ปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อประชาชนส่วนใหญ่ได้อย่างไร
เศรษฐกิจแบบที่เน้นการเจริญเติบโต เป็นประโยชน์แค่คนรวยส่วนน้อยมากกว่าคนส่วนใหญ่ การจะปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อคนส่วนใหญ่ได้จริงต้องปฏิรูปทั้งระบบโครงสร้างแก้ไขหลายวิธี
เช่น ปฏิรูปภาษีเก็บจากทรัพย์สิน/รายได้คนรวยในอัตราสูงแบบก้าวหน้า ปฏิรูปประกันสังคม เช่น เฉลี่ยการจ่ายบำเหน็จบำนาญให้คนสูงวัยทุกคนมีรายได้แบบพอเพียง (ไม่ใช่บางคน เช่น ข้าราชการระดับสูงได้มากกว่า คนทั่วไปบางคนได้น้อยหรือไม่ได้เลย)
การคืนภาษีโดยจ่ายอุดหนุนเด็ก คนสูงอายุ คนพิการ คนที่รายได้ต่ำค่อนข้างมาก ฯลฯ แบบจ่ายโดยตรงจะถึงมือและคนได้รับไปใช้ประโยชน์ได้โดยตรงมากกว่าจ่ายผ่านหน่วยราชการ
การปฏิรูปที่ดินและปฏิรูปการเกษตรจะช่วยให้เศรษฐกิจพัฒนาอย่างเป็นธรรม มีประสิทธิภาพเพื่อส่วนรวมยั่งยืนได้มากกว่าการเกษตรแบบอุตสาหกรรมขนาดใหญ่
การส่งเสริมให้มีการเกษตรแบบฟาร์มขนาดเล็กโดยวิธีการเกษตรทางเลือก (ใช้สารอินทรีย์แทนสารเคมี) จะมีประสิทธิภาพเมื่อพิจารณาในแง่การใช้พลังงาน ได้มากกว่าฟาร์มแบบอุตสาหกรรมขนาดใหญ่
การผลิตขนาดเล็กที่กระจายไปตามชุมชนต่างๆ จะช่วยลดระยะทางการขนส่งสินค้าไปถึงมือผู้บริโภค ลดการใช้พลังงานและลดการทำลายสภาพแวดล้อมลงมา ได้อาหารที่ปลอดภัยต่อสุขภาพมากกว่า และทำให้คนมีงานทำ
ทำให้ครอบครัวและชุมชนเกษตรกรมีความอบอุ่นเข้มแข็งมากกว่า รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างเกษตรกรกับผู้บริโภคในการซื้อขายกันโดยตรงก็จะดีและเป็นธรรมกว่าการซื้อขายผ่านบริษัทและห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ด้วย
การจะปฏิรูประบบเศรษฐกิจเพื่อประโยชน์คนส่วนใหญ่ นอกจากจะเน้นเรื่องความเป็นธรรม ประสิทธิภาพเพื่อส่วนรวมแล้ว ควรจะเน้นการพัฒนาแบบยั่งยืนถึงรุ่นลูกหลาน
โดยลดการทำลายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมลงด้วย ปรับปรุงด้านคุณภาพและการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สินค้าพื้นฐานที่คนส่วนใหญ่ต้องการ เช่น อาหาร ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค (การแพทย์, การสาธารณสุข) เสื้อผ้า การศึกษา ฯลฯ
และลดการผลิตสินค้าฟุ่มเฟือยสำหรับคนรวย คนชั้นกลาง เช่น รถยนต์ (เน้นการเดินทางสาธารณะ จักรยาน) บ้านหรูหรา การท่องเที่ยวในต่างประเทศ (กำหนดโควตา, เก็บภาษีสูง ฯลฯ) สาขาเศรษฐกิจที่อาจเพิ่มคุณภาพได้โดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณ เช่นเทคโนโลยีสารสนเทศและการให้บริการต่างๆ
ภาคการเงินการธนาคาร ออกกฎให้ธนาคารพาณิชย์ต้องมีเงินทุนสำรอง 100% เพื่อทำให้ธุรกิจการเงินการธนาคารที่เคยเติบโตสูงแบบปล่อยกู้ได้ 9-10 เท่าของเงินฝากที่ตนมี ที่นำไปสู่การลงทุนแบบเก็งกำไรที่เสี่ยงสูง
ธนาคารควรทำหน้าที่เป็นคนกลางระหว่างคนต้องการออมกับคนต้องการสินเชื่อในสัดส่วนที่เหมาะสม การลงทุนใหม่ควรเกิดขึ้นเพื่อทดแทนธุรกิจเก่าที่เลิกไป และเพื่อการปรับปรุงด้านคุณภาพ
ไม่ควรเป็นการขยายการให้สินเชื่อเพื่อการเก็งกำไรและหวังผลตอบแทนสูงสุดมากเกินไป เพราะเป็นตัวการทำให้เกิดวิกฤตด้านการเงินการธนาคารเป็นวัฏจักรที่สร้างความเสียหาย
