"ทำงานหนักจนตาย" เช็กตัวเองเป็น"โรคบ้างาน" หรือองค์กรให้ทำงานเกินเวลา

"ทำงานหนักจนตาย" เช็กตัวเองเป็น"โรคบ้างาน" หรือองค์กรให้ทำงานเกินเวลา

อดีตมักจะได้ยินคำกล่าวที่ว่า “งานหนักไม่ทำให้ใครตาย” แต่ในความเป็นจริง ณ ปัจจุบันคงไม่เป็นอย่างนั้น เพราะ “ทำงานหนักจนตายได้" ซึ่งประเทศไทยติดท็อป5 ของคนที่ทำงานหนัก โดยสาเหตุมาจากองค์กรให้ทำงานเกินเวลา และหลายคนเป็นโรคบ้างาน?

จากกรณีล่าสุด เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เฟสบุ๊ก เพจจอดับได้เปิดเผยว่า มีพนักงานบริษัทโทรทัศน์ย่านพระราม 6 เสียชีวิตบนโต๊ะทำงาน เพียงแค่ฟุบบนโต๊ะโดยสาเหตุหลักที่ทำให้เสียชีวิต เกิดจากการทำงานหนักจนตาย เพราะไม่มีเวลาพักผ่อน

โดยในโพสต์ระบุว่า บางครั้งผู้เสียชีวิตต้องทำงานควบ 2 ช่อง บางสัปดาห์ทำงานเกิน 5 วัน ไปจนถึง 7 วันเลยก็มี และก่อนหน้ามีผู้พบเห็นว่าผู้เสียชีวิตฟุบบนโต๊ะทำงานและคิดว่าหลับจึงไม่ได้ปลุก จนแม่บ้านเป็นผู้พบว่าพนักงานรายนี้เสียชีวิตแล้วในช่วงเช้าวันถัดมา

ทั้งนี้ ก่อนที่ผู้เสียชีวิตต้องตายคาโต๊ะทำงาน เขาเคยพูดว่า ‘ต้องให้ตายก่อนใช่ไหม’ ถึงจะหาคนมาช่วยเขา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ทำงานหนักจนตาย ฝ่ายสิทธิ์ฯสมาคมนักข่าว จี้ตรวจสอบช่องทีวีดิจิทัล

เร่งสอบด่วน นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายหรือไม่? ปมพนักงานทำงานหนักจนตาย

ใครว่างานหนักไม่ฆ่าคน!? "อดนอน" "นอนไม่พอ" เสี่ยงเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

ปมพนักงานทำงานหนักจนตาย ล่าสุด TNN แถลงฯชดเชยจ่ายเงินเยียวยาช่วยเหลือ

 

ไทยติดอันดับทำงานหนักที่สุดในโลก

อย่างไรก็ตาม กรณีที่เกิดขึ้นส่งผลให้เกิดการตั้งคำถามมากมายว่าประเทศไทยเป็นเมืองที่มีผู้คนทำงานหนักขนาดไหน?

ผลสำรวจของ Kisi  บริษัทเทคโนโลยีให้คำปรึกษาด้านการทำงาน ที่ได้ทำผลสำรวจทั่วโลกในหัวข้อ “Cities with the Best Work-Life Balance 2021” เพื่อค้นหาว่าเมืองไหนในโลกที่มีการทำงานที่สมดุลที่สุดแห่งปี 2021 และอีกหัวข้อคือ " Cities with the  Overworked 2021” หรือเมืองที่มีประชากรที่มีชั่วโมงการ "ทำงาน" ที่ยาวนาน และชีวิตไลฟ์สไตล์ขาดความสมดุลมากที่สุด

"โดยผลสำรวจเมืองที่มีชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน และชีวิตคนในเมืองขาดความสมดุลมากที่สุดในโลก พบว่า กรุงเทพฯ เมืองหลวงของไทยติดอันดับ 3 ของผลสำรวจชุดนี้ด้วย ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่น่าวิตกของวัยทำงานชาวกรุง"

สำหรับ 5 อันดับเมืองที่เมืองที่มีชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานและชีวิตคนในเมือง ขาดความสมดุลมากที่สุดในโลก มีดังนี้    

อันดับ1 ฮ่องกง : ประเทศจีน

อันดับ2 สิงคโปร์ : ประเทศสิงโปร์

อันดับ3 กรุงเทพ : ประเทศไทย

อันดับ4 บัวโนสไอเรส :ประเทศอาร์เจนตินา

อันดับ5 โซล : ประเทศเกาหลีใต้

โดยงานวิจัยนี้วางมาตรฐานของการทำงานเอาไว้ว่า หากใครที่ทำงานตั้งแต่ 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ขึ้นไปจะถือว่าเป็นคนที่ทำงานหนัก (Overworked)  นั้นคือ การทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ เฉลี่ยวันละ 8 ชั่วโมงขึ้นไป ซึ่งหากคำนวณออกมาแล้วพบว่าคนกรุงเทพฯ ทำงานมากกว่า 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

