“เวลเนส( W ellness) ไม่ใช่แค่สุขภาพดี ไม่มีโรค ไม่มีความเจ็บป่วยหรือพิการ แต่เป็นสิ่งที่จะเข้าไปหาว่าทำอย่างไรสุขภาพถึงจะดีขึ้นเรื่อยๆ ครอบคลุมทั้งเรื่องส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรคก่อนเกิดโรค เป็นต้น นำมาสู่ “ธุรกิจเวลเนส”เป็นแขนงใหม่ที่ภาคเอกชนรับรู้มากว่า 10 ปี
แต่ก่อนหน้านี้ไม่มีหน่วยงานภาครัฐ เข้ามาดำเนินการรับรองหรือการันตี “ศูนย์เวลเนส” จนเมื่อ 2-3 ปีก่อน กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้นำคำนิยามของต่างประเทศจาก Global Wellness Institute (GWI) มาอ้างอิง และเข้าไปประเมินรับรองแบ่งเป็น 5 ประเภท คือ ที่พักนักท่องเที่ยว ภัตตาคารร้านอาหาร สปาเพื่อสุขภาพ นวดเพื่อสุขภาพ และสถานพยาบาล ก่อนต่อยอดยกระดับเป็น ศูนย์เวล เนสอัตลักษณ์ไทย หรือTWD
ตลาดWellnessมูลค่าแสนล้านบาท
ธุรกิจเวลเนส แบ่งเป็นหลายประเภท ตั้งแต่ P ersonal care and B eauty , W ellness T ourism ,กิจกรรมทางกาย การออกกำลังกาย และอาหาร โดยหลักๆจะมีการแพทย์ดั้งเดิมและการแพทย์ทางเลือก เป็นสัดส่วนที่มากพอสมควรที่เข้าไปเติมในธุรกิจเวลเนส
นพ.กุลธนิต วนรัตน์ ผู้อำนวยการกองการแพทย์ทางเลือก กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ให้ข้อมูลว่า ภาพรวมของธุรกิจเวลเนสทั่วโลกล่าสุดในปี 2022 มูลค่า 5.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ
ประเทศไทยติดเป็นอันดับ 15 ของโลกการเติบโตของธุรกิจเวลเนส โดยช่วงก่อนเกิดการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 มูลค่าอยู่ที่ 16.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 5 แสนล้านบาท ในช่วงโควิด-19 เหลือ 4.2 ล้านเหรียญสหรัฐ และกระเตื้องขึ้นมาอยู่ที่ 7.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ประมาณ 2 แสนล้านบาท ในปี 2022
ทั้งนี้มีการประมาณการเติบโตของธุรกิจเวลเนสราว 20 % ในปี 2567 ประมาณว่าประเทศไทยน่าจะอยู่ในสัดส่วนราว 1 ล้านล้านบาท จากรายได้รวมจากภาคท่องเที่ยวอยู่ที่ราว 3 ล้านล้านบาท เท่ากับ 1 ใน 3 มาจาก W ellness T ourism
เนื่องจากประเทศไทยมีจุดแข็งในหลายๆด้าน ที่ต่างประเทศมองไทยว่าเป็น D estination ปลายทางในการเดินทางทั้งเรื่องการแพทย์และสุขภาพ ซึ่งเทรนด์ของโลกปัจจุบันชอบเรื่องประสบการณ์ใหม่ๆ ความเป็นออริจินัล เทรดดิชันนัล ดังนั้น หากเติมเรื่องเอกลักษณ์อัตลักษณ์ความเป็นไทย ก็จะตอบโจทย์ตลาดมากขึ้น
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จึงดำเนินการยกระดับศูนย์เวลเนสเป็น TWD น่าจะมีตลาดที่ดี ในการส่งเสริมและสร้างรายได้ให้สถานประกอบการ เป็นซอฟต์เพาวเวอร์ที่เป็นนโยบายภาครัฐ
รับรอง TWD แล้ว 63 แห่ง
3 ปีที่ผ่านมา มีการรับรองศูนย์เวลเนสทั้ง 5 ประเภทประมาณ 900 แห่งทั่วประเทศ และยกระดับเป็น TWDแล้วประมาณ 63 แห่ง(ณ มกราคม 2567) โดยผู้ประกอบการให้ความสนใจอย่างมากในการประเมินเข้าสู่เกณฑ์ TWD ซึ่งประกอบด้วยมีลักษณะความเป็นไทย 9 อย่าง อาทิ
ความเป็นชาติไทย
ภาษาไทย
วิถีชีวิตไทย
ประเพณีวัฒนธรรมไทย
ศิลปะไทย
ภูมิปัญญาไทย
สินค้าไทย
และสถาปัตยกรรมแบบไทย
ผ่านประสบการณ์อายาตนะทั้ง 6 คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสและอารมณ์ ทั้งนี้ ในคู่มือการประเมินสถานประกอบการจะแบ่งเป็น 4 ด้าน บริหารจัดการ การให้บริการ บุคลากร และความโดดเด่นอัตลักษณ์ไทย
“TWD พยายามให้ครอบคลุมทั้งการดึงดูดชาวต่างชาติและในประเทศ แต่การสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจเม็ดเงินจากต่างชาติจะเป็นหลัก ถ้าดูรายได้ท่องเที่ยว 3 ล้านล้านบาท ประมาณ 2 ใน 3 มาจากต่างประเทศ ก็จะดึงเม็ดเงินมาอยู่ในไทยได้”นพ.กุลธนิตกล่าว
ส่วนในประเทศ ก็มีนักท่องเที่ยวชาวไทยที่อยากรับบริการด้านเวลเนสด้วย แต่ถ้าดูเรื่องการสร้างมูลค่าที่สูงขึ้นมา ตลาดต่างประเทศน่าจะมองเรื่องเวลเนสอัตลักษณ์ไทยมากกว่า ก็จะเป็นจุดขายได้มากกว่าเวลเนสปกติทั่วไป
