หนึ่งนัดในห้วยขาแข้ง จาก “สืบ นาคะเสถียร” ช่วยสัตว์ป่าได้แค่ไหน?
1 กันยายน “วันสืบ นาคะเสถียร” ครบรอบ 32 ปีการจากไปของ นักอนุรักษ์แห่งพงไพร จากวันนั้นถึงวันนี้ชีวิตสัตว์ป่าเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นหรือไม่ ?
เช้าตรู่ของวันนี้เมื่อ 32 ปี ที่แล้ว ในเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี เกิดเสียงปืนดังขึ้นหนึ่งนัด ก่อนที่ทุกอย่างจะกลับสู่ปกติโดยที่ไม่มีใครสงสัยอะไร จนกระทั่งในช่วงเที่ยงวัน เจ้าหน้าที่คนหนึ่งของกรมอุทยานฯ สงสัยว่าเพื่อนร่วมงานคนหนึ่งหายไปเพราะอาจจะไม่สบายจึงเดินไปสังเกตดูที่บ้านพัก ทำให้ทราบว่าเพื่อนคนดังกล่าวเสียชีวิตแล้วจากการฆ่าตัวตายพร้อมกับทิ้งจดหมายลาตายไว้ 6 ฉบับ และเพื่อนคนนั้นก็คือ “สืบ นาคะเสถียร” หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ผู้ต่อสู้เพื่อสัตว์ป่า ผืนป่า และความเป็นธรรมของระบบราชการมาตลอดชีวิตการทำงาน
ย้อนกลับไปเมื่อสมัย สืบ นาคะเสถียร ยังมีชีวิตในฐานะคนที่ทำงานอยู่กับป่าและธรรมชาติมาตลอด มีผลงานที่เรียกได้ว่าอุทิศตนเพื่อสัตว์ป่าให้ได้เห็นเป็นที่ประจักษ์ แม้ว่าเนื้องานจะสวนทางกับค่าตอบแทนที่ได้รับก็ตาม เขาทุ่มเททำงานหนักมาตลอด โดยเฉพาะการเป็นหัวหน้าโครงการอพยพสัตว์ป่าในพื้นที่มากกว่าหนึ่งแสนไร่ แต่มีงบประมาณเริ่มต้นเพียงแปดแสนบาท หนำซ้ำไม่มีการอนุมัติอุปกรณ์ช่วยชีวิตสัตว์ป่าจากต้นสังกัด แต่สืบยังคงพยายามทำงานและศึกษาข้อมูลทั้งทางหนังสือและพรานท้องถิ่น
อีกทั้ง ในปี พ.ศ. 2529 สืบได้เป็นหัวหน้าโครงการอพยพสัตว์ป่าตกค้างในพื้นที่อ่างเก็บน้ำ เขื่อนรัชชประภา หรือ เขื่อนเชี่ยวหลาน บริเวณแก่งเชี่ยวหลาน จ.สุราษฎร์ธานี สืบได้ช่วยอพยพสัตว์ป่าที่ตกค้างอยู่ในแก่ง เพราะปัญหาการสร้างเขื่อนจนเกิดน้ำท่วม ในครั้งนั้นเขาช่วยเหลือสัตว์ได้ 1,364 ตัว แม้แต่การจับงูด้วยมือเปล่าครั้งแรกสืบก็สามารถทำได้ แต่สัตว์ส่วนมากที่เหลือถึงแก่ความตาย สืบจึงเข้าใจว่า งานวิชาการเพียงอย่างเดียวไม่อาจช่วยพิทักษ์ป่าซึ่งเป็นปัญหาระดับชาติได้ ในภายหลังจึงได้ร่วมกิจกรรมหลายอย่าง
- รำลึก 32 ปี “วันสืบ นาคะเสถียร” 1 กันยายน
“สืบ นาคะเสถียร” นักอนุรักษ์และนักวิชาการด้านทรัพยากรธรรมชาติชาวไทย มีชื่อจริงว่า สืบยศ นาคะเสถียร
เกิดเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2492 จบการศึกษาระดับปริญญาตรีและปริญญาโท จากคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเข้ารับราชการ เป็นพนักงานป่าไม้ตรี กองอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้
