เส้นทางสัญจร ต้นแบบ "บางบัว - สะพานใหม่" แก้ปัญหาทางเท้าอย่างยั่งยืน
มหาวิทยาลัยศรีปทุม ผนึก กรุงเทพมหานคร มูลนิธิอารยสถาปัตย์ และ ประชาชน นำร่องโครงการเส้นทางสัญจรต้นแบบ บางบัว - สะพานใหม่ เพื่อทุกคน ปลดล็อกแก้ปัญหา "ทางเท้า" อย่างยั่งยืน
การพัฒนาเมือง และความเปลี่ยนแปลงของเมือง ซึ่งมีทั้งทางด้านกายภาพ และ ประชากร ทั้งสองมีความสัมพันธ์กัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ "ด้านประชากร" อาทิ สุขภาพ คนอายุยืนขึ้นรวมไปถึงกลุ่มคนพิการก็มีอายุยืนยาวเช่นกัน ดังนั้น คนสองกลุ่มนี้จะมีความเสี่ยงจากการพัฒนาเมืองค่อนข้างมาก โดยเฉพาะปัจจุบัน ที่มีความเร่งรีบ รวดเร็ว และเทคโนโลยีมากมาย ทำให้การเข้าถึงอย่างมีข้อจำกัด
ขณะเดียวกัน ในประเด็น “ด้านกายภาพ” การขยายตัวของระบบขนส่งสาธารณะและเทคโนโลยีต่างๆ ทำให้ลักษณะกายภาพของทางเท้าถูกเปลี่ยนแปลงไป ผู้สูงวัยและผู้พิการทั้งสองกลุ่ม ประสบปัญหาในการเดินทาง นอกจากนี้ สัดส่วนของประชากรผู้สูงอายุจะมากขึ้น ขณะที่วัยทำงานลดลง คนที่คอยเกื้อกูลคนเหล่านี้ลดน้อยลง เมื่ออายุยืนยาวก็ต้องพึ่งพาตนเองให้ได้มากขึ้น
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ กนกวรรณ อุสันโน อาจารย์คณะการออกแบบและสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม อธิบายว่า ที่ผ่านมา ภาครัฐมีการดำเนินการเพื่อตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของสังคมและการพัฒนาเมือง ไม่ว่าจะเป็นการอำนวยความสะดวก ออกนโยบาย หรือร่างกฎหมาย เพื่อให้คนพิการเข้าถึงงาน และการศึกษา ทำให้คนกลุ่มนี้มีโอกาสออกไปนอกบ้าน ทำสิ่งต่างๆ เพื่อให้คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม ต้นทุนคนกลุ่มนี้สูงมาก เช่น การเดินทางของผู้พิการวีลแชร์ พบว่า ต้องไปทำงานสายขึ้นเพราะการขึ้นรถเมล์ หรือรถไฟฟ้าแต่ละครั้ง จะต้องแทนที่คนทั่วไปที่กำลังเร่งรีบอยู่ราว 4-6 คน เพราะต้องใช้พื้นที่เยอะ หรือผู้พิการทางสายตาที่ต้องนั่งแท็กซี่ซึ่งต่อวันมีราคาสูง จึงมีข้อจำกัดแม้ว่าเมืองจะพยายามพัฒนา
ขณะเดียวกัน เมื่อมีการศึกษาที่ดี และอยากเข้าถึงระบบงาน แต่กายภาพของเมืองที่จะเอื้อให้เขาสามารถได้รับสิทธิต่างๆ เหล่านั้นยังไม่ยั่งยืน เมืองอาจจะพัฒนาเป็นส่วนๆ แต่ต้องคำนึงว่าการเปลี่ยนแปลงบางอย่างกระทบต่อคนกลุ่มหนึ่ง ดังนั้น หากเมืองมีการเตรียมสิ่งอำนวยการสะดวก ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย จะเอื้อให้คนทุกคนสามารถพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น
ต้นแบบ บางบัว-สะพานใหม่
ล่าสุด มหาวิทยาลัยศรีปทุม โดย คณะการออกแบบและสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผนึกกำลังภาคีการพัฒนาเมือง จากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยมี สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ร่วมกับ มูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล เดินหน้าโครงการ “เส้นทางสัญจรต้นแบบเพื่อทุกคน” แก้ไขปัญหาทางเท้าและสะพานลอยจากบริบทเมืองที่เปลี่ยนแปลง อาทิ ทางเท้าแคบ-บันไดสะพานลอยขวาง ใช้พื้นที่บางบัว–สะพานใหม่ ระยะทาง 4.3 กิโลเมตร
เป็นต้นแบบการพัฒนาสำรวจร่วมกับภาคประชาชนเพื่อออกแบบแก้ปัญหาตามให้ทุกคนใช้ประโยชน์ได้ต่อเนื่องตลอดเส้นทาง คงอัตลักษณ์ของชุมชนเพื่อทุกคน ส่งเสริมการพึ่งพาตนเองในการเดินทาง แก้ปัญหาสภาพแวดล้อมพิการ ได้ตรงจุดและยั่งยืน เชื่อมโยงการเดินสัญจรทั่วถึง ทุกเพศ ทุกวัย ทุกเส้นทาง แบบไร้รอยต่อ ยกระดับคุณภาพชีวิตด้วยการสัญจรที่สะดวกปลอดภัย มุ่งเป็นโมเดลต้นแบบงานปรับปรุงเฉพาะจุด จัดระบบสาธารณูปโภคโดยไม่ต้องรื้อถอนทั้งระบบปลดล็อกแก้ปัญหาทางเท้าอย่างยั่งยืน สอดรับกับการพัฒนาเมือง
“คนพิการกับทางเท้า ซึ่งมีการร้องเรียนไปยัง กทม. เนื่องจากเขาไม่สามารถใช้ประโยชน์ทางเท้าได้ตลอดรอดฝั่ง แม้ กทม. จะมีความพยายามจัดเตรียมทางลาดสำหรับขึ้นลง สิ่งอำนวยความสะดวก แต่พบว่า ถนนที่ขยายทำให้สะพานลอยที่มีอยู่เดิมเบียดบังทางเท้า ทำให้คนพิการไม่สามารถสัญจรได้ รวมถึงป้ายรถเมล์บางแห่งที่อยู่บนฟุตปาธแคบ และคนนั่งรออยู่เต็มทำให้ไม่สามารถผ่านได้ ขณะเดียวกันก็ไม่สามารถรื้อสะพานลอยได้ เพราะยังจำเป็นสำหรับผู้สูงอายุที่สามารถเดินขึ้นได้และเด็ก”
“มหาวิทยาลัยศรีปทุม โดยคณะการออกแบบและสถาปัตยกรรมศาสตร์ ในฐานะสถาบันการศึกษาที่อยู่ในพื้นที่ที่มีข้อร้องเรียน จึงมองว่าเราจะสามารถใช้ความเชี่ยวชาญในเรื่องของการออกแบบเพื่อแก้ปัญหา การใช้ประโยชน์ และด้านโครงสร้างมาช่วยแก้ปัญหาคนพิการและกทม.”
แผนพัฒนาเส้นทาง 4.3 กม. เพื่อทุกคน
สำหรับพื้นที่ต้นแบบบางบัว – สะพานใหม่ มีชุมชนกว่า 70 ชุมชน เป็นพื้นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยศรีปทุม และเป็นเส้นทางเชื่อมการใช้ชีวิตทั้งมหาวิทยาลัย โรงพยาบาล สถานที่ราชการ โรงเรียน วัด ตลาด ชุมชน ห้างสรรพสินค้า และทางเชื่อมระหว่างการเดินทางนอกเมืองเข้าสู่การทำงานในเมือง เป็นพื้นที่จะสามารถเชื่อมโยงการใช้ชีวิตได้ทั้งการทำงาน การศึกษา ซึ่งเหมาะสำหรับการทำพื้นที่สาธารณะต้นแบบ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ กนกวรรณ กล่าวต่อไปว่า จากการสำรวจพื้นที่บางบัว - สะพานใหม่ ปัญหาที่พบ คือ เนื่องจากมีตึกแถวที่เป็นร้านค้า จึงมีการตัดขอบฟุตปาธขึ้นไปเพื่อเอารถเข้าบ้าน บางส่วนแคบ และตัดฟุตปาธ ทำให้วีลแชร์ผ่านไม่ได้ ปัญหานี้เริ่มเบาบางลงเนื่องจากมีรถไฟฟ้าเข้ามาจัดการทางเท้าบางส่วน
ถัดมา คือ ทางลาดของกทม. อยู่ในตำแหน่งกระชั้น อันตราย ทำให้ไม่สามารถขึ้นลงเองได้ โดยเฉพาะคนพิการที่ไม่แข็งแรงพอ แม้จะพาวีลแชร์ผู้สูงอายุผ่าน คนเข็นที่ไม่มีแรงพอก็ไปไม่ได้ และเรื่องของช่องทางระหว่างสะพานลอย ร้านค้า และขอบทางแคบ ทำให้วีลแชร์ผ่านไม่ได้ หรือตำแหน่งปลูกต้นไม้ทำให้ไม่สามารถทำฟุตปาธแบบปกติได้ ดังนั้น หากการออกแบบเป็นรูปเป็นร่าง จำเป็นต้องมีการทำประชาพิจาร ทั้งผู้ประกอบธุรกิจ ผู้อยู่อาศัยริมทางเท้า หรือผู้ที่ต้องใช้ทางเท้าอีกขั้นหนึ่ง
สำหรับนักศึกษาที่จะได้มีส่วนร่วมสัมผัสประสบการณ์จริงในโครงการนี้ ใช้การบูรณาการทั้ง สาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์ ตั้งแต่ชั้นปีที่ 2-4 เป็นส่วนใหญ่ ขณะที่ สาขาออกแบบภายใน คือ นักศึกษาปี 2-3 ก็มีส่วนร่วมในการร่วมออกแบบด้วย
เรียนรู้จากการทำงานจริง
สำหรับ คณะการออกแบบและสถาปัตยกรรมศาสตร์ ได้มีการบูรณาการการศึกษาสู่การปฏิบัติจริงมาตั้งแต่ในปี 2558 “อาจารย์ธีรบูลย์ พิศาลอภิพงศ์” คณบดีคณะการออกแบบและสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม กล่าวว่า พันธกิจหลักของมหาวิทยาลัย คือ การให้บริการชุมชน ขณะที่ทางคณะฯ ก็มองว่าเป็นสิ่งที่ต้องทำเพื่อสอดคล้องกับนโยบายมหาวิทยาลัยในการเรียนรู้กับประสบการณ์จริง เพราะทุกครั้งที่เราลงพื้นที่ชุมชน หมายความว่านักศึกษาได้เดินทางออกนอกพื้นที่มหาวิทยาลัย ได้ลงพื้นที่จริง พบปะคนที่ใช้งาน ทำงานบนโจทย์จริง และได้ทำงานกับผู้ประสบปัญหาจริง สุดท้าย จะถูกนำไปพัฒนาต่อยอดและสร้างขึ้นมาเพื่อใช้ประโยชน์ได้จริง
“การทำงานที่จะทำให้เกิดขึ้นได้จริง จะต้องอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่าย จับมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะกับชุมชนในพื้นที่ หากทำบนถนนเส้นนี้เชื่อว่าจะเป็นต้นแบบในการใช้กับพื้นที่ทุกส่วน ใน กทม. รวมถึง ต่างจังหวัดด้วย”
ความร่วมมือ สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
ทั้งนี้ สำหรับเงินทุนสนับสนุน ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญ ส่วนใหญ่เบื้องต้นจะมาจาก กทม. โดยคาดว่าจะยื่นได้ในปีงบประมาณ 2566 ขณะที่ ระยะยาว โครงการนี้จะสำเร็จและยั่งยืน ต้องได้รับการดูแลจากประชาชนในพื้นที่ และต้องการการสนับสนุนเรื่องของเงินทุนงบประมาณบางส่วนจากเอกชนในพื้นที่ เพื่อให้โครงการนี้สามารถดำเนินการต่อได้และต่อเนื่องอย่างยั่งยืน
"เบื้องต้นมีการพูดคุยกับภาคเอกชนที่ทำธุรกิจที่พักอาศัยซึ่งก็มีความสนใจ แต่สิ่งสำคัญ คือ ต้องทำให้เห็นภาพว่าสิ่งที่เรากำลังจะทำ ภาพรวมจะเป็นอย่างไร และส่งเสริมสภาพสังคม คุณภาพชีวิตพวกเขาได้อย่างไร"
ภาพความสำเร็จที่อยากเห็น "คณบดีคณะการออกแบบและสถาปัตยกรรมศาสตร์" มองว่า อยากให้โครงการถูกพัฒนาให้มีความเป็นรูปธรรมที่สุด และอยากให้ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมมือกัน นอกจากขณะนี้ที่มี 4 ภาคส่วน คือ มหาวิทยาลัยศรีปทุม กรุงเทพมหานคร มูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล และ ประชาชน ยังต้องการความร่วมมือกับภาคเอกชน บนพื้นที่ 4.3 กิโลเมตรเข้ามาร่วมให้ได้มากที่สุด
Universal Design เพื่อให้ทุกคน
ขณะที่ มูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล เข้ามาสนับสนุนในการให้ข้อมูล ให้คำปรึกษา สื่อสารประชาสัมพันธ์ และเชื่อมต่อบุคคลต่างๆ ที่ทางมหาวิทยาลัยอาจจะเชื่อมไม่ถึง
"กฤษณะ ละไล" ประธานมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล กล่าวเพิ่มเติม การคำนึงถึงการออกแบบทางเท้าให้สามารถรองรับการใช้ชีวิตได้อย่างเท่าเทียมกันจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น ตามหลักออกแบบอารยสถาปัตย์ (Universal Design) เพื่อให้ทุกคนได้มีสภาพแวดล้อม การใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบาย สามารถเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณูปโภคต่างๆ ได้โดยไม่เกิดอุปสรรคในการใช้ชีวิต
"ดังนั้น การออกแบบอารยสถาปัตย์ในพื้นที่สาธารณะต่างๆ จึงจำเป็นต้องคำนึงถึงองค์ประกอบการใช้งานที่เหมาะสมกับประชาชนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของขนาดพื้นที่ใช้งาน วัสดุอุปกรณ์ ราวจับ ความลาดชัน รวมไปถึงสัญลักษณ์ต่าง ๆ เพื่อเอื้อต่อความสะดวกให้การเดินทางตามวัตถุประสงค์ของ โครงการ “เส้นทางสัญจรต้นแบบเพื่อทุกคน”
3 แนวทางเสนอทางแก้ กทม.
“ประสิทธิ์ อินทโฉม” รองผู้อำนวยการ สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ปัจจุบันกรุงเทพมหานครได้พัฒนาระบบคมนาคมทั้งรถเมล์ชานต่ำและรถไฟฟ้าที่พร้อมจะส่งคนพิการไปยังจุดหมาย รวมถึงได้เดินหน้าพัฒนาปรับปรุงทางเท้ามาอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมให้คนพิการเดินทางได้ด้วยตนเองตามกำลังความสามารถ ลดการพึ่งพาผู้อื่น แต่การพัฒนาเมืองและระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ที่เอื้อต่อความสะดวกสบายในการใช้ชีวิต
"การปรับปรุงเส้นทางการจราจร การตัดถนน อาจทำให้ทางเท้าซึ่งสร้างตามมาตรฐานไปกระทบการใช้งานของประชาชน การขยายความกว้างถนนทำให้ทางเท้าแคบลง บันไดสะพานลอยกลายเป็นสิ่งกีดขวาง ตำแหน่งสถานีรถไฟฟ้า การติดตั้งเสาไฟ หรืออุปกรณ์อื่น ๆ บนพื้นที่ทาง ทำให้การใช้งานทางเท้าเปลี่ยนแปลงไป"
สำนักการโยธากรุงเทพมหานคร ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยศรีปทุมลงพื้นที่ศึกษา บนเส้นทางบางบัว-สะพานใหม่ ร่วมกับกรุงเทพมหานครและกลุ่มคนพิการผู้ใช้ทางเท้า เพื่อรับฟังความคิดเห็นทั้งปัญหาโดยตรงและทางอ้อมจากประชาชน นำไปสู่การพัฒนารูปแบบให้สอดรับกับความต้องการ ในเบื้องต้นเสนอแก้ปัญหาทางเท้าและสะพานลอยใน 3 ลักษณะหลัก ๆ ประกอบด้วย
- การปรับสิ่งกีดขวางบนทางเท้า
- ปรับบันไดสะพานลอยตั้งแต่ช่วงชานพัก
- ขยายพื้นที่ทางเท้าด้านชิดอาคาร
โดย มหาวิทยาลัยศรีปทุม ได้ยื่นเสนอกับ กรุงเทพมหานคร พร้อมรับความเห็นชอบ ปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาลักษณะปัญหาอื่นๆตลอดเส้นทาง เพื่อนำร่องพัฒนารูปแบบมาตรฐานในการแก้ปัญหา นำไปปรับปรุง และขยายผลสู่พื้นที่อื่นๆต่อไป โครงการเส้นทางสัญจรต้นแบบเพื่อทุกคน ถือเป็นโครงการต้นแบบการผนึกกำลังความร่วมมือของภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยกันสำรวจและออกแบบแก้ไขร่วมกัน บนการเดินหน้านโยบายปรับปรุงพัฒนาพื้นที่ทางเท้า
รวมถึงปรับปรุงสะพานลอยให้เหมาะสมกับการใช้งานของทุกคน และคงความเป็นอัตลักษณ์ของชุมชน สอดรับกับนโยบายของกรุงเทพมหานครได้อย่างรวดเร็วและยั่งยืน และจะกลายเป็นโครงการการนำร่องต้นแบบการจัดการเส้นทางสัญจรบนทางเท้า