ปลดล็อคท้องถิ่น จัดประกันสุขภาพ เพิ่มดูแลผู้ป่วยประคับประคอง – สมองเสื่อม
บอร์ด สปสช.เห็นชอบ ประกาศฯระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ 2 ฉบับใหม่ ปรับการใช้ กปท. เพิ่มการดูแลผู้มีภาวะพึ่งพิงให้ครอบคลุม ทั้ง ‘ผู้ป่วยประคับประคอง – สมองเสื่อม’ รวมถึงใช้เงินสมทบจ้างคนดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะพึ่งพิงได้
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เปิดเผยว่า ในการประชุมบอร์ด สปสช. เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ได้มีการพิจารณาและเห็นชอบ “ร่างประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์เพื่อสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินงานและบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ 2 ฉบับ”
ที่ผ่านมาในการดำเนินงานของ สปสช. คือ การจัดสรรงบประมาณร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ดำเนินการภายใต้ประกาศจำนวน 3 ฉบับ ที่เกี่ยวกับกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ (กปท.) เนื่องจากใช้ประกาศฯ มาตั้งแต่ ปี 2561ปัจจุบันพบว่ามีข้อติดขัดในการดำเนินงานบางประการ
ทางคณะอนุกรรมการสนับสนุนการดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ ที่มีปลัดกระทรวงมหาดไทย (มท.) เป็นประธาน จึงมีการพิจารณาและเสนอให้ สปสช. พิจารณาปรับประกาศเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว
ข้อเสนอที่ให้มีการปรับประกาศนั้นมีอยู่ 2 ฉบับด้วยกัน โดยเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับ กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ กรณี องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เทศบาล และเมืองพัทยา และกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งนอกจากการปรับประกาศทั้ง 2 ฉบับ จะเป็นไปตามที่คณะอนุกรรมการดังกล่าวเสนอแล้ว ยังเป็นไปเพื่อให้สอดคล้องกับประกาศหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2567 ด้วย
ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับสาระสำคัญที่มีการเปลี่ยนแปลงในร่างประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์เพื่อสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นฯ 2 ฉบับใหม่นี้ คือ
1. การปรับให้กิจกรรมบริการสาธารณสุขสำหรับผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง ทั้งในส่วนของ อบต. เทศบาลเมืองพัทยา และ กทม. ให้มีความครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายเพิ่มขึ้นอีก 2 กลุ่ม ได้แก่ ผู้ป่วยระยะประคับประคอง และผู้ป่วยสมองเสื่อม ตามที่ได้มีการเพิ่มเป็นสิทธิประโยชน์
2. การปรับให้ อปท. (อบต. เทศบาล เทศบาลเมืองพัทยา และ กทม.) สามารถสมทบเงินเพื่อนำไปใช้เป็นค่าใช้จ่ายเป็นค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงได้
3.การปรับให้ อปท. (อบต. เทศบาล เทศเมืองพัทยา และ กทม.) สามารถนำเงินสมทบไปจ่ายเป็นค่าจ้าง ค่าตอบแทน หรือค่าป่วยการสำหรับผู้ที่ดูแลผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงได้
นอกจากนี้ ยังมีการปรับอัตราเงินสมทบของ อบต. เทศบาล และเมืองพัทยา ซึ่งไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงมาก แต่เป็นการปรับกระบวนการและวิธีการ ส่วน กทม. มีการปรับเพิ่มให้สามารถดำเนินการได้เหมือนกับ อปท. ในภูมิภาค กล่าวคือถ้ามีงบไม่เพียงพอในระหว่างปีสามารถขอรับจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมได้ แต่ กทม. ก็ต้องนำเงินมาสมทบด้วยเช่นกัน
อีกทั้ง กทม. จะสามารถใช้งบกองทุนหลักประกันสุขภาพ กทม. ในการฟื้นฟูสมรรถภาพได้เช่นเดียวกับ กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัด ที่ดำเนินการโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) รวมถึงจะปรับเพิ่มให้ประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร มีอำนาจในการอนุมัติเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพ กทม. ได้ไม่เกิน 2 ล้านบาทต่อโครงการ กรณีเกิดการระบาดของโรคติดต่ออันตราย เช่น กรณีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา