ไฟเขียว 'อปท.' จัดซื้อ 'วัคซีน'ได้ -ไทยวิจัย 'วัคซีนไข้หวัดนก mRNA

ไฟเขียวให้ “อปท.” ที่พร้อมจัดซื้อ “วัคซีน”ได้เอง นำร่อง 2 ชนิด วัคซีนไข้หวัดใหญ่-วัคซีนพีวีซี ขณะที่ไทยวิจัยพัฒนา “วัคซีนไข้หวัดนก mRNA” เตรียมพร้อมหากมีการระบาดใหญ่
นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ว่า คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ได้เห็นชอบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) สามารถจัดซื้อวัคซีนป้องกันโรคได้ โดยขณะนี้มี 2 ชนิด คือวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่มีการนำร่องไปเมื่อปี 2567 และในปี 2568 วัคซีนพีวีซี(PVC) ป้องกันปอดอักเสบในเด็ก ซึ่งก็จะแจ้งไปที่อบจ.เพื่อให้พิจารณา ภายใต้หลักการคือ อบจ.มีความพร้อมด้านงบประมาณและระบบบริหารจัดการ โดยให้อบจ.ดำเนินการจัดซื้อเองตามพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง เมื่อดำเนินการจะส่งผลให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนได้มากขึ้น
2 อบจ.นำร่องจัดซื้อวัคซีนไข้หวัดใหญ่
อย่างเช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่เป็นวัคซีนทางเลือก โดยรัฐจัดหาและฉีดให้ฟรีใน 7 กลุ่มเสี่ยงที่กำหนดและเป้าหมาย 10 ล้านคน แต่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)จัดซื้อวัคซีนเพียง 4.5 ล้านโดสฉีดได้ 4.5 ล้านคน ส่วนที่ยังขาดเกือบ 5.5 ล้านคน ควรจะมีงบประมาณเข้ามาสนับสนุน ดังนั้น หากอบจ.เห็นช่องว่างตรงนี้แล้วตรวจสอบข้อมูลจำนวนวัคซีนที่ต้องการและยังขาดอยู่ของพื้นที่ แล้วจัดงบประมาณของอบจ.เข้ามาสนับสนุนเพิ่มเติม เพื่อให้มีความครอบคลุมของวัคซีนมากขึ้นได้
เมื่อปี 2567 มีการนำร่องอบจ.ที่สนใจและมีความพร้อมดำเนินการ 2 แห่ง คือ อบจ.ปทุมธานี จำนวน 2 แสนโดส และ อบจ.ชลบุรี จำนวน 12,000 โดส และจากที่มีการหารือก็จะมีจำนวนอบจ.มาดำเนินการเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากช่วงก่อนที่ดำเนินการนั้นเป็นช่วงรอยต่อของการเลือกตั้ง
การจัดซื้อวัคซีนโดยอบจ.แต่ละแห่ง อาจจะทำให้ราคาที่จัดซื้อสูงกว่าที่สปสช.เล็กน้อย ก็เป็นไปตามจำนวนที่มีการจัดซื้อ ถ้าซื้อจำนวนมากล็อตใหญ่แบบที่สปสช.จัดซื้อก็ลดราคาได้มาก ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติที่ผ่านมา ก็เสนอว่าให้มีการจัดซื้อโดยสปสช.ให้จำนวนโดสมากขึ้น เพื่อให้เหลือจำนวนโดสที่จะซื้อเติมเต็มโดยอบจ.ลดลง และหากสปสช.จัดงบประมาณเข้ามาจัดซื้อเติมเต็มอย่างเพียงพอแล้ว ส่วนที่จะมีการซื้อแยกรายอบจ.ก็จะลด
"แต่ตอนนี้งบประมาณจากสปสช.ยังมาไม่เต็มจำนวน ก็เป็นโอกาสว่าหากอบจ.มีงบประมาณ และในพื้นที่มีความต้องการฉีดวัคซีน ก็จะไปแก้ปัญหาของพื้นที่ได้มาก”นพ.นครกล่าว
ท้องถิ่นจัดซื้อวัคซีนพีวีซีให้เด็กเล็กได้
สำหรับวัคซีนพีวีซี(PVC)เป้าหมายจะฉีดให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีทุกราย ประมาณ 3 ล้านคน โดยมีการเสนอเรื่องการจัดหาวัคซีนมาฉีดไปที่สปสช.แล้ว โดยอนุกรรมการสิทธิประโยชน์เห็นชอบแล้ว ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาจัดสรรงบประมาณเพื่อนำมาจัดซื้อของอนุกรรมการบริหารจัดการงบประมาณ
โดยในเชิงวิชาการดำเนินการครบถ้วนหมดแล้ว ทั้งในเรื่องความเหมาะสม ความคุ้มค่า ประโยชน์ที่จะได้รับจากวัคซีน ก็อยากให้วัคซีนเข้าสู่แผนงานโดยเร็ว ทั้งนี้ หากอบจ.ที่มีความพร้อมและมีความต้องการในพื้นที่ ก็สามารถดำเนินการจัดซื้อวัคซีนตัวนี้ได้
“วัคซีนพีวีซีเริ่มฉีดได้ตั้งแต่ขวบปีแรก จำนวน 3 เข็ม ในช่วงอายุ 2 เดือน ,4 เดือน ,12 เดือน โดยเป็นวัคซีนป้องกันปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส ซึ่งหากเด็กติดเชื้อนี้โอกาสที่ปอดอักเสบรุนแรงจะมีสูง เป็นปอดบวม โอกาสเสียชีวิตก็สูง เพราะยังเป็นเด็กเล็ก”นพ.นครกล่าว
วิจัยวัคซีนไข้หวัดนก H5N1 ในไทย
นพ.นคร ให้สัมภาษณ์เรื่องไข้หวัดนกว่า ยังไม่เห็นแนวโน้มการระบาดใหญ่ในประเทศไทย ในส่วนของวัคซีนไข้หวัดนก สถาบันวัคซีนฯมีการให้ทุนสนับสนุนการวิจัยพัฒนาวัคซีนไข้หวัดนกH5N1 ชนิด mRNA ให้กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งผลการทดสอบในหนูให้ผลค่อนข้างดี กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี ขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบในสัตว์ทดลองขนาดใหญ่ขึ้น คือ ตัวเฟอเรท โดยเป็นสัตว์ที่จำเพาะต่อเชื้อไข้หวัดใหญ่ โดยจะเป็นการทดลองแบบชาเลนจ์เทสต์ ด้วยการฉีดวัคซีนแล้วให้สัตว์สัมผัสกับเชื้อเพื่อดูว่าสัตว์จะป่วยหรือไม่ป่วย
“ไข้หวัดนกH5N1 อัตราการเสียชีวิตสูง จึงต้องมีการเตรียมความพร้อมในการรับมือ ซึ่งหากไข้หวัดนกระบาดใหญ่จะเหนื่อยกว่าตอนโควิด-19ระบาดมาก”นพ.นครกล่าว
แม้ว่าเชื้อที่คนติดแล้วเจ็บป่วยรุนแรงมักจะไม่ระบาดใหญ่ แต่ก็จะมีโอกาสเกิดขึ้นเพราะเชื้อไข้หวัดใหญ่กลายพันธุ์ได้ง่าย ถ้ากลายพันธุ์ไปในทางที่รุนแรงน้อยลง เช่น จากอัตราเสียชีวิต 40 % แล้วเหลือ 4 % น้อยลง 10 เท่าก็เป็นอัตราที่น่ากลัวแล้ว เพราะโควิด-19 อยู่ที่ 2-4 % แต่ตอนนี้ยังไม่มีสัญญาณก็ต้องเฝ้าระวัง
นอกจากนี้ สถาบันวัคซีนฯกำลังร่วมมือกับองค์การเภสัชกรรมหรือGPO ในการหาวิธีผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ ไม่ต้องพึ่งพาไข่ไก่ เพราะหากเกิดการระบาดของไข้หวัดนกก็จะไม่มีไข่ไก่มาผลิตวัคซีน โดยเป็นการใช้เซลล์เพาะเลี้ยงชนิดเชื้อตาย หรือใช้แพลตฟอร์มmRNA ของจุฬาฯ ซึ่งเชื่อว่าจะดำเนินการได้ทันต่อการระบาดหากเกิดขึ้นจริง ภายใต้การใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน
วัคซีนเอชพีวีมีความปลอดภัย
ส่วนกรณีวัคซีนเอชพีวีที่มีดราม่าเรื่องผลข้างเคียง นพ.นคร กล่าวว่า ข้อมูลที่เป็นดราม่านั้นไม่ใช่ ก็เหมือนกับวัคซีนโควิด19 ที่เอาข้อมูลมาปะติดปะต่อกัน ซึ่งข้อมูลความปลอดภัยของวัคซีนเอชพีวีมีการยืนยันจากหน่วยงานวิชาการที่น่าเชื่อถือหลายแห่งทั้งองค์การอนามัยโลก(WHO) ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย และราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย เป็นต้น ให้ความเห็นเชิงวิชาการครบถ้วนว่าวัคซีนเอชพีวีมีความปลอดภัยและให้ผลในการป้องกันดีมาก ขอให้ประชาชนมั่นใจ เพราะวัคซีนกว่าที่จะมีถึงการรับรองการขึ้นทะเบียนและนำมาใช้วงกว้าง ผ่านการทดสอบมาอย่างมากและมีการใช้ทั่วโลก ไม่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น