เช่น ทำให้คนตกงาน ถูกยึดบ้าน มีปัญหาเรื่องการสนองความต้องการพื้นฐานในชีวิต การเติบโตสูงไปยังทำลายสิ่งแวดล้อมมากด้วย
การค้า ควรมีนโยบาย/มาตรการควบคุมดูแลอย่างเป็นธรรมและเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ทำให้ธุรกิจต้องนำตันทุนสภาพแวดล้อมและต้นทุนต่ออนาคตมาคิดบวกรวมในราคาสินค้าด้วย
โดยการควบคุม, การเก็บค่าธรรมเนียมภาษีสิ่งแวดล้อม ทำให้สินค้ามีต้นทุนที่สมเหตุผล เช่น สินค้าที่ทำลายธรรมชาติสภาพแวดล้อมมาก ก็ควรถูกควบคุมและถูกเก็บค่าธรรมเนียมภาษีสูงขึ้น
เพื่อจะได้มีการผลิต การค้า และการบริโภคสินค้าประเภทนี้ลดลงมา ธุรกิจที่ใช้พลังงานทางเลือก ลดการทำลายสิ่งแวดล้อม ควรได้รับเงินอุดหนุน
การปฏิรูปภาษี ควรเก็บภาษีเพื่อให้การใช้ทรัพยากรธรรมชาติเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นเพื่อส่วนรวมด้วย แทนที่จะเน้นการเก็บภาษีจากรายได้ของคนงานหรือธุรกิจ (ภาษีมูลค่าเพิ่ม)
ควรเก็บภาษีจากกระบวนการใช้วัตถุดิบไปผลิตสินค้า โดยเก็บจากจุดเริ่มต้นที่ผู้ผลิตผู้ลงทุนไปขุดหรือสกัดมาจากธรรมชาติ เช่น แร่ธาตุ พลังงานจากฟอสชิล น้ำ ไม้ซุง ฯลฯ เราควรเก็บภาษีสิ่งที่เราไม่ต้องการให้เกิดขึ้น
เช่น การถลุงใช้ทรัพยากรธรรมชาติ, การปล่อยมลพิษ ในอัตราที่สูง และเก็บภาษีรายได้ระดับปานกลางในอัตราที่ต่ำลงสำหรับธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และไม่เก็บเลยสำหรับคนมีรายได้ในระดับต่ำ
การเก็บภาษีจากการบริโภคสินค้าภาษีมูลค่าเพิ่มขึ้นไม่เป็นธรรมสำหรับคนยากจน ที่ต้องเสียในอัตราเดียวกับคนรวย ควรจะแก้ไขด้วยการเก็บภาษีคนรวย ทั้งภาษีทรัพย์สิน รายได้ และการบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือย ในอัตราก้าวหน้า (อัตราสูงขึ้นตามลำดับ)
แล้วเอารายได้มาช่วยอุดหนุนคนจนมากขึ้น ทั้งจะมีส่วนช่วยลดการผลิต/บริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยด้วย
การจ้างงาน การดูแลรักษาและซ่อมแซมสินค้าที่มีอยู่แล้วมากกว่าการเน้นการผลิตสินค้าใหม่ และสนใจการผลิตแบบใช้แรงงาน และการผลิตอาหารและสิ่งจำเป็นอื่นๆ ในท้องถิ่นมากกว่าการไปลงทุนในต่างประเทศ เพื่อที่จะเพิ่มการจ้างงานในประเทศ
ทางเลือกอีกทางหนึ่งคือ ลดชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์ลงโดยยังคงให้ค่าจ้างเต็ม ส่งเสริมการจ้างงานแบบบางเวลาเพิ่มขึ้น โดยให้ค่าตอบแทนที่เป็นธรรม
เพื่อแบ่งงานให้คนมีโอกาสได้ทำงานเพิ่มขึ้น และทำให้คนมีเวลาว่างที่จะได้ไปรู้จักการใช้ชีวิตให้มีคุณภาพขึ้น และลดการบริโภค, ลดการทำอะไรแบบเร่งด่วนและลดการทำลายสภาพแวดล้อมลง (คนที่ทำงานหนัก เครียดมาก มักชอบระบายความเครียดด้วยการซื้อของและการบริโภคมาก)
ถ้าเราเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจให้คนส่วนใหญ่เป็นเจ้าของผู้ถือหุ้นในบริษัทมหาชน, วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ผู้ผลิตผู้บริโภค ฯลฯ และประชาชนจะมีรายได้จากเงินปันผลด้วย
แทนที่จะจัดสรรผ่านระบบที่จ้างอย่างเดียว ให้ประชาชนมีรายได้จากการเป็นหุ้นส่วน/เจ้าของ และได้เงินปันผลด้วย
การที่คนเหล่านี้จะว่างงานหรือทำงานโดยใช้เวลาต่อสัปดาห์ลดลงหรือทำงานบางส่วนก็ไม่ใช่ปัญหา คนจะมีความเครียดลดลง มีเวลาและรายได้พอเพียงไปทำกิจกรรมที่เพิ่มความสุข ความพอใจในชีวิตได้เพิ่มขึ้น.