"เครื่องหนัง" APLF ASEAN Special Edition 2022 คนแห่ร่วมงานเพียบ
ผู้จัดงานเครื่องหนังสุดปลื้ม งาน APLF ASEAN Special Edition 2022 โชว์เครื่องหนังชั้นนำจากทั่วโลกมากกว่า 200 ราย ประสบความสำเร็จ ได้รับการตอบรับจากคนทั่วโลก
“เครื่องหนัง หรืออุตสาหกรรมเครื่องหนัง” ในระบบเศรษฐกิจของประเทศ ถือเป็นสินค้าที่มีจำหน่ายทั้งในประเทศ และส่งออก เป็นแหล่งรายได้และสามารถนำเงินตราต่างประเทศเข้ามาปีละประมาณ 20,000 ล้านบาท อีกทั้ง เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมาก (Labour Intensive) ช่วยสร้างงานจำนวนไม่น้อยกว่า 200,000 คน
โดยตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และฮ่องกง ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันคิดเป็นร้อยละ 70 ของการส่งออกเครื่องหนังของไทยทั้งหมด รองมาได้แก่ อาเซียนญี่ปุ่น ไต้หวันและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ การที่ตลาดส่งออกของไทยกระจุกตัวในตลาดหลักเพียงไม่กี่แห่งดังกล่าว หากตลาดเหล่านี้เกิดความผันผวน จะส่งผลกระทบต่อตลาดส่งออกของไทยโดยทันที
"เครื่องหนัง" มูลค่าส่งออก 891.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของอุตสาหกรรมดังกล่าว สะสม 8 เดือน (มกราคม – สิงหาคม 2565) พบว่า การส่งออกเครื่องหนังและรองเท้า มีมูลค่า 1,344.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 28.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็น การส่งออก (สะสม) กลุ่มเครื่องหนัง มีมูลค่า 891.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 34.6 และการส่งออก (สะสม) กลุ่มรองเท้า มีมูลค่า 453.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.2
ขณะที่ภาพรวมการนำเข้า (สะสม) 8 เดือนของอุตสาหกรรมดังกล่าว มีมูลค่า 1,352.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 4.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็น การนำเข้า (สะสม) กลุ่มเครื่องหนัง มีมูลค่า 950.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 3.9 และ การนำเข้า (สะสม) กลุ่มรองเท้า มีมูลค่า 401.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.3 ส่งผลให้ภาพรวมดุลการค้าขาดดุล คิดเป็นมูลค่า 7.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
"เครื่องหนัง"อุตสาหกรรมที่ได้รับความสนใจสูง
การจัดงาน APLF ASEAN Special Edition 2022 เมื่อวันที่ 19-21 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (QSNCC) อีกหนึ่งโอกาสให้นักออกแบบไทยและกลุ่มธุรกิจในอุตสาหกรรมเครื่องหนังในอาเซียน ได้เชื่อมต่อกับซัพพลายเออร์เครื่องหนังชั้นนำจากทั่วโลกมากกว่า 200 ราย ว่า ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก
Mr.David Bondi ผู้อำนวยการ APLF และรองประธานอาวุโสของ Informa Markets Asia กล่าวว่างานดังกล่าวเป็นการจัดขึ้นภายใต้รูปแบบ MEET ได้แก่ Matching, Education, Experience และ Tradeshow มีกิจกรรมต่างๆ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และนักลงทุน ได้พบปะพูดคุยทางธุรกิจเพื่อต่อยอดให้อุตสาหกรรมเครื่องหนังทั้งของไทยและของหลายประเทศที่มาร่วมงานได้เป็นที่รู้จักและต่อยอดสู่สากลระดับโลก ผ่าน Business Matching ทั้ง 7 เซสชั่น ในหัวข้อ และรูปแบบ ที่หลากหลาย
พร้อมได้เชิญ 10 สุดยอดนักออกแบบกระเป๋าในประเทศและนักออกแบบชาวอินโดนีเซีย ร่วมนำเสนอผลงานการออกแบบเครื่องหนังอันเป็นเอกลักษณ์ และแบ่งปันเรื่องราวและแนวคิดการออกแบบให้แก่ผู้เข้าชมงาน ซึ่งได้รับการตอบรับจากผู้เข้าชมงานเป็นอย่างดี
ต่อยอดสู่โอกาสการเติบโตทางธุรกิจ
นอกจากนี้ APLF ASEAN ยังร่วมสนับสนุนนักออกแบบรุ่นใหม่ กับโครงการ Next Leather Goods Designers โดยมีสถาบันการศึกษาในประเทศไทย 5 แห่ง เข้าร่วมโครงการได้แก่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
นอกจากจัดแสดงผลงานที่สร้างสรรค์โดยนักศึกษาแล้ว ผู้จัดงานยังเชิญให้นักศึกษามาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การเรียนออกแบบและแนวคิดในการรังสรรค์ผลงานในวันสุดท้ายของงาน APLF ASEAN อีกด้วย
Mr.David Bondi ระบุว่า การจัดงาน APLF ASEAN Special Edition 2022 เป็นการรวบรวมผู้แสดงสินค้าเครื่องหนังชั้นนำจากทั่วโลก และนักธุรกิจในแวดวงเครื่องหนังจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แม้ว่าในเดือนมีนาคมปี 2566 ได้มีกำหนดจัดงาน APLF Dubai ซึ่งได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากหลายประเทศในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ
หวังว่างานนี้ก็จะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้เข้าร่วมงานเช่นกัน ถือได้ว่า APLF ASEAN เป็นมากกว่างานแสดงสินค้าเพราะได้ผสมผสานแนวคิดการจัดงาน การให้ความรู้ และมอบประสบการณ์เครื่องหนังอย่างครบครันไว้ในงานเดียว
“ตลอดระยะเวลาการจัดงาน 3 วัน พบว่าได้รับความสนใจจากนักธุรกิจ ผู้ผลิต และผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเครื่องหนังจำนวนมาก หลายท่านได้มีโอกาสเจรจาซื้อขายวัตถุดิบเครื่องหนังคุณภาพเพื่อการผลิต นำไปสู่ความร่วมมือทางธุรกิจในด้านต่างๆ บางประเทศทางโซนยุโรปที่มาร่วมออกบูธในงานได้มีการนัดหมายเพื่อเดินทางไปเยี่ยมชมโรงงานผลิตทางฝั่งอาเซียน หรือมีการแลกเปลี่ยน Know How เทคนิคการผลิต สู่โอกาสการเติบโตทางธุรกิจต่อไปในอนาคตด้วยซึ่งถือว่าการจัดงานในครั้งนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก รวมไปถึงการจัดอบรมหลักสูตรประกาศนียบัตรก็ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานอย่างคับคั่งทุกวัน” Mr.David Bondi กล่าว
จุดขายสินค้าเครื่องหนังไทย
ทั้งนี้ สินค้าเครื่องหนังไทยมีจุดขายด้านราคาหรือต้นทุนการผลิตต่ำ และปัจจุบันคู่แข่งของไทยที่มีความได้เปรียบทางด้านต้นทุนต่ำได้เข้าสู่ตลาดดังกล่าวจำนวนเพิ่มขึ้น และส่งผลกระทบให้โอกาสการขยายส่วนแบ่งตลาดของไทยในตลาดหลักๆ ลดลงมากในระยะที่ผ่านมา
โดยอุตสาหกรรมเครื่องหนัง เป็นอุตสาหกรรมที่มีโครงสร้างการผลิตที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อนมากนัก การผลิตยังคงอาศัยแรงงานและทักษะความชำนาญของแรงงานอยู่มาก ขั้นตอนการผลิตหลายขั้นตอนยังไม่สามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตได้ เนื่องจากสินค้ามีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบบ่อยตามแฟชั่น ทำให้ยากต่อการนำเครื่องจักรมาใช้ในการผลิต เช่น อุตสาหกรรมกระเป๋าหนัง อุตสาหกรรมรองเท้าหนัง และอุตสาหกรรมของเล่นสำหรับสัตว์เลี้ยง เป็นต้นจากเหตุผลและข้อจำกัดดังกล่าว ทำให้โครงสร้างการผลิตของอุตสาหกรรมนี มีโครงสร้างการผลิตที่ใกล้เคียงกันในแต่ละประเทศ
ความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบด้านต้นทุนการผลิตในแต่ละประเทศนั้น ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐานหลายประการที่สำคัญได้แก่ ฝีมือแรงงานความสามารถในการออกแบบผลิตภัณฑ์ ความสามารถในการพัฒนาคุณภาพสินค้า ค่าจ้างแรงงาน ความสามารถในการได้มาหรือการมีแหล่งวัตถุดิบราคาถูก
ความพร้อมด้านวัสดุและอุปกรณ์ และต้นทุนการดำเนินการในแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน เช่น อัตราภาษี นำเข้า-ส่งออกภาษีการค้า ระเบียบขั้นตอนของราชการ และระบบสาธารณูปโภค ซึ่งประเทศที่มีความพร้อมในด้านต่างเหล่านี้มากกว่า ก็จะเป็นผู้ที่มีศักยภาพในการแข่งขันที่สูงกว่า
การผลิตเครื่องหนังของไทยในปัจจุบัน ได้มีการพัฒนาทั้งด้านคุณภาพและรูปแบบ โดยมีการนำเครื่องจักรและเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในการผลิตมากขึ้น รวมทั้งการคัดเลือกวัตถุดิบ หนังดิบและหนังฟอกที่มีคุณภาพสูงโดยนำเข้าจากต่างประเทศมาผลิต
นอกจากนี้ในอุตสาหกรรมเครื่องหนังที่มีเครื่องหมายการค้าชั้นนำจากต่างประเทศ ยังสามารถผลิตสินค้าที่สนองตอบความต้องการของตลาดได้ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ แต่จะเป็นสินค้าในตลาดระดับกลาง-ต่ำจึงยังมีการนำเข้าเครื่องหนังจากต่างประเทศ โดยเฉพาะเครื่องหนังที มีชื่อเสียงของผู้ผลิตชั่นนำของโลก เพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภคที่มีรายได้สูง และมีรสนิยมในสินค้าต่างประเทศ
อ้างอิง: สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม