เปิดแผนรับเหตุ "สิงคโปร์แอร์ไลน์” ก่อนทีมไทยได้ชื่อ “วีรบุรุษสุวรรณภูมิ”
เปิดแผนเกิดเหตุวิกฤติในอากาศยาน สนามบินสุวรรณภูมิรับกรณีสิงคโปร์แอร์ไลน์ เครื่องบิรตกหลุมอากาศ ประสานงานทุกฝ่ายร่วมมือช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บ จนดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก่อนทีมไทยได้รับคำชื่นชม “วีรบุรุษสุวรรณภูมิ”
KEY
POINTS
- สพฉ.ถอดบทเรียนการตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินในสนามบินสุวรรณภูมิ กรณีอากาศยานสิงคโปร์แอร์ไลน์เกิดเหตุฉุกเฉิน เครื่องบินตกหลุมอากาศรุนแรง เชื่อสภาพอากาศทำให้อนาคตเกิดเหตุได้อีก
- มีเวลาก่อนเครื่องบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ลงจอด 30 นาที สนามบินสุวรรณภูมิ ใช้แผนฉุกเฉินบทที่ 3 คือ “การเกิดเหตุวิกฤติในอากาศยาน” ประสานระดมทีมแพทย์และหน่วยที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อม
- ประเมินสถานการณ์หน้างานหลังเครื่องบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ลงจอด ตัดสินใจประกาศแผนฉุกเฉิน คัดกรองผู้บาดเจ็บ ส่งต่อรพ. ผู้บาดเจ็บ 89 คน ส่วนใหญ่บริเวณศีรษะและกระดูกต้นคอ ปัจจุบันยังรักษาอยู่ที่รพ. 20 คน
กรณีเหตุการณ์เครื่องบินของสายการบิน "สิงคโปร์แอร์ไลน์" เที่ยวบินที่ SQ321 ซึ่งเดินทางมาจากสนามบินฮีโธรว์กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ มีจุดหมายปลายทางที่ประเทศสิงคโปร์ ได้ขอลงจอดฉุกเฉินที่สนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2567ตามเวลาประเทศไทย เนื่องจากเครื่องบินตกหลุมอากาศอย่างรุนแรง จนเป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บจำนวนหลายรายและมีผู้เสียชีวิต
การรับมือกรณีฉุกเฉินของทีมไทยเป็นไปอย่างเรียบร้อย มีประสิทธิภาพ จนนานาประเทศชื่นชม และสื่อให้ฉายาว่าวีรบุรุษสุวรรณภูมิ เบื้องหลังปฏิบัติการครั้งนั้นเป็นอย่างไร ?
ถอดบทเรียน พร้อมรับเหตุในอนาคต
เมื่อวันที่ 29 พ.ค.2567 สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.) จัดการเสวนา “ถอดบทเรียนการตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินในสนามบิน กรณีอากาศยานสิงคโปร์แอร์ไลน์เกิดเหตุฉุกเฉิน” โดย ร.อ.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสพฉ. กล่าวว่า จากสถานกรณ์การดังกล่าว การตอบสนองต่อสถานการณ์ของทีมแพทย์ฉุกเฉินที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเป็นรูปธรรมและน่าชื่นชม ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย
จึงอยากให้มีการถอดบทเรียน แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันขึ้น โดยคนที่จะได้รปะดยชนฺคือแอร์ไลน์ สนามบินทั่วประเทศ และผู้ปฏิบัติการฉุกเฉินระบบบริการแพทย์ฉุกเฉินที่อาจจะต้องเข้าไปตอบสนองต่อการแพทย์ฉุกเฉินสบามบิน โดยหากพื้นที่เฉพาะต่างๆไม่เฉพาะแค่ในสนามบิน สพฉ.พยายามเข้าไปสร้างความร่วมมือและมาตรฐานเดียวกัน
ส่วนหนึ่งที่ทำสำเร็จคือมีแผน มีการซ้อมแผน และมีคนตัดสินใจหน้างานไม่รน ระดมทรัพยากรจากภายนอก ทีมแบคอัพของระบบก็มีความสำคัญ เพราะที่สนามบินมีแพทย์ รถพยาบาลอยู่จำนวนหนึ่ง และมีรพ.เอกชนที่เป็นพาสเนอร์แต่ยังไม่พอ
“เชื่อว่าสถานการณ์แบบนี้อาจะเกิดขึ้นอีกที่ไหนก็ได้ มีคนคาดการณ์ว่าด้วยสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป มีแนวโน้มที่จะเกิดเครื่องบินตกหลุมอากาศรุนแรงเพิ่มขึ้นหลายเท่า จึงเป็นความจำเป็นของการเตรียมความพร้อมระบบการแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อให้สนามบินทุกแห่ง มีความพร้อม ซึ่งความร่วมมือมีความสำคัญมาก โดยสพฉ.จะเข้ามาช่วยได้เพราะมีเครือข่ายการแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่”ร.อ.อ.นพ.อัจฉริยะกล่าว
แผนเกิดเหตุวิกฤติในอากาศยาน
นายกิตติพงษ์ กิตติขจร ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กล่าวว่า วันนั้นสนามบินสุวรรณภูมิโดยฝ่ายการแพทย์ ได้รับการแจ้งเหตุจากสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ว่าประสบอุบัติเหตุตกหลุมอากาศ มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ซึ่งสนามบินสุวรรณภูมิมีแผนรองรับทั้งหมด 13 แผน
แผนที่ใช้ในวันนั้น เป็นแผนบทที่ 3 คือ การเกิดเหตุวิกฤติในอากาศยาน ทีมแพทย์และหน่วยที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อม ยังไม่รู้ตัวเลขผู้บาดเจ็บจริงมีเท่าไหร่ และได้ข้อมูลเข้ามาเรื่อยๆ และได้ประสานศูนย์สั่งการสมุทรปราการให้เตรียมพร้อมรถพยาบาลฉุกเฉิน เพราะจำนวนรถพยาบาลที่เตรียมพร้อมอยู่ในสนามบินทุกวัน น่าจะไม่เพียงพอกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
มีเวลาเตรียมรับเหตุ 30 นาที
นพ.พัฒน์พงษ์ ไชยนิคม รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ บริษัทท่าอากาศยานไทย กล่าวว่า หลังได้รับการแจ้งเหตุ ทีมก็มีการเตรียมความพร้อม วางแผนบริหารจัดการ มอบหมายงาน และได้รับการยืนยันจากหอบังคับการบินว่ามีเหตุฉุกเฉินทางการแพทย์ โดยมีเวลาเตรียมตัว 30 นาที ซึ่งทางการแพทย์ สุวรรณภูมิมีแผนฉุกเฉินในการเผชิญเหตุที่เตรียมพร้อม พร้อมกับได้รับข้อมูลจำนวนคนบนเครื่องบิน
เมื่อประเมินสถานการณ์ว่ามีคนเจ็บจำนวนมาก จึงโทร 1669 ศูนย์สั่งการสมุทรปราการให้ช่วยเตรียมความพร้อมรถพยาบาลเพิ่มเติมไว้ รวมถึงประสานไปรพ.เอกชนให้เตรียมความพร้อมในการมาช่วยท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ หลังจากนั้น หน้างานช่วงเครื่องบินใกล้ลงจอด มีทีมฝ่ายการแพทย์ไปเตรียมพร้อม ณ จุดที่หอบังคับการบินกำหนด
เข้าประเมินบนเครื่องบิน คัดกรองผู้บาดเจ็บ
พญ.วิชัญญา บุรีรักษ์ แพทย์ผู้เผชิญเหตุและสั่งการ กล่าวว่า หลังมีการเตรียมความพร้อมประสานส่วนต่างๆ ทีมฝ่ายการแพทย์ได้ติดตามเรดาร์เครื่องบิน และเห็นว่าเครื่องน่าจะลงจอดเร็วกว่าเวลาที่กำหนดไว้ ทีมจึงได้ไปรอรับเครื่องบินลงจอด และสอบถามจากเจ้าหน้าที่สายการบินถึงจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บ ก็ได้รับแจ้งว่ามีผู้เสียชีวิต 1 คน ส่วนจำนวนผู้บาดเจ็บยังไม่ทราบ และได้แจ้งเจ้าหน้าที่สายการบินจะต้องเตรียมการรองรับ เพราะอากาศยานจะต้องจอดอยู่ที่สนามบินสุวรรณภูมิอย่างน้อย 3 ชั่วโมง เพื่อดำเนินการเรื่องต่างๆ เนื่องจากมีผู้เสียชีวิต
เมื่อเครื่องลงจอด ทีมแพทย์พร้อมเจ้าหน้าที่สายการบินได้ขึ้นไปบนเครื่อง ลูกเรือนำไปหลังเครื่องก่อนเพราะมีผู้บาดเจ็บส่วนใหญ่ โดยลูกเรือได้เตรียมให้ผู้บาดเจ็บรออยู่ที่ทางเดิน จึงให้แพทย์ไปดูในส่วนนี้ก่อน ซึ่งผู้โดยสารให้ความร่วมมือดีมาก ไม่มีใครตะโกนโวยวาย หรือเรียกร้องให้มาดูตัวเองก่อน
ขณะเดียวกันทีมที่อยู่ที่คลินิกได้วิทยุสอบถามเหตุการณ์หน้างานว่า จำเป็นต้องเปิดแผนฉุกเฉินหรือไม่ จึงตัดสินใจขออนุมัติเปิดแผนฉุกเฉิน หลังจากนั้นสนามบินก็ได้ประกาศใช้แผนฉุกเฉินบทที่ 3 ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปรายงานกับผู้บัญชาการ ณ ที่เกิดเหตุ
ตัวเองในฐานะผู้บัญชาการฯจึงถอยภารกิจมารอรับการรายงานตัวจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะเข้ามาสนับสนุน ส่วนบนเครื่องบินจะมีทีมแพทย์ พยาบาลและคนขับรถขึ้นไปดูแลผู้บาดเจ็บ และคัดแยกคนไข้เป็นเขียว เหลือง แดง และดำ โดยมีการประสานฝ่ายต่างๆในการเตรียมพื้นที่รองรับ
เปิดแผนรับมืออุบัติภัยหมู่ ระดมรถพยาบาล
พญ.ธัญธร นพเก้ารัตนมณี หน่วยปฏิบัติการอำนวยการจังหวัดสมุทรปราการ กล่าวว่า ที่ศูนย์สมุทรปราการมีแผนรับมืออุบัติภัยหมู่และมีการซ้อมแผนกับการท่าอากาศยานทุกปี โดยถ้าสุวรรณภูมิโทรเข้ามาให้รพ.ใกล้ที่สุด โดยในส่วนของรพ.รัฐคือรพ.บางพลี และรพ.บางเสาธง ร่วมกับมูลนิธิในพื้นที่เตรียมพร้อมรถพยาบาลรอ
ในวันนั้นหลังได้รับแจ้งจากสุวรรณภูมิครั้งแรกที่ยังไม่ทราบจำนวนผู้บาดเจ็บ ทราบว่าเป็นเหตุตกหลุมอากาศ ได้ส่งรถพยาบาลพื้นฐานและรถพยาบาชั้นสูง อย่างละ 1 คันไปที่จุดรวมพลที่กำหนดไว้ เมื่อได้รับแจ้งครั้งที่2หลังผ่านไป 10 นาที ว่ามีผู้บาดเจ็บมากกว่า 10 คน จึงได้เริ่มระดมรถพยาบาล เปิดแผนรับมืออุบัติภัยหมู่
รพ.ผ่าตัดฉุกเฉินใน 24 ชั่วโมงแรก 9 ราย
ร.อ.อ.นพ.ศรันย์ อินทกุล รองผู้อำนวยการรพ.สมิติเวช ศรีนครินทร์ กล่าวว่า หลังได้รับการแจ้งเหตุจากสนามบินสุวรรณภูมิ รพ.ได้ประเมินตรวจสอบว่าเข้าข่ายการเป็นอุบัติหมู่ โดยเมื่อเกิน 10 คน รพ.ประกาศโค้ดฉุกเฉินที่ 3 ของรพ. จึงมีการเตรียมพร้อมและเช็คทั้งบุคลกร และ สถานที่ ภายใน 10 นาทีพร้อมรับผู้บาดเจ็บ และผู้บาดเจ็บรายแรกมาถึงในอีกราว 1 ชั่วโมง โดยมีเข้ามาที่รพ. 85 คน และดูอาการเบื้องต้นที่สนามบินไป 19 ราย มีคนไข้ที่ต้องรับไว้รักษาในรพ. 41 ราย
นอกจากนี้ ได้ประสานรพ.ใกล้เคียงในการส่งต่อแต่ไม่พร้อมรับ จึงได้ส่งต่อไปรพ.สมิติเวช สุขุมวิทด้วย ในจำนวนนี้มีคนไข้ไอซียูหลายคน มีคนไข้ต่างชาติค่อนข้างมาก จึงนึกถึงเลือดกรุ๊ปพิเศษ Rh Negative จะต้องเตรียมพร้อมหากต้องผ่าตัด ได้ประสานธนาคารเลือดไว้ล่วงหน้า
ผู้บาดเจ็บมีกรณีต้องผ่าตัดศีรษะอยู่หลายราย และมีการบาดเจ็บที่กระดูกสันหลังอยู่หลายรายเช่นกัน เนื่องจากผู้โดยสารเวลานั่ง ไม่ได้คาดเข็มขัดนิรภัย เมื่อตหลุมอากาศตัวก็จะลอยขึ้นไป ศีรษะกระแทกกับที่เก็บสัมภาระ ทำให้กระดูกต้นคอได้รับบาดเจ็บ และบาดเจ็บส่วนอื่นๆ โดยเคสที่หนักได้มีการทำผ่าตัดฉุกเฉิน
ภายใน 24 ชั่วโมงแรกรพ.ผ่าตัด 9 ราย ทำได้อย่างรวดเร็ว และตามความจำเป็นทางการแพทย์ ผลการรักษาเป็นไปตามที่คาดแลอยู่ระหว่างพักฟื้นของคนไข้และต้องทำกายภาพบำบัดด้วย รวมถึง ดูแลสภาพจิตใจ ปัจจุบันเริ่มทยอยกลับ ยังมีบางเคสที่ยังต้องอยู่รพ. 20 ราย”ร.อ.อ.นพ.ศรันย์กล่าว
ประสานอาสาขอเข้าเป็นฝ่ายสนับสนุน
นายปิยะลักษณ์ ถิ่นแก้ว หัวหน้าชุดปฏิบัติการมูลนิธิร่วมกตัญญู กล่าวว่า จากการเฝ้าฟังได้รับทราบจากศูนย์สั่งการ 1669 สมุทรปราการในการระดมทรัพยากรให้รถพยาบาลขั้นสูงเข้าไปในพื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิ จึงวิเคราะห์และประสานขอทราบสถานการณ์ เพื่อขอเข้าไปเป็นฝ่ายสนับสนุน เนื่องจากที่ตั้งของหน่วยอยู่ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ หลังจากนั้นได้ระดม 10 ทีมหลักมุ่งหน้าไปส่วนหน้า เสนอตัวและรายงานตัว เพื่อร่วมช่วยเหลือ