อุดรสร้างสุขฯ “พื้นที่สร้างสรรค์” สกัดกั้นนักดื่ม - นักเล่นหน้าใหม่
สสส. ร่วมกับ สคล. มรพ. และเครือข่ายสื่อ – ภาคประชาสังคม จังหวัดอุดรธานี จัดเวที "อุดรสร้างสุขฯ" สานพลังทุกภาคส่วนร่วมบูรณาการสร้าง “พื้นที่สร้างสรรค์” ลด “พื้นที่เสี่ยง” สกัดกั้นนักดื่ม - นักเล่นหน้าใหม่ จัดระเบียบสังคมสู่นครสุขภาวะ
สถานการณ์แนวโน้มการดื่ม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ของผู้ที่อายุ 15 ปีขึ้นไปมีแนวโน้มลดลงจากร้อยละ 34.0 ในปี 2558 เป็นร้อยละ 28.0 ในปี 2564 อายุเฉลี่ยที่เริ่มดื่มครั้งแรก คือ 20.4 ปี
สถานการณ์การบริโภคแอลกอฮอล์ในภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีความชุกของนักดื่มสูงสุดเป็นอันดับสอง คือ ร้อยละ 32.3 ในส่วนของการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ตามงานเทศกาล/งานประเพณีในรอบปี พบว่า มีการเคยไปดื่มฯ ในสถานที่ดังกล่าวร้อยละ 59.4 ซึ่ง 2 ใน 3 เป็นการได้เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ฟรีจากงาน/ผู้จัดงาน (ร้อยละ 63.4)
ขณะที่ สถานการณ์ภาพรวมการพนันปี 2564 โดยศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน พบว่า คนไทยเล่นการพนันประมาณ 32.3 ล้านคน ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นประมาณ 1.9 ล้านคน เมื่อเทียบกับปี 2562
ทางด้านทัศนคติที่เกี่ยวกับการพนัน เห็นว่าการรายงานข่าวของสื่อมวลชน เช่น คนถูกสลากกินแบ่งรัฐบาลรางวัลที่ 1 รวมถึงการตีข่าวเลขเด็ดจากเหตุการณ์ต่างๆ ทำให้คนเล่นพนันเพิ่มขึ้นร้อยละ 74.3 การให้ข้อมูลความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการพนันจึงมีความสำคัญ เพื่อให้เห็นผลกระทบจากการพนันและมีแนวทางการป้องกันตนเองและคนในครอบครัวไม่ให้ติดพนัน
ล่าสุด สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ จังหวัดอุดรธานี , เครือข่ายสื่อสุขภาวะลดปัจจัยเสี่ยง , บริษัท โฮมเคเบิ้ล ทีวี แอนด์ วิดีโอ 1990 และ สถานีโทรทัศน์ Cable Channel37HD , สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) , มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน (มรพ.) ได้จัดเวทีสาธารณะ หัวข้อ “อุดรสร้างสุข รื่นเริงรับลมหนาว : ปลอดเหล้า ปลอดพนัน ปลอดภัย”
เพื่อรณรงค์ตอกย้ำสร้างค่านิยมการจัดงานเฉลิมฉลองส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ ด้วยวิถีชีวิตสุขภาวะ ปลอดเหล้า ปลอดพนัน และปลอดภัย อันจะนำไปสู่วัฒนธรรมการจัดงานเทศกาล งานรื่นเริง งานกาชาดและงานประจำจังหวัด ให้เป็นการจัดงานเชิงสร้างสรรค์ ปลอดอบายมุข และปัจจัยเสี่ยง ณ ห้องประชุม 1 อาคารเฉลิมพระเกียรติฯ มหาวิทยาลัยราชภัฏจังหวัดอุดรธานี
เดินหน้า อุดรฯ สู่นครสุขภาวะ
นายนิติพัฒน์ ลีลาเลิศแล้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า ที่ผ่านมา จ. อุดรธานี ได้มีการทำงานร่วมกับ สสส. และ สคล. ผลักดันการจัดงานบุญประเพณี งานเลี้ยง และงานกิจกรรมต่าง ๆ ของอุดรธานีปลอดเหล้า ปลอดบุหรี่ เมื่อมีความชุของปัจจัยเสี่ยงการพนันเข้ามาจังหวัดไม่ได้นิ่งนอนใจ และเห็นเป็นโอกาสในการทำงานร่วมกับ สสส. มรพ. และภาคีเครือข่าย ยกระดับเมืองสู่ "นครสุขภาวะ"
เพื่อขยายผลการสร้างความรู้ให้ประชาชนตระหนักและเท่าทันปัจจัยเสี่ยงทั้งเหล้า บุหรี่ และการพนัน ซึ่งการควบคุมดูแลปัจจัยเสี่ยงในเรื่องนี้ซึ่งเข้าข่ายปัจจัยเสี่ยงประเภทเสพติด เราต้องทำคู่ขนานไปทั้งงานรณรงค์ให้ความรู้ และงานเยียวยาฟื้นฟูคนที่เคยดื่ม เคยสูบ และเคยเล่น ได้ลด ละ เลิก เพื่อสร้างประชากรที่มีคุณภาพให้กับประเทศชาติ
ทั้งนี้ เมืองจะมีสุขภาวะที่ดีได้ สังคมต้องเป็นสุข โดยต้องเริ่มจากคนที่อยู่ในสังคมต้องเป็นคนดี ต้องมีสุขภาวะที่ดี ประกอบด้วย
1.สุขภาพกายดี ต้องไม่ทำอะไรที่ทำร้ายร่างกายตัวเอง เช่น ไม่กินเหล้า สูบบุหรี่
2.สุขภาวะทางใจดี เช่น ไม่โกรธ ไม่มีกิเลส ไม่แก่งแย่งกับใคร มีความสุขทางใจ
3.ปัญญาดี เกิดจากการศึกษาหาความรู้ รู้จักคิด มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
อุดรธานี เมืองแห่ง MICE CITY
อีกหนึ่งที่มีความสำคัญ คือ เศรษฐกิจดี อุดรธานี เป็นเมืองแห่ง MICE CITY เป็นเมืองแห่งการจัดประชุมและนิทรรศการ ปีหน้าอุดรธานีจะเป็นเจ้าภาพจัดกีฬามหาวิทยาลัยแห่งชาติ จากนั้นก็ เป็นเจ้าภาพจัดมหกรรมจักรยานทางไกล เลอแทปไทยแลนด์ บายตรูเดอฟร็อง และเป็นเจ้าภาพจัดงานพืชสวนโลก ซึ่งงานนี้คาดว่าจะมีเงินสะพัดในจังหวัดประมาณ 3 หมื่นล้านบาท คาดการณ์คนมาเที่ยวอุดรธานีประมาณ 3 ล้านคน
"หนึ่งคนใช้เงินอย่างต่ำ 10,000 บาท ส่วนนี้จะเป็นการสร้างเศรษฐกิจให้กับจังหวัด แต่สิ่งที่ตามมาจากคนที่มาเที่ยว เราก็วางแผนไว้ในเรื่องของขยะ ต้องบริหารจัดการเรื่องนี้ด้วย ดังนั้น เมืองที่มีสุขภาวะที่ดีสภาพแวดล้อมต้องดีด้วย จึงได้มีการส่งเสริมให้มีหลุมขยะแยกในครัวเรือน ต่าง ๆ เหล่านี้ รวมกันจึงทำให้อุดรธานีเป็นเมืองแห่งสุขภาวะที่ดี” รองผู้ว่าฯ กล่าว
บูรณาการ สานพลัง สร้างการรับรู้
รศ.ดร.แล ดิลกวิทยรัตน์ กรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สสส. กล่าวว่า สสส.ร่วมกับภาคีเครือข่ายได้ขับเคลื่อนสร้างค่านิยมให้งานบุญประเพณีปลอดเหล้าปลอดอบายมุขมาเป็นเวลากว่า 10 ปี ซึ่งความสำเร็จที่เกิดขึ้นเป็นเพราะการสนับสนุนและความร่วมมืออย่างดีจากจังหวัด องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนองค์กรเครือข่ายสื่อ ในการขยายผลการสื่อสารเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและเสริมสร้างทัศนคติที่ดี
กระนั้นก็ตามการขับเคลื่อน “พื้นที่สร้างสรรค์” ลด “พื้นที่เสี่ยง” เพื่อนำไปสู่ ”นครแห่งสุขภาวะ” ไม่สามารถแยกการทำงานออกจากกันเป็นเรื่องๆได้ เพราะทั้งปัญหาการดื่มแอลกอฮอล์ การพนัน และปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เป็นปัญหาที่ซ้อนทับ และท้าทายการทำงานเป็นอันมาก การขับเคลื่อนงานเหล่านี้ต่อไปในอนาคต จึงต้องทำแบบบูรณาการในเชิงระบบทั้งในแง่พื้นที่และในแง่ภาคีเครือข่ายในการทำงาน ทั้งภาคประชาสังคม ภาคราชการและธุรกิจเอกชน โดยเฉพาะเครือข่ายสื่อมวลชนซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการสานพลังด้วยการการสื่อประเด็นสุขภาวะสู่การรับรู้ของสังคมอย่างเป็นรูปธรรม
“จังหวัดอุดรธานี จัดเป็นพื้นที่ที่มีต้นทุนการขับเคลื่อนงานพื้นที่ปลอดภัย ลดปัจจัยเสี่ยงที่โดดเด่น โดยเฉพาะประเด็นแอลกอฮอล์ โดยมีฐานการทำงานที่เข้มแข็งร่วมกันของหน่วยงานทุกภาคส่วน องค์กรปกครองท้องถิ่น เครือข่ายองค์กรงดเหล้า และเครือข่ายสื่อมวลชนในพื้นที่ เช่น การสร้างค่านิยมในการจัดงานบุญประเพณี และงานเทศกาลประจำจังหวัดให้ปลอดภัยจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 100%"
"นอกจากนี้ การขับเคลื่อนงานสู่เป้าหมายสังคมไทยปลอดเหล้าและการพนัน หรือปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ สื่อมวลชนนับว่าเป็นแรงสำคัญในการสื่อสารข้อมูลสู่สาธารณะทำให้สังคมเกิดการรับรู้ และโน้มน้าวใจคนให้เห็นความสำคัญ ปรับเปลี่ยนทัศนคติ/ความเชื่อและพฤติกรรมต่างๆ ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “สื่อเคเบิลท้องถิ่นหรือสื่อของชุมชน” (Local Media) ที่เป็นสื่อที่มีความใกล้ชิด และเข้าถึงชุมชน ทำให้เกิดสื่อที่สามารถสื่อสารอย่างเข้าใจและตรงประเด็น เป็นรูปแบบคนบ้านเดียวกันพูดจาภาษาเดียวกัน ” รศ.ดร.แล กล่าว