กฟผ. แจ้งเตือนยกระดับเฝ้าระวัง 3 เขื่อน ภาคอีสาน หลัง “พายุโนรู” พัดถล่มไทย
กฟผ. เปิดศูนย์บริหารจัดการน้ำในสภาวะวิกฤตเขื่อนภาคอีสาน ยกระดับการติดตามสถานการณ์น้ำใน เขื่อนอุบลรัตน์ - เขื่อนจุฬาภรณ์ - เขื่อนสิรินธร หลัง “พายุโนรู” พัดถล่มไทย ทำให้ปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้น
นายประเสริฐ อินทับ ผู้ช่วยผู้ว่าการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวถึงผลกระทบของ "พายุโนรู" ว่า ขณะนี้พายุไต้ฝุ่น “โนรู” ที่เคลื่อนเข้าปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้อ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชัน ทำให้มีฝนตกสะสม ซึ่งสถานการณ์น้ำของภาคตะวันออกเฉียงเหนือวันนี้ (วันที่ 29 กันยายน 2565) มีเขื่อนของ กฟผ. ที่มีระดับน้ำเกินระดับน้ำควบคุมตอนบน (Upper Rule Curve : URC) อยู่ในเกณฑ์ต้องเฝ้าระวัง 3 เขื่อน ประกอบด้วย
- เขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น
- เขื่อนจุฬาภรณ์ จังหวัดชัยภูมิ
- เขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี
ซึ่งเขื่อนอุบลรัตน์ คณะกรรมการลุ่มน้ำชี ได้มีมติเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2565 เห็นชอบให้ปรับเพิ่มการระบายน้ำจากวันละ 25 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เป็นวันละ 35 ล้าน ลบ.ม. และในกรณีที่มีปริมาณน้ำเกินกว่าความจุอ่าง จำเป็นต้องเพิ่มการระบายน้ำเป็นวันละ 35 - 54 ล้าน ลบ.ม.
โดยจะทยอย ปรับเพิ่มการระบายน้ำแบบขั้นบันไดตามสถานการณ์น้ำและปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบ หรือส่งผลกระทบน้อยที่สุดต่อประชาชนในพื้นที่เหนือเขื่อนและท้ายเขื่อน
ทั้งนี้ เขื่อนอุบลรัตน์ ได้จัดทำแผนการระบายน้ำรายวัน แจ้งไปยังจังหวัดที่อาจได้รับผลกระทบและประชาชนทุกภาคส่วน ขอให้ประชาชนที่อยู่อาศัย ในบริเวณใกล้เคียงลำน้ำเตรียมความพร้อมและเฝ้าระวังระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
นอกจากเขื่อนอุบลรัตน์ที่ได้รับอิทธิพลของ "พายุโนรู" แล้ว เขื่อนสิรินธร เขื่อนจุฬาภรณ์ และเขื่อนห้วยกุ่ม ก็ได้รับอิทธิพลจากฝนตกหนัก มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนเพิ่มขึ้นและมีแนวโน้มปริมาณน้ำเต็มความจุอ่างเก็บน้ำ โดยเขื่อนสิรินธร มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนจากอิทธิพลของ "พายุโนรู" แล้วจำนวน 225 ล้าน ลบ.ม. จำเป็นต้องเพิ่มการระบายน้ำผ่านประตูระบายน้ำล้น (Spillway) วันนี้ (วันที่ 29 กันยายน 2565) เพื่อความมั่นคงปลอดภัยของเขื่อน ซึ่ง กฟผ. ได้ออกประกาศแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ให้ทราบล่วงหน้าแล้ว
ทั้งนี้ เขื่อนในภาคอีสานของ กฟผ. อาจมีความจำเป็นต้องเพิ่มการระบายน้ำเพื่อให้มีช่องว่างรองรับน้ำจากอิทธิพลของ "พายุโนรู" ตลอดจนปริมาณน้ำที่ยังไหลเข้าอ่างเก็บน้ำอย่างต่อเนื่องในช่วงฤดูฝน สามารถติดตามข้อมูลสถานการณ์น้ำได้จาก เว็บไซต์ กฟผ. หรือแอปพลิเคชัน EGAT Water และ EGAT One
ที่ผ่านมา กฟผ. ได้กระจายกำลังหน่วยงานทั่วประเทศสนับสนุนช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โดยเบื้องต้นได้เร่งมอบถุงยังชีพเกือบ 5,000 ชุด และน้ำดื่มกว่า 25,000 ขวด ไปยังพื้นที่ประสบอุทกภัยแล้ว ได้แก่ กรุงเทพมหานคร พระนครศรีอยุธยา ตาก น่าน ระยอง และเชียงใหม่ กฟผ. เคียงข้างคนไทยทุกวิกฤต