ชงตั้ง‘องค์กรอิสระ’ ดัน'อุตฯเวลเนส' สะพัด1.2ล้านล้าน

ชงตั้ง‘องค์กรอิสระ’ ดัน'อุตฯเวลเนส' สะพัด1.2ล้านล้าน

“เวลเนส”ไทยมีมูลค่า 1.2 ล้านล้าน บอร์ดเมดิคัลฮับ เตรียมประชุมต.ค.นี้ เร่งเครื่องนโยบายเศรษฐกิจสุขภาพ เป้าไทยเป็น “ฮับสุขภาพโลก” ชงยุทธศาสตร์ฯ 10 ปีเข้าครม. สธ.ดัน 4 เรื่องสำคัญ ปี 68 เตรียมจัดโรดโชว์โอซากา 6 เดือน แนะตั้ง “องค์กรอิสระ”หน่วยงานระดับชาติขับเคลื่อน

KEY

POINTS

  • การพัฒนาเศรษฐกิจสุขภาพ (Care and Wellness Economy) และบริการทางการแพทย์ (Medical Hub) นโยบายรัฐบาลระยะกลาง และระยะยาวที่รัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร แถลงต่อรัฐสภา 
  • มูลค่าเวลเนสไทย 1.2 ล้านล้านบาท กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เดินหน้า Wellness มุ่งขับเคลื่อน 4 เรื่องสำคัญ นวดไทย เครื่องมือแพทย์ อาหารไทย และฟิตเนส ิ เตรียมจัดโรดโชว์โอซากา 6 เดือน 
  • แนะตั้งหน่วยงานระดับชาติเป็นองค์กรอิสระ ขับเคลื่อนผลักดันWellness and Medical Hubของประเทศไทย วยส่งเสริมการพัฒนาทั้งด้านการแพทย์ การดูแลสุขภาพ

หนึ่งในนโยบายรัฐบาลระยะกลาง และระยะยาวที่รัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร แถลงต่อรัฐสภา ประเด็น “ส่งเสริมโอกาสในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต” คือ รัฐมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจสุขภาพ (Care and Wellness Economy) และบริการทางการแพทย์ (Medical Hub) อาศัยพื้นฐานจิตวิญญาณการบริการของคนไทย ที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ ต่อยอดจากธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และการแพทย์แผนไทยที่เป็นจุดแข็ง เพื่อรองรับความต้องการด้านสุขภาพที่เพิ่มขึ้นจากการที่ประชากรโลกเข้าสู่สังคมสูงวัย

มูลค่าเวลเนสไทย 1.2 ล้านล้าน

ข้อมูลจาก Global Wellness Institute ซึ่งนำเสนอในการประชุมคณะกรรมการอำนวยการเพื่อพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (บอร์ดเมดิคัลฮับ) ครั้งล่าสุด ระบุว่า มูลค่าทางเศรษฐกิจด้านเวลเนส( Wellness) ของประเทศไทยอยู่ที่ 1.2 ล้านล้านบาท

ในการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นหมุดหมายศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical and Wellness Hub ) ที่ผ่านมาคณะกรรมการฯมีการเห็นชอบ (ร่าง) ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (พ.ศ.2568 - 2577) ระยะเวลา 10 ปี มีเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจรของโลก และมีการขยายตัวมูลค่าทางเศรษฐกิจสุขภาพเพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย 3 ยุทธศาสตร์ คือ

1.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร

2.พัฒนาระบบนิเวศอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร

และ 3.ส่งเสริมการตลาด และประชาสัมพันธ์ ซึ่งจะมีการนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)เพื่อพิจารณาต่อไป

นอกจากนี้ ยังให้มีการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาพื้นที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมเฉพาะที่มีมูลค่าสูง (Medical & Wellness Valley) ของประเทศไทย เพื่อรองรับนักลงทุนชาวต่างชาติ รวมถึง การศึกษาความเป็นไปได้ในการขับเคลื่อนเวชกรรมความงามของประเทศไทย ซึ่งคาดว่า มูลค่าตลาดเสริมความงามของไทย ในปี 2570 มูลค่าประมาณ 2.48 แสนล้านบาท อัตราเติบโตเฉลี่ย 16.6% ต่อปี เพิ่มขึ้นจากปี 2563 เกือบ 3 เท่า

สธ.ขับเคลื่อน 4 เรื่องสำคัญ   

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า รัฐบาลได้หยิบยกนโยบายเศรษฐกิจสุขภาพ และบริการทางการแพทย์ (Medical Hub ) เพราะเป็นช่องว่างเศรษฐกิจที่สามารถผลิตงานด้านนี้ให้เป็นเศรษฐกิจสำคัญของประเทศได้ โดยจะมีการประชุมบอร์ดเมดิคัลฮับเดือน ต.ค.นี้ ในส่วน สธ.น้อมรับแนวนโยบายรัฐบาลมาดำเนินการ จะแถลงรายละเอียดการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณสุขปี 2568 วันที่ 26 ก.ย.นี้

เบื้องต้นเรื่อง Wellness สธ.จะขับเคลื่อน 4 เรื่องหลัก ประกอบด้วย 1.งานที่ง่ายสุดเร็วสุด คือ การจัดระเบียบ โดยเฉพาะคนที่เข้ามาในประเทศ และมีความชอบในศาสตร์การแพทย์แผนไทยการนวดรักษาต่างๆ จึงให้นโยบายกับกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกให้ดำเนินการเกี่ยวกับ ผู้นวดแผนไทย ให้มีความเชี่ยววชาญ เพื่อจะได้มีค่าตอบแทนที่สูง ส่วนหมอนวดใหม่ที่เพิ่งผ่านการอบรมก็เป็นไปตามแนวทางปกติ

นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาในประเทศไทย มองแล้วค่าใช้จ่ายใช้สอยด้านดูแลสุขภาพ จะแตกต่างจากการพบแพทย์ ซึ่งจะไปก็ต่อเมื่อมีการเจ็บป่วย แต่เรื่องการดูแลสุขภาพ เช่น การปวดเมื่อยร่างกายต่างๆ ก็จะเข้ารับการนวด หากมีเซนเตอร์ในการดูแลเป็นมาตรฐานก็จะสร้างรายได้ให้ประเทศได้ ดังนั้น เชิญชวนผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมให้ความเห็น เกี่ยวกับกฎระเบียบต่างๆที่จะต้องทำขึ้นใหม่ เพื่ออำนวยความสะดวกเรื่องนี้

2.ส่งเสริมลงทุนในการผลิตเครื่องมือแพทย์ ยารักษาโรค หากยังติดขัดในขั้นตอนการลงทุนอย่างไรกับกระทรวงใด สธ.ก็จะเป็นผู้ประสานงาน เช่น การร่วมมือกับบริษัทยาต่างชาติ ที่มีความแข็งแรงก็จะชวนเข้ามาลงทุน จะไม่มีการปิดกั้น แต่จะทำให้เกิดการลงทุนอย่างกว้างขวาง ทั้งนี้ เมื่อมีการให้สิทธิในการเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ก็จะขอสิทธิพิเศษให้ไทยสามารถส่งออก ไม่ให้เสียเปรียบดุลการค้าทางสุขภาพ

3.เรื่องการนำอาหารไทยมาชูเรื่องของการกินเป็นไม่ป่วย การบริโภคอาหารที่ถูกวิธี และ4.การออกกำลังกาย หรือฟิตเนส

โรดโชว์โอซากา 6 เดือน  

ด้านนายสุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) กล่าวว่า สธ.ได้รับมอบหมายให้เข้าร่วมจัดแสดงนิทรรศการในงาน World Expo 2025 Osaka Kansai ณ นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 13 เม.ย.- 13 ต.ค. 2568 ซึ่งเป็นงานแสดงนิทรรศการระดับโลก จะจัดขึ้นประจำทุก 5 ปี นำเสนออัตลักษณ์ความเป็นไทยผ่านภูมิปัญญาท้องถิ่นและนวัตกรรมที่มีรากฐานมาจากภูมิปัญญาไทยภายใต้แนวคิด “SMILE” เป็นจุดดึงดูดและสร้างความสนใจจากประเทศสมาชิกและองค์กรระหว่างประเทศที่เข้าร่วมงานกว่า 28.2 ล้านคน

การร่วมจัดงานนี้ เป็นโอกาสแสดงศักยภาพการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและ Soft Power ของไทยสู่สายตาชาวโลก เกิดประโยชน์ด้านเศรษฐกิจต่อทั้งองคาพยพของไทย ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำของอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจรและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ให้คนไทย ดึงดูดนักท่องเที่ยวและนักลงทุนต่างชาติเข้าสู่ประเทศ นำไปสู่การลงทุน และเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ 

“หนุนให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางสุขภาพของโลก ซึ่งจะสร้างรายได้มหาศาล มิใช่แค่ในภาคสาธารณสุข แต่ยังช่วยส่งเสริมให้เกิดรายได้ในอุตสาหกรรมภาคอื่นๆ ด้วย” นพ.สุระ กล่าว 

แนะตั้งองค์กรอิสระระดับชาติดูแล

ผศ.ดร.ฐิติทิพย์ ทิพยมนตรี ประธานฝ่ายวิชาการหลักสูตร Medical Hub Executive Program (MEP 2024) กล่าวว่า หลักสูตร MEP 2024 ซึ่งเป็นรุ่นแรก ผู้เข้าอบรมมีทั้งที่เกี่ยวกับงานด้านWellness and Medical จากภาครัฐ เอกชน และธุรกิจ ภายหลังสิ้นสุดหลักสูตรมีการจัดทำข้อเสนอต่อรัฐบาล 

โดยหนึ่งในข้อเสนอสำคัญ คือ จัดตั้งองค์กรอิสระในฐานะหน่วยงานระดับชาติ(National Body) หรือ Thailand Team Driver จะมีบทบาทสำคัญผลักดันและขับเคลื่อนนโยบาย Medical Care and Wellness ของประเทศไทยในหลายด้าน ช่วยส่งเสริมการพัฒนาทั้งด้านการแพทย์ การดูแลสุขภาพ และการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ของประเทศ