 

ทำความรู้จักโรคคาโรชิ หรือโรคบ้างาน

ในทางการแพทย์ ได้มีการระบุอาการที่เกิดขึ้นจากการทำงานยาวนานเกินกว่าร่างกายจะรับได้ จนอาจทำให้ถึงแก่ชีวิตว่า “โรคคาโรชิ” หรือ Karoshi Syndrome หรือเรียกอย่างเข้าใจง่ายๆ ว่า “โรคบ้างาน”

" Karoshi Syndrome  คือ  อาการเหนื่อย หรือ อ่อนเพลียจากการทำงานหนักติดต่อกันเป็นเวลานาน พักผ่อนไม่เพียงพอ อ่อนเพลีย เครียดสะสม จนทำให้เสียสุขภาพ และอาจเกิดอาการร้ายแรงที่นำไปสู่ชีวิต เช่น หัวใจวาย เป็นต้น"

คำคำนี้มีจุดเริ่มต้นจากภาษาญี่ปุ่น โดยคำว่า “คาโรชิ” เริ่มเป็นที่รู้จัก หลังจากที่มีข่าวพนักงานของสถานีโทรทัศน์ชื่อดังเสียชีวิตจากภาวะหัวใจล้มเหลว เนื่องจากการทำงานล่วงเวลาอย่างหนัก

นอกจากนี้ ยังมีพนักงานบริษัทเอเจนซี่ชื่อดังระดับประเทศ ที่ทนความตึงเครียดจากการทำงานไม่ไหว จนตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนเริ่มหันมาสนใจ “ผลกระทบ” จากการทำงานที่มากเกินพอดีกันมากขึ้น

เนื่องจากในสังคมการทำงานของญี่ปุ่นจะต้องทุ่มเทให้กับการทำงานมาก จนบางครั้งการทุ่มเทที่มากเกินพอดี อาจส่งผลเสียต่อคนทำงาน จนนำไปสู่ปัญหาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิตได้ โดยส่วนใหญ่มักเกิดจากวัฒนธรรมในการทำงานของบริษัทในญี่ปุ่น ที่มีความจริงจัง จนก่อให้เกิดความเครียดจากการทำงาน

รวมไปถึงชั่วโมงการทำงานที่มากเกินไป เช่น บังคับให้ทำงานล่วงเวลามากกว่า 100-150 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ติดต่อกันเป็นเวลาหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน จนร่างกายไม่ได้พักผ่อนให้เพียงพอ การเร่งทำยอด การตั้ง KPI ที่สูงเกินกว่าจะสามารถเอื้อมถึง การกดดันจากผู้มีอำนาจในที่ทำงาน จนเกิดความเครียดและอาการเหนื่อยล้าสะสม

เช็กตัวเอง เป็นโรคบ้างาน หรือไม่?

สาเหตุทางกายภาพหลักๆ ที่ทำให้เสียชีวิตจากการทำงาน คือ การทำงานหนักติดต่อกันเป็นเวลานาน จนเกิดอาการอ่อนล้า พักผ่อนไม่เพียงพอจากการทำงานล่วงเวลา ร่างกายขาดสารอาหาร และอาจนำไปสู่อันตรายถึงชีวิต ด้วยอาการ กล้ามเนื้อหัวใจตาย เหตุขาดเลือดชนิดเฉียบพลัน

นอกจากนี้ อีกสาเหตุของโรคดังกล่าวยังเกิดได้จาก “ความเครียดสะสม” เครียดและห่วงในงานเป็นอย่างมาก จนส่งผลกระทบต่อสภาวะจิตใจ และในท้ายที่สุด ก็จบลงด้วยการตัดสินใจจบชีวิตตนเอง

ทางที่จะป้องกันไม่ให้ถูก “โรคคาโรชิ” เล่นงาน มีวิธีง่ายๆ คือการจัดสรรเวลาให้เหมาะสม ให้ตนเองได้มีเวลาพักผ่อนอย่างเพียง และให้คำนึงไว้เสมอว่า “สุขภาพต้องมาก่อนงาน”

สำหรับอาการที่บ่งบอกว่าเรากำลังเป็น Karoshi Syndrome

  • คิดหมกมุ่นเรื่องงานแทบจะตลอดเวลา เหมือนสมองไม่ได้พักผ่อน บางครั้งอาจเก็บไปฝัน
  • ทำงานล่วงเวลาติดต่อกันเป็นเวลายาวนาน
  • ใช้เวลาในการทำงานเยอะมาก เริ่มงานเร็ว และเลิกงานช้า ติดต่อกันเป็นเวลานาน
  • ไม่สามารถลางานได้ ไม่มีโอกาสลางาน หรือแทบไม่ได้ใช้วันลา ทั้งลาป่วย ลาพักผ่อน และลากิจ
  • เคร่งเครียดจากการทำงาน ทำงานภายใต้ภาวะกดดัน
  • แทบไม่เคยใช้วันลาหยุด ไม่ว่าจะลาป่วย หรือลาพักร้อน
  • นอนไม่หลับ นอนหลับไม่สนิท รู้สึกอ่อนเพลีย พักผ่อนไม่เพียงพอ
  • แทบไม่มีเวลาพักผ่อน จำไม่ได้ว่าได้พักผ่อนจริง ๆ ครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่
  • ไม่มีเวลาให้ตัวเองและคนที่เรารัก

