ทราฟฟี่ ฟองดูว์ กับคนกวาดขยะและผู้ว่าฯชัชชาติ | ธงชัย พรรณสวัสดิ์

ทราฟฟี่ ฟองดูว์ กับคนกวาดขยะและผู้ว่าฯชัชชาติ | ธงชัย พรรณสวัสดิ์

มาถึงวันนี้คงมีคนไทยไม่กี่คนโดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ ที่ไม่รู้จัก “ทราฟฟี่ ฟองดูว์” (Traffy Fondue) ที่เป็นแอพยอดนิยมสำหรับการแจ้งปัญหาเล็กๆ น้อย ๆ ของเมือง เช่น ท่อแตก ทางเท้าชำรุด น้ำนอง ป้ายหลุด ขยะไม่มาเก็บ สายไฟห้อย และอื่นๆ อีกมากมาย

ปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ พวกนี้แม้จะเป็นเรื่องไม่ใหญ่โตแต่มันก็เกิดขึ้นได้ทั่วไปและบ่อยครั้งจนเป็นที่เดือดร้อนของชาวบ้านและกลายเป็นเรื่องใหญ่เข้าจนได้ แต่ทว่าเท่าที่ผ่านมาผู้ว่าฯ ในอดีตแต่ละคนก็ไม่ได้เห็นความสำคัญกับข้อมูลเหล่านี้

ปัญหาดังกล่าวเหล่านั้นจึงไม่ได้รับการแก้ไข และแน่นอนที่สุด ที่สุดท้ายแล้วก็ไม่เป็นที่สบอารมณ์ของประชาชนคนเดินถนนอันเป็นคนส่วนใหญ่ของเมืองทุกเมือง

อันที่จริงแอพ ทราฟฟี่ ฟองดูว์ นี้มีมานานแล้ว เจ็ดปีแล้วเห็นจะได้ คิดค้นขึ้นมาโดยทีมวิจัยของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) คิดขึ้นมาเพื่อจะลองใช้กับการจัดการขยะที่ภูเก็ต โดยเอาไปติ่งอยู่กับแอพหลักที่มีชื่อว่า “Traffy” ที่ตั้งใจจะใช้กับการแก้ไขปัญหาจราจร

แต่คราวนี้ต้องการให้มีการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน คือ ให้โอกาสชาวบ้านมาลองฟ้องดูว่าปัญหามันอยู่ตรงไหน แล้วคำนี้ก็พ้องหรือเพี้ยนเสียงไป(ให้เท่ขึ้น)เป็น Fondue หรือ ฟองดูว์ หรือ “ฟ้องดู” นั่นเอง

บอกตรงๆ ผมนิยมชมชอบการเปิดโอกาสให้ประชาชนลอง“ฟ้องดู”นี้มากเพราะเป็นการมีส่วนร่วมในการดูแลบ้านเมืองของเราโดยตรง แถมยังมีประสิทธิภาพมากด้วย จึงต้องขอขอบคุณผู้ว่าฯ ชัชชาติ ที่ทำให้แอพนี้เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในเวลาไม่กี่เดือนทั้งๆ ที่แอพนี้มีอายุมาได้ถึงตั้ง 7 ปีแล้ว

ทราฟฟี่ ฟองดูว์ กับคนกวาดขยะและผู้ว่าฯชัชชาติ | ธงชัย พรรณสวัสดิ์

อย่างไรก็ตามผมอยากจะต่อยอดข้อดีของวิธีการนี้ไปให้มากกว่านั้น ทั้งนี้มาจากฐานคิดและสมมุติฐานว่าคนเราลืมง่ายและเบื่อง่าย และเกรงว่าไปสักพักโดยเฉพาะเมื่อคุณชัชชาติหมดวาระหรือหนีไปเป็นนายกรัฐมนตรีตามที่หลายคนคาดหวังเอาไว้

โครงการดีๆ นี้ ก็อาจจะเสื่อมความขลังและความนิยมลงไป วิธีการแก้ปัญหาที่เส้นเลือดฝอยอย่างที่คุณชัชชาติได้เน้นอย่างมากและอย่างถูกที่ถูกเวลาเอาไว้นั้นก็อาจเสื่อมคลายลง

ผมจึงอยากเสนออะไรที่ถาวรและเป็นระบบมากกว่าที่เป็นอยู่ ส่วนใครจะใช้วิธีการฟ้องดูอย่างเดิมก็สามารถทำได้ต่อไปโดยไม่มีใครหรืออะไรมาขัดขวาง


ผมต้องการเสนอให้พนักงานกวาดถนนหรือกวาดขยะของทั้ง กทม. และเทศบาลต่างจังหวัด ซึ่งเป็นคนที่ใกล้ชิดกับปัญหาที่เส้นเลือดฝอยมากที่สุด ด้วยเห็นมันตำตาอยู่ทุกวัน มีภาระและหน้าที่รับผิดชอบเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

กล่าวคือ แทนที่จะก้มหน้าก้มตากวาดถนนไปอย่างเดียวก็ขอให้เงยหน้าดูปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ที่มีอยู่รอบตัว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเหล็กตะแกรงดักขยะชำรุด ขยะอุดท่อ กิ่งไม้ห้อย ป้ายจราจรบังรถที่วิ่งมาเร็วๆ

ทราฟฟี่ ฟองดูว์ กับคนกวาดขยะและผู้ว่าฯชัชชาติ | ธงชัย พรรณสวัสดิ์

เส้นทางม้าลายที่โผล่ที่ไปชนกับกระถางต้นไม้หรือที่แนวราวสะพานของ กทม.(มีจริงๆ นะครับ) การก่อสร้างสะพานลอยคนข้ามถนนที่ใหญ่จนเต็มทางเท้าที่ทำให้คนต้องลงไปเดินบนถนน(นี่ก็มีจริงๆ นะครับ)

จากนั้นก็ให้รายงานปัญหานั้นๆ พร้อมรูปถ่าย ส่งไปให้ผู้อำนวยการเขตแต่ละเขตหรือผู้รับผิดชอบในการแก้ไขบำรุงรักษา ไปดำเนินการตามหน้าที่โดยเร็วต่อไป

งานแบบนี้แหละที่ฝรั่งเขาเรียกว่า multiskilled task หรืองานที่ต่างคนต่างทำได้หลายหน้าที่พร้อมๆ กัน ซึ่งเป็นแนวการทำงานรูปแบบใหม่ของโลกในวันข้างหน้าที่ไม่ว่าใครก็หนีไม่พ้น

แต่อย่างไรก็ตามไม่ใช่ว่าจู่ๆ จะให้เจ้าพนักงานกวาดถนนกวาดขยะไปรายงานปัญหาทุกอย่างได้ในทันที ของแบบนี้มันต้องมีการอบรมให้ความรู้ ให้เขามีทักษะความชำนาญมากขึ้นอันเป็นการ up-skill หรือ re-skill ที่ทุกหน่วยงานต้องมี

แบบนี้เราก็จะมีได้ทั้งการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนผ่านแอพ“ฟ้องดูว์”และการปฏิบัติงานในหน้าที่ความรับผิดชอบที่มากขึ้นของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งโดยภาพรวมแล้ววิธีนี้น่าจะเป็นมาตรการที่ลงตัวที่สุด

แต่ขออย่างเดียว เมื่อ re-skill และ up-skill รวมทั้งมอบภาระหน้าที่เพิ่มให้พวกเขาแล้ว ก็อย่าลืมเพิ่มค่าตอบแทนให้พวกเขาด้วยล่ะ

ค่าตอบแทนที่เพิ่มขึ้นนี้แน่นอนว่าจะทำให้เจ้าพนักงานกวาดถนนของเราทำงานด้วยความกระฉับกระเฉงและมีผลสัมฤทธิ์มากขึ้น ซึ่งผลดีต่อเนื่องที่คนกทม.และคนในเทศบาลอื่นๆ จะได้รับตามมามันนั้นคุ้มเสียยิ่งกว่าคุ้มอีก

ขอขอบคุณล่วงหน้า หากผู้ว่าฯชัชชาติและนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆ จะนำแนวคิดนี้ไปคิดต่อและขยายผล ขอบคุณนะครับ.