'บัตรทอง'ปรับเกณฑ์ ผู้ป่วยไตวายระยะท้ายรายใหม่ หลัง 1 เม.ย. 68

สปสช.ออกเกณฑ์ฉบับใหม่ ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย สิทธิบัตรทอง ใช้ 'ล้างไตทางช่องท้อง' เป็นทางเลือกแรก ยกเหตุผู้ป่วยฟอกเลือดเครื่องไตเทียม คุณภาพชีวิตลดลง
วันที่ 9 เม.ย. 2568 นายที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ดสปสช.) แถลงข่าวการพัฒนาระบบมาตรฐานและคุณภาพดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย สิทธิบัตรทอง ว่า สปสช. ได้ออกประกาศหลักเกณฑ์กรณีบริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรังฉบับใหม่
เป็นไปตาม มติบอร์ด สปสช. เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567 ที่เห็นด้วยตามนโยบาย PD First หรือการล้างไตทางช่องท้อง เป็นทางเลือกแรก ซึ่งยึดหลักการสำคัญ คือ ผู้ป่วยต้องได้รับการบำบัดทดแทนไตด้วยวิธีที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็น การปลูกถ่ายไต การล้างไตผ่านช่องท้อง การล้างไตผ่านช่องท้องด้วยเครื่องล้างไตอัตโนมัติ การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม และการดูแลด้วยวิธีการประคับประคอง
“ยังได้ร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ กำหนดให้มีระบบตรวจสอบความเหมาะสมของผู้ป่วย ก่อนรับการบำบัดทดแทนไต เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการล้างไต ที่เหมาะสมที่สุด ควบคู่ไปกับมาตรการ ลดผู้ป่วยรายใหม่ เช่น การส่งเสริมป้องกัน การคัดกรองให้รู้ค่าความเสี่ยงโรคไต ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยง การเกิดโรคไตเรื้อรังและลดค่าใช้จ่ายในระยะยาวอีกด้วย หวังว่า ประกาศหลักเกณฑ์ฉบับนี้ จะช่วยยกระดับการดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง และทำให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน”
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า การดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำหรับ ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองหรือ 30 บาทรักษาทุกโรคนั้น ปัจจุบันได้พัฒนาและมีสิทธิประโยชน์ที่ครอบคลุม ทั้งการล้างไตผ่านช่องท้อง ซรวมถึงการล้างไตผ่านช่องท้องโดยใช้เครื่องล้างไตอัตโนมัติ หรือ APD การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม การปลูกถ่ายไต และการดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายด้วยการรักษาแบบประคับประคอง
ปัจจุบัน มีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายในระบบทั้งสิ้นจำนวน 84,750 ราย ในจำนวนนี้ เป็นผู้ป่วยรับการฟอกเลือดผ่านเครื่องไตเทียมจำนวน 64,515 ราย และการล้างไตผ่านช่องท้องจำนวน 20,235 ราย
อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จากข้อมูลการให้บริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายในระบบ พบว่า ในกลุ่มผู้ป่วยที่ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม มีจำนวนหนึ่งที่มีคุณภาพชีวิตลดลง จากการเลือกวิธีการบำบัดทดแทนไตที่ไม่เหมาะสมกับสภาวะของผู้ป่วยเอง เช่นกรณีเป็นผู้ป่วยติดเตียง มีภาวะยากลำบากเดินทาง และผู้ป่วยที่อยู่ในระยะท้าย
ดังนั้น เพื่อพัฒนาระบบมาตรฐานและคุณภาพดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย สิทธิบัตรทอง ในการประชุมบอร์ด สปสช. ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุม เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2567 ได้มีมติเห็นชอบนโยบาย PD First หรือ การล้างไตทางช่องท้องเป็นทางเลือกแรก โดยดำเนินการทั้งการป้องกันและการชะลอไตวายเรื้อรังในระยะยาว
สปสช. ได้ออกประกาศการจ่ายค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขกรณีบริการผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง พ.ศ.2568 เพื่อรองรับการดำเนินการตามมติบอร์ด สปสช. เรียบร้อยแล้ว ซึ่งผู้ป่วยรายเก่าที่กำลังรับบริการทดแทนไตก่อนวันที่ 1 เม.ย. 2568 ทุกคนจะได้รับสิทธิบริการทดแทนไตด้วยวิธีเดิมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
ส่วน ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายรายใหม่ที่ต้องรับการบำบัดทดแทนไต ถ้าไม่มีข้อห้ามทางการแพทย์ หรือ ไม่มีข้อจำกัดของครอบครัว จะได้รับสิทธิบริการทดแทนไตด้วยวิธีผ่านทางช่องท้อง หรือ ปลูกถ่ายไต หรือรักษาแบบประคับประคองโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
และจะมีระบบตรวจสอบความเหมาะสมของผู้ป่วยก่อนรับการบำบัดทดแทนไต รวมทั้งให้ความรู้ทางเลือกการบำบัดทดแทนไตแก่ผู้ป่วย โดยปราศจากอคติแรงจูงใจ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการบำบัดทดแทนไตที่เหมาะสมและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตามเจตนารมณ์พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545