เปิดทางที่ "กัญชากัญชง"จะไปต่อ ตลอดห่วงโซ่อุตสาหกรรมอยู่รอด

เปิดทางที่ "กัญชากัญชง"จะไปต่อ ตลอดห่วงโซ่อุตสาหกรรมอยู่รอด

ภาคธุรกิจและวิสาหกิจชุมชน ประสานเสียง “ความไม่ชัดเจนของนโยบาย”อุปสรรคสำคัญต่ออุตสาหกรรมกัญชากัญชง สะท้อนภาพปัญหา ผลผลิตค้าง ราคาตกต่ำ โรงงานไร้ออร์เดอร์ ผู้บริโภคไม่มั่นใจไม่กล้าซื้อ ยื่นข้อเสนอแนะถึงรัฐ

KEY

POINTS

  • ปลดล็อกกัญชา เกือบครบ 2 ปีเต็ม ภาคธุรกิจและวิสาหกิจชุมชน ประสานเสียง “ความไม่ชัดเจนของนโยบาย”อุปสรรคสำคัญต่ออุตสาหกรรมกัญชากัญชง
  • ผู้ปลูกกัญชา ภาคอุตสาหกรรมกัญชงกัญชา สะท้อนภาพปัญหา ผลผลิตค้าง ราคาตกต่ำ โรงงานไร้ออร์เดอร์ ผู้บริโภคไม่มั่นใจไม่กล้าซื้อ
  • ยื่นข้อเสนอแนะถึงรัฐ แนวทางช่วยตลอดห่วงโซ่อุตสาหกรรมกัญชงกัญชาไปรอด สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ขณะที่นายกรัฐมนตรีสั่งกัญชาคืนกลับเป็นยาเสพติด

แม้ว่านายกรัฐมนตรี จะมอบนโยบายเรื่องกัญชาขอให้กระทรวงสาธารณสุขแก้ไขประกาศกระทรวง โดยดึงกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดประเภท 5 และเร่งออกกฎกระทรวงอนุญาตให้ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ด้านการแพทย์และสุขภาพเท่านั้น

          แท้จริงของนโยบายรัฐบาลอยู่ที่ “การใช้ประโยชน์จากกัญชาทางการแพทย์และสุขภาพ เพื่อสร้างมูลค่าในเชิงเศรษฐกิจ” มิได้ปิดจบกัญชาเสียทีเดียว จึงเป็นโจทย์สำคัญที่จะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องวางแนวทางอย่างเหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสังคมและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ

          “สิทธิชัย แดงประเสริฐ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงงานเภสัชอุตสาหกรรม เจเอสพี (ประเทศไทย)จำกัด(มหาชน)หรือJSP และกรรมการสมาคมสหอุตสาหกรรมพืชกัญชงและกัญชา ให้สัมภาษณ์กรุงเทพธุรกิจว่า  ปัจจุบันในประเทศไทย ผู้ปลูกและโรงงานสกัดมีการลงทุนรวมกว่า 25,000 ล้านบาท  ผู้ปลูกมีใบอนุญาตกว่า 10,000 ใบ โรงงานสกัดมีใบอนุญาต 40 แห่งแยกเป็นโรงงานสกัดกัญชาที่อนุญาตให้เฉพาะหน่วยงานรัฐและมหาวิทยาลัย เอกชนยังทำไม่ได้ และโรงงานสกัดกัญชงที่เอกชนทำได้

เปิดทางที่ \"กัญชากัญชง\"จะไปต่อ ตลอดห่วงโซ่อุตสาหกรรมอยู่รอด

ราคาตก ซัพพลายล้นตลาด

          “ภาพรวมอุตสาหกรรมกัญชงในตลาดโลก ราคาตกลงในช่วง3-4 ปีที่ผ่านมา จากกิโลกรัมละหลายแสนบาท เหลือ 1 แสนบาทต่อกิโลกรัม ปัจจุบันปี 2567 กิโลกรัมละ 60,000-80,000 บาท  ตกทั้งตลาดโลก บริษัทกัญชากัญชงที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์หุ้นตกทุกตัว ตอนนี้ซัพพลายทั้งโลกล้นตลาด และราคาตลาดโลกถูกกว่าประเทศไทย

