สธ.เผยพบผู้ป่วย 'ไข้หวัดนก' รายแรกรอบ 3 ปี ในอังกฤษ
![สธ.เผยพบผู้ป่วย 'ไข้หวัดนก' รายแรกรอบ 3 ปี ในอังกฤษ](https://image.bangkokbiznews.com/uploads/images/md/2025/01/bdkVSjtnS3gGU6xMySnz.webp?x-image-process=style/LG)
สธ.เผย มีรายงานพบผู้ป่วย "ไข้หวัดนก" รายแรกในรอบ 3 ปี ในพื้นที่เวสต์มิดแลนส์ ประเทศอังกฤษ จากการสัมผัสสัตว์ปีกที่ติดเชื้อในฟาร์ม เป็นเชื้อไวรัส H5N1 สายพันธุ์ D1.2 แจงความเสี่ยงต่อประเทศไทย
เมื่อวันที่ 29 ม.ค.2568 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงข่าวสหราชอาณาจักร (อังกฤษ) รายงานพบ ผู้ป่วยไข้หวัดนก H5N1 รายแรกในรอบ 3 ปี ว่า กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข มีการติดตามข้อมูลในเรื่องนี้ เบื้องต้นพบว่าหน่วยงานด้านความมั่นคงสุขภาพแห่งสหราชอาณาจักร (UKHSA) ได้ยืนยันผู้ป่วยรายดังกล่าวเริ่มป่วยเมื่อวันที่ 27 มกราคม ที่ผ่านมา โดยผู้ป่วยมาจากเขตเวสต์มิดแลนส์ ประเทศอังกฤษ ติดเชื้อจากการสัมผัสกับสัตว์ปีกที่ติดเชื้อในฟาร์ม ขณะนี้ผู้ป่วยได้รับการรักษาจนอาการดีขึ้นแล้ว
การสอบสวนทางระบาดวิทยาพบว่า ก่อนหน้านั้นมีการระบาดในฝูงสัตว์ปีกที่ฟาร์ม ซึ่งได้รับการยืนยันจากหน่วยงานด้านสุขภาพสัตว์และพืชว่าพบเชื้อไวรัสไข้หวัดนก H5N1 ในฝูงสัตว์ปีก และได้แจ้งต่อ UKHSA เพื่อให้เฝ้าระวังในคน ติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิด และให้ยาต้านไวรัสเพื่อป้องกันการติดเชื้อเพิ่มเติม จนนำมาสู่การค้นพบผู้ป่วยรายดังกล่าว
สายพันธุ์ไวรัสไข้หวัดนกของสัตว์ปีกในฟาร์มดังกล่าว เป็น H5N1 สายพันธุ์ D1.2 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดในสัตว์ปีกที่สหราชอาณาจักร และแตกต่างจากสายพันธุ์ D1.1 ที่พบในทวีปอเมริกาเหนือจนทำให้เกิดผู้ติดเชื้ออาการรุนแรงในแคนาดา 1 ราย และป่วยเสียชีวิต 1 รายในสหรัฐอเมริกา
ทางการของสหราชอาณาจักรกำลังติดตามความเสี่ยงของเชื้อไข้หวัดนกกลายพันธุ์ มีการออกมาตรการด้านสาธารณสุข โดยขยายพื้นที่ป้องกันไข้หวัดนกครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ กำหนดให้ผู้เลี้ยงสัตว์ปีกทุกรายปฏิบัติตามมาตรการด้านป้องกันการติดเชื้ออย่างเคร่งครัด และสัตว์ปีกที่ติดเชื้อทั้งหมดถูกกำจัดอย่างถูกวิธี รวมถึงมีการฆ่าเชื้อในพื้นที่ระบาด โดยจากการประเมินขณะนี้ยังคงมีความเสี่ยงต่อประชาชนทั่วไปอยู่ในระดับต่ำ และยังไม่พบหลักฐานการแพร่เชื้อจากคนสู่คน
กรณีพบผู้ป่วยไข้หวัดนกดังกล่าว นพ.โอภาส กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยถือว่ามีความเสี่ยงต่ำ แต่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ยังคงบูรณาการความร่วมมือกับกรมปศุสัตว์ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช อย่างเข้มแข็งตามหลักสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health) เน้นย้ำการติดตามเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกทั้งในสัตว์และในคนอย่างต่อเนื่อง พร้อมระบบการแจ้งเหตุการณ์ผิดปกติระหว่างภาคปศุสัตว์ สัตว์ป่า และสาธารณสุข มีระบบการจัดการความเสี่ยงต่อโรคไข้หวัดนก รวมถึงเพิ่มความเข้มแข็งของมาตรการป้องกันการติดเชื้อ เพื่อลดความเสี่ยงจากโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน
“ขอแนะนำประชาชนให้รับประทานอาหารที่ปรุงสุก หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีก สุกร หรือโคนมที่ป่วยหรือตาย หากต้องสัมผัสสัตว์ปีก สุกร หรือโคนม ควรสวมหน้ากากอนามัย สวมถุงมือ และล้างมือทุกครั้งหลังสัมผัส กรณีพบสัตว์ปีกป่วยตายจำนวนมาก ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่เพื่อตรวจสอบ และไม่นำซากสัตว์ปีกหรือสัตว์ที่ป่วยตายไม่ทราบสาเหตุไปประกอบอาหารเด็ดขาด”นพ.โอภาสกล่าว