ชูเศรษฐกิจหมุนเวียน“ลดขยะ” ลดคาร์บอน ช่วยธุรกิจช่วยโลก
ปัจจุบันทุกบริษัทให้ความสำคัญ “กิจกรรมปลูกป่า ลดการใช้พลาสติก ลดโลกร้อน” เร่งดำเนินการในทุกภาคส่วนขับเคลื่อนช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อม ลดโลกร้อน ลดคาร์บอน
โดยเฉพาะหาก "สหภาพยุโรป(EU) สหรัฐอเมริกา " และอีกหลายประเทศนำมาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดนมาใช้ ย่อมส่งผลต่อการส่งออก และการทำธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรมต่างๆ จึงจำเป็นต้องมีการปรับตัวเพื่อรับมือ
- มุ่งให้ความรู้เศรษฐกิจหมุนเวียน
“โครงการการพัฒนาหลักสูตรการจัดการขยะและสร้างธุรกิจตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน” หนึ่งในโครงการของมหาวิทยาลัยราชภัฎราชนครินทร์ ได้ร่วมกับบริษัท ดาว ประเทศไทย เพื่อพัฒนากำลังคนในพื้นที่นำร่องจ.ฉะเชิงเทรา และบริเวณตะวันออก ทั้งในชุมชนและภาคอุตสาหกรรมเรียนรู้การจัดการโรงงานแบบขยะเหลือศูนย์ “Zero Waste” โดยจะมีการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางการผลิตไปจนถึงได้ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ รวมถึงการใช้ทรัพยากรในการผลิตสิ่งต่างๆ
รศ.ดร.ดวงพร ภู่ผะกา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎราชนครินทร์ ให้สัมภาษณ์ว่าสถาบันการศึกษา มีภารกิจในการสร้างความรู้เพื่อพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ซึ่งเมื่อเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้ทุกภาคส่วนต้องปรับตัวเปลี่ยนแปลงตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิต รวมถึงเทคโนโลยีนวัตกรรมต่างๆที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยการปรับตัวนอกจากจะคำนึงถึงคุณภาพชีวิต พัฒนาศักยภาพตัวเองแล้ว ต้องร่วมดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ลดคาร์บอน ลดโลกร้อนด้วย
- วัตถุดิบหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่
“เศรษฐกิจหมุนเวียน จะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน BCG คือ Bio Economy ระบบเศรษฐกิจชีวภาพ มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพอย่างคุ้มค่า จะทำอย่างไรให้มีการเพิ่มมูลค่าแก่สินค้า C Circular Economy ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่คำนึงถึงการนำวัสดุต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด ทำอย่างไรให้สินค้ามีการลดคาร์บอน ทำให้เกิด Zero Waste และ G Green Economy ระบบเศรษฐกิจสีเขียว ทุกอย่างในโลกเป็นกรีน มีความสะอาด ปลอดภัย และลดผลกระทบต่อโลกอย่างยั่งยืน” รศ.ดร.ดวงพร กล่าว
ประทรรศน์ สูตะบุตร ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจหมุนเวียน กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าวว่าการเตรียมการรับมือกับการดำเนินธุรกิจโดยต้องคำนึงถึงการลดคาร์บอน การดูแลสิ่งแวดล้อม ลดใช้พลังงาน ต้องเตรียมการในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะความรู้ให้แก่บุคลากร ผู้ประกอบการ ชาวบ้านชุมชน ท้องถิ่น ภาคอุตสาหกรรม
เริ่มตั้งแต่รู้ว่าเศรษฐกิจหมุนเวียนคืออะไร สร้างความรู้ความเข้าใจ และนำไปปรับใช้กับบริบทของแต่ละชุมชนได้อย่างไร นำไปสู่การสร้างธุรกิจ เพื่อสามารถแข่งขันระหว่างประเทศได้ ควรทำอย่างไร ซึ่งหลักสูตรที่ทางมหาวิทยาลัยกับบริษัท ดาวฯ ร่วมมือกันจะเป็นการให้ความรู้ผ่านการนำเทคโนโลยี และผู้เชี่ยวชาญมาถ่ายทอด เพื่อสู่การปฎิบัติจริง และสร้างจิตสำนึกการดูแลสิ่งแวดล้อม ลดคาร์บอนให้แก่ทุกคน
