ยกเลิกเกณฑ์ใหม่ ‘มะเร็งรักษาทุกที่’ บัตรทอง 30 บาท ย้อนรอยที่มาที่ไป

“หมอจเด็จ”เลขาฯสปสช. ลงนามคำสั่งยกเลิกประกาศหลักเกณฑ์ "มะเร็งรักษาทุกที่" ฉบับใหม่ ที่จะบังคับใช้ 1 เม.ย. 68 แล้ว กลับไปใช้ฉบับเดิม ผู้ป่วยมะเร็งสิทธิ บัตรทอง 30 บาท รับบริการไม่ใช้ใบส่งตัว กรุงเทพธุรกิจย้อนรอยที่มาที่ไปของข้อสรุปนี้
สร้างความสับสนอยู่นับเดือนๆ เกี่ยวกับการใช้สิทธิบัตรทอง 30 บาท โครงการมะเร็งรักษาทุกที่ ว่าจะต้องปรับเกณฑ์การเบิกจ่าย และต้องใช้ใบส่งตัวหรือไม่ เมื่อเกิดการคัดค้านประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)จากโรงพยาบาลที่รับส่งต่อรักษามะเร็ง
มะเร็งรักษาทุกที่ ยกเลิกเกณฑ์ใหม่ ใช้เกณฑ์เดิม
ล่าสุด เมื่อวันที่ 6 ก.พ.2568 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ดสปสช.) กล่าวว่า นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. รายงานว่าได้ดำเนินการแก้ไขปัญหานี้เรียบร้อยแล้ว
ขณะนี้ทางเลขาธิการ สปสช. ได้ลงนามคำสั่งยกเลิกประกาศหลักเกณฑ์มะเร็งรักษาทุกที่ฉบับใหม่ ที่จะบังคับใช้ 1 เม.ย. 68 แล้ว ซึ่งจะมีผลทำให้กลับไปประกาศหลักเกณฑ์ฯ ฉบับเดิม ปี 2566 -2567 และได้ส่งหนังสือแจ้งเวียนหน่วยบริการทั่วประเทศรับทราบแล้ว
“วันนี้รวมถึงตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2568 เป็นต้นไป ผู้ป่วยมะเร็งสามารถเข้ารับบริการตามนโยบายนี้ได้ตามแนวทางบริการเดิมที่โรงพยาบาลที่มีศักยภาพดูแลผู้ป่วยมะเร็ง ไม่ต้องใช้ใบส่งตัวรับรองสิทธิในการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากหน่วยบริการประจำ โดยทาง สปสช. เป็นรับผิดชอบดูแลการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายตามนโยบายเช่นเดิม หน่วยบริการสามารถเบิกได้ทั้งค่ารังสีรักษา ยาเคมีบำบัด การผ่าตัด โรคแทรกซ้อนของมะเร็ง และโรคอื่นที่คนไข้มะเร็งเป็นร่วม”นายสมศักดิ์กล่าว
สำหรับการส่งข้อมูลผู้ป่วยนั้น มีระบบอิเล็กทรอนิกส์ TCB Plus ของสถาบันมะเร็ง กรมการแพทย์ และ Health Link ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อใช้ลงทะเบียน รับส่งต่อและดูข้อมูลผู้ป่วยอยู่แล้ว โดยทาง รพ.รับส่งต่อสามารถดูข้อมูลผู้ป่วยผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์นี้ได้
เพียงหนึ่งวันก่อนหน้านั้น ผศ.นพ.สนั่น วิสุทธิศักดิ์ชัย ประธานคณะทำงานจัดทำข้อเสนอการจ่ายชดเชยค่าบริการสาธารณสุข กรณีการรักษาโรคมะเร็ง (Cancer Anywhere) ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้ข้อมูลว่า คณะทำงานฯ จะมีการประชุมร่วมกันในวันที่ 15 ก.พ. 2568 เพื่อสรุปประเด็นและแนวทางเสนอต่อสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พิจารณาดำเนินการ
คือ ขอให้ สปสช. ดำเนินการจ่ายค่าใช้จ่ายที่เกิดจากโครงการมะเร็งรักษาทุกที่ ตามประกาศหลักเกณฑ์ฉบับเดิมของสำนักงานฯ ที่ใช้ในปีงบประมาณ 2566 -2567 และยังใช้กันอยู่ในขณะนี้ เมื่อเป็นเช่นนี้จะทำให้หนังสือรับรองสิทธิเพื่อรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของหน่วยบริการประจำ หรือใบส่งตัวไม่มีมีความจำเป็น เพราะ สปสช. จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายผู้ป่วยมะเร็งที่ส่งต่อทุกคนอยู่แล้ว
ทว่า ใบส่งตัวมี 2 เรื่องปนกันอยู่ นอกจากใบส่งตัวเพื่อรับรองสิทธิในการรับผิดชอบค่ารักษาของหน่วยบริการประจำแล้ว ยังมีเรื่องใบส่งตัวที่เป็นการส่งข้อมูลทางการแพทย์ เพื่อยืนยันการวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็งและสามารถใช้สิทธิได้ตามโครงการฯ ตรงนี้ก็ยังเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องให้หน่วยบริการประจำแจ้งต่อโรงพยาบาลรับส่งต่อ
ส่วนกรณีที่เป็นการส่งต่อด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์นั้น ระบบของหน่วยบริการและโรงพยาบาลรับส่งต่อยังไม่เป็นระบบเดียวกันทั้งหมด ทำให้ไม่ใช่ทุกแห่งที่จะสามารถส่งหรือรับข้อมูลผู้ป่วยได้เหมือนกัน
ดังนั้น การใช้ใบส่งตัวเพื่อให้ข้อมูลทางการแพทย์ที่เป็นกระดาษจึงยังมีความจำเป็นอยู่ในบางราย แต่ในอนาคตหากมีการพัฒนาที่ครอบคลุมเป็นระบบเดียวกันทั้งหมด ความจำเป็นของการใช้ใบส่งตัวที่เป็นกระดาษก็จะลดลงหรือหมดไป
“มะเร็งรักษาทุกที่ ตามประกาศหลักเกณฑ์ฯ ปี 2566 -2567 หนังสือส่งตัวที่เป็นเรื่องค่าใช้จ่ายนั้น ไม่ใช่สิ่งที่โรงพยาบาลรับส่งต่อขอ ที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะเป็นการขอใบส่งตัวที่เป็นข้อมูลทางการแพทย์ เพราะตามหลักเกณฑ์ของโครงการฯ ผู้ป่วยต้องได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งแล้วเท่านั้น ดังนั้นในกรณีนี้ ใบส่งตัวเพื่อให้ข้อมูลทางการแพทย์ที่เป็นกระดาษจึงมีความจำเป็นอยู่ในกรณีที่ไม่สามารถส่งและรับข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ได้” ผศ.นพ.สนั่นกล่าว
ต้องพัฒนาศักยภาพรักษามะเร็งรพ.ต่างๆ
ผศ.นพ.สนั่น กล่าวด้วยว่า ขณะนี้โรงพยาบาลรับส่งต่อทุกแห่ง ยังให้บริการผู้ป่วยมะเร็งตามหลักเกณฑ์ของปี 2566-2567 ซึ่งหากยกเลิกประกาศฉบับใหม่ไปในวันที่ 1 เมษายน 2568 การให้บริการก็เหมือนเดิมไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไร ซึ่งต้องบอกว่ากรณีของประกาศหลักเกณฑ์ ปี 2566-2567 วันนี้โรงพยาบาลก็ยังทำงานได้อยู่ เพียงแต่มีบางแห่งมีปัญหาจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งต้องหาวิธีในการแก้ปัญหาต่อไป
โดยพัฒนาศักยภาพด้านความสามารถการรักษาโรคมะเร็งให้กับ รพ.สังกัดต่างๆ มาช่วยรองรับเพื่อกระจายผู้ป่วยออกไปไม่ให้เกิดการกระจุกตัว ณ โรงพยาบาลใดโรงพยาบาลหนึ่งจนเกินศักยภาพด้านปริมาณ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของหน่วยงานสังกัดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ส่วนประเด็นการรักษาโรคแทรกหรือโรคที่ไม่เกี่ยวกับมะเร็ง ส่งผลให้เกิดปัญหาเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าที่ควรเป็นนั้น ผศ.นพ.สนั่น กล่าวว่า เรื่องนี้คงต้องมาคุยในรายละเอียด ซึ่งปัญหาโรคแทรกมี 2 กรณี คือกรณีที่ส่งไปรักษาที่หน่วยบริการประจำไม่ได้ จะต้องรักษาที่โรงพยาบาลรับส่งต่อ และกรณีที่หน่วยบริการมีศักยภาพดูแลได้ แต่ปัญหาก็คือหน่วยบริการประจำมีศักยภาพบริการไม่เท่ากัน และโรงพยาบาลรับส่งต่อก็ไม่รู้ศักยภาพของหน่วยบริการประจำเหล่านี้ ทำให้เกิดข้อติดขัด ตรงนี้คงต้องมาดูในรายละเอียดเพิ่มเติม
จุดเริ่มจากเกณฑ์ใหม่ มะเร็งรักษาทุกที่
ทั้งนี้ จุดเริ่มของปัญหาเรื่องนี้ ซึ่งกรุงเทพธุรกิจนำเสนอมาอย่างต่อเนื่องนั้น เกิดขึ้นจากการที่สปสช. ได้ออกประกาศ เรื่อง การจ่ายค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข กรณีการให้เคมีบำบัด ฮอร์โมน หรือรังสีรักษาสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งทั้งบริการผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน รวมบริการผู้ป่วยนอกสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งกรณีที่มีเหตุสมควร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2567 ซึ่งจะเป็นการใช้ดำเนินการในโครงการมะเร็งรักษาทุกที่ โดยให้เริ่มมีผลตั้งแต่ 1 ม.ค.2568
ประกาศฉบับนี้ มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการเบิกจ่ายโครงการมะเร็งรักษาทุกที่ โดยสปสช.ให้เหตุผลที่ต้องออกประกาศว่า เนื่องจากพบการจ่ายเงินจากกองทุน Cancer Anywhere ที่ผ่านมานั้น ไม่ได้จ่ายเฉพาะการรักษามะเร็งอย่างเดียว แต่จ่ายเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายเรื่อง investigation (สอบสวนโรค )โรคอื่นที่ไม่สัมพันธ์กับการรักษามะเร็งในครั้งนั้นมากกว่า 50 %
รพ.แสดงพลังค้านเกณฑ์ใหม่
ส่งผลให้โรงพยาบาลต่างๆ ที่เป็นหน่วยรับส่งต่อผู้ป่วยโรคมะเร็ง โดยเฉพาะโรงเรียนแพทย์ อาทิ รพ.รามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี ,รพ.ศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และรพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น ออกประกาศว่า เนื่องจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีการปรับเกณฑ์การจ่ายเงินค่ารักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งจากกองทุนมะเร็งรักษาทุกที่ (cancer anywhere ) ใหม่
จึงขอให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) เมื่อเข้ามารับการรักษาในโรงเรียนแพทย์ ต้องมีใบส่งตัวรับรองค่ารักษาพยาบาลจากหน่วยบริการต้นสังกัดตามสิทธิ นับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2568 เป็นต้นไป
ชะลอประกาศเกณฑ์ใหม่ไป 3 เดือน
ทำให้สปสช.ได้มีการหารือด่วนร่วมกับผู้แทนโรงพยาบาลและโรงเรียนแพทย์ จนได้ข้อสรุปเบื้องต้นร่วมกันที่จะ “ชะลอการใช้เกณฑ์ใหม่ออกไปก่อน 3 เดือนตั้งแต่ 1 ม.ค.-31 มี.ค.2568 และตั้งคณะทำงานมาหารือร่วมกัน ซึ่งมีผศ.นพ.สนั่นเป็นประธาน” ก่อนที่ต่อมา เลขาธิการสปสช.ได้ลงนามเลื่อนการบังคับใช้ประกาศเกณฑ์ใหม่ไปมีผลตั้งแต่ 1 เม.ย.2568
ยกเลิกเกณฑ์ใหม่ ใช้เกณฑ์เดิม
จนล่าสุด หลังจากที่คณะทำงานฯชุดที่มีผศ.นพ.สนั่น หารือร่วมกันเป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 5 ก.พ.2568 เตรียมที่ยื่นข้อเสนอให้สปสช.ในวันที่ 15 ก.พ.2568
แต่สปสช.ก็มีรายงานออกมาทันทีเมื่อวันที่ 5 ก.พ.2568 เช่นกันว่า นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสปสช.เมื่อรับทราบก็เสนอดังกล่าว ก็ได้ลงนามในคำสั่งยกเลิกประกาศหลักเกณฑ์มะเร็งรักษาทุกที่ฉบับใหม่ ที่จะบังคับใช้ 1 เม.ย. 2568 แล้ว ซึ่งจะมีผลทำให้กลับไปประกาศหลักเกณฑ์ฯ ฉบับเดิม ปี 2566 -2567
หากเป็นตามนี้ เท่ากับว่า ผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง 30 บาท ที่จะเข้ารับบริการตาม “มะเร็งรักษาทุกที่” สามารถไปรับบริการได้เช่นเดิม ขณะที่รพ.ก็สามารถเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้ตามเกณฑ์เดิมด้วย