"หมอธีระ" เผยจับตา "โควิด-19" ในจีน ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทำลายสถิติรอบสามปี
"หมอธีระ" เผยจับตา "โควิด-19" ในประเทศจีน กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วจนจำนวนติดเชื้อรายวัน ทำลายสถิติเท่าที่เคยมีการระบาดมาในรอบสามปี
เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2565 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ หรือ "หมอธีระ" คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat" ถึงประเด็น "โควิด-19" ระบุว่า
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 291,643 คน ตายเพิ่ม 447 คน รวมแล้วติดไป 645,867,540 คน เสียชีวิตรวม 6,635,701 คน
5 อันดับประเทศที่ติดเชื้อโควิดสูงสุด คือ
- ญี่ปุ่น
- เกาหลีใต้
- ฝรั่งเศส
- ไต้หวัน
- ฮ่องกง
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 16 ใน 20 อันดับแรกของโลก
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 95.84 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 89.7
ภาพรวมของโควิดทั่วโลก
ข้อมูลจาก Ourworldindata เช้านี้ ชี้ให้เห็นว่าในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ทั่วโลกมีจำนวนการติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้นชัดเจน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
โดยเฉพาะอย่างยิ่งทวีปเอเชีย อเมริกาใต้ โอเชียเนีย และยุโรป
ในเอเชีย ที่น่าจับตาดูอย่างใกล้ชิดคือ จีน ซึ่งมีการระบาดขยายตัวอย่างรวดเร็วจนจำนวนติดเชื้อรายวันนั้นทำลายสถิติเท่าที่เคยมีการระบาดมาในรอบสามปี ล่าสุดติดไปกว่า 35,000 คน ที่น่าสนใจคือรายงานจากข่าวที่ระบุว่าส่วนใหญ่ราว 90% ที่ติดเชื้อแบบไม่มีอาการ ซึ่งแตกต่างจากข้อมูลการการวิจัยทางคลินิกของประเทศต่างๆ ที่ชี้ให้เห็นว่าสายพันธุ์ที่แพร่ในปัจจุบันนั้นส่วนใหญ่ทำให้เกิดอาการป่วย โดยมีสัดส่วนผู้ติดเชื้อแบบไม่มีอาการน้อย
ดังนั้นจึงน่าสนใจว่าการระบาดในจีนนั้นเกิดจากสายพันธุ์ใด และมีความแตกต่างจากประเทศอื่นทั่วโลกหรือไม่ หรือการตรวจพบว่าติดเชื้อจำนวนมากนั้นเกิดจากกระบวนการตรวจหาแบบ mass screening ทำให้พบติดเชื้อในระยะแรกก่อนที่จะเกิดอาการป่วย
หากจำแนกการระบาดทั่วโลกตามระดับรายได้ของประเทศ จะพบว่า การระบาดที่เพิ่มขึ้นมากในช่วงนี้นั้นตกอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้สูง และรายได้ปานกลางระดับสูง (ซึ่งไทยก็จัดอยู่ในกลุ่มนี้) ซึ่งคงพออธิบายได้โดยอ้อมว่าการระบาดที่มากขึ้นย่อมสัมพันธ์กับกิจกรรมต่างๆ ทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นมากในกลุ่มประเทศเหล่านี้ ทั้งในภาคอุตสาหกรรมการผลิต บริการต่างๆ รวมถึงการท่องเที่ยวด้วย
อัพเดต Long COVID เรื่องปัญหาการนอนหลับ
Moura AEF และคณะ จากประเทศบราซิล ตีพิมพ์ผลการวิจัยติดตามประเมินกลุ่มผู้ป่วยที่เคยติดเชื้อโรคโควิด-19 และประสบปัญหา Long COVID จำนวน 189 คน
สาระสำคัญที่พบคือ ปัญหาด้านการนอนหลับนั้นพบบ่อยราวหนึ่งในสี่ (25.3%)
โดยส่วนใหญ่จะเกิดอาการนอนไม่หลับ (22.2%) และมีส่วนน้อยที่ประสบปัญหานอนมากกว่าปกติ (3.1%)
ทั้งนี้ ผู้ป่วย Long COVID ในการวิจัยนี้ กว่าครึ่งหนึ่งก็มีปัญหาด้านความคิดความจำด้วย (53.4%)
...ผลการศึกษานี้ก็สอดคล้องกับสิ่งที่เราพบในปัจจุบัน ที่มีคนจำนวนไม่น้อยที่ประสบปัญหาทั้งเรื่องนอนไม่หลับ รวมถึงปัญหาด้านความคิดความจำ ซึ่งกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวัน การทำงาน หรือการเรียนได้
ภาวะ Long COVID นั้นเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย และไม่ว่าจะติดเชื้อแบบไม่มีอาการ อาการน้อย หรืออาการมาก
ผู้ใหญ่เสี่ยงกว่าเด็ก เพศหญิงเสี่ยงกว่าเพศชาย ติดเชื้อแล้วป่วยรุนแรงเสี่ยงกว่าอาการน้อยหรือไม่มีอาการ
อาการผิดปกติเกิดได้ทุกระบบในร่างกาย และส่งผลให้เกิดปัญหา รวมถึงโรคเรื้อรังตามมาในระยะยาวได้
การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ หรือไม่ให้ติดเชื้อซ้ำย่อมเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะป้องกัน Long COVID
ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ครบตามกำหนด จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะป่วยรุนแรง ตาย และ Long COVID ได้
ใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท เลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง สถานที่แออัดระบายอากาศไม่ดี
เหนืออื่นใด การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องระหว่างตะลอนนอกบ้าน จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก
อ้างอิง
Moura AEF et al. Central hypersomnia and chronic insomnia: expanding the spectrum of sleep disorders in long COVID syndrome - a prospective cohort study. BMC Neurology. 9 November 2022.