ขณะนั้นกองอนุรักษ์สัตว์ป่าเพิ่งก่อตั้งขึ้น และสืบเลือกหน่วยงานนี้เพราะต้องการทำงานเกี่ยวกับสัตว์ป่า โดยงานแรกของสืบคือการประจำอยู่ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียว-เขาชมภู่ จ.ชลบุรี และที่นั่นเขาได้ทราบว่ามีผู้ทรงอิทธิพลบุกรุกทำลายป่าเป็นจำนวนมาก
หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2526 สืบขอย้ายไปเป็นนักวิชาการประจำกองอนุรักษ์สัตว์ป่า เพื่อทำหน้าที่วิจัยสัตว์ป่าเพียงอย่างเดียว และได้ทำงานทางวิชาการอย่างเต็มที่ จึงผูกพันกับสัตว์และป่า ข้อมูลของสืบกลายเป็นผลงานวิจัยสัตว์ป่าชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่งในภายหลัง เช่น สไลด์ภาพสัตว์ป่าหายาก พร้อมทั้งวีดิทัศน์ความเป็นอยู่ของสัตว์ป่า และการทำลายป่าในประเทศไทย ที่สืบผลิตขึ้นเองทั้งสิ้น
ต่อมาในช่วงปลายปี พ.ศ. 2532 สืบได้เป็นหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้งด้วย ถัดมาอีกหนึ่งปี ใน พ.ศ. 2533 เขาได้จัดตั้งกองทุนเพื่อรักษาป่าห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่นเรศวร เพื่อดำเนินกิจกรรมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและอพยพสัตว์ป่าที่ยังตกค้างอยู่ในแก่งเชี่ยวหลาน ความพยายามของสืบนั้นประสบผลสำเร็จน้อย เพราะผู้ใหญ่ในบ้านเมืองไม่ให้ความสนใจ
หลังจากนั้นสืบยังคงทำงานอยู่พื้นที่เพื่อสัตว์ป่าและผืนป่ามาโดยตลอดจนถึงวันที่ 31 ส.ค. 2533 สืบยังคงปฏิบัติงานตามปกติ และได้เตรียมจัดการทรัพย์สินที่หยิบยืมและทรัพย์สินส่วนตัว และอุทิศเครื่องมือเครื่องใช้ในการศึกษาวิจัยด้านสัตว์ป่าให้แก่สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ สั่งให้ตั้งศาลเคารพดวงวิญญาณเจ้าหน้าที่ที่เสียชีวิตในการรักษาป่าห้วยขาแข้ง ในช่วงหัวค่ำสืบยังคงพูดคุยปฏิบัติงานกับเจ้าหน้าที่ตามปกติ
พอถึงช่วงดึกสืบขอลากลับไปบ้านพัก โดยกลับไปเตรียมจัดการทรัพย์สินที่เหลือและได้เขียนจดหมายสั้นไว้ 6 ฉบับ ชี้แจงถึงการเลือกจบชีวิตของตนเอง โดยมีใจความว่า “ผมมีเจตนา ที่จะฆ่าตัวเอง โดยไม่มีผู้ใดเกี่ยวข้องในกรณีนี้ทั้งสิ้น”
การเสียชีวิตของสืบในตอนนั้นถือเป็นการสูญเสียครั้งสำคัญทั้งในแวดวงนักอนุรักษ์และนักวิชาการที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับป่าและสัตว์ป่า และกว่าที่ภาคสังคมในหลายฝ่ายจะมองเห็นการเสียสละของคนคนหนึ่งในครั้งนี้ก็สายเกินไปเสียแล้ว
- คุยกับ “ศศิน เฉลิมลาภ” สานต่อภารกิจ “สืบ นาคะเสถียร”
แม้ สืบ นาคะสเถียร จะจากไป แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่พร้อมจะสืบทอดเจตนารมย์และลมหายใจของผืนป่า “กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” มีโอกาสได้พูดคุยกับ ศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ถึงสิ่งที่ทางมูลนิธิกับกรมอุทยานฯ ได้ร่วมมือกันดูแลและพัฒนาผืนป่าในหลายมิติ
ศศิน ระบุว่า 32 ปี ที่ผ่านมาส่วนใหญ่ทางมูลนิธิจะเน้นการแก้ปัญหาในเรื่อง คน มากกว่า โดยเฉพาะปัญหาการทับซ้อนของพื้นที่อนุรักษ์กับชุมชนในป่า ถือว่าเป็นงานที่ใหญ่ที่สุดที่มูลนิธิดูแลมา โดยทำเป็นโครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วม เน้นการแก้ปัญหาขยายเขตพื้นที่ชุมชน รวมไปถึงแก้ไขความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่และชาวบ้าน นำมาสู่การออกกฎหมาย พ.ร.บ. อุทยาน พ.ศ. 2562 และ พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นงานที่สำคัญที่สุด ก่อนจะนำโครงการเหล่านี้มาต่อยอดให้เป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต ให้คนกับป่าสามารถอยู่ร่วมกันได้
ช่วงหลายปีที่ผ่านมาปัญหาซ้ำซากที่พบก็คือ ความขัดแย้งระหว่างชุมชน แต่ทางมูลนิธิและกรมอุทยานฯ ก็ได้ร่วมมือแก้ปัญหาเหล่านี้ไปได้เกือบหมดแล้ว เช่น การรุกป่า เมื่อมีการลาดตระเวนเชิงคุณภาพทั่วทุกพื้นที่ในประเทศไทย ก็สามารถแก้ปัญหาได้เกือบทั้งหมด แต่ก็ยังคงมีปัญหาการจัดการภายในของกรมอุทยานฯ บางส่วน
ส่วนในเรื่องปัญหาชีวิตสัตว์ป่าก็ยังคงมีหลงเหลืออยู่ เช่น เรื่องของช้างป่า การอนุรักษ์ดูแลยังไม่เห็นการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นรูปธรรมเท่าที่ควร ถือว่าเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องจัดการต่อไปอยู่ ส่วนสัตว์ป่าอื่นๆ นั้นมองว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีขึ้นแล้ว เพราะเมื่อมีระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพแล้ว ก็มีแนวโน้มว่าการล่าสัตว์จะลดลง และสัตว์ป่าจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น แต่ก็ยังมีอุปสรรคตรงที่พื้นที่ป่าในประเทศไทยไม่ใช่พื้นที่ป่าที่ต่อเนื่องกัน ส่งผลให้สัตว์ป่าที่อยู่ในพื้นที่เล็กๆ ไม่สามารถแลกเปลี่ยนพันธุกรรมได้
ข้อมูลจากศศินดังกล่าวทำให้เห็นว่า 32 ปี ที่ผ่านมา ปัญหาเรื่องป่าไม้ของไทยนั้นไม่ได้มีแค่เรื่องพื้นที่ป่าและสัตว์ป่าเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องของการบุกรุกพื้นที่ป่าและปัญหาภายในของหน่วยงานราชการ ดังนั้น หลังจากนี้ภาคประชาชนเองก็ต้องคอยเป็นหูเป็นตามากกว่าเดิมเพื่อให้ธรรมชาติและการเสียสละของ “สืบ นาคะสเถียร” ที่ทุ่มเทมาตั้งแต่อดีตไม่สูญเปล่า
อ้างอิงข้อมูล : มูลนิธิสืบนาคะเสถียร