เพิ่มโทษ! 'แพทย์แขวนป้าย' แพทยสภา 'พักใช้ใบอนุญาต 1 ปี ทันที'

เพิ่มโทษ! 'แพทย์แขวนป้าย' แพทยสภา 'พักใช้ใบอนุญาต 1 ปี ทันที'

แฉลงประกาศโซเชียลฯโจ่งแจ้ง “รับสมัครแพทย์แขวนป้าย” ตัวจริงไม่อยู่คลินิกแขวนไว้แต่ชื่อ ค่าจ้าง10,000-50,000 บาท  แพทยสภาออกกฎหม่ พบผิดครั้งแรก “พักใช้ใบอนุญาต 1 ปีทันที “ ผิด 3 ครั้งเพิกถอนใบอนุญต ลั่นเป็นการกระทำที่เปิดทางให้“หมอเถื่อน” สร้างอันตรายประชาชน

KEY

POINTS

  • แฉลงประกาศโซเชียลฯโจ่งแจ้ง “รับสม

รศ.(พิเศษ) นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา ให้สัมภาษณ์กรณีแพทย์แขวนป้ายหรือการที่แพทย์นำชื่อตนเองไปให้ใช้เปิดคลินิกนำ โดยที่ตัวเองไม่ได้เข้าไปควบคุมตามกฎหมายว่า  กรณีแพทย์แขวนป้ายมีคดีที่รู้และแจ้งมาที่แพทยสภาทุกเดือน โดยจะมีการประกาศรับแพทย์แขวนป้าย ลงอยู่ในสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆทั้งเฟซบุ๊ก ไลน์กลุ่มเฉพาะ

บางทีก็เหมือนเจตนาหลอกลวงแพทย์ที่ไม่รู้กฎหมาย เช่น รับให้แขวนป้ายจะได้เดือนละ 10,000 บาท ,30,000 บาท หรือ 50,000 บาท ก็ว่ากันไป และจะเซ็นสัญญาว่า ถ้ามีเรื่องเข้ามาที่แพทยสภาจะไม่ต้องรับผิด เพราะทางผู้จัดดำเนินการจะจัดการปัญหาให้เอง หรือบอกว่าไม่ผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง 

แพทย์แขวนป้าย พักใบอนุญาต 1ปี ทันที

รศ.(พิเศษ) นพ.เมธี กล่าวอีกว่า แพทยสภา ชุดที่ผ่านมามีมติเป็นเอกฉันท์ในความผิดกรณีนี้ จะไม่มีการว่ากล่าว ตักเตือน หรือพักใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม 1-2 เดือน แต่ความผิดเรื่องแพทย์แขวนป้าย ตามประกาศแพทยสภาฉบับใหม่ ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ ก.พ.2568  จะเริ่มตั้งแต่พักใช้ใบอนุญาตฯ 1 ปีทันที หากทำผิดซ้ำครั้งที่ 2 หรือไปถึงครั้งที่ 3 แปลว่าไม่อยากเป็นแพทย์แล้ว โดยการนำชื่อตัวเองไปให้มีการเปิดคลินิกเถื่อน 3 ครั้งแล้ว ก็จะเพิกถอนใบอนุญาต

“เตือนน้องๆแพทย์ ซึ่งส่วนใหญ่แพทย์ที่มีปัญหานี้คือแพทย์ที่จบใหม่ ที่เขาจะบอกว่าไม่รู้กฎหมาย แต่นักกฎหมายบอกว่าจะอ้างไม่รู้กฎหมายไม่ได้  ซึ่งกฎหมายที่เกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพเวชกรรม เป็นกฎหมายเฉพาะของแพทย์ที่ต้องรู้ และแพทยสภาไม่อยากให้มีแพทย์โดนลงโทษในความผิดเช่นนี้ โดยที่ไม่รู้ว่าแพทยสภาได้มีการปรับกฎและความผิดใหม่แล้ว”รศ.(พิเศษ)นพ.เมธีกล่าว 

เชื่อปรับโทษหนักขึ้น กระทำผิดลดลง

รศ.(พิเศษ) นพ.เมธี กล่าวด้วยว่า เรื่องแพทย์แขวนป้ายเป็นความผิดที่ถือว่ารุนแรงกว่าการโฆษณาเกินจริงของแพทย์ เนื่องจากเป็นต้นทางของการให้หมอเถื่อน เป็นเหมือนการเปิดประตูบ้านให้ข้าศึกเข้ามาในเมือง โดยการรับเงินเดือนละ 20,000-30,000 บาทแล้วให้ใครก็ได้เข้ามาทำอะไรก็ได้เข้ามาดำเนินการในคลินิก ซึ่งเป็นต้นเหตุของความไม่ปลอดภัย ทำให้มีผู้ป่วยได้รับความเสียหาย โดยไม่รู้เลยว่าการรับบริการนั้นเป็นแพทย์จริงหรือปลอม ถ้ามีแพทย์จริงอยู่ตามกฎหมาย ก็จะคอยควบคุมไม่ให้คนอื่นเข้ามาประกอบวิชาชีพเวชกรรม โดยผิดกฎหมาย

“เชื่อว่าคดีเกี่ยวกับเรื่องแพทย์แขวนป้ายจะลดลง หลังจากประกาศนี้มีผลบังคับใช้ในเดือนก.พ.2568 ซึ่งเป็นความผิด ถึงแม้แพทย์จะอ้างว่าไม่รู้ ไม่เจตนา แต่กฎหมายไม่ฟังว่า ไม่รู้ เหมือนกับกรณีที่เภสัชกรแขวนป้าย  ซึ่งสภาเภสัชกรรมได้มีประกาศพักใช้ใบอนุญาตกรณีเภสัชแขวนป้าย 2 ปี หลังมีผลบังคับใช้ เท่าที่ทราบ คดีกรณีแขวนป้ายลดลงทันทีเลย เพราะมีความเกรงกลัว นับเป็นการเพิ่มความปลอดภัยให้กับประชาชน”รศ.(พิเศษ)นพ.เมธีกล่าว 

ทุกสถานพยาบาลต้องมีแพทย์ผู้ดำเนินการ

ขณะที่ ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส) กล่าวว่า คลินิกแห่งหนึ่งจะประกอบไปด้วยคน 3 กลุ่ม

1. ผู้ประกอบกิจการ เจ้าของ คลินิก

2. ผู้ดำเนินการสถานพยาบาล ซึ่งเป็นคนคอยควบคุมกำกับดูแลเครื่องมือแพทย์ ความปลอดภัย กำกับดูแลแพทย์ที่ให้การตรวจรักษาคนไข้ว่า เป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพหรือไม่

3. ผู้ให้บริการ หรือผู้ประกอบวิชาชีพ

การเปิดคลินิกเวชกรรม เจ้าของจะไปจ้างแพทย์ให้มาเป็นผู้ดำเนินการ ควบคุมกำกับ ซึ่งหากผู้ดำเนินการนี้ไม่กำกับดูแลคลินิกให้ดีแล้วเกิดความผิดพลาดขึ้นมาจากการทำงาน ไม่ปลอดภัย หรือผู้ประกอบวิชาชีพไม่ทำตามมาตรฐานวิชาชีพ ปล่อยให้คนที่ไม่ใช่แพทย์มาทำหน้าที่ในสถานพยาบาล แพทย์ที่เป็นผู้ดำเนินการก็จะมีความผิดตามกฎหมาย 

แพทย์แขวนป้ายไม่ได้ ต้องอยู่คลินิก

แพทย์ที่เป็นผู้ดำเนินการ จะต้องอยู่ประจำคลินิกแห่งนั้นครบเวลาเปิด-ปิดตามที่ระบุไว้  หากไม่อยู่คลินิก เช่น ไปกินข้าวเที่ยงก็ต้องสามารถติดต่อได้ตลอดเวลา แต่ที่จริงแล้ว หากแพทย์ผู้ดำเนินการไม่อยู่คลินิกต้องติดป้ายว่าปิดหรือClose เมื่อกลับมาประจำที่คลินิกแล้วถึงจะสลับเป็นป้ายเปิด หรือ Open

ทั้งนี้ ข้อมูลแพทย์ผู้ดำเนินการที่ที่ต้องแขวนไว้ที่คลินิกให้ผู้รับบริการทราบ คือ

1. ใบอนุญาตประกอบกิจการ มีอายุ 10 ปี

2. ใบผู้ดำเนินการ ปกติ ต้องต่ออายุทุก 2 ปี จะบอกว่าแพทย์ท่านใดเป็นผู้ดำเนินการ มีหมายเลขผู้ดำเนินการ ประชาชนสามารถสแกนแล้วตรวจสอบข้อมูลได้หมด

“แพทย์ผู้ดำเนินการจะแค่มารับเป็นจ๊อบๆในคลินิกไม่ได้  แต่จะต้องทำหน้าที่ควบคุมกำกับคลินิกอย่างใกล้ชิดตามระยะเวลาที่ผู้ประกอบกิจการขออนุญาตเปิดกิจการ ซึ่ง 1 คลินิกจะมีแพทย์ผู้ดำเนินการ 1 คน ยกเว้นแพทย์ผู้ดำเนินการมีธุระที่ไม่สามารถอยู่ประจำคลินิกได้ แต่คลินิกยังต้องเปิดให้บริการ ก็จะมอบหมายแพทย์ท่านอื่นที่มีคุณสมบัติมาดำเนินการแทนไปก่อนได้ แต่จะต้องแจ้งรายชื่อแพทย์ที่จะมาเป็นผู้ดำเนินการแทน ต่อภาครัฐไม่เกิน 3 วัน”ทพ.อาคมกล่าว    

แพทย์แขวนป้าย โทษคุก 2 ปี ปรับ 4 หมื่นบาท

ทพ.อาคม ย้ำว่า แพทย์ที่นำใบประกอบวิชาชีพมาให้กับผู้ประกอบกิจการ เพื่อให้ผู้ประกอบกิจการนำไปยื่นขออนุญาตเปิดสถานพยาบาลต่อภาครัฐ แต่ตัวแพทย์อาจจะไม่ได้มาอยู่ดูแลคลินิกอย่างใกล้ชิด เอาแค่ป้ายมาแขวนไว้ ถือว่าผิดกฎหมาย โดยเจ้าของจะมีโทษตามกฎหมาย ทั้งจำ ทั้งปรับ เหตุที่ไม่สามารถจัดให้มีแพทย์ผู้ดำเนินการได้

ส่วนแพทย์ผู้ดำเนินการปล่อยปละละเลย ไม่มาควบคุม ปล่อยให้มีการนำคนอื่นมาทำหน้าที่เป็นแพทย์ให้บริการคนไข้ จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท