EDI เรื่องสำคัญ ไม่ใช่แค่เทรนด์ | สุทธศิริ ศิริวิริยะกุล

EDI เรื่องสำคัญ ไม่ใช่แค่เทรนด์ | สุทธศิริ ศิริวิริยะกุล

แนวโน้มเรื่องความเท่าเทียมและความหลากหลายในองค์กร ได้รับการพูดถึงอย่างกว้างขวางก็จริง แต่คนจำนวนหนึ่งอาจจะยังไม่เข้าใจชัดเจนว่าสุดท้ายแล้วสิ่งเหล่านี้คืออะไร

บทความนี้จะขอชวนผู้อ่านมาร่วมเปิดมุมมองในเรื่อง EDI หรือ Equality, Diversity and Inclusion ในบริบทขององค์กรในแง่มุมต่างๆ 

๐EDI คืออะไร
นิยามของ EDI เมื่อแยกออกเป็นคำๆ “Equality” หรือความเท่าเทียมกัน คือการที่คนทุกคนในองค์กรควรได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม เสมอภาค ยุติธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ ทั้งในเรื่องการงานวันต่อวัน การได้รับค่าตอบแทน และการเติบโตในหน้าที่การงาน

ส่วน “Diversity” เป็นการที่องค์กรตระหนักถึงความหลากหลายของคนในองค์กร ทั้งความหลากหลายทางเชื้อชาติ สีผิว ศาสนา อายุ เพศ สถานภาพทางสังคม สภาวะทางร่างกายหรือจิตใจ ฯลฯ โดยเคารพในความหลากหลายเหล่านี้ และไม่นำมาเป็นข้ออ้างที่จะเลือกปฏิบัติ

และ “Inclusion” คือการพยายามทำให้คนในองค์กรมีความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง หรือมีส่วนร่วมในองค์กรโดยไม่รู้สึกแปลกแยก โดดเดี่ยว กีดกันหรือถูกทิ้งไว้ลำพัง

๐EDI กับโลกยุคใหม่
ปัจจุบัน EDI เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก โดยเฉพาะสำหรับคนรุ่นใหม่ที่กำลังเติบโตขึ้นมาเป็นสมาชิกในองค์กร คนใน Generation Z  นับว่าเกิดและโตขึ้นมากับยุคของ EDI เลยก็ว่าได้

คนรุ่นนี้ไม่ว่าในประเทศไทยหรือต่างประเทศให้ความสำคัญกับการเคารพ “สิทธิความเป็นตัวตน” อย่างมาก พวกเขาเลือกจะทำงานในที่ๆ เขาสามารถเป็นตัวเองได้อย่างแท้จริง และจะย้ายหนีจากที่ๆ รู้สึกว่าได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมหรือปิดกั้นความเป็นตัวเอง

EDI เรื่องสำคัญ ไม่ใช่แค่เทรนด์ | สุทธศิริ ศิริวิริยะกุล

นอกจากนี้ ในฐานะผู้บริโภค พวกเขาจะให้การสนับสนุนธุรกิจที่ส่งเสริมเรื่อง EDI ด้วย ดังนั้นเรื่อง EDI จึงมีความสำคัญกับองค์กรมาก ไม่ใช่เรื่องไกลตัว หรือเรื่อง “หลังบ้าน” อีกต่อไป

๐เริ่มต้นทำ EDI ได้อย่างไร
ในต่างประเทศ เช่นประเทศสหราชอาณาจักร องค์กรใหญ่ๆ จะมีฝ่าย EDI โดยเฉพาะ ซึ่งอาจอยู่ภายใต้ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ (HR) อีกที และจะมี EDI Lead ที่คอยดูแลรับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าโครงสร้างองค์กรจะเป็นแบบใด เราสามารถทำ EDI ได้โดยเริ่มต้นจากการ “ตระหนัก” ถึงความสำคัญของ EDI ต่อองค์กรอย่างแท้จริง ซึ่งบางทีแล้วเป็นขั้นตอนที่ยากที่สุด เพราะเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงความเชื่อ ทัศนคติ และค่านิยมต่างๆ ของคนในองค์กรโดยเฉพาะผู้บริหาร

หลายอย่างเป็นประเด็นที่อาจจะยังไม่ได้รับการยอมรับมากในสังคมไทยเมื่อเทียบกับในต่างประเทศ เช่น เรื่องความหลากหลายทางเพศ ดังนั้น ผู้บริหารองค์กรควรจะเริ่มต้นจากการ “เปิดใจ” ยอมรับความแตกต่าง หลากหลายเหล่านี้ และเรียนรู้ถึงประโยชน์ที่องค์กรจะได้รับเมื่อมีการส่งเสริมเรื่อง EDI

EDI เรื่องสำคัญ ไม่ใช่แค่เทรนด์ | สุทธศิริ ศิริวิริยะกุล

๐EDI ต้องใช้งบประมาณมากมายไหม
หลายองค์กรเมื่อพูดถึงการส่งเสริมความเท่าเทียมหรือความหลากหลาย มักนึกถึงการจัดกิจกรรมรณรงค์หรือประชาสัมพันธ์ต่างๆ เช่น เดินพาเหรด แข่งขันกีฬา หรือติดสัญลักษณ์แสดงความเท่าเทียม/ความหลากหลายต่างๆ

แต่แท้จริงแล้ว เรื่อง EDI สามารถเริ่มต้นในองค์กรได้โดยไม่ต้องเสียเงินมากมาย เช่น เริ่มจากการปรับนโยบายด้านทรัพยากรมนุษย์ให้สะท้อนถึงความเท่าเทียม ความหลากหลาย ความมีส่วนร่วม การไม่ดูหมิ่น ล้อเลียน มีอคติหรือพูดจาว่าร้ายกลุ่มคนที่มีความหลากหลายต่างๆ ในองค์กร

การเคารพและให้เกียรติซึ่งกันและกันในชีวิตประจำวัน ไม่กีดกันหรือทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง เหล่านี้เป็นการเริ่มต้นที่ไม่ต้องใช้งบประมาณมากมาย แต่ส่งผลต่อการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ส่งเสริมเรื่อง EDI ได้เป็นอย่างดี
 

๐ EDI จะเป็นการส่งเสริมให้คนเอาแต่ใจและได้สิทธิเกินผู้อื่นหรือไม่
บางคนอาจจะกลัวว่า EDI เป็นเรื่องของการส่งเสริมให้คนบางกลุ่มที่มีความหลากหลายได้สิทธิเกินกว่าผู้อื่นหรืออาจจะมองว่าเป็นการ “สปอย” คนในองค์กร (หรือ “เด็กรุ่นใหม่”) มากเกินไปหรือไม่

ที่จริงแล้วเรื่องของ EDI ไม่ใช่การให้สิทธิใครพิเศษกว่าใคร หรือบอกว่าใครดีเด่นกว่าใคร หัวใจของ EDI คือ respect and empathy นั่นคือการ “เคารพ” และ “เห็นอกเห็นใจ” ซึ่งกันและกัน

เป็นการสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้เกิดการเข้าใจ ยอมรับความแตกต่าง ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ไม่เอารัดเอาเปรียบกันไม่ว่าจะเป็นคนกลุ่มใดก็ตาม เพราะสุดท้ายแล้ว ทุกๆ คนต่างก็มีความสำคัญต่อความสำเร็จขององค์กร

ความเข้าใจพื้นฐานในเรื่อง EDI และการเปิดใจยอมรับจะทำให้องค์กรสามารถรักษาคนเอาไว้ได้ ทั้งคนที่เป็นพนักงานภายในและคนภายนอกหรือลูกค้า EDI จึงไม่ใช่แค่เทรนด์ แต่เป็นเรื่องที่ต้องตระหนักในความสำคัญกันตั้งแต่วันนี้.

คอลัมน์ Now and Beyond 

ดร. สุทธศิริ ศิริวิริยะกุล

สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์