3 เรื่องยังเป็นข้อจำกัด
จากที่ดำเนินการยกระดับเป็นเวลเนสอัตลักษณ์ไทย มีเสียงสะท้อนของผู้ประกอบการว่าชอบที่ภาครัฐเข้ามาการันตี ยิ่งกว่านั้นอยู่ภายใต้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะเป็นจุดขายได้ชัดเจน สามารถนำไปเสนอในตลาดต่างประเทศอย่างมั่นอกมั่นใจและสร้างความเชื่อมั่นได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม มีข้อจำกัดในสถานประกอบการ คือ
1.บุคลากรเริ่มมีปัญหา เช่น ร้านนวดเพื่อสุขภาพ บุคลากรที่เป็นเทอราปิสต์จากช่วงโควิด-19 มีการหายไปจำนวนไม่น้อย ตอนนี้ที่ธุรกิจเริ่มกลับมา พบว่ามีการซื้อตัวไปต่างประเทศจำนวนมาก จึงอาจจะต้องร่วมกันพัฒนาสร้างอาชีพ โดย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก มีการหารือกับผู้ประกอบการ ทำเรื่องแมชชิ่งผู้ช่วยนวดหรือ
เทอราปิสต์ที่ผ่านการอบรมตามที่ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก รับรอง โดยการันตีว่าเรียนจบแล้วจะมีงานทำกับสถานประกอบการ ซึ่งเป็นโจทย์ที่รัฐบาลส่งมาที่ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ด้วยในเรื่องจำนวนการผลิตหมอนวดต่อปี คาดว่าจะผลิตได้ราว 5,000-10,000 คน จะทำให้บุคลากรเพียงพอในสถานประกอบการ
2.ภาษา หากเป้าหมายตลาดเป็นชาวต่างชาติเป็นหลัก ก็จำเป็นต้องพัฒนาศักยภาพของเทอราปิสต์เพื่อให้ตอบโจทย์
และ 3.ระบบโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การเชื่อมโยงระหว่างเมืองหลัก เมืองรอง การเข้าไปในชุมชน เส้นทางท่องเที่ยวมีความสะดวกมากน้อยแค่ไหนอย่างไร
แนวทางพัฒนาในปี 2567
การพัฒนาศูนย์เวลเนสอัตลักษณ์ไทย ภาครัฐ เอกชน และมหาวิทยาลัยต้องเข้ามาร่วมกันเติมองค์ความรู้เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ในส่วนของกรมมีแผนพัฒนา TWD จะผลักดันมุ่งเน้นในเรื่องความเป็นพื้นถิ่นแต่ละภูมิภาค เนื่องจากประเทศไทยมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม เอกลักษณ์อัตลักษณ์ ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีความต่างกัน
เช่น ภาคเหนือมีวัฒนธรรมล้านนา ภาคใต้มีลังกาสุกะ มีเรื่องนวด อาหารก็ต่างกัน โดย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก มีโครงการพัฒนาผู้ประกอบการและบุคลากร จัดทำหลักสูตรเพิ่มองค์ความรู้ เช่น อาหารเป็นยา โภชนาการ การนวดในประเภทต่างๆ
นอกจากนี้ ต้องทำเรื่องการสร้างแบรนด์( B randing) ของ TWD ให้เข้มแข็ง และติดตลาดเพิ่มมากขึ้น มีการทำงานร่วมกับภาคเอกชนถึงวิธีการที่จะปั้นแบรนด์นี้ให้ติดตลาด ตอกย้ำเข้าไปในหลายๆแพลตฟอร์มทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ผ่านการประชุมวิชาการ อินเตอร์เน็ต และโซเชียลมีเดีย เพื่อสร้างความเชื่อมั่น TWD ด้วยการระบุว่าการันตีโดยสธ.
และได้หารือร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องอย่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) กรมการท่องเที่ยว สมาคมมัคคุเทศน์ ที่จะดึงแบรนด์ TWD ไปสู่การประชาสัมพันธ์ได้ดีขึ้น พยายามขอความ ร่วมมือกับสายการบิน ในการลงประชาสัมพันธ์เรื่องนี้ผ่านนิตยสารของสายการบินที่ให้ผู้โดยสารอ่านบนเครื่องบิน จะขยายแบรนด์ให้เข้มแข็งขึ้น สร้างความเชื่อมั่นและผู้ประกอบการจะได้สนใจเข้ามาประเมินรับรองเป็น TWD มากขึ้น
การประเมิน TWD กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จะเข้าไปประเมินศูนย์เวลเนสเพื่อยกระดับเอง เป็นการสร้างคุณค่า มาตรฐาน ความเชื่อมั่นมากขึ้น จึงค่อนข้างมีข้อจำกัดในการประเมิน ทำให้แต่ละปีสามารถยกระดับได้ราว 10 แห่ง
“ตั้งเป้าในปลายปี 2567 จะยกระดับเป็นเวลเนสอัตลักษณ์ไทยได้รวมประมาณ 90- 100 แห่ง คิดเป็นราว 10 % ของศูนย์เวลเนสทั่วไปที่มีอยู่ราว 900 แห่ง โดยคำนึงเรื่องคุณภาพมาตรฐานที่เหมาะสมเป็นสำคัญ เพราะไม่ต้องการให้แบรนด์นี้เกร่อเกินไป ”นพ.กุลธนิตกล่าว