- ตั้งเป้าลดคาร์บอน15%ในปี2573
สำหรับธุรกิจที่ดำเนินการในปัจจุบันเป็นธุรกิจเชิงเดี่ยว เป็นการใช้ทรัพยากรและหมดไป แต่หลังจากนี้จะต้องนำของที่ผลิตแล้วใช้แล้วมาเป็นวัตถุดิบ หมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ ตามข้อกำหนดในการแข่งขันระหว่างประเทศ การนำเข้าส่งออกไปประเทศพัฒนาแล้ว สัดส่วนบรรจุภัณฑ์ หรือผลิตภัณฑ์ที่จะจัดส่งไปในยุโรป อเมริกา ต้องมีสัดส่วนของรีไซเคิลเท่าไหร่ อย่างไร
บริษัท ดาว ประเทศไทยกำหนดเป้าการทำงานด้านความยั่งยืน ปี 2568 จะเป็นผู้นำด้านแผนแม่บท จะมีการพัฒนาแผนแม่บทโดยบูรณาการโซลูชั่นด้านนโยบายสาธารณะ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งนวัตกรรมด้านห่วงโซ่คุณค่าเพื่อขับเคลื่อนโลกและสังคมสู่ความยั่งยืน คิดค้นนวัตกรรมแห่งอนาคต พัฒนานวัตกรรมทางเคมีเพื่อความเป็นอยู่ที่ดี
เดินหน้าเศรษฐกิจหมุนเวียน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนในการนำทรัพยากรกลับมาใช้ได้ใหม่แบบครบวงจรในตลาด ให้ความสำคัญกับธรรมชาติ เราจะใช้กระบวนการตัดสินใจทางธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับธรรมชาติ วัสดุที่ปลอดภัยสำหรับโลกที่ยั่งยืน การมีส่วนร่วมเพื่อผลสัมฤทธิ์ชุมชน พนักงาน ลูกค่า และประสิทธิภาพการปฎิบัติงานชั้นนำระดับโลก
โดยภายในปี 2573 จะลดการปล่อยคาร์บอนลง 15% หรือ 5 ล้านตัน ขยะพลาสติก 1 ล้านตันจะถูกเก็บกลับเพื่อนำมาใช้ใหม่หรือรีไซเคิล ภายในปี 2578 ผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของบริษัท ดาว ที่นำไปผลิตเป็นแพคเกจจิ้งจะต้องนำกลับมาใช้ใหม่หรือรีไซเคิลได้ และภายในปี 2593 บริษัท ดาว จะปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์
- จัดการขยะต้องเริ่มที่“คัดแยก”
ประทรรศน์ เล่าต่อว่าเทคโนโลยี นวัตกรรมเป็นสิ่งที่สำคัญในการช่วยลดคาร์บอน จัดการขยะพลาสติก แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือองค์ความรู้ ความเข้าใจของคน ผู้บริโภค เพราะจากการสำรวจพบว่าการจัดการขยะพลาสติกที่ได้ผลดีที่สุด คือ ทุกคนมีทัศนคติในการจัดการขยะ และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการคัดแยกขยะ เนื่องจากตอนนี้บริษัทดาว และบริษัทใหญ่ๆ ของประเทศไทยต่างมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการจัดการขยะพลาสติก แต่ปัญหาคือคุณภาพของพลาสติกที่จัดเก็บมีคุณภาพไม่ดีพอ
“การจะทำให้พลาสติกมีคุณภาพดีพอในการจัดการขยะพลาสติกด้วยเทคโนโลยี ต้องให้ความรู้แก่ประชาชน และปลูกฝังทัศนคติในการจัดการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ครอบครัว จนถึงกระบวนการขนส่งพลาสติกไปถึงบริษัท โรงงานที่มีเทคโนโลยีในการจัดการขยะพลาสติก ทุกฝ่ายต้องเชื่อมต่อเข้าถึงกันให้ได้ โครงการนี้จะเป็นการนำร่องในพื้นที่ที่กำหนดไว้ในการจัดการขยะแบบครบวงจรก่อนขยายไปสู่จังหวัดอื่นๆ”ประทรรศน์ กล่าว
ความรู้เรื่องการจัดการขยะ คัดแยกขยะ เชื่อว่าหลายๆ บ้าน หลายคนย่อมมีความรู้ดังกล่าวอยู่แล้ว เพียงแต่ในทางปฎิบัติอาจจะไม่ได้ครอบคลุมไปทุกครอบครัว ทุกพื้นที่
ประทรรศน์ ระบุว่าเรื่องจัดการขยะพลาสติกมีการดำเนินการมาอย่างยาวนาน แต่ที่ไม่ได้ผลชัดเจน เพราะมีการให้ความรู้เพียงอย่างเดียว ไม่ได้สร้างความเข้าใจและทัศนคติที่ดีว่าหากทุกคนคัดแยกขยะ ร่วมลดขยะพลาสติกจะทำให้สิ่งแวดล้อม โลกเป็นอย่างไรบ้าง และต้องมีการทำให้ทุกคนเห็นคุณค่าของขยะว่ามีค่า มีราคา และทุกคนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการปัญหานี้ได้