ชุบชีวิตชุมชนเมืองด้วย CBSE | คิดอนาคต
CBSE หรือวิสาหกิจเพื่อสังคมบนฐานชุมชน (Community Based Social Enterprise) นับเป็นเครื่องมือสำคัญหนึ่งในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ที่ใช้โมเดลองค์กรรูปแบบนี้เป็นกลไกสำหรับการพัฒนาคน เมืองและแก้ไขปัญหาสังคมในชุมชน
ในการแก้ไขปัญหาสังคมในชุมชน แทนที่ภาครัฐจะใส่โครงการพัฒนาเมืองและสังคมลงไปในแต่ละชุมชน ภาครัฐได้ก็หันไปสนับสนุนให้เกิด CBSE ขึ้น เพื่อให้ CBSE เข้าไปเป็นกลไกในการพัฒนาคน เมืองและชุมชนแทน
CBSE มีข้อดีคือเป็นองค์กรที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสังคมและชุมชน รวมถึงมีโมเดลทางธุรกิจซึ่งสามารถเลี้ยงตนเองได้ ตลอดจนสามารถเคลื่อนไหวปรับเปลี่ยนกิจกรรมให้สอดคล้องไปกับพลวัตการเปลี่ยนแปลงของเมืองและชุมชนได้ตามอัตโนมัติ ซึ่งเป็นข้อแตกต่างจากโครงการภาครัฐทั่วไป ที่ต้องมีการตั้งโครงการ มีการขอใช้งบประมาณแผ่นดินในแต่ละปี
จึงอาจมีจุดอ่อนในด้านความล่าช้าของเวลา (time lag) ระหว่างปีงบประมาณ รวมถึงโครงการอาจไม่ต่อเนื่องเมื่อไม่มีงบประมาณหรือโครงการถูกยุติเมื่อเปลี่ยนผู้บริหารหรือเปลี่ยนนโยบาย ตลอดจนอาจขาดความคล่องตัวในการเปลี่ยนแปลงโครงการภาครัฐให้ตอบสนองพลวัตในพื้นที่ได้อย่างทันท่วงทีซึ่งแตกต่างจาก CBSE ที่มักมีความคล่องตัวกว่า
Bailey, Kleinhans and Lindbergh (2018) ได้ศึกษา CBSE ในอังกฤษ สวีเดน และเนเธอร์แลนด์ พบว่า CBSE ปรากฏอยู่ในองค์กรและกฎหมายในหลายรูปแบบ มีคุณลักษณะที่สำคัญ 4 ประการ คือ
1) มีรากฐานในชุมชน (locally rooted) คือตั้งอยู่ในสถานทางกายภาพในชุมชนนั้นๆ และทำธุรกิจเพื่อตอบสนองต่อความจำเป็นต่างๆ ของชุมชน
2) ทำธุรกิจเพื่อประโยชน์ของชุมชนท้องถิ่น ไม่ได้ทำเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจแก่เอกชน รายได้มาจากการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจในลักษณะต่างๆ เช่น การค้าและบริการ
3) มีการตรวจสอบและความรับผิด (accountable) ต่อคนในชุมชน เช่น ความเป็นหุ้นส่วนของสมาชิกชุมชนที่สามารถออกเสียงเพื่อการมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางขององค์กร
4) สร้างประโยชน์และผลกระทบในวงกว้างต่อชุมชนท้องถิ่นโดยรวม เช่น เกิดเครือข่ายของสมาชิกชุมชน เกิดการการรวมกันของสมาชิกชุมชนในรูปแบบต่างๆ
มีตัวอย่างของ CBSE มากมายในต่างประเทศที่มีบทบาทในการพัฒนาพื้นที่ เช่นประเด็นวาระการแก้ไขปัญหาและเสริมศักยภาพให้กับเยาวชน มีองค์กรอย่าง “Tweeddale Youth Action” ซึ่งเป็น CBSE ที่มุ่งสร้างพื้นที่ปลอดภัยและเสริมศักยภาพให้กับกลุ่มเยาวชนในสกอตแลนด์
เป็นองค์กรที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ชายแดนสกอตแลนด์ ได้รับเงินสนับสนุนจากสำนักงานวิสาหกิจแห่งสกอตแลนด์ใต้ ในการปรับปรุงอาคารเพื่อให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยของเยาวชน
Tweeddale Youth Action ทำโครงการและกิจกรรมหลากหลายกับเด็กและเยาวชน มุ่งช่วยสนับสนุนงานด้านต่างๆ แก่เยาวชนในเส้นทางจากวัยเด็กสู่วัยผู้ใหญ่ ให้เด็กและเยาวชนเป็นสมาชิกโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย มีการจัดตั้งวิสาหกิจเพื่อสังคมอีก 2 แห่งคือ Food Punks และ Bike Punks
โดย Food Punks เป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมสร้างรายได้ให้แก่ Tweeddale Youth Action ผ่านธุรกิจ การสอนทำอาหาร การจัดเลี้ยง จัดทำอาหารกลางวันส่งถึงผู้บริโภค ส่วน Bike Punks มีรายได้จากการให้เช่าจักรยาน ทำสินค้างานฝีมือและแผ่นป้ายเล็กๆ สำหรับจักรยาน
ประเด็นวาระการฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชน องค์กรอย่าง “Millfields Trust” เป็น CBSE ในอังกฤษที่ต้องการช่วยฟื้นชุมชนขึ้นมาใหม่ ดำเนินงานอยู่ในชุมชน Stonehouse เมืองพลิมัท เริ่มต้นจากการได้พื้นที่โรงพยาบาลเก่ามาจากหน่วยงานท้องถิ่น แล้วนำมาปรับปรุงให้เป็นพื้นที่เช่าสำนักงานสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก และได้ขยายการดำเนินการออกไปในหลายพื้นที่
เป้าหมายคือการสร้างและฟื้นฟูชุมชนขึ้นมาใหม่ ผ่านการจัดให้มีพื้นที่ทำงานและการจ้างงาน ทำให้เด็กๆ มีความฝัน และสร้างโอกาสในงานใหม่ๆ ซึ่งที่ผ่านมามีธุรกิจจำนวนมากกว่า 90 แห่งเช่าพื้นที่และเกิดการจ้างงานจำนวนมาก
หรือองค์กร “Crabbehoeve” เป็น CBSE ในเนเธอร์แลนด์ที่มุ่งสร้างพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับชุมชน เริ่มต้นจากการใช้พื้นที่โรงเรียนเก่าที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองย่าน Crabbehof ซึ่งเคยถูกเสนอให้รื้อถอน นำมาจัดทำเป็นพื้นที่นัดพบอเนกประสงค์สำหรับคนในชุมชน
ใช้ธีมสวนแห่งประสบการณ์ มีทั้งสวนดอกไม้ สวนผัก และใช้ห้องเรียนของโรงเรียนเก่ามาทำเป็นห้องประชุม ห้องรับประทาน และห้องสตูดิโอ เพื่อเป็นสถานที่พบปะกันของคนในชุมชนให้แบ่งปัน แลกเปลี่ยน และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ซึ่งกันและกัน
ในประเด็นวาระแรงงานข้ามชาติและผู้ลี้ภัย องค์กร “Yalla Trappan” เป็น CBSE ในสวีเดนที่มุ่งสร้างงานให้ผู้หญิงที่อพยพเข้ามาและแรงงานข้ามชาติ ก่อตั้งในปี 2553 ในพื้นที่เมือง Malmö ซึ่งมีอัตราการว่างงานสูง จำนวนผู้อพยพและแรงงานข้ามชาติขยายตัว และมีอัตราเยาวชนออกจากโรงเรียนสูง
องค์กรจึงมีจุดมุ่งหมายที่จะช่วยผู้ประสบความยากลำบากในการมีงานทำและเข้าสู่ตลาดแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจ้างงานผู้หญิงที่เป็นผู้ลี้ภัยและแรงงานข้ามชาติ ให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตทางสังคมและอาชีพในเมือง ด้วยการสร้างทักษะที่ผู้หญิงมีอยู่แล้ว เช่น การทำอาหาร การตัดเย็บเสื้อผ้า การทำความสะอาด
เมื่อผู้ลี้ภัยสตรีมาถึงจะมีการฝึกงาน 6 เดือน พร้อมสอนภาษาสวีเดน อบรมทักษะทำงาน เพื่อให้ได้รับการจ้างงานในสวีเดน โดยองค์กรทำงานแบบเป็นหุ้นส่วนอย่างใกล้ชิดกับเทศบาล หน่วยงานรัฐและภาคเอกชน เช่น IKEA, H&M และ Skanska
องค์กร Yalla Trappan ได้รับการยอมรับระดับประเทศและนานาชาติ ได้รับรางวัลความเท่าเทียมแห่งสวีเดนและรางวัลพลเมืองยุโรปของรัฐสภายุโรป
การเปลี่ยนกลยุทธ์จากเดิมที่ภาครัฐทำโครงการเองไปสู่การส่งเสริมให้ CBSE ทำงานแทนให้ในชุมชน น่าจะเป็นทิศทางที่ภาครัฐไทยในอนาคตควรมุ่งไป.
คอลัมน์ คิดอนาคต
ธราธร รัตนนฤมิตศร
วรดุลย์ ตุลารักษ์
สถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future Foundation)
Facebook.com/thailandfuturefoundation