'10 กลุ่มอาการ' ยาสมุนไพรไทยแทนยาแผนปัจจุบัน ถ้ารพ.ใช้ 100 % รางวัล 2 แสน

สธ.เร่งรพ.ใช้ยาสมุนไพรไทยแทนยาแผนปัจจุบัน 10 กลุ่มอาการ เป้าปี 2569 ขยับเพิ่มเป็น 3,000 ล้าน เตรียมงบ 60 ล้าน จ่ายเงินเพิ่มให้รพ.ใช้แทนครบ 100 % ใน 5 รายการยา เป็นรางวัลสูงสุดอีก 2 แสนบาท พร้อมเปิดตลาดใหม่ส่งออกสมุนไพรไปอาหรับ
KEY
POINTS
- กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เร่งรพ.ใช้ยาสมุนไพรไทยแทนยาแผนปัจจุบัน 10 กลุ่มอาการ เป้าปี 2569 ขยับเพิ่มเป็น 3,000 ล้าน
- เตรียมงบ 60 ล้าน จ่ายเงินเพิ่มให้รพ.ใช้ยาสมุนไพรแทนยาแผนปัจจุบัน ใน 5 รายการยาได้ 100 % เป็นรางวัลสูงสุดอีก 2 แสนบาท
- แนวทางการเบิกจ่ายบริกา
เมื่อวันที่ 24 ก.พ.2568 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข กล่าวในการเป็นประธานเปิดการประชุมปฏิบัติการสร้างเสริมความเชื่อมั่นการใช้ยาจากสมุนไพร สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ “ส่งเสริมการใช้ยาจากสมุนไพรสำหรับบุคลากรทางการแพทย์”ว่า ปัจจุบันมีการใช้ยาในระบบของรัฐประมาณ 70,500 ล้านบาท เป็นยาแผนตะวันตก 69,000 ล้านบาท ยาสมุนไพร 1,500 ล้านบาทในจำนวนนี้เป็นการใช้ยาสมุนไพรในระบบประกันสุขภาพแห่งชาติประมาณ 400 ล้านบาท
กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) จึงตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มการสั่งใช้ยาสมุนไพรในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2568 และไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาทในปี 2569 และขยับเพิ่มขึ้นไปอีกในแต่ละปี เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ป่วย ลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศ สนับสนุนการยกระดับภูมิปัญญาไทยและสนับสนุนเศรษฐกิจภายในประเทศ
ขอให้บุคลากรทางการแพทย์มีความเชื่อมั่นในยาสมุนไพรและสั่งใช้ในการรักษาผู้ป่วย โดยเฉพาะยาสมุนไพร 32 รายการ ใน 10 กลุ่มอาการของโรคที่พบบ่อย ได้แก่
1. กลุ่มแก้ปวดกล้ามเนื้อและข้อ เช่น ยาไพล
2.รักษาไข้หวัดและโควิด-19 เช่น ยาฟ้าทะลายโจร
3.แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ เช่น ยาขมิ้นชัน
4. รักษาริดสีดวงทวาร เช่น ยาเพชรสังฆาต
5. บรรเทาอาการวิงเวียน เช่น ยาขิง
6. แก้เบื่ออาหาร เช่น ยามะระขี้นก
7. บรรเทาอาการท้องเสีย เช่น ยากล้วย
8. ช่วยเรื่องนอนไม่หลับ เช่น ยาหอมเทพจิตร
9.แก้อาการชาจากอัมพฤกษ์ อัมพาต เช่น ยาพริก
และ10.ใช้ทาผิวหนัง แผล เช่น ยาว่านหางจระเข้
สำหรับ รายการยาสมุนไพรทดแทนยาแผน ปัจจุบัน 5 รายการ หาก รพ. ใดสามารถใช้ยาสมุนไพรใน 5 รายการนี้ได้ 100 % มีการเตรียมงบประมาณไว้ 60 ล้านบาทเพื่อเป็นรางวัลให้รพ. เป็นเหมือนค่าจ้างในการเลิกใช้ยาแผนปัจจุบันที่กำหนด คือ
1.ยาครีมไพล ทดแทนยานวด เอนอลเจสิค บาล์ม(Analgesic balm)
2.ยามะขามแขก ทดแทนยาระบาย บิซาโคดิล(Bisacodyl)
3.ยาประสะมะแว้ง ทดแทนยาแก้ไอ จีจี ไซรัป (GG syrup)
4.ยาขมิ้นชัน ธาตุอบเชย ทดแทนยาขับลม เช่น เอ็ม. คาร์มิเนตีฟ ( M. Carminative))
5.ยาเพชรสังฆาต ทดแทนยาริดสีดวง ยาดาฟลอน (Daflon)
ไม่เพียงแต่ส่งเสริมการใช้ยาสมุนไพรในสถานพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น ด้วยการเพิ่มงบประมาณให้ในแต่ละปีเท่านั้น ยังมีการส่งเสริมการส่งออกสมุนไพรไปในต่างประเทศด้วย โดยเฉพาะการมองหาตลาดใหม่ๆ อย่างเช่น ที่มีการประสานกับประเทศในตะวันออกกลางหรืออาหรับ ซึ่งตนบอกว่าอย่างน้อย นำยาหม่องไปก่อน เพราะคนไปทำพิธีฮัจบ์ในประเทศซาอุดิอาระเบียปีละเป็นล้านคน หากยาหม่องคนละ 5 กล่องก็ 5 ล้านกล่องแล้ว ส่วนในปีต่อๆไปค่อยนำไปอีก 2-3 ยาสมุนไพรตามไป เป็นต้น
“เรื่องภูมิปัญญาไทยทั้งนวดไทยและยาสมุนไพร อย่างนวดไทยสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ถึง 190,000 ล้านบาทด้วยการเพิ่มหมอนวดเฉพาะทาง 20,000 คน แต่ปัจจุบันในส่วนของยาไทยสมุนไพรยังต่ำมากแค่ 13,000 ล้านบาท เพราะฉะนั้นยังมีโอกาสอีกมาก ซึ่งต้องช่วยกันผลักดันเศรษฐกิจสุขภาพ”นายสมศักดิ์กล่าว
แนวทางเบิกจ่ายยาสมุนไพร
ด้านภก.คณิตศักดิ์ จันทราพิพัฒน์ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวถึงแนวทางการเบิกจ่ายบริการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง 30 บาทว่า ปี 2567 งบประมาณราว 1,000 ล้านบาท เป็นฝังเข็ม 5-6 ล้านบาท หัตถการแผนไทย 500 ล้านบาท ที่เหลือเป็นสมุนไพร
เมื่อรมว.มีนโยบายขับเคลื่อนสมุนไพรและเศรษฐกิจไทย ในปี 2568 จึงจัดสรรงบประมาณบริการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรเป็นเงินราว 1,500 ล้านบาท คิดเป็นราว 31.69 บาทต่อคนต่อปี แยกเป็นวงเงินเพื่อยาสมุนไพร 1,000 ล้านบาท และหัตถการแพทย์แผนไทยราว 500 ล้านบาท
ส่วนของบริการสมุนไพร กำหนดการเบิกจ่ายเป็น
1.รายการยาสมุนไพร 32 รายการ 10 กลุ่มอาการ ทั้งแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทยสามารถสั่งจ่ายได้ และโดยจัดสรรงบประมาณเป็นค่าเฉลี่ยต่อคอร์สรักษาตามที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกกำหนด
2.เหมาจ่ายเพิ่มตามเกณฑ์ผลลัพธ์บริการ จำนวนไม่เกิน 60 ล้านบาท เป็นเหมือนเงินรางวัลให้รพ.ที่สามารถนำยาสมุนไพรเข้าไปทดแทนยาแผนปัจจุบันในรพ.ได้ 100 % โดยกำหนดยาสมุนไพรเป้าหมายอย่างน้อย 5 รายการยาที่มีการยืนยันว่าสามารถทดแทนได้ โดยถ้าใช้ยาไทยทดแทนได้100% ตามใน 5 รายการ จ่ายเงินรพ.เพิ่ม 2 แสนบาท ,4 รายการ จ่ายเพิ่ม 1 แสนบาท และ 3 รายการ จ่าย 50,000 บาท
และ3.ยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติรายการที่เหลืออีก 55 รายการ จ่ายตามรายการบริการ ตามระบบคะแนนภายใต้การบริหารวงเงินแบบมีเพดานต่อคอร์สการรักษา