เปิดข้อเรียกร้อง 3 องค์กร เหตุ "สารเคมีรั่ว" ปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานประชาชน
3 องค์กร เสนอข้อเรียกร้อง กรณี "สารเคมีรั่วไหล" จ.นครปฐม แนะโรงงงานเผยข้อมูลสารเคมี ประเมินความเสียหาย ผลกระทบ ชดเชย เยียวยา รัฐเร่งตรวจสอบ ชี้แจ้งข้อมูลประชาชน ติดตามผลกระทบด้านสุขภาพประชาชน พร้อมเผยข้อมูลสารเคมีที่มีการปลดปล่อยจากแหล่งกำเนิดมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม
จากเหตุการณ์รั่วไหลของสารเคมีที่ส่งกลิ่นเหม็นกระจายออกในวงกว้างจากโรงงาน อินโดรามา โพลิเอสเตอร์ อินดัสตรีส์ ใน อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2565 โดยมีประชาชนในพื้นที่แจ้งเหตุไปยังสำนักงานควบคุมมลพิษที่ 5 นั้น
มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) และ กรีนพีซ ประเทศไทย (Greenpeace Thailand) ซึ่งทำงานร่วมกันเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อมและผลักดันให้มีกฎหมายการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ (PRTR) เห็นว่า เหตุการณ์การรั่วไหลของสารเคมีดังกล่าว คือ ประจักษ์พยานล่าสุดของการที่ชีวิตผู้คนในสังคมไทยต้องเสี่ยงภัยกับสารมลพิษทุกวัน (Living poisons daily)
ในสถานการณ์เช่นนี้ ประชาชนแทบไม่รู้เลยว่ามีสารมลพิษชนิดใดบ้างที่รั่วไหลออกมาจากโรงงาน แม้การรายงานข่าวในเวลาต่อมาจะระบุว่า เป็นการรั่วไหลของสารเคมีกลุ่มอะโรเมติก เบนซีน ไดฟีนิลออกไซด์ (Diphenyl Oxide) และไบฟีนิล(Biphenyl) และกรมควบคุมมลพิษ ทำการแจ้งเตือนให้ประชาชนในพื้นที่งดออกจากบ้านเรือนเพื่อเลี่ยงสัมผัสสารเคมีและสวมหน้ากากอนามัยป้องกัน
แต่ก็สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า สิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของประชาชนถูกละเมิดครั้งแล้วครั้งเล่า นอกจากการปนเปื้อนในอากาศที่หายใจ ประชาชนไม่รู้เลยว่าการรั่วไหลของสารมลพิษสามารถตกลงสู่ดินและแหล่งน้ำ ปนเปื้อนอยู่ในอาหารที่กิน และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน และสารมลพิษดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไร
มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม มูลนิธิบูรณะนิเวศ และกรีนพีซ ประเทศไทย (Greenpeace Thailand) มีข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้
1. ในฐานะที่เป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีชั้นนำระดับโลก อินโดรามา เวนเจอร์ส ซึ่งเป็นเจ้าของโรงงานอินโดรามา โพลิเอสเตอร์ อินดัสตรีส์ ใน อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ต้องมีภาระรับผิดชอบ (accountability) โดยทำงานร่วมกับหน่อยงานรัฐที่เกี่ยวข้องในการชี้แจงและเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดต่อสาธารณะชนเกี่ยวกับเหตุการณ์รั่วไหลของสารเคมีครั้งนี้ และดำเนินการประเมินความเสียหายและผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชนเฉพาะหน้าในระยะสั้น และระยะยาว รวมถึงการชดใช้และเยียวยาความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนที่เกิดขึ้น (liability)
● หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมควบคุมมลพิษและกรมโรงงานอุตสาหกรรม ต้องตรวจสอบเหตุการณ์รั่วไหลที่เกิดขึ้น และชี้แจงข้อมูลต่อสาธารณะอย่างรวดเร็วตรงไปตรงมา รวมถึงการดำเนินมาตรการทางกฎหมายกับผู้ก่อมลพิษ และการติดตามรวบรวมข้อมูลและให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ
● หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง รวมถึง กรมควบคุมมลพิษ และ กรมโรงงานอุตสาหกรรม ต้องมีบทบาทสำคัญในการติดตามผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดขึ้นกับประชาชนโดยเฉพาะในกรณีที่มีผู้ป่วยจากการสัมผัสสารเคมีกลุ่มอะโรเมติก เบนซีน ไดฟีนิลออกไซด์ (Diphenyl Oxide) และไบฟีนิล (Biphenyl) ที่อาจส่งผลเสียหายต่อร่างกายในระยะยาว
● หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง รวมถึง กรมควบคุมมลพิษ และ กรมโรงงานอุตสาหกรรม ต้องสนับสนุนกฎหมายการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อย และเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม (PRTR) ภาคประชาชนที่รับรองสิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน (Community Right-to-Know) และกำหนดให้มีการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเปิดเผยต่อสาธารณชนเกี่ยวกับชนิดและปริมาณของสารเคมีหรือมลพิษที่มีการปลดปล่อยจากแหล่งกำเนิดมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม รวมถึงข้อมูลการนำน้ำเสียหรือของเสียที่มีสารเคมีหรือมลพิษออกจากแหล่งกำเนิด ไปบำบัดหรือกำจัด
นอกจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการรั่วไหลของสารเคมีสามารถใช้ช่องทางและกลไกทางกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันเพื่อเรียกร้องสิทธิของตน มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม มูลนิธิบูรณะนิเวศ และกรีนพีซ ประเทศไทย
ขอเชิญชวนประชาชนใช้สิทธิ์ประชาธิปไตยทางตรงในการเข้าชื่อเสนอกฎหมายโดยประชาชน และการเรียนรู้ร่วมกันของประชาชนในการผลักดันให้เกิดกฎหมายที่ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลมลพิษเพื่อมีส่วนร่วมในการคุ้มครองสิทธิ์ สุขภาพ ของประชาชนและสิ่งแวดล้อมได้อย่างแท้จริง ผ่านพระราชบัญญัติการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ พ.ศ…. (PRTR) ได้ที่ thaiprtr.com