‘ไวรัส hMPV’ เปิดข้อมูลเดือนที่ไทยพบมากสุด

‘ไวรัส hMPV’ เปิดข้อมูลเดือนที่ไทยพบมากสุด

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เผยปี 67 ไทยเจอเชื้อไวรัส hMPV พบผู้ป่วยตลอดทั้งปี เปิดข้อมูลรายเดือนช่วงที่ไทยพบมากที่สุด  

นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงกรณีที่มีการระบาดของเชื้อฮิวแมน เมตะนิวโมไวรัส (Human Metapneumovirus) หรือ ไวรัส hMPV ที่ต่างประเทศว่า ปัจจุบันการตรวจวินิจฉัยเชื้อไวรัส hMPV ทางห้องปฏิบัติการ ทำได้โดยการตรวจทางชีวโมเลกุล ด้วยวิธี Real-time RT-PCR จากตัวอย่างส่งตรวจจากระบบทางเดินหายใจ ซึ่งสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังทางห้องปฏิบัติการเชื้อไวรัสชนิดนี้ มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2552

โดยการตรวจสารพันธุกรรมของไวรัส ด้วยวิธี Real-time RT-PCR ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่และปอดบวมจากโรงพยาบาลเครือข่ายทั่วประเทศ และในปี พ.ศ.2567 ที่ พบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัส hMPV ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในฤดูฝนจนถึงฤดูหนาว โดยพบผู้ป่วยติดเชื้อสูงสุดในเดือนมกราคม
‘ไวรัส hMPV’ เปิดข้อมูลเดือนที่ไทยพบมากสุด

 จากนั้นพบการติดเชื้อลดลงอย่างชัดเจนในช่วงเดือนกุมภาพันธ์จนถึงเมษายน โดยมีผู้ป่วยติดเชื้อ hMPV 2.9 %จากจำนวนตัวอย่างเฝ้าระวังโรคระบบทางเดินหายใจทั้งหมด 10,695 ตัวอย่าง ส่วนมากพบในเด็กเล็กช่วงอายุ 0 -5 ปี

ทั้งนี้ โรคติดเชื้อไวรัส hMPV เป็นไวรัสที่สามารถทำให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจส่วนบนและส่วนล่าง โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ พบครั้งแรกในปี พ.ศ.2544 อยู่ในตระกูล Pneumoviridae เช่นเดียวกับไวรัสอาร์เอส (human respiratory syncytial virus) เมื่อติดเชื้อ hMPV จะมีระยะฟักตัวของโรคอยู่ที่ 3-6 วัน

มีอาการคล้ายกับการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจอื่นๆ เช่น ไอ  มีไข้ คัดจมูก และหายใจลำบาก ผู้ที่มีอาการรุนแรงอาจทำให้เกิดหลอดลมฝอยอักเสบเฉียบพลันหรือปอดบวมได้ โดยเชื้อ hMPV สามารถแพร่กระจายจากคนที่ติดเชื้อไปยังผู้อื่นผ่านการไอหรือจาม การสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ การสัมผัสสารคัดหลั่งแล้วเชื้อเข้าทางปาก จมูก หรือดวงตา ผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อได้นาน 1-2 สัปดาห์หลังจากแสดงอาการ การรักษาส่วนใหญ่เป็นแบบประคับประคองตามอาการ ไม่ได้ร้ายแรงหรือไม่ได้มาหาหมอก็สามารถหายเองได้

ประชาชนสามารถป้องกันตัวเองจากโรคติดเชื้อไวรัส hMPV ซึ่งทำได้เช่นเดียวกันกับโรคทางเดินหายใจอื่นๆ ดูแลเรื่องสุขลักษณะให้ร่างกายแข็งแรง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่สะอาด ปรุงสุก กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือให้สะอาด และหากมีอาการไอ เจ็บคอ ให้สวมหน้ากากอนามัย หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ที่มีอาการไอหรือจาม และสถานที่ที่มีผู้คนหนาแน่น ซึ่งอาจทำให้เกิดการแพร่เชื้อได้ง่าย สำหรับเด็กที่ป่วยควรหยุดเรียน เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไปสู่คนอื่น

ทั้งนี้ โรงพยาบาลสามารถติดต่อสอบถามและส่งตัวอย่างเพื่อสอบสวนโรค ได้ที่ ศูนย์ประสานงานการตรวจวิเคราะห์และเฝ้าระวังโรคทางห้องปฏิบัติการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จังหวัดนนทบุรี  โทรศัพท์ 0 2951 0000 ต่อ 99248 หรือ 99614 หรือที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ทั้ง 15 แห่ง ทั่วประเทศ