'นฤมิตวิวาห์ 2023' งานสมรสของเพศหลากหลาย วันวาเลนไทน์ปีหน้า
การแถลงข่าวเตรียมจัดงาน ‘นฤมิตวิวาห์ Naruemit Vivah 2023' ของผู้มีความหลากหลายทางเพศ จะมีขึ้นในวันวาเลนไทน์ปีหน้า 2566
ความสำเร็จของการจัดงาน ‘บางกอกนฤมิตไพรด์’ บริเวณถนนสีลม เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา สร้างปรากฎการณ์ให้กับสังคม มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 13,000 คน
และได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน สร้างการรับรู้และความตื่นตัวให้กับสังคมมากมาย
ต่อยอดมาสู่การจัดงานสมรสเพศหลากหลายนานาชาติ ‘นฤมิตวิวาห์ (Naruemit Vivah 2023)’ มีการแถลงข่าวไปเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2565 ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพ
‘นฤมิตไพรด์’ เกิดจากการรวมกลุ่มของผู้คนหลากหลาย เพื่อสร้างความเข้าใจและการยอมรับความหลากหลายทางเพศในสังคมไทย
- ‘นฤมิตวิวาห์ (Naruemit Vivah 2023)
ในงานแถลงข่าว เริ่มต้นด้วย 6 ประเด็นเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศ อาทิ การศึกษา สื่อบันเทิง เศรษฐกิจ
ธัญญ์วาริณ สุขะพิสิษฐ์ ผู้กำกับซีรีส์ อดีตนายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย กล่าวว่า ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจากพวกเราทุกคนร่วมด้วยช่วยกัน ลุกขึ้นมาบอกโลกใบนี้ว่า พวกเรามีตัวตนอยู่ในโลกใบนี้
"เราก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งเท่ากับทุกคน ในหลาย ๆ ประเทศการสร้างซีรีส์เริ่มมีความเปลี่ยนแปลง พูดเรื่องความหลากหลายทางเพศมากขึ้น
ซีรีส์วาย พูดถึงการยอมรับการเป็นตัวของตัวเอง การยอมรับของเพื่อน ๆ การยอมรับของครอบครัว การยอมรับของสังคม
และเมื่อใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันสองคน มันก็ต้องมีการยอมรับของกฎหมายตามมา ก็คือ สมรสเท่าเทียม
แต่มันจะเป็นไปไม่ได้เลยถ้า กฎหมายสมรสเท่าเทียม ไม่ผ่านสภา ทำให้สิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องปกติ"
ทางด้าน Siritonposh นักกิจกรรมอิสระด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อคนที่มีความหลากหลายทางเพศ กล่าวว่า สิทธิการก่อตั้งครอบครัวเป็นสิทธิมนุษยชน
"การก่อตั้งครอบครัวของคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ไม่ใช่เพียงแค่พิธีกรรมหรือการเฉลิมฉลองกันในโบสถ์ หรือว่าจัดงานแต่งงานที่ยิ่งใหญ่
สิ่งที่เราต้องการคือ การรับรองทางกฎหมาย เช่น ในเรื่องเศรษฐกิจ พวกเราไม่สามารถกู้ร่วมได้ เขาบอกว่าคุณไม่ใช่สมาชิกในครอบครัว คุณไม่มีฐานะทางกฎหมาย นี่คือปัญหาของการไม่มี สมรสเท่าเทียม
ไม่ใช่แค่ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แต่คือการขัดขวางไม่ให้เศรษฐกิจของประเทศไทยเจริญรุ่งเรือง
ถ้าประเทศไทยมีสมรสเท่าเทียม จะมีอีกหลายคู่หลายครอบครัว LGBT ที่กู้ร่วมได้ สามารถพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศนี้ได้
แล้วยังเพิ่มการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามา เป็นการสร้างความเชื่อมั่นว่าประเทศนี้มีสิทธิมนุษย์ชน
การไม่มี สมรสเท่าเทียม เป็นการขัดขวางความเจริญก้าวหน้าความมั่นคงทางเศรษฐกิจของคนที่มีความหลากหลายทางเพศอย่างแท้จริง
รัฐไทยต้องบรรจุงาน นฤมิตวิวาห์ และ งานไพรด์ ให้เป็นเทศกาลในปฏิทินของประเทศไทย เหมือนงานลอยกระทงหรือสงกรานต์
เพื่อตอกย้ำให้นักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามาสู่ประเทศไทย แล้วที่สำคัญ เพื่อให้สมญานามว่า LGBT พาราไดซ์ ไม่ใช่ LGBT พาราดอกซ์"
โป้ง จรัญ คงมั่น นักเคลื่อนไหว Non-Binary กล่าวว่า คนที่เป็น Non-Binary คือคนที่ไม่ได้เป็นผู้ชายหรือผู้หญิงตามกรอบบรรทัดฐาน
"เด็กในเจนเนอเรชั่นใหม่ ๆ ที่ออกมา Come Out พบว่าตัวเองไม่ได้เป็นผู้ชายหรือผู้หญิงตามกรอบบรรทัดฐานหลายคน ซึ่งถ้าเราสามารถทำให้เขามีชีวิตอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี เราจะทำหรือไม่"
ต่อด้วยการแสดงโชว์สุดอลังการ โดย เก่ง ธชย ที่กล่าวว่า "เพลงที่โชว์วันนี้คือ นางนวล มันมีมิติหลากหลาย มีเรื่องของความงาม ความรัก นางนวลเป็นสัญลักษณ์ของเสรีภาพ และความหวัง"
ภายในงานมีการเซอร์ไพรส์ขอแต่งงานกลางงานของคู่รักหญิงรักหญิง ไทนี่-อ้อม คู่แต่งงานคู่แรกที่ลงทะเบียนสมรสในงาน ‘นฤมิตวิวาห์’
- 'นฤมิตวิวาห์' มาจากความฝัน
วาดดาว ชุมาพร ผู้ร่วมก่อตั้งและจัดงาน ‘นฤมิตวิวาห์’ กล่าวว่า นฤมิตวิวาห์ เป็นภาพความฝัน ที่เราต้องการจัดงานแต่งงาน 100 คู่ 100 ความรัก ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566
"นี่คือเปิดศักราชใหม่ของการจัดตั้งครอบครัว ที่มีเพศหลากหลาย เป็นการยืนยันว่าสิทธิของครอบครัวเพศหลากหลายมีความหมายและได้รับการโอบอุ้ม"
‘นฤมิตวิวาห์’ งานวิวาห์ที่ยืนยันสิทธิก่อตั้งครอบครัวและสมรสเท่าเทียม ภายใต้แนวคิด Love Liberate and Festival จะจัดขึ้น ณ ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง)
มีจุดมุ่งหมาย เพื่อสร้างการยอมรับความหลากหลายทางเพศในสังคมไทยและสร้างพื้นที่วัฒนธรรมสาหรับชุมชน LGBTQIA+ ให้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมอย่างมีศักดิ์ศรี
ผ่านกิจกรรม Event การเฉลิมฉลอง Festival ด้วยแฟชั่น ดนตรี ศิลปะ แบ่งเป็น 3 โซน
1)เวทีหลัก เป็นงานเลี้ยงเฉลิมฉลองให้ผู้ร่วมสมรส โดยเชฟ LGBTQIA+ ที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ และคอนเสิร์ต
2)ลานพิธีวิวาห์ ด้านหน้าของสนามกีฬา มี พิธีทราย พิธีสาบาน พิธีสวมแหวน และขบวนแห่ ยืนยันความรักที่มีศักดิ์ศรีเท่าเทียม
3)ลานกิจกรรม Love and Art โดยศิลปิน LGBTQIA+ นิทรรศการ แกลอรี ดนตรีกลางสวน
- เวทีของทุกคน
ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่มาร่วมงานกล่าวว่า เราอยู่ในจุดที่กำลังเริ่มต้น
"ผมรู้สึกซึ้งใจและสะท้อนสังคมว่า เพียงแค่คนเรารักกัน ทำไมมันยากขนาดนั้น แล้วต้องมารณรงค์กันขนาดนั้น
เราอยู่ในจุดที่เริ่มต้นมาก ๆ ของสังคมที่เท่าเทียมกัน ความรักมันไม่ควรมีพรมแดนพอมีการจัดงาน ก็เลยบอกว่ารีบจัดเลย เพราะมันอีกยาวไกล
เราจัดวันนี้ พรุ่งนี้เราทำอะไรได้อีก กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ เรายินดีที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
ผมรู้สึกว่าการเปลี่ยนแปลงทางวิธีคิดมันใช้เวลายาวนานมาก การที่ประชาสังคมหลาย ๆ กลุ่มลุกขึ้นมา หน้าที่ของกทม.คือการสนับสนุน แล้วทำให้มีผลกระทบให้มากขึ้น
เรื่องความเท่าเทียม เรื่อง LGBT เราจะไม่หยุด มีแต่จะเดินต่อไปข้างหน้าไปเรื่อย ๆ ขอให้คำมั่นสัญญาไว้ที่นี่"
ผู้สนใจเข้าร่วมงาน นฤมิตวิวาห์ (Naruemit Vivah 2023) สามารถสมัครเข้ามาได้ที่ http://www.naruemltpride.com ตั้งแต่ 15 กันยายน 2565 เป็นต้นไป