คุยกับ “มิดไนท์ - ภานุศาสตร์” เมื่อการ “สมัครงาน” บังคับให้ “ตรวจเลือด” “HIV” ยังถูกตีตราจากสังคม

คุยกับ “มิดไนท์ - ภานุศาสตร์” เมื่อการ “สมัครงาน” บังคับให้ “ตรวจเลือด” “HIV” ยังถูกตีตราจากสังคม

สัมภาษณ์พิเศษ “มิดไนท์ - ภานุศาสตร์ พูนเกษตรวัฒนา” ผู้อำนวยการมูลนิธิ APCOM ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ถึงปัญหาที่ผู้ติดเชื้อ HIV ยังคงต้องเผชิญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการ “ตรวจเลือด” เพื่อเข้าสมัครงาน รวมถึงปัจจัยที่ยังทำให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

แม้ว่าปัจจุบัน ความก้าวหน้าทางการแพทย์ที่มีมาอย่างต่อเนื่องหลายสิบปีจะสามารถหยุดยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อ HIV ได้ พร้อมกับสร้างความรู้ความเข้าใจกับประชาชนเพิ่มมากขึ้น แต่ผู้ติดเชื้อ HIV ยังคงเผชิญหน้ากับการตีตราทางสังคมและการเลือกปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ไม่ได้ลดลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการเจาะเลือดก่อนการเข้ารับสมัครงาน หรือ ก่อนเข้าทำงาน

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” ได้มีโอกาสคุยกับ “มิดไนท์ - ภานุศาสตร์ พูนเกษตรวัฒนา” ผู้อำนวยการมูลนิธิ APCOM ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ร่วมทำงานกับเครือข่ายบุคคลและองค์ชุมชนเกี่ยวกับการส่งเสริมสิทธิของความหลากหลาย อัตลักษณ์ทางเพศ รสนิยมทางเพศ การแสดงออก และลักษณะทางกายภาพ (SOGIESC) ถึงประเด็นดังกล่าว พร้อมวิธีการแก้ไขปัญหาผ่านมุมมองของเขาในฐานะคนที่ทำงานด้านนี้ รวมถึงก้าวต่อไปของ APCOM

 

Q: สถานการณ์ภาพรวมของผู้ติดเชื้อ HIV ในประเทศเป็นอย่างไร

ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้ติดเชื้อส่วนมากยังเป็นกลุ่มชายรักชาย ที่น่าตกใจคืออายุลดลงเรื่อย ๆ จากข้อมูลของรัฐบาลระบุว่า ในปี 2564 ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อ HIV ประมาณ 520,000 คน และมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ราว 6,500 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเยาวชน เริ่มตั้งแต่อายุ 15 ปีเท่านั้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเข้าไม่ถึงข้อมูลวิธีการป้องกัน เพราะโรงเรียนก็ไม่ได้สอน

Q: สิ่งที่คนเข้าใจผิดเกี่ยวกับผู้ติดเชื้อ HIV

แม้ว่าปัจจุบันสังคมมีความเข้าใจเกี่ยวกับผู้ติดเชื้อ HIV แต่ก็ยังมีเรื่องเข้าใจผิดกันอยู่ เช่น ผู้ป่วย HIV ที่มีได้รับยาต้านอย่างสม่ำเสมอจนมีเชื้อไวรัสในเลือดต่ำมาก ก็จะไม่สามารถแพร่เชื้อให้คนอื่นได้ หรือที่เรียกว่า “U=U” (Undetectable = Untransmittable) แต่คนไทยยังไม่ค่อยเข้าใจเรื่องนี้ ซึ่งเมื่อวันเอดส์โลกที่ผ่านมาทาง APCOM ก็ทำแคมเปญนี้เพื่อสร้างความตระหนักถึงเรื่องนี้ ซึ่งจะส่งผลถึงเรื่องการวางแผนครอบครัว และการมีบุตร

ความเข้าใจผิดเหล่านี้ทำให้เกิดอดติและการตีตราทางสังคมทำให้ผู้ติดเชื้อไม่กล้าเข้ารับบริการ เพราะหลายคนมีประสบการณ์ไม่ดีจากการไปโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษา เช่น โดนบุคลากรทางการแพทย์นินทา ให้บริการไม่ดี ตั้งแง่ ถามคำถามที่ไม่ควร ขณะเดียวกันผู้ป่วยเองกลัวว่าข้อมูลของตนเองจะรั่วไหล เพราะต้องเข้าการรักษาด้วยชื่อจริง นามสกุลจริง ทุกอย่างส่งข้อมูลไปส่วนกลางหมด ซึ่งภาครัฐควรต้องสร้างความเข้าใจเรื่องนี้ให้กับบุคลากร แล้วใช้รหัสหรืออักษรย่อแทนชื่อนามสกุลจริงของผู้ป่วย มีพื้นที่เฉพาะเป็นของตัวเอง เพื่อไม่เป็นการเปิดเผยข้อมูลผู้ป่วย

สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ เพราะผู้ติดเชื้อหลายคน ต้องเผชิญกับสภาวะจิตใจที่ไม่มั่นคง โรคซึมเศร้า จากการถูกเลือกปฏิบัติและการตีตราของสังคม

Q: ที่ผ่านมารัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้อย่างไร

จริงอยู่ที่รัฐบาลมีงบประมาณเกี่ยวกับด้าน HIV และโรคเอดส์ แต่เกือบทั้งหมดมันลงไปที่โรงพยาบาล งบไม่ได้มาสู่พวกองค์กรหรือเครือข่ายชุมชน ซึ่งเป็นกลุ่มที่อยู่หน้าด่าน ลงพื้นที่จริง ให้คำปรึกษาและสื่อสารกับผู้ติดเชื้อที่เข้าไม่ถึงการรักษาหรือชายขอบของสังคม รวมถึงคนประเทศเพื่อนบ้านที่ทำงานอยู่ในประเทศไทยด้วย 

ถึงภาครัฐจะมีนโยบายให้รักษาฟรี ให้ตรวจเลือดหาเชื้อ HIV ฟรี ปีละ 2 ครั้ง แต่ไม่ค่อยมีใครไปใช้สิทธิ์ เนื่องจากความกังวลที่จะถูกตีตราทางสังคมและเลือกปฏิบัติ ส่วนตัวองค์กรหรือเครือข่ายชุมชนเองก็ยังมีไม่พอที่จะเข้าถึงกลุ่มคนทั้งประเทศ

นอกจากการแจกถุงยางอนามัยฟรีแล้ว ที่เราอยากจะให้คนได้รู้จักวิธีป้องกันอีกแบบ คือ ยาต้าน PrEP ที่ใช้ก่อนมีเพศสัมพันธ์ รับประทานวันละครั้ง ครั้ง 1 เม็ด สามารถป้องกัน HIV ได้ดีมาก แต่ยังมีค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งรัฐบาลน่าจะสนับสนุนตรงนี้ด้วย

 

Q: ไทยยังมีการบังคับตรวจเลือดก่อนสมัครงาน

ไม่สมควรที่จะมีการบังคับแบบนี้ ประเทศอื่นก็ไม่มี เขาสามารถสมัครงานกันได้ปกติ มีคนเป็นแพทย์ด้วย แต่ไม่เข้าใจเหมือนกันทำไมไทยยังต้องมี เพราะถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอีกด้วย อีกทั้งยังเป็นการตัดโอกาส จำกัดงานแก่ผู้ติดเชื้อ ทั้ง ๆ ที่พวกเขามีความสามารถ และไม่ได้แพร่เชื้อให้แก่ผู้อื่นได้ง่าย ๆ

ที่จริงการบังคับตรวจเลือดและเผยแพร่ข้อมูลของผู้ติดเชื้อ HIV ไม่ได้ทำให้พวกเขาเสียโอกาสแค่เพียงไม่มีอาชีพเท่านั้น แต่ยังอาจโดนสังคมตัดสินว่าเป็นคนไม่ดีเพราะเรื่องนี้ไปด้วย

 

Q: การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างไรกับผู้ติดเชื้อบ้าง

โควิดเข้ามานี่มีทั้งดีและร้าย ผลร้ายก็คือผู้ติดเชื้อเดินทางไปรับยาได้ยากขึ้น มีปัญหาไม่สามารถรับยาจากสถานพยาบาลแถวบ้านได้ เพราะอยู่กันคนละเขต ต้องส่งยาทางไปรษณีย์ หรือให้ตัวแทนหมู่บ้านเป็นคนนำยาไปให้ ซึ่งมันก็กลายเป็นข้อดีที่เรามองเห็นว่าต่อไป เราอาจจะไม่ต้องให้ผู้ป่วยมารับยาด้วยตนเอง ลดทั้งค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และไม่ต้องมาสถานพยาบาล โดยอาจจะส่งให้เป็นเดือนละครั้ง หรือ สามเดือนครั้ง

 

Q: ระหว่างนโยบายภาครัฐ กับความเข้าใจของคนในสังคม สิ่งใดสำคัญกับผู้ติดเชื้อมากกว่ากัน

มันต้องทำควบคู่กันไป เหมือนเป็นห่วงโซ่ ถ้าภาครัฐให้ความสนใจ สนับสนุนในด้านงบประมาณกับองค์กรอย่างพวกเราและเครือข่ายสังคมมากขึ้น เราก็จะสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้ติดเชื้อได้มากขึ้น พร้อมสร้างความเข้าใจกับคนในสังคม เมื่อคนในสังคมมีความเข้าใจผู้ติดเชื้อมากขึ้น ก็สามารถอยู่ร่วมกับคนในสังคมได้อย่างเป็นสุข ไม่มีการตีตราอีกต่อไป ซึ่งเป็นสิ่งที่ APCOM พยายามทำมาตลอด

ยิ่งตอนนี้ไทยมีเป้าหมายในการยุติปัญหาเอดส์ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อ HIV ภายในปี 2573 แต่ยังไม่มีการทำงานร่วมกับองค์กรต่าง ๆ หรือรณรงค์ให้คนเข้าใจเรื่องนี้แบบจริงจัง ก็อาจจะเป็นการยากที่จะทำให้สำเร็จตามเป้าหมาย ถ้าเกิดยังเป็นเช่นนี้ต่อไป

 

Q: ความเข้าใจที่มีต่อผู้ติดเชื้อและนโยบายของไทยเป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับสถานการณ์ของ APAC

ถึงจะบอกว่าไทยยังมีการตีตรา หรือ ไม่เข้าใจอย่างไร แต่ก็ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ของไทยดีกว่าหลายประเทศในเอเชีย อย่างเช่นในสิงคโปร์ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ที่ยังไม่มีการยอมรับในกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรืออย่างอินโดนีเซียที่จะมีกฎหมายห้ามคนมีเพศสัมพันธ์กันก่อนแต่งงาน

พอเป็นแบบนี้เวลาบริษัทหรือรัฐบาลต่างชาติให้เงินลงทุนมาสำหรับองค์กรที่ทำงานเรื่องพวกนี้ก็จะให้เงินทุนกับประเทศที่มองว่ามีปัญหาเรื่อง HIV เป็นหลักก่อน ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้วบ้านเราเองก็มีปัญหาอยู่ เพียงแต่ไม่ได้นำมาพูดถึง หน้าที่ของ APCOM จึงเป็นตัวแทนไปประชุมในการประชุมต่าง ๆ ทั้งด้าน HIV สิทธิมนุษยชน เพื่อให้ต่างประเทศได้รับรู้ว่าประเทศไทยและภูมิภาคของเราก็ยังมีปัญหาอยู่

 

Q: APCOM มีส่วนร่วมในการแก้ไขหรือรณรงค์ปัญหาเหล่านี้อย่างไร

ในปีนี้เรามีโครงการ HIV Care Continuum & Beyond เพื่อช่วยหยุดยั้งการระบาดของเชื้อ HIV และปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้อยู่ร่วมกับเชื้อ HIV ในเอเชีย โดยเราพยายามจะแก้ไขเรื่อง การทดสอบและการวินิจฉัยโรค การป้องกันการติดเชื้อ รวมถึงการประณามหยามเหยียดและการเลือกปฏิบัติ ตลอดจนด้านคุณภาพชีวิตของผู้อยู่ร่วมกับเชื้อ HIV

เราเข้าร่วมในงานประชุม UNAIDS PCB ครั้งที่ 51 หารือภาคีเครือข่ายดำเนินงานเอดส์ เร่งขจัดการตีตราและเลือกปฏิบัติ ที่จัดขึ้นที่เชียงใหม่เมื่อ13-16 ธ.ค. ที่ผ่านมา โดยเป็นตัวแทนของคนในชุมชนเรียกร้องให้มีการเสริมสร้างความเป็นผู้นำของชุมชนเพื่อยุติโรคเอดส์ 

สิ่งสำคัญที่ต้องการคือเงินทุน เพื่อจะได้นำไปซื้อยาและอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้เข้าถึงกลุ่มผู้ติดเชื้อได้มากขึ้น รวมถึงอยากให้รัฐเข้ามาสนับสนุนองค์กรและเครือข่ายชุมชนให้มากขึ้น ควบคู่ไปกับการให้ความรู้ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อ HIV ให้สำเร็จภายในปี 2573