สรรพากรชี้ไทยได้ประโยชน์ปฏิรูปภาษีกลุ่มG7
อธิบดีสรรพากรระบุ ประเทศไทยจะประโยชน์จากข้อตกลงรัฐมนตรีคลังกลุ่มG7 ในการปฏิรูปเก็บภาษีบริษัทข้ามชาติ ชี้ช่วยปิดช่องโหวหลบเลี่ยงภาษี โดยกำหนดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำไว้ที่ 15%และเฉลี่ยกำไรขั้นต้นให้ประเทศที่ประกอบธุรกิจ
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากรระบุ ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์จากข้อตกลงของรัฐมนตรีคลังกลุ่มประเทศ G7 ในการปฏิรูประบบการเก็บภาษีจากบริษัทข้ามชาติ ซึ่งเป็นการปิดช่องโหว่ในการหลบเลี่ยงภาษีที่เกิดขึ้นในช่วงนี้และที่ผ่านมา
เขากล่าวว่า หากข้อตกลงดังกล่าวสามารถบรรลุฉันทามติของกลุ่มประเทศ G7 จะทำให้บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่จดทะเบียนในประเทศที่มีอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราที่ต่ำหรือจดทะเบียนในหมู่เกาะที่ไม่มีภาระภาษีหรือ Tax Haven แต่ไปทำธุรกิจในประเทศอื่นๆทั่วโลก ต้องจ่ายภาษีให้กับประเทศที่ตนเองดำเนินธุรกิจอยู่ด้วย ไม่ใช่จ่ายเฉพาะให้กับประเทศที่บริษัทของตัวเองจดทะเบียนอยู่เท่านั้น
ปัจจุบันประเทศต่างๆ ยังไม่สามารถจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล กับบริษัทข้ามชาติที่เป็นบริษัทดิจิทัล เนื่องจาก แม้บริษัทเหล่านั้นจะทำธุรกิจในประเทศของตนเอง แต่ไม่มีสถานประกอบการถาวร ( Permanent Establish) อยู่ในประเทศนั้นๆ ซึ่งในหลักภาษีไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้
ทั้งนี้ จากข้อตกลงของรัฐมนตรีคลังกลุ่ม G7 ซึ่งจะบังคับใช้กับบริษัทข้ามชาติ ที่มีกำไรขั้นต้น 10% หากบริษัทดังกล่าวมีกำไรเกิน 20% ของกำไรขั้นต้น ส่วนเกินดังกล่าวจะต้องถูกเฉลี่ยไปให้กับประเทศที่บริษัทนั้นๆดำเนินธุรกิจอยู่ด้วย
นอกจากนี้ ข้อตกลงของรัฐมนตรีคลังกลุ่ม G7 อีกข้อหนึ่ง คือ การกำหนดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำไว้ที่ 15% เพื่อป้องกันประเทศต่างๆแข่งขันกันลดภาษี เพื่อดึงดูดนักลงทุน ซึ่งประเทศไทยก็น่าจะได้รับประโยชน์จากข้อตกลงข้อนี้
ทั้งนี้ เพราะปัจจุบันมีบริษัทขนาดใหญ่หลายบริษัทไปตั้งอยู่ในประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำหรือในหมู่เกาะที่เป็น Tax Haven แล้วมาทำธุรกิจมีรายได้จากประเทศไทยโดยไม่ต้องเสียภาษีให้กับประเทศไทย
ข้อตกลงดังกล่าวที่กำหนดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำ(เบื้องต้น) ไว้ที่ 15%ในกรณีที่มีบริษัทข้ามชาติ ไปจดทะเบียนไว้ในประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำหรือไม่มีภาระภาษี เช่น ภาระภาษีที่ 10% จะต้องจ่ายส่วนต่างของอัตราภาษีขั้นต่ำ
ในกรณีนี้มีส่วนต่างอยู่ 5%ให้กับประเทศที่บริษัทเข้าไปทำธุรกิจและมีรายได้จากประเทศนั้น (ซึ่งบริษัทตัวเองไม่ได้จดทะเบียนในประเทศไทย) ซึ่งเชื่อว่าหากข้อตกลงดังกล่าวถูกนำไปใช้ทั่วโลก ประเทศไทยน่าจะได้รับเม็ดเงินภาษีจากบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในต่างประเทศแต่เข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยอีกมาก
เขากล่าวอีกว่า การปฏิรูประบบการจัดเก็บภาษีดังกล่าว ในระดับโลกได้มีการเจรจาหารือกันมานานแล้วแต่ไม่เคยได้ข้อยุติ ซึ่งในหลายเวที เช่น การประชุมของ Inclusive Framework on Base Elusion and Profit Shift ของ OECD ซึ่งไทยก็เป็นสมาชิกใน Framework นี้ด้วย ก็มีการพูดถึงประเด็นการปฏิรูปภาษีดังกล่าวด้วย