ความรุนแรงจากอาวุธปืน หาสาเหตุ-ตัดไฟแต่ต้นลม
ข่าวที่ไม่อยากรายงานเลยคือ การเสียชีวิตของผู้บริสุทธิ์ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนจากเหตุความรุนแรงทั้งหลายทั้งปวง ไม่มีใครรับรองได้ว่า เหตุการณ์ที่หนองบัวลำภูจะเป็นครั้งสุดท้าย หากไม่อยากเสียใจแบบนี้อีกควรแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ รัฐบาลต้องมองปัญหาให้ครอบคลุมไม่ใช่เกิดเหตุทีก็เสียใจกันที
เวลาอ่านข่าวเหตุกราดยิงที่ทำให้ผู้บริสุทธิ์ต้องเสียชีวิตโดยเฉพาะการกราดยิงในโรงเรียนส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในสหรัฐ อ่านแล้วก็รู้สึกเศร้าใจทุกที แต่เมื่อวานนี้ (6 ต.ค.) เหตุร้ายกลับเกิดขึ้นในบ้านเราเอง อดีตตำรวจกราดยิงในศูนย์เด็กเล็ก อบต.นากลาง ต.อุทัยสวรรค์ จ.หนองบัวลำภู แล้วหลบหนีไปสุดท้ายกลับไปยิงลูกเมียที่บ้านก่อนจะยิงตัวตายตาม รวมผู้เสียชีวิตจากเหตุสะเทือนขวัญครั้งนี้ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่กว่า 30 คน
แน่นอนว่า ปฏิกิริยาจากคนไทยที่รับรู้ข่าวมีแต่สาปส่งผู้ก่อเหตุ และโศกสลดไปกับชีวิตน้อยๆ รวมทั้งผู้บริสุทธิ์อื่นๆ ที่ต้องจากไปโดยไม่รู้อีโหน่อีเหน่
หากตัดอารมณ์โศกเศร้า โกรธแค้นออกไป พิจารณาข้อเท็จจริงเรื่องความรุนแรงจากอาวุธปืนในประเทศไทยซึ่งระยะหลังเกิดขึ้นบ่อย ผลการศึกษาของ Institute for Health and Metric Evaluation มหาวิทยาลัยวอชิงตัน พบว่า เมื่อปี 2556 การเสียชีวิตจากการถูกยิงในประเทศไทยอยู่ที่ 7.48 คนต่อประชากร 100,000 คน ถัดมาในเอเชียคือฟิลิปปินส์ 4.64 คนต่อประชากร 100,000 คน ส่วนสหรัฐอยู่ที่ 3.55 คนต่อประชากร 100,000 คน
ตัวเลขทางการของไทยชี้ว่า คนไทยราว 1 ใน 10 มีอาวุธปืนในครอบครอง รวมแล้วกว่า 6 ล้านกระบอก แต่นี่คือปืนที่มีทะเบียนเท่านั้น ปืนเถื่อนยังไม่รู้ว่าเท่าไหร่ นี่ไม่ได้พูดเกินจริง ดูอย่างเมื่อวันที่ 1 ต.ค. สำนักงานตำรวจแห่งชาติแถลงผลการปฏิบัติการ “สอบสวนกลางกวาดล้างปืนเถื่อน season 2” (CIB Ghost Guns Operation) จับกุมผู้ต้องหากว่า 61 คน ยึดของกลางอาวุธปืน 145 กระบอก หลายครั้งที่ผู้ก่อเหตุซื้ออาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนผ่านช่องทางออนไลน์
หากพิจารณารวมๆ เมื่อเกิดเหตุความรุนแรงจากอาวุธปืนในประเทศไทย คีย์เวิร์ดมีอยู่ไม่กี่คำ “ตำรวจ-ทหาร” “เครียด” “ยาเสพติด” คีย์เวิร์ดเหล่านี้ทำให้ต้องพิจารณาต่อว่า ทำไมคนก่อเหตุมักเป็นตำรวจ-ทหาร อาชีพเหล่านี้ใช้อาวุธปืนง่ายใช่หรือไม่
ความเครียดที่เกิดขึ้นในแวดวงตำรวจทหาร เป็นเพราะวัฒนธรรมอำนาจนิยมในสายการบังคับบัญชา “นาย” เป็นใหญ่เหนือลูกน้องชนิดที่ไม่มองอีกฝ่ายเป็นคนเหมือนกันใช่หรือไม่ ยาเสพติดซื้อหากันง่ายใช่หรือไม่ อย่างผู้ก่อเหตุรายล่าสุดมีรายงานว่าติดยาเสพติดตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม นี่เป็นอีกหนึ่งคำถามว่า สังคมไทยปกป้องเด็กเพียงพอแล้วหรือยัง
วานนี้ เป็นวันเกิดกรุงเทพธุรกิจ 35 ปีเต็ม ก้าวสู่ปีที่ 36 ตลอดเวลากว่า 3 ทศวรรษ เราทำหน้าที่รายงานข่าวสารการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ครบทุกมิติ แต่ขอเรียนผู้อ่านตามตรงว่า ข่าวที่ไม่อยากรายงานเลยคือ การเสียชีวิตของผู้บริสุทธิ์ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนจากเหตุความรุนแรงทั้งหลายทั้งปวง
ไม่มีใครรับรองได้ว่า เหตุการณ์ที่หนองบัวลำภูจะเป็นครั้งสุดท้าย หากไม่อยากเสียใจแบบนี้อีกควรแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ รัฐบาลต้องมองปัญหาให้ครอบคลุมไม่ใช่เกิดเหตุทีก็เสียใจกันที อ่านข่าวในประเทศอื่นก็เศร้าใจ แต่ข่าวในประเทศเรานั้นเศร้ายิ่งกว่า เพราะการแก้ปัญหาที่ไม่ดีพอเท่ากับว่าเรามีส่วนร่วมสร้างปัญหานั้น