พายุร้ายจะไร้พิษเมื่อปิดอ่าวไทย? | ไสว บุญมา

พายุร้ายจะไร้พิษเมื่อปิดอ่าวไทย? | ไสว บุญมา

พายุร้ายกำลังสร้างความเสียหายใหญ่หลวงในหลายส่วนของโลก  ความเสียหายเกิดจากปริมาณน้ำฝนมหาศาลที่ตกติดต่อกันเป็นเวลานานทั่วบริเวณทางผ่านของพายุ  

ยิ่งเป็นบริเวณที่ราบต่ำตามชายฝั่งทะเล ความเสียหายยิ่งร้ายแรงเนื่องจากคลื่นพายุที่ใหญ่ขึ้นเกิดบนระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นจากภาวะโลกร้อนด้วย

การเพิ่มขึ้นของความร้ายแรงของพายุและความถี่ที่มันเกิด ยืนยันข้อสรุปของนักวิชาการที่ว่า ภาวะโลกร้อนซึ่งเกิดจากพฤติกรรมทำลายระบบนิเวศของมนุษย์เป็นปัจจัยที่ทำให้มันเกิด

 ซ้ำร้ายหลายพื้นที่ยังทรุดลงอย่างต่อเนื่องเพราะกิจกรรมของมนุษย์อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างบนพื้นที่อันเป็นดินเลนหรือการสูบน้ำและน้ำมันปิโตรเลียมออกจากพื้นที่นั้น  

วารสารวิชาการ “ความยั่งยืนแห่งธรรมชาติ” (Nature Sustainability) เพิ่งตีพิมพ์ผลการวิจัยเกี่ยวกับการทรุดของพื้นที่ดังกล่าวโดยใช้เครื่องมือใหม่ของนักวิชาการกลุ่มหนึ่งนำโดยคณาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยเทคนิคนานยางของสิงคโปร์  

ผลของการศึกษาอาจทำให้ชาวกรุงเทพฯ ดีใจ เพราะในบรรดาเมืองใกล้ชายฝั่งทะเล 48 แห่งที่มีความเสี่ยงสูงต่อการจมบาดาลจากปัจจัยต่าง ๆ กรุงเทพฯ อยู่ในกลุ่มที่มีความทรุดต่ำ ต่างกับเมืองในเอเซียอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นจาการ์ตา ย่างกุ้ง หรือโฮจิมินห์ซึ่งอยู่ในกลุ่มทรุดสูงสุด

อย่างไรก็ดี การวิจัยนี้เป็นเพียงวิธีหนึ่งในหลายวิธีที่นักวิชาการนำมาใช้ซึ่งอาจได้ข้อสรุปต่างกัน  ในบางกรณีอาจต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งคงหมายความว่าชาวกรุงเทพฯ อย่าเพิ่งด่วนดีใจ เพราะการศึกษาของคณะกรรมการด้านความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศเมื่อ 2 ปีก่อนชี้บ่งว่ากรุงเทพฯ อาจทรุดเร็วกว่าระดับที่การวิจัยนี้ชี้บ่ง

ความเสี่ยงต่อความเสียหายร้ายแรงที่นับวันจะเพิ่มขึ้นเพราะความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศเป็นที่รับรู้กันอย่างกว้างขวาง  แต่การตอบสนองของมนุษย์ในด้านการเปลี่ยนพฤติกรรมในระดับบุคคลและนโยบายในระดับรัฐบาลต่างกันมาก จากการไม่เปลี่ยนอะไรเลยจากแนวที่เคยทำถึงการเปลี่ยนแบบจริงจัง  

ในด้านการลดความเสียหายต่อเมืองหลวง  รัฐบาลพม่าย้ายเมืองหลวงจากย่างกุ้งขึ้นไปไว้ ณ เมืองสร้างใหม่ทางใจกลางของประเทศหลายปีแล้ว  เมื่อต้นปีนี้ รัฐบาลอินโดนีเซียตรากฎหมายให้ย้ายเมืองหลวงจากจาการ์ตาไปไว้ ณ เมืองสร้างใหม่ที่เกาะบอร์เนียว  

รัฐบาลไทยไม่มีทีท่าว่าจะทำตามพม่าและอินโดนีเซียแม้การเสนอให้ย้ายเมืองหลวงออกจากกรุงเทพฯ จะเกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนปี พ. ศ. 2500 แล้วก็ตาม  

ล่าสุดมีรายงานว่านักการเมืองบางคนได้รื้อฟื้นข้อเสนอให้สร้างเขื่อนขนาดยักษ์ปิดอ่าวไทยขึ้นมาอีก  หวังกันว่าเขื่อนนั้นไม่เฉพาะจะป้องกันมิให้กรุงเทพฯ จมบาดาลจากพายุใหญ่แล้วเท่านั้น หากยังจะสร้างรายได้มหาศาลจากกิจการต่าง ๆ ทั้งในภาคการผลิตสินค้าและในภาคบริการอีกด้วย  

ภาคก่อสร้างและนักการเมืองคงฝันหวานว่าถ้ามันเกิดขึ้นจริง พวกตนจะร่ำรวยขึ้นอีกมาก  ส่วนเขื่อนจะมีผลดีจริงหรือไม่ หรือจะมีผลร้ายอย่างไรพวกเขาคงไม่ให้ความสำคัญนัก

ทางด้านผลดีย่อมมีคำถามทันทีว่ามันจะป้องกันมิให้น้ำท่วมกรุงเทพฯ ได้จริงหรือ  คำถามนี้ไม่น่าจะมีใครตอบได้อย่างมั่นใจเต็มร้อยว่ามันทำได้แน่ ทั้งนี้เพราะไม่มีใครรู้ความเปลี่ยนแปลงของตัวแปรทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นในอนาคต  

ที่เนเธอร์แลนด์ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในด้านการสู้กับน้ำทะเล ครั้งหนึ่งเขาคิดว่าเขาจะเอาชนะทะเลได้ด้วยการสร้างเขื่อน  แต่ตอนนี้เขาเปลี่ยนใจเป็นขออยู่กับทะเลแบบรอมชอม

ทางด้านผลร้าย คำถามนำเป็นด้านระบบนิเวศที่ว่ามันจะนำไปสู่อะไร  การทำลายระบบนิเวศของมนุษย์ทำให้เราต้องเผชิญปัญหาสาหัสจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศอยู่ในขณะนี้  เราจะทำลายระบบนิเวศต่อไปเพื่อจะรักษาสิ่งก่อสร้างที่มีส่วนทำลายระบบนิเวศอย่างมีนัยสำคัญนั้นหรือ

 เท่าที่ผ่านมาความเห็นแยกออกเป็น 2 ฝ่ายชัดเจน  ฝ่ายหนึ่งเชื่อว่ามนุษย์เราสามารถเอาชนะธรรมชาติได้เพราะเรามีมันสมองที่จะสร้างเทคโนโลยีขึ้นมาแก้ปัญหาทุกอย่างได้  

อีกฝ่ายหนึ่งมองว่า มนุษย์ไม่มีปัญญาพอที่จะเอาชนะธรรมชาติได้ จึงจะต้องอยู่กับธรรมชาติแบบรอมชอม  ฝ่ายนี้หวังว่าจะยังไม่สายเกินไปที่เราจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปสู่ทางลดการทำลายระบบนิเวศ
เราทำตามฝ่ายไหนจะกำหนดอนาคตของเรา