อุตสาหกรรมกัญชงกัญชาเสียหายข้ันต่ำ 10,000 ล้านบาท หากกลับไปเป็นยาเสพติด
ไทยมีการลงทุนอุตสาหกรรมพืชกัญชงกัญชาอย่างน้อย 10,000 ล้านบาท สมาคมสหอุตฯชี้นำกลับคืนเป็นยาเสพติดสร้างความเสียหายธุรกิจ กระทบความเชื่อมั่นการลงทุนจากนโยบายรัฐ ขอรัฐทบทวน หนุนออกพรบ.กัญชงกัญชงคุมการใช้ผิดวัตถุประสงค์
KEY
POINTS
- อุตสาหกรรมกัญชงกัญชาในไทยมูลค่าการลงทุนมากกว่า 10,000 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์CBD ที่ได้รับเลขจดแจ้ง ในไตรมาส 2/2567 เพิ่มขึ้น 33% จากไตรมาส 2/2566 โดยผลิตภัณฑ์CBD ที่จดแจ้งจำนวน 707 รายการ เป็นเครื่องสำอางมากที่สุด
- นำกัญชากัญชงกลับเป็นยาเสพติด ส่งผลกระทบภาคอุตสาหกรรมขาดความเชื่อมั่นต่อนโยบายการเชิญชวนลงทุนของภาครัฐในอนาคต
- รัฐควรทบทวนนโยบายนำกัญชากัญชงกลับเป็นยาเสพติด พร้อมข้อเสนอในบริหารจัดการจากสสมาคมสหอุตสาหกรรมพืชกัญชงและกัญชา หนุนออกพรบ.กัญชงกัญชามาควบคุม
จากการที่เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มอบนโนบายให้นำกัญชาคืนกลับไปเป็นยาเสพติดและให้ดำเนินการให้แล้วเสร็ฐภายในปี 2567 และนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข ระบุว่าจะนำกัญชากลับไปเป็น Soft Drug เพื่อประโยชน์ในทางการแพทย์ สุขภาพและเศรษฐกิจ
ซึ่งตามขั้นตอนการดำเนินการเรื่องนี้ ต้องมีการจัดทำกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้อง 2 เรื่อง ประกอบด้วย1.ประกาศกระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้ "พืชกัญชา" เป็นยาเสพติดประเภทที่ 5 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด โดยยกเว้นบางส่วนของพืชกัญชา ได้แก่ ใบ กิ่งก้าน ราก ลำต้น เมล็ด และ2.กฎกระทรวงที่เกี่ยวกับการอนุญาตการปลูก ครอบครอง นำเข้า ส่งออก หรือการใช้กัญชานั้น
ภาพรวมอุตสาหกรรมพืชกัญชงฯ
ล่าสุด เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2567 ที่โรงแรม โฟร์พอยท์ บาย เชอราตัน สมาคมสหอุตสาหกรรมพืชกัญชงและกัญชา แถลงข่าว เรื่อง “ความกังวลของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม CBD ต่อนโยบายภาครัฐในการนำพืชกัญชงและกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด” โดยนายทศพร นิลกำแหง นายกสมาคมสมาคมสหอุตสาหกรรมพืชกัญชงและกัญชา กล่าวว่า สมาชิกสมาคมฯ 26 บริษัท มูลค่าการลงทุนมากกว่า 10,000 ล้านบาท
ผลิตภัณฑ์CBD ที่ได้รับเลขจดแจ้ง ในไตรมาส 2/2567 เพิ่มขึ้น 33% จากไตรมาส 2/2566 ผลิตภัณฑ์CBD ที่จดแจ้งจำนวน 707 รายการ แยกเป็นอาหารเสริม 97 รายการ,เครื่องดื่ม 26 รายการ,สมุนไพร 2 รายการ และเครื่องสำอาง 582 รายการ ส่วนผู้ได้รับอนุญาตสกัด พืชญชงรวม 49 ราย เป็นภาครัฐ 10 ราย ภาคเอกชน 39 ราย และพืชกัญชา รวม 41 รายเป็นภาครัฐทั้งหมด ภาคเอกชนยังไม่สามารถดำเนินการได้
“สถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดสภาวะสุญญากาศของการควบคุมและบังคับใช้กฎหมาย สำหรับการนำพืชกัญชงและกัญชาไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ภาครัฐจึงมีแนวคิดที่จะกำหนดนโยบายการนำพืชกัญชงและกัญซากลับไปเป็นยาเสพติด ซึ่งจะส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายต่อภาคอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนไปแล้วมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท”ทศพรกล่าว
ผู้ลงทุนขาดความเชื่อมั่นต่อนโยบายรัฐ
สมาคมฯ จึงอยากให้ภาครัฐมีการทบทวนนโยบาย และหาทางออกร่วมกัน เพื่อให้พืชกัญชงและกัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจได้อย่างแท้จริง โดยออกกฎหมายควบคุมและบังคับใช้ให้มั่นใจว่าจะมีการนำไปใช้ได้อย่างถูกต้องตามวัตถุประสงค์ด้านการแพทย์ สุขภาพ และเศรษฐกิจ โดย จะส่งผลกระทบ คือ การนำพืชกัญชงและกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด จะทำให้ผู้ลงทุนในภาคอุตสาหกรรมขาดความเชื่อมั่นต่อนโยบายเชิญชวนการลงทุนต่างๆของภาครัฐในอนาคต
อีกทั้ง หลังจากที่ภาครัฐได้ประกาศนโยบายส่งเสริมให้พืชกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจเมื่อปี 2563 ได้เกิดการลงทุนด้วย ความเชื่อมั่นว่า พืชกัญชงจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และสุขภาพ สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ หากมีการเปลี่ยนนโยบายจะส่งผลเสียต่อผู้ที่ยื่นขออนุญาตกว่า 1 ล้านราย
และส่งผลให้เกิดการชะงักต่อเม็ดเงินที่จะหมุนเวียนในอุตสาหกรรมนี้ และสารสกัด CBD จากพืชกัญชงมีประโยชน์และยังมีมูลค่าสูงทางเศรษฐกิจ เมื่อนำไปใช้ทางการแพทย์และสุขภาพ หากผู้ประกอบการไม่สามารถทำผลิตภัณฑ์เพื่อออกจำหน่ายสู่ตลาดได้ อันเนื่องมาจากนโยบายภาครัฐ จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ประกอบการที่ได้ขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ไว้แล้วกว่า 700 รายการ
หนุนออกพรบ.กัญชงกัญชามาควบคุม
“ตอนนี้มีพรบ.กัญชงกัญชาที่มีการยกร่างอยู่ประมาณ 5 ฉบับ ซึ่งพวกเรามองว่าจะนำฉบับไหนก็ได้ แต่ขอให้เข้าสู่การพิจารณาของสภาก็ได้ เพราะเมื่อเข้าไปแล้ว จะเกิดการเปิดเวทีให้กับทุกคนที่ได้รับผลกระทบหรือมีแนวทางได้นำขึ้นมาเสนอแนะในระดับกรรมาธิการหรือสภา เพื่อที่ได้มีการอภิปราย ให้ข้อมูล เป็นจุดเริ่มตีกรอบอะไรทำได้ อะไรไม่ควรทำ บทลงทาควรเป็นอย่างไร ไม่งั้นอุตสาหกรรมมกัญชงและกัญชาจะไม่สามารถพัฒนาได้เลยทั้งที่ปนะเทศไทยเป็นประเทศแรกในกลุ่มเอเชียที่มีการปลดล็อกนำมาใช้ประโยชน์”ทศพรกล่าว
ตลาดผลิตภัณฑ์CBD 6.7 แสนลบ.
ยิ่งยศ จารุบุษปายน อุปนายกสมาคมสหอุตสาหกรรมพืชกัญชงและกัญชา กล่าวว่า โอกาสทางการค้าในตลาดโลก ผลิตภัณฑ์CBDเพื่อสุขภาพในตลาดโลก ปี 2023 มูลค่า 6.7 แสนล้านบาท คาดการณ์ว่าในปี 2033 จะมีมูลค่า 2.5 ล้านล้านบาท ใน 10 ปีเพิ่มขึ้น 3 เท่า ด้วยอัตราการเติบโตแบบทบต้นต่อปีอยู่ที่ 14.33%
ส่วนแบ่งทางการตลาด ทวีปอเมริกาเหนือ 61.14 % ทวีปยุโรป 17.52 % ทวีปเอเชีย แปซิฟิก มีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ 14.34% ภูมิภาคละตินอเมริกา 5 % และตะวันออกกลาง 2 % โดยกลุ่มกลุ่มผลิตภัณฑ์Medical มีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ 35.6% และกลุ่มผลิตภัณฑ์ Nutraceutical มีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ 64.4% มาจากการที่ผู้คนให้ความตระหนักในการดูแลสุขภาพมาขึ้น
เสนอ 4 แนวคิดบริหารจัดการ
สมาคมฯเสนอ 4 แนวคิดในการบริหารจัดการ ประกอบด้วย
1.สนับสนุนให้มีการออก พรบ. หรือกฎหมายเพื่อบังคับใช้ และมีบทลงโทษที่เข้มงวดชัดเจนสำหรับผู้ที่นำพืชกัญชงและกัญชา รวมถึงสารสกัดที่มีสาร THC สูงกว่า 0.2 เปอร์เซ็นต์ ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ซึ่งมีส่วนทำให้ภาพลักษณ์ของพืชกัญชงกัญชาถูกมองในเชิงลบ
2.ภาครัฐต้องให้ความรู้ที่ชัดเจนต่อประชาชนถึงความแตกต่างของพืชกัญชงและกัญชา รวมถึงให้ความรู้เกี่ยวกับสารสกัด CBD ที่มี THC ต่ำกว่า 0.2 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งไม่ใช่สารเสพติด และเป็นสารที่มีความปลอดภัยสูง
3.ภาครัฐควรให้การสนับสนุนต่อการนำสารสกัด CBD จากพืชกัญชงไปใช้เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ด้านการแพทย์และสุขภาพ
และ4.กำหนดให้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของสารสกัด CBD สามารถโฆษณาและจำหน่ายได้เหมือนผลิตภัณฑ์สุขภาพทั่วไป
รัฐควรโฟกัสออกเฟรมเวิร์กธุรกิจไปต่อ
ขณะที่ ธนิสร บุญสูง ให้มุมมองว่า รัฐบาลควรโฟกัสในการออกเฟรมเวิร์กที่ทำให้ทั้งกัญชงและกัญชาสามารถแข่งขันกันได้บนดิน มากกว่าการใช้ผิดวัตถุประสงค์หรือใช้ใต้ดิน เพื่อให้เอื้อต่อภาคเอกชนและประชาชน แต่การที่รัฐมีนโยบายที่กลับไปมาจะกระทบความเชื่อมั่นทั้งห่วงโซ่อุตสาหกรรม ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ
ดังนั้น หากนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด จะส่งผลกระทบในเรื่องที่ภาคอุตสาหกรรมจะมาระดมทุนระดมแรงสนับสนุนเกษตรกรปลูกให้ต้องอาศัยความเชื่อมั่นเกษตรกรมาก ซึ่งก่อนหน้านี้เจ็บตัวมาแล้วรอบหนึ่ง จึงเป็นเรื่องยากและท้าทายมาก
“อย่านำกลับไปเป็นยาเสพติด แต่มาสร้างเฟรมเวิร์กร่วมกับภาคเอกชน ภาคประชาชน ให้ธุรกิจนี้เดินต่อและเติบโตได้ เพราะในภาพของตลาดโลก เทรนด์ของผลิตภัณฑ์CBDกำลังมา ซึ่งประเทศไทยอยู่ในจุดที่เข้มแข็งทั้งการปลูก สกัด ส่งออกทั้งสารสกัดและผลิตภัณฑ์ปลายน้ำ แต่มีงานที่หลายฝ่ายต้องมาระดมแรงระดมทุนทั้งซัพพลายเชนให้ราคาแข่งขันกับต่างประเทศได้”ธนิสรกล่าว
รัฐต้องชัดเจนในนโยบาย
สิทธิชัย แดงประเสริฐ กรรมการสมาคมฯ กล่าวเสริมว่า นโยบายรัฐบาลต้องไม่ชักเข้าชักออก ซึ่งที่ผ่านมาสิ่งที่เดินมาดีอยู่แล้ว มีกฎหมายที่รอเข้าสภาค้างท่ออยู่แล้ว ก็ดันออกมาให้ทะลุแล้วมาปรับใช้ ไม่ใช่เดินอยู่แล้วชักกลับมาเปลี่ยนเป็นยาเสพติด แต่ควรนำสิ่งที่หารือมามากมายแล้วกับนักวิชาการ ประชาพิจารณ์หลายรอบแล้วดันออกมาให้สุด
การที่กัญชาเป็นสมุนไพรควบคุมอย่างปัจจุบัน สามารถคุมได้เพียงแต่มีจุดช่องว่างที่ไม่มีการควบคุมสักที ถ้าให้กัญชาเป็นสมุนไพรควบคุมควรต้องร่างกฎกติกาการควบคุมออกมาให้เรียบร้อย บังคับใช้ จึงจะ เป็นการเดินต่อเนื่อง ไม่ใช่นโยบายชักเข้าชักออก เป็นการดีต่อภาพลักษณ์ และภาคเอกชนมีความเชื่อมั่น