อาการกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน สัญญาณอันตรายคร่าชีวิตแบบไม่ทันตั้งตัว
ทำความรู้จักอาการ "กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน" สัญญาณอันตรายจากเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่พนักงานท่านหนึ่งได้เสียชีวิตคาโต๊ะทำงาน
ทำความรู้จัก "อาการกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน" สัญญาณอันตรายจากเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่พนักงานท่านหนึ่งได้เสียชีวิตคาโต๊ะทำงานจากอาการดังกล่าว ส่งผลให้ประเด็นเรื่องของการทำงานหนักเกินกำลัง ไม่มีเวลาพักถูกยกมาพูดถึงและเป็นที่จับตาของสังคมในบ้านเราอีกครั้ง
"กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน" (Original Content By SiPH) กลุ่มอาการที่มีลักษณะบ่งชี้ถึงกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดอย่างรุนแรงและเฉียบพลัน เกิดจากการมีลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดหัวใจอย่างเฉียบพลัน ซึ่งลิ่มเลือดเหล่านี้เกิดจากการที่ร่างกายมีภาวะไขมันมากเกินไปจนพอกเป็นตะกรัน (plaque) เกาะอยู่ตามผนังของหลอดเลือด
เมื่อรวมเข้ากับเซลล์เม็ดเลือดขาวที่มากัดกินก็ทำให้เกิดเป็นกลุ่มเซลล์ที่ไม่สามารถดูดกลับเข้าไปในร่างกายได้ แต่กลับฝังตัวอยู่ในผนังหลอดเลือดแทน เมื่อเวลาผ่านไป ตะกรันนี้จะแตกตัวหรือปริออก หลอดเลือดจะพยายามซ่อมแซมตัวเอง จนเกิดลิ่มเลือดไปอุดกั้นหลอดเลือด ถ้าเป็นการแตกตัวที่หลอดเลือดแขนงเล็ก ผู้ป่วยจะมีเพียงอาการเจ็บหน้าอก แต่ถ้าลิ่มเลือดนี้อุดตันหลอดเลือดขนาดใหญ่ก็อาจส่งผลให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้
สาเหตุของการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
เป็นสภาวะของหลอดเลือดหัวใจที่เสื่อมสภาพหรือแข็งตัวแล้วเกิดมีการฉีกขาด หรือปริแตกที่ด้านในของผนังหลอดเลือด เกล็ดเลือดจะเกาะกลุ่มอย่างรวดเร็วบริเวณที่มีการปริแตกหรือฉีกขาด ซึ่งจะมีการกระตุ้นให้เกิดลิ่มเลือดอย่างรวดเร็วในบริเวณดังกล่าว
หากลิ่มเลือดอุดกั้นบางส่วนทำให้ขาดเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ ส่งผลให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกไม่คงที่แต่ยังไม่มีกล้ามเนื้อหัวใจตาย กรณีลิ่มเลือดเกิดการอุดตันโดยสมบูรณ์จะทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เร่งสอบด่วน นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายหรือไม่? ปมพนักงานทำงานหนักจนตาย
- ปมพนักงานทำงานหนักจนตาย ล่าสุด TNN แถลงฯชดเชยจ่ายเงินเยียวยาช่วยเหลือ
- ทำงานหนักจนตาย ฝ่ายสิทธิ์ฯสมาคมนักข่าว จี้ตรวจสอบช่องทีวีดิจิทัล
ปัจจัยเสี่ยงของหัวใจวาย หรือกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน
- ความดันโลหิตสูง
- ไขมันในเลือดสูง
- เบาหวาน
- การสูบบุหรี่
- มีประวัติครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
- โรคอ้วน
- ความเครียด
- การไม่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
ปัจจัยเสี่ยงที่เลี่ยงไม่ได้
- เพศ เพศชายมีความเสี่ยงมากกว่าเพศหญิง
- อายุ เพศชายที่มีอายุมากกว่า 45 ปี และเพศหญิงที่มีอายุมากกว่า 55 ปี มีโอกาสเสี่ยงเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
- พันธุกรรม ผู้ที่มีประวัติครอบครัว (first degree relative) หมายถึง พ่อแม่ พี่น้อง ลูก เป็นโรคเส้นเลือดหัวใจตีบตันก่อนวัยอันควร (เพศชายอายุน้อยกว่า 55 ปี เพศหญิงอายุน้อยกว่า 65 ปี)
อาการ หรือ สัญญาณอันตรายต่อการเกิดโรค
โรคหัวใจนี้มักเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน บางรายอาจมีสุขภาพปกติแข็งแรงดี แต่อยู่ๆ ก็มีอาการผิดปกติ อาการผิดปกติที่สำคัญที่สุดที่สามารถสังเกตได้ เช่น
- เจ็บแน่นหน้าอกเหมือนมีอะไรมากดทับอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตรงกลางอก และเป็นนานเกินกว่าหนึ่งนาทีขึ้นไป
- เจ็บแน่นหน้าอกร้าวไปยังบริเวณคอ กราม ไหล่และแขนทั้งสองข้าง
- มีเหงื่อออกตามร่างกาย
- เหนื่อยง่าย หายใจถี่กระชั้น
- วิงเวียน หน้ามืด
- ชีพจรเต้นเร็ว
หากพบอาการผิดปกติข้างต้น ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที อย่าละเลยหรือปล่อยทิ้งไว้โดยเด็ดขาด
หลังจากแพทย์วินิจฉัยจนแน่ใจว่าผู้ป่วยเป็นภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดจริง แพทย์จะทำการฉีดสีเพื่อให้ตำแหน่งที่หลอดเลือดอุดตันแสดงในฟิล์มเอกซเรย์ แล้วจึงทำการเปิดหลอดเลือดโดย การขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูน
ซึ่งเป็นวิธีการใส่สายสวนเข้าไปยังร่างกายผู้ป่วยที่บริเวณขาหนีบหรือที่แขนเพื่อเข้าไปยังหลอดเลือดหัวใจ หลังจากนั้นจึงขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูนที่ติดอยู่ที่ปลายสายเพื่อดันไขมันที่อุดตันหลอดเลือดและทำให้ลิ่มเลือดหลุดออกไป ทำให้เลือดสามารถไหลผ่านจุดที่เคยตีบได้สะดวกขึ้น ทั้งนี้ในปัจจุบันแพทย์มักใช้การดูดลิ่มเลือดและใส่ขดลวดร่วมด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้ลิ่มเลือดหลุดลอยไปอุดตันบริเวณส่วนปลายของหลอดเลือด
ในกรณีที่หลอดเลือดตีบหลายเส้นแพทย์อาจพิจารณาใช้วิธีการผ่าตัดต่อหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจหรือการผ่าตัดบายพาส ซึ่งเป็นการผ่าตัดต่อเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจเพื่อทำทางเบี่ยงเสริมหลอดเลือดบริเวณที่ตีบหรือตันทำให้เลือดผ่านส่วนที่ตีบหรือตันได้ดีขึ้น ส่งผลทำให้ออกซิเจนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้มากขึ้น
การปฏิบัติตัวสำหรับผู้มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
1.ออกกำลังกายอย่างสมํ่าเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้งๆ ละ 30 นาที การออกกำลังกายที่ดีที่สุด คือ การเดิน โดยเริ่มเดินช้าๆ ก่อนแล้วค่อยๆ เพิ่มระยะทาง แต่อย่าให้เกินกำลังตนเอง
2. เมื่อมีอาการเจ็บหน้าอก ให้หยุดกิจกรรมนั้นๆ ทันทีและอมยาใต้ลิ้น 1 เม็ด หากอาการยังไม่ทุเลาลงให้อมยาใต้ลิ้นซํ้าได้อีก 1 เม็ด ห่างกัน 5 นาที แต่ไม่ควรเกิน 3 เม็ด หากอาการไม่ดีขึ้นใน 15-20 นาที ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
3. ทำจิตใจให้สงบ หาเวลาพักผ่อนและลดความเครียด หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้ตื่นเต้น เช่น การดูเกมกีฬา การแข่งขันที่เร้าใจ
4. สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ หากมีอาการใจสั่น หายใจขัด หรือเจ็บหน้าอกนานเกิน 15 นาทีหลังมีเพศสัมพันธ์ควรปรึกษาแพทย์
5. หลีกเลี่ยงการเบ่งถ่ายอุจจาระแรงๆ
6. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง อาหารที่มีรสเค็มและหวาน
7. งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นํ้าชา กาแฟ และหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
ข้อมูลประกอบจาก โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ , โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ , โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์