"บุหรี่ไฟฟ้า" ห้ามนำเข้าไทย โทษจำคุก 10 ปี แต่มีลักลอบ ทำคนไม่สูบรับอันตราย

"บุหรี่ไฟฟ้า" ห้ามนำเข้าไทย โทษจำคุก 10 ปี แต่มีลักลอบ ทำคนไม่สูบรับอันตราย

“สมศักดิ์”เผยบุหรี่ไฟฟ้าห้ามนำเข้าไทย โทษจำคุก 10 ปี แต่ก็มีคนลักลอบปกปิด-สำแดงเท็จ ทำคนไม่สูบต้องรับอันตรายจากควันบุหรี่ โดยเฉพาะกลุ่มเด็ก คผยช.เห็นชอบมาตรการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกรูปแบบ ปกป้องสิทธิมนุษยชนและสิทธิเด็ก

เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2567 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ (คผยช.) ครั้งที่ 2/2567 ว่า องค์การอนามัยโลก(WHO)ห่วงเรื่องสิทธิเด็ก ซึ่งเด็กบางคนสูบบุหรี่แต่บางคนไม่ได้สูบก็ต้องรับควันบุหรี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บุหรี่ไฟฟ้า กลิ่นที่ออกมานั้น ผู้ปกครองไม่สามารถรู้ได้เลยว่าเป็น กลิ่นบุหรี่ไฟฟ้า เพราะมีการใส่สารแต่งกลิ่นให้เหมือนน้ำหอม

เป็นปัญหาของการดำเนินการและการติดตาม โดยเรื่องนี้ครม.มีมติและให้ความสนใจในการป้องกันและปราบปราม การนำเอาอุปกรณ์ต่างๆเข้ามาในประเทศ โดยโทษค่อนข้างหนัก ผู้ที่นำเข้ามาในประเทศมีโทษจำคุก 10 ปี และในกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) มีโทษจำคุก 3 ปี

ดังนั้น ต้องดำเนินการในเรื่องนี้ โดยกระทรวงยุติธรรมจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งตำรวจ สคบ. ศุลกากร กระทรวงศึกษาธิการมาเป็นคณะทำงาน นำร่องให้เห็นว่า บุหรี่ไฟฟ้า ที่ไม่มีกลิ่นให้สังเกตเลยว่าเป็นสิ่งเสพติด เป็นการทำลายมนุษยชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็ก จึงต้องดำเนินการตามแนวทางองค์การอนามัยโลกให้ดูแลคุ้มครองผู้เสพให้เลิกเสพและผู้รับ ควันบุหรี่มือสอง ต้องได้รับการปกป้องดูแล ให้สธ.ร่วมกับคณะทำงานไปหาทางที่จะสร้างความเข้าใจโดยด่วนกับประชาชน ผู้ปกครองให้รับทราบว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายมากและหยุดยั้งให้ได้ ให้ประชาชนมีส่วนร่วม เพราะจะไปจับกุมอย่างเดียวคงไม่สำเร็จ

“ตอนนี้ตามกฎหมายประเทศไทย บุหรี่ไฟฟ้าห้ามนำเข้า และจำหน่าย แต่ที่ผ่านมามีการลักลอบนำเข้ามา โดยปกปิด ปิดบัง และสำแดงเท็จ ก็ต้องเข้มงวด”นายสมศักดิ์กล่าว 

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ที่ประชุม คผยช. ในวันนี้ มีมติเห็นชอบมาตรการการดำเนินงานควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกรูปแบบ เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนและสิทธิเด็กของประเทศไทย

1.การพัฒนา/ปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบ มาตรฐาน ของกระทรวงและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มประเด็นการคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกรูปแบบ รวมถึงยกระดับการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง

2.การสนับสนุนให้ประชาชนสามารถเข้าถึงยาเลิกบุหรี่ (Cytisine) ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

3.การให้ความรู้เกี่ยวกับโทษพิษภัยและอันตรายของบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกรูปแบบ และรู้เท่าทันกลยุทธ์ของอุตสาหกรรมยาสูบ รวมถึงการสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนมีบทบาทในการรณรงค์เพื่อการไม่บริโภคบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกรูปแบบ และการขับเคลื่อนงานด้านการควบคุมยาสูบทุกระดับ

4.การคุ้มครองจากการแสวงผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมยาสูบ โดยได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการมาตรการข้างต้นตามบริบทของหน่วยงาน เพื่อป้องกันการเข้าถึง ควบคุม และคุ้มครองสุขภาพอนามัยประชาชนจากพิษภัยของบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกรูปแบบ

 

ทั้งนี้ ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีของกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองประชากรโลกให้ปลอดภัยจากผลร้ายของการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบและเป็นกลไกทางกฎหมายระหว่างประเทศในการสกัดกั้นไม่ให้ผลิตภัณฑ์ยาสูบแพร่กระจายไปทั่วโลกโดยเมื่อวันที่  5 - 10 ก.พ. 2567 ผู้แทนประเทศไทยได้เข้าร่วมการประชุมรัฐภาคีฯ ครั้งที่ 10 ณ สาธารณรัฐปานามา และที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ประเทศรัฐภาคีดำเนินการตาม “ปฏิญญาปานามา (Panama Declaration)”เพื่อกระตุ้นให้ภาคีต่าง ๆ เร่งดำเนินการตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลกและร่วมกันปกป้องสิทธิเด็ก เยาวชนและมนุษยชน จากผลกระทบด้านสุขภาพ สังคม สิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากการบริโภค/สัมผัสกับควันบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกรูปแบบ รวมถึงการแสวงหาผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมยาสูบ