น้ำเน่าที่สวนเบญจกิติ | ธงชัย พรรณสวัสดิ์
เมื่อเร็วๆ นี้ มีบทสนทนาแลกเปลี่ยนกันในสื่อสังคมออนไลน์เกี่ยวกับปัญหาน้ำเน่า มีกลิ่นเหม็นที่สวนเบญจกิติ รบกวนคนที่เดินทางมาเยี่ยมชมสวนและลดทอนความสุนทรีย์อันพึงได้จากการมาเดินเล่นที่สวนนี้
สวนนี้ผมเคยไปมาสามสี่ครั้งแล้วชอบมาก ชอบทั้งการเข้าถึงได้ง่ายด้วยระบบขนส่งสาธารณะ ลดการใช้พลังงาน ลดฝุ่น ลดมลพิษ PM2.5 รวมไปถึงความแตกต่างจากสวนสาธารณะทั่วๆ ไป แม้กระทั่งสวนสาธารณะในต่างประเทศที่พัฒนาด้านนี้มาก่อนเรา มีการใช้ส่วนหนึ่งของสวนมาเป็นระบบบำบัดน้ำเสียให้กับเมืองด้วย
ความประสงค์ดีที่จะเอาพื้นที่ชุ่มน้ำ (wetland) ในสวนมาเป็นระบบบำบัดน้ำเสียนี่แหละ ที่เป็นต้นเหตุให้เกิดการอภิปรายแลกเปลี่ยนของแนวคิดนี้ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อเป็นระบบบำบัดน้ำเสียก็ย่อมมีโอกาสที่จะทำให้เกิดกลิ่น
เมื่อมันเกิดขึ้นจริงก็ย่อมมีคนให้ความคิดเห็นว่ามันใช่บทบาทหน้าที่ของสวนสาธารณะหรือที่จะมาบำบัดน้ำเสียของเมือง ทำไมจึงไม่ไปบำบัดเสียตั้งแต่ที่แต่ละบ้านหรือที่ชุมชน ทำไมผู้บริหารเมืองไม่จัดการเสียตั้งแต่ต้นทาง ทำไมถึงมาสร้างบรรยากาศอันไม่พึงประสงค์ในที่ที่ควรจะเป็นสถานที่ที่น่ารื่นรมย์เท่านั้น
ในขณะที่อีกฝ่ายอาจมองว่า หากสามารถยิงนกสองตัวได้ด้วยกระสุนนัดเดียวก็น่าจะดีกว่า คุ้มกว่า ในบริบทที่เมืองมีเบี้ยน้อยหอยน้อย และคนยังไม่ยอมจ่ายค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียแบบบ้านเรา จึงไม่มีงบประมาณมากพอมาแก้ไขปัญหาได้อย่างเบ็ดเสร็จและรวดเร็ว
ถ้าจะให้เข้าใจเรื่องได้ง่ายขึ้น ผมขอย้อนกลับไปที่ต้นทางของปัญหาสักเล็กน้อย มันแทบจะเป็นขนบนิยมของบ้านเราที่จะไม่ดูแลน้ำเสียที่แต่ละบ้านปล่อยทิ้งออกมาลงท่อหน้าบ้าน เรียกว่าทิ้งให้พ้นหูพ้นตาไปก็จบ น้ำเสียจากท่อพวกนี้สุดท้ายก็ต้องลงคลอง และเป็นสาเหตุให้น้ำคลองเน่าอย่างที่เห็นกันอยู่ทั่วไปทั้งประเทศ ไม่ใช่แค่เฉพาะกรุงเทพมหานคร
สำหรับกรณีที่กำลังถกเถียงกันอยู่นี้คือ คลองที่อยู่ใกล้สวนเบญจกิติ มีชื่อเรียกว่า “คลองไผ่สิงโต” ทางผู้ออกแบบสวนอยากให้สวนนี้รับใช้สังคมมากกว่าเป็นแค่สวนพักผ่อนหย่อนใจ แต่ให้ใช้ในการบำบัดน้ำเสียในคลองให้ดีขึ้นด้วย
โดยสูบน้ำจากคลองไผ่สิงโตเข้ามายังสวนน้ำในสวนฯ และให้สวนน้ำนี้ทำการบำบัดโดยใช้วิธีธรรมชาติ คือ รับแสงแดดจากดวงอาทิตย์ ให้สาหร่ายและจุลินทรีย์ในน้ำมา “กิน” ของเสียในน้ำเสีย ทำให้คุณภาพน้ำดีขึ้นได้โดยไม่เหม็น
แต่ความเหม็นหรือไม่เหม็นนี้ มันขึ้นกับความสมดุลระหว่างขนาดของสวนน้ำกับปริมาณของเสียที่เข้ามา ถ้าของเสียมากไปมันก็เหม็น ถ้าไม่เกินไปก็ไม่เหม็น
สวนน้ำที่ใช้เป็นระบบบำบัดน้ำเสียแบบนี้ทางวิชาการเรียกว่า “ระบบบึงประดิษฐ์ หรือ constructed wetland” สำหรับที่นี่แตกยอดออกไปเป็นการไหลคดเคี้ยวไปตามทางน้ำแคบๆ ซึ่งตรงกับคำว่า channel flow ซึ่งทำให้ประสิทธิภาพของระบบดีขึ้น
ที่นี่จึงอาจเรียกว่า channel flow constructed wetland ก็ได้ แต่ข้อเสียของมันคือน้ำเสียจะข้นที่ต้นทางกว่าที่ปลายทาง จึงอาจทำให้มีสภาพน้ำเน่าเหม็นที่ต้นทางได้
ปัญหาของที่นี่แท้จริงแล้วคือ ตัวระบบบำบัดฯ หรือบึงประดิษฐ์นี้มีขนาดเล็กไป หรือพูดอีกอย่างคือน้ำเสียที่คลองไผ่สิงโตแยะไป ข้นไป ตัวบึงฯ ในสวนน่าจะออกแบบมาเพียงแค่ช่วยให้สภาพน้ำโดยทั่วไปในคลองไผ่สิงโตดีขึ้นบ้าง ไม่ได้ให้รับน้ำเสียทั้งหมดจากคลอง
วิธีแก้คือ ลดปริมาณการสูบน้ำเสียเข้าสวนน้ำหรือบึงฯ ลง ให้ปริมาณความสกปรกของน้ำเสียไม่เกินขีดความสามารถของบึงฯ วิศวกรน้ำเสียหรือ wastewater engineer ของ กทม.น่าจะช่วยได้ ดร.ปธาน บรรจงปรุ ก็เป็นคนหนึ่งที่น่าจะให้ความเห็นตรงนี้ได้ว่าควรสูบเข้ามาเท่าไร จึงไม่ก่อให้เกิดกลิ่นรบกวนผู้มาเที่ยวสวน
ยกเว้น กทม.ต้องการใช้สวนฯ เป็นที่บำบัดน้ำเสียให้เต็มที่ นั่นก็จะเป็นประเด็นให้ปรึกษาหารือกับผู้ออกแบบสวนและกรมธนารักษ์ผู้เป็นเจ้าของสวนกันต่อไป