เพราะมีการปลูกเป็นฟาร์มขนาดใหญ่ โรงงานสกัดในต่างประเทศจึงคืนทุนแล้ว แต่ยังดีที่รัฐบาลกันไม่ให้มีการนำเข้าช่อดอกและสารสกัดเข้ามาในประเทศไทย เพื่อคุ้มครองผู้ผลิตภายในประเทศ หากให้เข้ามาผู้ปลูกและผู้สกัดตายอย่างเดียว”สิทธิชัยกล่าว 

นโยบายไม่ชัดเจนอุปสรรคต่อการเติบโต

          ทว่าในมุมมองการเติบโตของอุตสาหกรรม ยังมีอุปสรรคความไม่แน่นอนของกฎหมาย จากกัญชาทางการแพทย์ สู่กัญชาที่ขายทั่วไป ภาพลักษณ์ส่วนใหญ่กลายเป็นเรื่องของบันเทิง คนที่อยากห่างไกลยาเสพติดจึงมองเชิงลบ และคนส่วนใหญ่แยกกัญชา กัญชงไม่ได้ เมื่อรัฐบาลจะนำกลับไปเป็นยาเสพติด คนจึงเข้าใจว่ากัญชากัญชงเป็นยาเสพติด 

ทำให้ผู้บริโภคปลายทางไม่มั่นใจ ไม่กล้าซื้อ  คนทำการตลาดไม่กล้าที่จะเดินหน้าเรื่องการตลาด ย้อนถึงต้นทางโรงงานผลิตก็ไม่มีออร์เดอร์ และผู้ปลูกไม่มีที่ขาย ขณะที่มีการลงทุนไปแล้ว โดยโรงงานลงทุนไปแล้วกว่า 10,000 ล้านบาทได้มาตรฐาน GMP มาตรฐานยุโรป และมีFixed cost จำนวนมาก

ต้องแยกกัญชา กัญชงออกจากกัน

ข้อเรียกร้องในนามของสมาคมสหอุตสาหกรรมพิชกัญชงและกัญชา คือ

1.รัฐบาลต้องมีความชัดเจนในเรื่องของนโยบายว่าจะบีบ คลาย หรือปล่อย  เพื่อที่ผู้ประกอบการรายที่ไปไม่ไหว จะได้ขายกิจการทิ้ง เจ็บที่เดียวไม่เจ็บนาน ส่วนที่ไปไหวหากมีความชัดเจนจะได้ลงทุนเพิ่ม โดยจะต้องชัดเรื่องการแยกกัญชา กัญชงออกจากกันให้เด็ดขาด ถ้าแยกแล้วกัญชาจะเป็นยาเสพติดเพื่อการแพทย์ ให้หน่วยงานภาครัฐ มหาวิทยาลัยดำเนินการ ส่วนกัญชงไม่ใช่ยาเสพติด จะได้มุ่งเน้นเห็นความชัดเจนและเดินหน้า

2.โรงงานสกัดกว่า 10,000 ล้านบาทเป็นการสกัดกัญชง เพราะฉะนั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)ควรมีส่วนส่งเสริมสนับสนุนผลักดันให้โรงงานสกัดกัญชง ที่มีอยู่ สามารถสกัดสมุนไพรไทยได้ จะสามารถผลิตสารสกัดกระชายดำ ขิง ข่า ตะไคร้  ขมิ้นชัน ซึ่งประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง มีความรู้แพทย์แผนไทย

แต่กลับไม่เคยส่งออกสารสกัดสมุนไพร เนื่องจากที่ผ่านมาไม่มีโรงงานสกัดที่ได้มาตรฐานระดับโลก  หากดำเนินการได้จะทำให้สมุนไพรไทยเป็น  worldwide standard และผู้ประกอบการโรงงานสมุนไพรSMEs ที่มีกว่า 1,000 แห่ง  ซื้อสารสกัดสมุนไพรจากโรงงานสกัดในประเทศ ลดการนำเข้าแล้วสร้างแบรนด์

ปลดล็อกCBDใส่ในอาหารสัตว์

3.ปัจจุบันกัญชงเป็นเครื่องสำอางและเสริมอาหารได้ แต่อยากให้สนับสนุนให้เอกชนนำกัญชงมาเป็นยาสมุนไพรได้ กำหนดให้ชัดเจนว่าอนุญาตให้ใส่กัญชงได้ปริมาณเท่าไหร่ 

