เปิดมุมมอง "เยาวชนไทย" แรงขับเคลื่อนสำคัญ ดัน "Soft Power" 

เปิดมุมมอง "เยาวชนไทย" แรงขับเคลื่อนสำคัญ ดัน "Soft Power" 

"Soft Power" ของไทย ซึ่งมีเอกลักษณ์ ทั้งวัฒนธรรม อาหาร ฯลฯ ขณะเดียวกัน รัฐบาลประกาศนโยบายสนับสนุน Soft Power และ อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ให้เป็นที่รู้จักทั่วโลก ขณะที่ เยาวชน ถือเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนในอนาคต

"Soft Power"  ซึ่งเป็นแนวคิดที่พัฒนาโดย โจเซฟ นาย จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด  เป็นอิทธิพลที่ไม่ได้มาจากการบังคับ หรือใช้ความรุนแรง แต่เป็นการนำจุดเด่นแต่ละประเทศ เช่น วัฒนธรรม กีฬา การศึกษา โน้มน้าวชักจูงและดึงดูดความสนใจ ให้ผู้อื่นเปลี่ยนแปลงคล้อยตาม ความคิดโดยไม่ใช้การบังคับข่มขู่ให้ต้องชอบหรือต้องทำตาม

 

ปัจจุบัน หลายประเทศทั่วโลก ได้ผลักดัน Soft Power และไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่สนับสนุนเรื่องนี้อย่างเต็มที่ ล่าสุด รัฐบาลประกาศนโยบายสนับสนุน Soft Power และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ให้เป็นที่รู้จักทั่วโลก

 

Soft Power ของประเทศไทยมีทั้งความหลากหลาย จุดเด่นวัฒนธรรม ผู้คน แต่สิ่งเหล่านี้จะไม่สามรถเกิดขึ้นได้ หากไม่เกิดการผนึกกำลังร่วมกัน โดยกำลังสำคัญ คือ เยาวชน คนรุ่นใหม่ที่มีศักภาพ มีพลัง และอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง และในยุคปัจจุบัน เรามีเครื่องมือ สื่อใหม่ๆ มากมาย ดังนั้น การที่เยาวชน การทำงานร่วมกันระหว่างผู้ใหญ่ จะทำให้การขับเคลื่อน Soft Power  เป็นไปได้อย่างยั่งยืน

 

เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 65 ที่ผ่านมา ภายในงาน มหกรรมด้านความยั่งยืนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอาเซียน “SUSTAINABILITY EXPO 2022: GOOD BALANCE, BETTER WORLD” ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เวทีเสวนา YOUTH POWER ขับเคลื่อน SOFT POWER ได้นำเสนอตัวแทนเยาวชน 4 คน ที่ได้แสดงความคิดเห็น จุดยืน และมุมมองความคิดเรื่อง “Youth Power ขับเคลื่อน Soft Power” ซึ่งนับว่าเป็นเสียงสะท้อนจากเยาวชนที่เป็นกำลังสำคัญ ในการขับเคลื่อน Soft Power 

 

เปิดมุมมอง \"เยาวชนไทย\" แรงขับเคลื่อนสำคัญ ดัน \"Soft Power\" 

สร้างจุดร่วม "เยาวชน-ผู้ใหญ่" ขับเคลื่อน Soft Power

 

"ไกด์ - มงคล ชุ่มเงิน" นักศึกษาปี 3 วิชาเอกการสื่อสารเพื่อการจัดการนวัตกรรม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มองว่า Soft Power เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คนรู้จักประเทศไทยโดยไม่ต้องบังคับ แต่สามารถโน้มน้าวใจ ได้เพื่อส่งสารให้คนรับสารไม่รู้สึกอึดอัด ซอฟต์พาวเวอร์ทำให้เข้าถึงคนได้ง่ายขึ้น

 

"การขับเคลื่อ Soft Power มีหลายทาง แต่ทางหลักๆ คือ การผลักดันจากภาครัฐ ใช้ทุน สนับสนุนจากหลายฝ่าย และส่งต่อไปยังชุมชน ขณะเดียวกัน การขับเคลื่อนได้ คือ ต้องมีสื่อ ซึ่งเยาวชนส่วนใหญ่อยู่ในโซเชียล เป็นจุดเล็กๆ ในการขับเคลื่อน Soft Power หรือ ประเด็นต่างๆ ของสังคมก็จะช่วยขับเคลื่อนตรงนี้ได้"

 

น้องไกด์ กล่าวต่อไปว่า สิ่งสำคัญ ในการขับเคลื่อน Soft Power คือ ทุกคนต้องอิน เด็กจะมีพลัง มีแอคชั่น และอยากให้ผู้ใหญ่เข้ามาหาเด็กให้ได้ คือ เข้ามามีส่วนร่วม เขามีความรู้ มีทักษะ แต่หากไม่ลงมาหาพวกเราก็จะไม่สามารถขับเคลื่อนได้ 

 

"ไทยขับเคลื่อน Soft Power หลายอย่างทั้งแฟชั่น วัฒนธรรม และหากต้องนำเสนอ Soft Power ให้ต่างชาติรู้จัก ก็อยากจะแนะนำ "การนวดแผนไทย" เพราะเป็นการนำเอาภูมิปัญญา สมุนไพรไทยมาใช้ ขณะเดียวกัน ทุกสิ่งจะเกิดขึ้นไม่ได้หากเราไม่ร่วมมือกัน จุดเล็กๆ จะไม่เกิดขึ้นได้หากไม่มีจุดใหญ่ๆ เข้ามาร่วม แต่ละส่วน ต่างๆ ต้องร่วมมือกัน ดังนั้น การผลักดันเป็นสิ่งสำคัญ ให้เกิดขึ้นจริง" น้องไกด์ กล่าว 

เคลื่อน Soft Power ต้องมีพื้นที่ การสนับสนุน

 

"มาร์ค - อริสมันต์ เมธีปฏิภาน” บัณฑิตจากคณะวิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้ความเห็นว่า  Soft Power ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพยนต์ อาหาร ฯลฯ แต่สิ่งที่ทำให้เกิดขึ้น คือ การขับเคลื่อน และสร้างแรงบันดาลใจ

 

การขับเคลื่อน ต้องมีคนเริ่มก่อน เช่น เยาวชนซึ่งมีไฟ มีไอเดีย และต่อมา คือ สถานที่คอยบ่มเพาะเพื่อให้สู่เป้าหมายที่ต้องการ ขณะดียวกัน ควรมีภาครัฐสนับสนุน เพื่อขยายไประดับประเทศและต่างประเทศได้

 

"สำหรับ Soft Power ที่อยากนำเสนอให้ชาวต่างชาติรู้จัก คือ การเดินทางโดยรถตุ๊กตุ๊ก ซึ่งนับเป็นคาร์แรคเตอร์ที่หาได้ยาก สิ่งนี้เป็นเหมือนตัวชูโรงของการเดินทางและเป็นสัญลักษณ์ของไทย โดยสามารถเดินทางไปในพื้นที่อื่นๆ ได้ ไม่ใช่แค่ในเมือง" น้องมาร์ค กล่าว 

 

Soft Power กระบอกเสียง ดันวัฒนธรรมเก่าแก่ ผ่านสื่อใหม่

 

"กรรณ - กรรณิกา ลาวะกุล” ชั้นปี 4 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ มองว่า Soft Power เหมือนกระบอกเสียงเล็กๆ ชุมชนกลุ่มเล็กๆ ซึ่งเต็มไปด้วยเรื่องราวมากมายที่หลายคนยังไม่เคยสัมผัส ขณะเดียวกัน ในฐานะเยาวชน การขับเคลื่อน Soft Power ควรผลักดันเรื่องของวัฒนธรรมในสื่อใหม่

 

"ปัจจุบันเรามีสื่อมากมายและเทคโนโลยีที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย เช่น TikTok และไทยขึ้นชื่อว่าวัฒนธรรมโดดเด่น สวยงามในหลายยุค หากเราเอามาผสมรวมกันในสื่อยุคใหม่ ในอนาคตอาจจะได้เห็นวัฒนธรรมที่ยังไม่เคยถูกเผยแพร่ได้ออกมานำเสนอมากขึ้น"

 

ทั้งนี้ ส่วนตัวที่สนใจเรียนด้านวิศกรรมซอฟต์แวร์ เพราะเห็นว่าการสื่อสารสำคัญอันดับต้นๆ โดยที่ผ่านมา ได้ใช้เทคโนโลยี รวมเรื่องวัฒนธรรม วิถีริมน้ำ และรวบรวมเครื่องราง ประวัติศาสตร์ของแต่ละพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นชาวมอญ ชาวญวณ นำสิ่งเก่าและสิ่งใหม่เข้ามาผนวกมากขึ้น ผสมหลายอย่างเพื่อให้เกิดนวัตกรรม เทคโนโลยี และสื่อใหม่ๆ" 

 

"เราเป็นจุดเล็กๆ ที่จะก้าวไปสู่ความยิ่งใหญ่ ในฐานะเยาวชน เราพูดความต้องการ และเชื่อว่าหลายคนรับฟัง เพื่อไปสู่ความคิดเห็น และแนวทางแก้ปัญหาในอนาคต" น้องกรรณ กล่าว

 

Soft Power สร้าง Impact ได้มากกว่า Hard Power 

 

ด้าน "แบงค์ - ปรเมษฐ์ ศรีพา” ชั้นปี 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งมีความสนใจด้านธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ให้ความเห็นว่า Soft Power เป็นสิ่งที่คนเราเข้าไปมีส่วนร่วมได้โดยไม่รู้สึกกดดัน ไม่ต้องพยายามทำให้รู้สึกอินและมีแพชชั่น Soft Power สร้าง Impact ได้มากกว่า Hard Power 

 

"Soft Power ไม่ใช่แค่สื่อ แต่สามารถแทรกซึมได้กับทุกเรื่องแค่รู้จักประยุกต์ใช้ ทำให้ทุกอย่างสามารถเป็นพลังได้ ดังนั้น การจะขับเคลื่อนทุกภาคส่วนนั้น เริ่มจากมองว่าตัวเราเองชื่นชอบอะไร เช่น ศิลปะ ดนตรี และในส่วนของผู้ใหญ่อาจจะมองกว้างมากกว่า เช่น เศรษฐกิจสังคม"

 

เปิดมุมมอง \"เยาวชนไทย\" แรงขับเคลื่อนสำคัญ ดัน \"Soft Power\" 

 

ดังนั้น การก้าวหากันคนละก้าว มีจุดตรงกลางเพื่อผู้ใหญ่กับเด็กมาเจอกัน เด็กมีความอยากลงมือทำ และอย่างกสร้างความเปลี่ยนแปลง ขณะที่ผู้ใหญ่มีประสบการณ์ ต้องหาจุดตรงกลางที่ว่าตรงไหนสามารถเจอกันได้และทำร่วมกัน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดี 

 

ปัจจุบัน ส่วนตัวขับเคลื่อนในเรื่องสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยว โดยทำชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในมหาวิทยาลัย เป็นการออกค่าย และดึงการท่องเที่ยว ให้ทุกคนออกไปเจอโลกกว้าง ให้ทุกคนอยากมีส่วนร่วม สอดแทรกเรื่องของการให้ความรู้ธรรมชาติและอนุรักษ์เข้าไปด้วย 

 

รวมถึง การท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ เน้นเชิงปฏิบัติ ลงมือทำ วัฒนธรรมประเพณีในหลายพื้นที่ เป็นสิ่งที่น่าสนใจ แต่ส่วนใหญ่เราแค่เข้าไปและรับรู้ แต่จริงๆ หลายคนไม่รู้ว่ามีรากเหง้ามาจากไหน หากได้หยิบยกสิ่งเหล่านั้นขึ้นมา จะทำให้คนอยากจะมีส่วนร่วมมากขึ้น

 

"การที่เราจะเริ่มต้นจากก้าวเล็กต้องเริ่มจากสิ่งที่ชื่นชอบ หากมีสิ่งที่ชอบ แน่นอนว่าสามารถพัฒนาเป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ หากมีภาครัฐสนับสนนุคิดว่าเป้นหยดน้ำเล็กที่สร้างแรงกระเพื่อมไปสู่จุดใหญ่ได้เช่นกัน" น้องแบงค์ กล่าวทิ้งท้าย