บอร์ดเมดิคัลฮับเห็นชอบ ยุทธศาสตร์ใหม่ 10 ปี  ดันอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร

บอร์ดเมดิคัลฮับเห็นชอบ ยุทธศาสตร์ใหม่ 10 ปี  ดันอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร

บอร์ดเมดิคัลฮับเห็นชอบยุทธศาสตร์ฉบับใหม่ 10 ปี  ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร เน้น 3 เรื่องสำคัญ เสนอ ครม. พร้อมศึกษาพัฒนาพื้นที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูง - ขับเคลื่อนเวชกรรมความงาม คาดปี 70 มูลค่าตลาดเสริมความงาม 2.48 แสนล้านบาท อัตราเติบโตเฉลี่ย 16.6%

เมื่อวันที่ 18 ก.ค.2567 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข แถลงภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการเพื่อพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ(บอร์ดเมดิคัล) ครั้งที่ 1/2567 กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ (ร่าง) ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (พ.ศ.2568 - 2577) มีเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจรของโลก และมีการขยายตัวมูลค่าทางเศรษฐกิจสุขภาพเพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย 3 ยุทธศาสตร์ คือ

1.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร

2.พัฒนาระบบนิเวศอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร

และ 3.ส่งเสริมการตลาด และประชาสัมพันธ์ ซึ่งจะเร่งนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป

ที่ประชุมยังเห็นชอบประเด็นต่างๆ และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการ เพื่อนำเสนอที่ประชุมครั้งต่อไป อาทิ การเจรจากองทุนแห่งรัฐ และประกันชีวิตเอกชนในต่างประเทศเพื่อส่งผู้ป่วยมารับการรักษาในประเทศไทย ในกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ (GCC) 6 ประเทศ ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย คูเวต โอมาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ และบาห์เรน กลุ่มประเทศ CLMV คือ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม และประเทศจีน
บอร์ดเมดิคัลฮับเห็นชอบ ยุทธศาสตร์ใหม่ 10 ปี  ดันอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร

การจัดทำมาตรการส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยในกิจการนวดไทย และสปา และการบริโภคทั้งใน และต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันประเทศที่มีมูลค่าการบริโภคผลิตภัณฑ์สมุนไพร สูงสุดของโลก อันดับ1 จีน 20,244.6 ล้าน ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 34 % ส่วนไทยอันดับ 7 มูลค่า 1.676.9 ล้าน ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 3 %  

ทั้งนี้ จากการศึกษากฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพของประเทศ สหราชอาณาจักร เกาหลีใต้ และแอฟริกาใต้ พบปัญหาอุปสรรคการส่งออกผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย อาทิ ความหลากหลายของ Product Classification และกฎระเบียบของประเทศปลายทาง , ขาดข้อมูลตลาดของประเทศเป้าหมาย เช่น ความต้องการผลิตภัณฑ์สมุนไพร แนวโน้ม การใช้ ปริมาณการใช้ ในประเทศเป้าหมาย ,หาบริษัทคู่ค้าปลายทาง ที่น่าเชื่อถือไม่ได้ ,ภาพลักษณ์ และความน่าเชื่อถือของผลิตภัณฑ์สมุนไพร

 Medical & Wellness Valley

การศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาพื้นที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมเฉพาะที่มีมูลค่าสูง (Medical & Wellness Valley) ของประเทศไทย เพื่อรองรับนักลงทุนชาวต่างชาติ  

  • มีพื้นที่ได้รับการจัดสรรเฉพาะสำหรับการตั้งเมืองอุตสาหกรรมทางการแพทย์และสุขภาพ  
  • ส่งเสริมการลงทุนทางตรง (FDI) ในการผลิตผลิตภัณฑ์ยา / เครื่องมือ ทางการแพทย์และสุขภาพ
  • มีการใช้สิทธิประโยชน์การลงทุน (BOI) และมาตรการทางภาษี
  • มีการลงทุนเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีและการลงทุน PPP โดยสนับสนุนการจัดตั้ง ศูนย์วิจัยเพื่อความเป็นเลิศด้านนวัตกรรม การแพทย์มูลค่าสูง
  • และมีการลงทุนสร้าง อสังหาริมทรัพย์ Wellness and Retirement Village

ขับเคลื่อนเวชกรรรมความงาม

รวมถึง การศึกษาความเป็นไปได้ในการขับเคลื่อนเวชกรรรมความงามของประเทศไทย โดยปัจจุบันประเทศไทยมีคลินิกเสริมความงาม 7,000 แห่ง ในกทม. 2,000 แห่ง และภูมิภาค  5,000 แห่ง 

ซึ่งมูลค่าตลาดเสริมความงามของไทย ใน 2570 มูลค่า 7.51พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2.48 แสนล้านบาท อัตราเติบโตเฉลี่ย 16.6% ต่อปี เพิ่มขึ้นจากปี 2563 เกือบ 3 เท่า  

มีจุดเด่นคือ ทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่มีประสบการณ์ เป็นที่ยอมรับ และรู้จัก ในวงกว้าง ,มีเครื่องมือแพทย์ นวัตกรรม และเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีการบริการที่หลากหลาย และอัตราค่าบริการสมเหตุสมผล

“การที่ประเทศไทยจะขับเคลื่อนเวชกรรมความงาม เนื่องจากไทยมีทีมแพทย์ที่มีฝีมือมากกว่าที่อื่น บวกกับปัจจุบันมีกฎหมายสมรสเท่าเทียม ซึ่งเปิดโอกาสให้ทำในสิ่งที่เราไม่กล้าทำในอดีต เรื่องเสริมความงาม การแปลงเพศ จะเปิดให้อาชีพต่างๆ ที่หลบมุมอยู่ได้ออกมาเผยตัวตนเข้ามา  ให้มีเศรษฐกิจที่เข้ามาขับเคลื่อนในประเทศได้” นายสมศักดิ์กล่าว

นอกจากนี้ ยังเห็นชอบการจัดทำเกณฑ์รางวัลคุณภาพเวลเนสระดับชาติ (Thailand Wellness Awards : TiWA) เพื่อยกระดับสถานประกอบการด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ให้เป็น Branding เดียวทั้งประเทศ รวมถึงเห็นชอบคณะอนุกรรมการเพื่อพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางนานาชาติ 6 คณะ ได้แก่ บริการรักษาพยาบาล, บริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ, ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ, บริการวิชาการ, การจัดประชุม และนิทรรศการด้านการแพทย์และสุขภาพ และอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจบริการสุขภาพและผลิตภัณฑ์สุขภาพ และคณะทำงาน 2 คณะ ได้แก่ คณะทำงานส่งเสริมเวชกรรมความงาม และชะลอวัยของประเทศไทย และคณะทำงานเกณฑ์รางวัลคุณภาพเวลเนสระดับชาติ
บอร์ดเมดิคัลฮับเห็นชอบ ยุทธศาสตร์ใหม่ 10 ปี  ดันอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร

15 กลยุทธ์ตาม 3 ยุทธศาสตร์

ยุทธศาสตร์ที่ 1  เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร  มี 6 กลยุทธ์ คือ 1.พัฒนานโยบายเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร 2.ปรับปรุงกฎหมายเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร 3.ส่งเสริมธุรกิจด้านบริการและนวัตกรรมทางการแพทย์และสุขภาพ 4.ส่งเสริมธุรกิจด้านผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมการแพทย์มูลค่าสูง 5.พัฒนาการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก และ 6 พัฒนาระบบบริหารจัดการ เพื่อเตรียมความพร้อมการเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร

ยุทธศาสตร์ที่ 2  พัฒนาระบบนิเวศอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร มี 7 กลยุทธ์ คือ 1.พัฒนาระบบ ส่งเสริม สนับสนุนทางวิชาการ วิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อ รองรับอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร 2.พัฒนายกระดับศักยภาพผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร 3.ส่งเสริม พัฒนา สิทธิประโยชน์ เจรจา ด้านการค้า การลงทุน และบริการ

4.พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลสุขภาพและสารสนเทศเพื่อการขับเคลื่อน เศรษฐกิจสุขภาพ 5. พัฒนาความร่วมมือเครือข่ายระบบนิเวศอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจรอย่างมีส่วนร่วม 6. พัฒนาปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อต่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร และ7. พัฒนากลไกในการกำหนด/กำกับ/ควบคุม/ดูแลมาตรฐานแห่งชาติ เพื่อยกระดับ อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจรให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ

ยุทธศาสตร์ที่ 3 ส่งเสริมการตลาดและประชาสัมพันธ์ มี 2 กลยุทธ์ คือ 1.เชื่อมโยงเครือข่ายการตลาดเพื่อให้ครอบคลุมการธำรงรักษาไว้ ซึ่งลูกค้าเก่า และลูกค้าใหม่  และ2.สร้างการรับรู้และการประชาสัมพันธ์ทั้งในและต่างประเทศ

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์