4.กรมปศุสัตว์จะต้องออกประกาศในเรื่องให้ใส่สารCBD ในอาหารเสริมหรืออาหารสัตว์  ซึ่งตรงนี้เป็นตลาดที่ใหญ่มาก  วัว หมู ไก่รวมกันจำนวนมากกว่าประชากรคนไทย

และถ้าไก่กินCBDจะไม่ขี้ตกใจตายยกเล้า หมูจะแข็งแรงมีความสุขเนื้อจะดีขึ้น ขณะที่ประเทศไทยมีการส่งออกอาหารสัตว์ติดอันดับ 3 ของโลก ถ้าอนุญาตให้อาหารสัตว์ใส่CBDได้แล้วประเทศไทยส่งออกจะติดเบอร์ 3 ของโลก  ทำให้โรงงานสกัดCBD ก็อยู่รอด

5.อาหารเสริมสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว ปัจจุบัน 99 % นำเข้า  เพราะฉะนั้นประเทศไทยมีโอกาสมาก หากอนุญาตให้ผลิตอาหารเสริมสัตว์ที่มีCBD จะช่วยให้สัตว์เลี้ยงอารมณ์ดี ไม่เครียดเวลาอยู่ตัวเดียว จนกัดทำลายของ 

และ6.รัฐบาลนำนโยบาย Thailand Soft Power มาส่งเสริมสมุนไพรไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่ต่างชาติลอกเลียนแบบไม่ได้ ต้องปลูกและใช้องค์ความรู้ของไทย เช่น ยาอม ยาดม ยาหม่อง หากนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีไปประชุมในต่างประเทศ แล้วหยิบยาดม ยาหม่องขึ้นมาใช้เป็นพรีเซ็นเตอร์ แล้วมอบให้นายกฯหรือรัฐมนตรีประเทศอื่นๆ เป็นการโปรโมทที่ดีมาก  ประเทศไทยจะดังระเบิดในเวทีโลก  และไม่มีใคร Copy ได้  อุตสาหกรรมสมุนไพรไทยจะดีทั้งหมด

“ถ้าทำได้เช่นนี้ และรัฐบาลมีนโยบายที่ชัดเจน ซึ่งแนวโน้มที่ออกมากัญชาเป็นยาเสพติดแล้วไปใช้ทางการแพทย์ดีแล้ว กัญชาควรถูกควบคุมให้ใช้ในปริมาณที่จำเป็นแล้วมีแพทย์ หรือแพทย์แผนไทยดูแล กัญชาจะเป็นยาขอโอกาสให้เอกชนทำยากัญชาได้ ส่วนกัญชงแยกให้ชัดว่าไม่ใช่ยาเสพติด สร้างภาพลักษณ์ให้ชัดเจน อุตสาหกรรมกัญชงจะเติบโต ไม่เจ๊ง โรงงานผลิตก็มีออร์เดอร์ ผู้ปลูกที่มีใบอนุญาตมีที่ขายจะไม่หมดตัว ”สิทธิชัยกล่าว  


อย่าลอยแพ เกษตรกรผู้ปลูก

          ขณะที่ตัวแทนวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกกัญชา ในจ.สกลนคร ให้ข้อมูลกับกรุงเทพธุรกิจว่าเริ่มต้นกว่า 2 ปี ชาวบ้านในกลุ่มตัดสวนยาง สวนอ้อย มาลงทุนสร้างโรงเรือนเพื่อปลูกกัญชา โดยทำถูกต้องตามข้อกำหนดของกฎหมายทุกอย่าง  ด้วยความหวังจะลืมตาอ้าปากได้ ซึ่งในช่วงแรกขายได้ราคาดี  ใบราคากิโลกรัมละ 10,500 บาท และมีการจองข้ามปี 

ส่วนช่อดอกกลุ่มส่งขายให้กับกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และรพ.พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร สำหรับทำเป็นยา รวมถึง กลุ่มนำกิ่ง ก้าน ใบมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ชาชงและชุดต้มเพื่อสุขภาพ กำไร 5-10 บาท

เปิดทางที่ \"กัญชากัญชง\"จะไปต่อ ตลอดห่วงโซ่อุตสาหกรรมอยู่รอด

หลังกัญชาเสรี ในปลายปี  2566 ยังขายได้หมดแต่ราคาก็ลดลง ขณะที่ปี 2567 ยังขายไม่ได้ มีผลผลิตค้างอยู่หลายพันกิโลกรัม นอกจากจะไม่มีพ่อค้าเข้ามารับซื้อแล้ว หากมีก็จะกดราคาต่ำมาก ช่อดอกกิโลกรัมละ 1,200 บาท

เนื่องจากปัญหามีการลักลอบนำเข้ากัญชามาจากประเทศเพื่อบ้านเพราะมีคนไทยไปลงทุนปลูกไว้ที่โน่น บวกกับคนไทยร่วมทุนกับชาวต่างชาติ นำสายพันธุ์นอกเข้ามาปลูกในประเทศไทย และส่งขายให้กับร้านกัญชาที่มีอยู่ทั่วไปโดยเฉพาะในพื้นที่กทม. โดยขายได้ราคาละหลักแสนบาท ทำให้กัญชาที่ปลูกในประเทศไทยขายไม่ได้
          สิ่งที่ต้องการให้ภาครัฐเข้ามาดำเนินการช่วยเหลือ คือ  

1.รัฐออกกฎระเบียบที่ช่วยเหลือ เอื้อต่อชาวบ้านกลุ่มผู้ปลูกกัญชา อย่าเอื้อกลุ่มทุนที่นำกัญชาสายพันธุ์นอกเข้ามาปลูก

2.สกัดการลักลอบนำเข้ากัญชาจากประเทศเพื่อนบ้าน

3.ตรวจสอบสายพันธุ์กัญชาที่มีการปลูกว่าเป็นพันธุ์ไทยหรือไม่ เพราะหากจะให้ชาวบ้านไปสู้ด้วยการปลูกสายพันธุ์นอกที่ราคาเมล็ดหลายร้อยบาท ชาวบ้านคงสู้ไม่ไหว 

4.ทบทวนข้อกฎหมาย ระเบียบต่างๆ ในการช่วยเหลือ ส่งเสริมเกษตรกรผู้ปลูก 

5.ในเรื่องการออกใบอนุญาตต้องมีการตรวจสอบ ไม่ใช่ใครก็ปลูกได้ ต้องเอื้อให้กับประชาชน เพราะทำนโยบายนี้เพื่อต้องการกระจายรายได้ให้เกษตรกร 

 “ตอนนี้สมาชิกกลุ่มมีผลผลิตเหลือหลายตัน  อยากให้รัฐย้อนกลับไปจุดเริ่มต้นของนโยบายกัญชาที่ต้องการช่วยเหลือให้เกษตรกรลืมตาอ้าปากได้ แต่ตอนนี้เกษตรกรผู้ปลูกยังไม่ได้แม้แต่ค่าลงทุนทำโรงเรือนคืนเลย ต้องมีกำหนด กำแพงให้ชัดว่ากัญชาเสรีขนาดไหน  ตรงไหนที่เห็นว่าเป็นปัญหา สร้างผลกระทบทางลบก็ออกกฎหมายมาบล็อคไว้”ผู้ปลูกกัญชารายนี้กล่าว 

ถามถึงกรณีที่รัฐบาลจะนำกัญชาคืนกลับไปเป็นยาเสพติด เกษตรกรผู้ปลูกกัญชารายนี้ มองว่า เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ  เป็นการล้อมคอกซึ่งวัวหายไปแล้ว เป็นการแก้ไขไม่ตรงจุด และเอาเปรียบประชาชน หลังจากส่งเสริม จากนั้นก็จะมากลืนน้ำลายตัวเอง เป็นเกมการเมืองมากกว่า

อย่างน้อยๆต้องย้อนมองชาวบ้านที่ปลูกแล้วหวังผลกำไร ลดภาระหนี้สิน มีเงินจุนเจือครอบครัวด้วย ต้องหาแนวทางช่วยเหลือ อย่าลอยแพ ต้องเห็นใจคนที่ลงทุน รัฐบาลต้องรับผิดชอบ ส่วนที่เขาสูญเสียไป เหมือนตัดที่ผ่านทางก็ต้องจ่ายค่าเวรคืน จะตัดโดยไม่ให้อะไรเลยก็เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง