรา และกัญชาว่า 3 สิ่งนี้ สิ่งใดมีประโยชน์ต่อร่างกาย และสิ่งใดมีโทษต่อร่างกาย แล้วนำข้อเท็จจริงนี้ในการกำหนด โดยให้เวลา 15 วัน ในการจัดทำข้อมูลตรงนี้

หากไม่ดำเนินการ ก็จะปักหลักค้างคืนที่กระทรวงสาธารณสุขจนกว่ากระทรวงสาธารณสุขจะทำงานวิชาการชิ้นนี้ออกมาให้สังคมเห็น ถ้าทำแล้ว พบว่า กัญชามันร้ายมากก็เอากลับไปเป็นยาเสพติดได้เลย

“เราเรียกร้องมา 2 ปีให้ออกพ.ร.บ.มาควบคุม ตั้งแต่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็มีการเล่นการเมืองมาตลอด ไม่ยอมผ่านพ.ร.บ.  ซึ่งหากผ่านเป็นกฎหมายที่ควบคุมได้ดี หมวดว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค ค่อนข้างรัดกุม บทลงโทษสูง ณ ตอนนี้ รัฐบาลชุดนี้ก็ยังไม่ทำ ตอนนี้มีพ.ร.บ. 4 ฉบับที่อยู่บนโต๊ะนายกฯ มาหลายเดือนแล้วแต่ไม่ยอมเซ็น ทั้งๆ ที่หากเซ็นแล้วก็จะเข้าสู่วาระ 1 สภาผู้แทนราษฎร คลอดพ.ร.บ.ออกมาแล้ว ทุกอย่างก็จะอยู่ภายใต้การควบคุม แต่รัฐบาลก็ไม่ทำ แต่เลือกที่จะเอากลับไปเป็นยาเสพติด ซึ่งคิดว่าไม่ได้ดำเนินการอยู่บนข้อเท็จจริง เรื่องนี้ตนมองว่า เป็นเรื่องการเมือง” นายประสิทธิ์ชัย กล่าว

กัญชาทางการแพทย์ โรคที่ใช้ได้

ภายหลังมีประกาศ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 ระบุให้สารสกัดที่มีปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล หรือทีเอชซี(tetrahydrocannabinol; THC) ไม่เกินร้อยละ 0.2โดยน้ำหนัก

เฉพาะที่ได้รับอนุญาตให้สกัดจากพืชกัญชาหรือกัญชงที่ปลูกภายในประเทศ ไม่เป็นสารเสพติดให้โทษ รวมถึงส่วนประกอบต่าง ๆ จากพืชกัญชาก็จะไม่เป็นสารเสพติดให้โทษเช่นเดียวกัน มีผลบังคับใช้เมื่อ 9 มิ.ย.2565

“กัญชา”ยาเสพติดแบบอ่อน ย้อนสู่จุดเริ่มต้น 6 โรค/ภาวะใช้ได้ประโยชน์   

สำหรับการใช้กัญชาทางการแพทย์ ตามคำแนะนำการใช้กัญชาทางการแพทย์ ของกรมการแพทย์ ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 5 ออกเมื่อเดือนก.ย.2565 ระบุโรคและภาวะที่ใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ได้ประโยชน์ เนื่องจากมีหลักฐานทางวิชาการที่มีคุณภาพสนับสนุนชัดเจน ได้แก่

1. ภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด (chemotherapy induced nausea and vomiting)แพทย์สามารถใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาเพื่อรักษาภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัดภายใต้ข้อพิจารณา

2. โรคลมชักที่รักษายาก และโรคลมชักที่ดื้อต่อยารักษา (intractable epilepsy)

ผู้สั่งใช้ควรเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาท และได้รับการอบรมการใช้สารสกัดจากกัญชาเพื่อการรักษาผู้ป่วย

• ใช้ในโรคลมชักที่รักษายากในเด็ก

• โรคลมชักที่ดื้อต่อยารักษาตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไป

3. ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็ง (spasticity) ในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (multiple sclerosis)แพทย์สามารถใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาในกรณีที่รักษาภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งที่ดื้อต่อรักษาภายใต้

ข้อพิจารณาต่อไปนี้ การศึกษาในประเทศไทยโดยใช้ THC:CBD ในอัตราส่วน 1:1 พบว่า สารสกัดกัญชามีประโยชน์ในการใช้รักษาภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยปลอกประสาทเสื่อมแข็ง โดยวัดผลลัพธ์ที่ 12 สัปดาห์

4. ภาวะปวดประสาทส่วนกลาง (central neuropathic pain) แพทย์สามารถใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาในกรณีที่รักษาภาวะปวดประสาทที่ดื้อต่อการรักษาภายใต้ข้อพิจารณา

5. ภาวะเบื่ออาหารในผู้ป่วย AIDS ที่มีน้ำหนักตัวน้อย

• อาจใช้สารสกัดกัญชาชนิด THC เด่นเพื่อเพิ่มความอยากรับประทานอาหารและทำให้ผู้ป่วยAIDS มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นได้

• แนะนำให้ใช้สารสกัดกัญชาชนิด THC เด่น โดยเริ่มปริมาณน้อยวันละ 2 ครั้งก่อนอาหาร แล้วปรับเพิ่มขึ้นทีละน้อยตามดุลพินิจของแพทย์(ดูหัวข้อขนาดยาและวิธีบริหารยา)

6. การเพิ่มคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคอง หรือผู้ป่วยระยะสุดท้ายของชีวิต(end of life) ซึ่งเป็นการตัดสินใจของผู้รักษา

• ไม่แนะนำให้ใช้เป็นผลิตภัณฑ์กัญชาเป็นการรักษาเริ่มต้น

• แนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาเป็นการรักษาเสริมหรือควบรวมกับวิธีการรักษาตามมาตรฐาน

กัญชาทางการแพทย์ ไม่แนะนำใช้ลำดับแรก

อย่างไรก็ตาม คำแนะนำฉบับนี้ย้ำว่า “ไม่ได้แนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาในการรักษา และ/หรือ ควบคุมอาการของผู้ป่วยเป็นการ รักษาลำดับแรก (first-line therapy)”  โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ที่ยังไม่ผ่านการขึ้นทะเบียน ยกเว้นในกรณีที่ได้รับข้อมูลทางการแพทย์เพียงพอ และเป็นความประสงค์ของผู้ป่วยและครอบครัวตามสิทธิขั้นพื้นฐาน และสารสกัด/ ผลิตภัณฑ์กัญชาที่นำมาใช้ทางการแพทย์ ต้องปลอดภัยจากสารปนเปื้อนต่าง ๆ

การใช้สารสกัด/ ผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ควรจำกัดเฉพาะกรณีที่การรักษาด้วยวิธีมาตรฐานต่าง ๆ แล้วไม่ได้ผล/ หรืออาจเกิดผลข้างเคียงที่ผู้ป่วยไม่สามารถทนได้  รวมถึงการใช้สารสกัด/ ผลิตภัณฑ์กัญชาที่นำมาใช้ทางการแพทย์ ควรใช้เพื่อเป็นส่วนเสริม หรือควบรวมกับการ รักษาตามมาตรฐาน และผู้สั่งใช้สารสกัด/ ผลิตภัณฑ์กัญชาที่นำมาใช้ทางการแพทย์ ควรเป็นแพทย์หรือทันตแพทย์ที่ผ่านการ อบรมหลักสูตรการใช้กัญชาทางการแพทย์ที่กระทรวงสาธารณสุขให้การรับรอง

กัญชา Soft Drug เชิงพาณิชย์ในเนเธอร์แลนด์

การกำหนดกัญชาเป็น Soft Drug แล้วนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และเชิงพาณิชย์นั้น มีตัวอย่างในประเทศเนเธอร์แลนด์  โดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเฮก กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ระบุไว้ในรายงานเรื่องการใช้ประโยชน์จากกัญชงและกัญชาเชิงพาณิชย์ในเนเธอร์แลนด์ว่า 

“กัญชา”ยาเสพติดแบบอ่อน ย้อนสู่จุดเริ่มต้น 6 โรค/ภาวะใช้ได้ประโยชน์   

ในเนเธอร์แลนด์กัญชาถือเป็นยาเสพติดประเภทไม่รุนแรง (soft drug) และเป็นสิ่งผิดกฎหมายที่มีข้อห้ามและมีบทลงโทษสำหรับการจำหน่าย เสพ ปลูก และครอบครอง แต่มีนโยบายผ่อนปรน (toleration policy) ในการจำหน่าย เสพ ปลูก และครอบครองกัญชา

1. การจำหน่ายกัญชาโดยสถานประกอบการซึ่งได้แก่ coffee shop ถือเป็นความผิดทางอาญา  จะไม่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีอาญาโดยรัฐ โดยมีข้อผ่อนปรนดังนี้

  • จะต้องไม่ก่อให้เกิดปัญหารบกวนสาธารณะ
  • ห้ามจำหน่ายยาเสพติดให้โทษรุนแรง (hard drug)
  • ห้ามจำหน่ายกัญชาให้กับผู้มีอายุต่ ากว่า 18 ปีบริบูรณ์
  • ห้ามทำการโฆษณา
  • ห้ามจำหน่ายกัญชาในปริมาณที่สูงเกินกว่า 5 กรัม ต่อการซื้อขาย 1 ครั้ง

2. ห้ามเสพกัญชาในที่สาธารณะ

3.จำหน่ายกัญชาให้เฉพาะผู้ที่มีถิ่นพำนักถาวรในเนเธอร์แลนด์เท่านั้น

4. ที่ตั้งของ coffee shop จะต้องอยู่ห่างจากโรงเรียนเกินกว่า 350 เมตร

5. กัญชาที่มี THC เกินกว่า 15% ถือเป็นยาเสพติดรุนแรง

6. ห้ามปลูกกัญชาเพื่อการพาณิชย์ โดยประชาชนทั่วไปสามารถปลูกกัญชาเพื่อการเสพส่วนตัวได้ไม่เกิน ครัวเรือนละ 5 ต้น แต่หากมีการตรวจค้นเจ้าหน้ามีหน้าที่ต้องยึดของกลางทั้งหมด แต่ไม่มีการดำเนินคดีหากไม่เกิน 5 ต้น ทั้งนี้จะไม่อนุญาตให้กลับมาปลูกอีก

ส่วนการใช้กัญชาเพื่อการรักษาทางการแพทย์อยู่ภายใต้กฎหมาย Opium Act ปี 2002 โดยสามารถทำได้หากแพทย์เป็นผู้วินิจฉัยและเขียนใบสั่งยาให้ผู้ป่วย และผู้ป่วยสามารถนำใบสั่งยาไปซื้อยาได้ที่ร้านขายยา

หน่วยงานที่มีอำนาจและมีหน้าที่เป็นผู้รับผิดชอบในการผลิต จำหน่าย และกระจายสินค้ากัญชา เพื่อการแพทย์แต่เพียงผู้เดียวคือ Office of Medicinal Cannabis (OMC) ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐภายใต้กระทรวงสาธารณสุข สวัสดิการ และการกีฬาเนเธอร์แลนด์ โดย OMC จะเป็นผู้ดูแลทั้งทางด้านการเพาะปลูก ผลิต จำหน่าย และกระจายสินค้า medicinal cannabis ไปสู่โรงพยาบาล ร้านขายยา ห้องวิจัย มหาวิทยาลัย

สำหรับกัญชง การปลูกกัญชงใช้ในอุตสาหกรรมของประเทศเนเธอร์แลนด์ (และสหภาพยุโรป) ถูกกำหนดให้ใช้พันธุ์ที่ มีสาร THC ไม่เกิน 0.2% ซึ่งไม่สามารถนำมาทำเป็นยาเสพติดได้ โดยต้นกัญชงใช้ในเชิงอุตสาหกรรมได้ทั้งต้น โดยสามารถนำไปแปรรูปได้หลายรูปแบบ

ขณะที่ผลิตภัณฑ์กัญชงที่มีขายในเชิงพาณิชย์ มีวางจำหน่ายในร้านค้าปลีก และร้านค้าออนไลน์ในเนเธอร์แลนด์ ส่วนใหญ่จะเป็นผลิตภัณฑ์ เพื่อสุขภาพและความงาม ซึ่งใช้น้ำมันกัญชงเป็นวัตถุดิบในการผลิต ผลิตภัณฑ์จากกัญชงที่สกัดสาร CBD สำหรับการค้าในเชิงพาณิชย์จะถูกกำหนดปริมาณของสาร THC ตามกฎหมายของเนเธอร์แลนด์ไว้ที่ต่ำกว่า 0.05% ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ เช่น ครีม สบู่ แชมพู ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม วิตามิน น้ำมัน CBD