วิธีป้องกันโรคบ้างาน ก่อนจะสายไป

ถ้าหากเราเป็นคนหนึ่งที่มีจำนวนชั่วโมงทำงานมากเกินไป ทำงานล่วงเวลาเป็นเวลายาวนานเกินไปหรือ โหมทำงานอย่างหนักมากเกินไปเพื่อเป้าหมายอะไรบางอย่างในชีวิต เราควรรู้จักการทำงานให้พอดี ไม่ตรากตรำทำงานหนักจนเกินไป แบ่งเวลาให้สำหรับการพักผ่อนหย่อนใจอย่างแท้จริงบ้าง

  • ทำกิจกรรมที่ชื่นชอบและมีความสุข เช่น ดูหนัง ฟังเพลง ร้องเพลง ปลูกต้นไม้ อ่านหนังสือ ออกไปพบปะเพื่อนฝูงหรือคนที่เรารัก พักผ่อนให้เพียงพอ
  • หากมีปัญหากับการนอน ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที ใส่ใจกับการออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ รู้จักการปล่อยวางความคิด ไม่นำงานกลับมาทำที่บ้าน หรือคิดต่อที่บ้านมากจนเกินไป
  • หากพบว่าเรากำลังรับงานที่มากเกินความพอดี ควรรีบปรึกษาหัวหน้าเพื่อหาทางออกให้กับปัญหาที่เกิดขึ้น อย่ารอให้เสียสุขภาพแล้วจึงค่อยคิดหาทางแก้

ชีวิตสมดุล ต้องไม่เกิน40 ชม.ต่อสัปดาห์

ข้อมูลจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศหรือ International Labour Organization (ILO) ที่ระบุว่า

"การทำงานที่สมดุลคือการทำงานสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง หรือคิดเป็นการทำงานวันละ 8 ชั่วโมง และทำงานเพียง 5 วันต่อสัปดาห์ ดังนั้น หากทำงานด้วยชั่วโมงการทำงานที่น้อยกว่านี้ ก็หมายถึงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นนั่นเอง"

นอกจากนี้การทำงานที่ยาวนานเกินกว่าที่ร่างกายและจิตใจจะรับไหว ยังส่งผลให้เกิดพฤติกรรมที่ทำให้พยายามลดความเครียดลง แต่กลับเป็นพฤติกรรมที่เลวร้ายต่อสุขภาพทั้งสิ้น เช่น การสูบบุหรี่, การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, การทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ , ขาดการออกกำลังกาย และการนอนหลับที่ไม่มีคุณภาพ

นายจ้างต้องยืดหยุ่นเวลาการทำงาน

องค์การอนามัยโลก (WHO) เพิ่งจะเปิดเผยข้อมูลว่า การทำงานล่วงเวลา ส่งผลต่อสุขภาพระยะยาวและเป็นหนึ่งในต้นเหตุที่ทำให้ผู้คนเสียชีวิตก่อนวัยอันควร และนำไปสู่พฤติกรรมที่ทำลายสุขภาพ และทำให้ชีวิตไร้สมดุล

"คนที่ทำงาน 55 ชั่วโมงขึ้นไปในแต่ละสัปดาห์ มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดสมองสูงขึ้นประมาณร้อยละ 35 และมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคหัวใจสูงขึ้น 17% เมื่อเทียบกับคนที่ทำงานสัปดาห์ละ 35 - 40 ชั่วโมง"

องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุไว้ในการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Environment International ที่เผยแพร่เมื่อช่วงเดือน พ.ค. 2021 ซึ่งชั่วโมงการทำงานที่มากเกินไป เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตกว่า 70,000 รายต่อปี แม้ว่าการทำงานจะไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยตรง แต่การทำงานล่วงเวลาได้นำไปสู่อัตราการเกิดโรคร้ายมากขึ้น เช่น หัวใจล้มเหลว และโรคหลอดเลือดสมอง

ดร.เทดรอส อาดานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เรียกร้องให้รัฐบาลต่างๆ และภาคธุรกิจหาวิธีปกป้องสุขภาพของคนทำงานให้มากขึ้น ขณะที่นายจ้างมีความยืดหยุ่นมากขึ้นในการกำหนดเวลาและตกลงกับพนักงานเกี่ยวกับจำนวนชั่วโมงการทำงานสูงสุด เพื่อไม่ให้พนักงานต้องทำงานมากกว่า 55 ชั่วโมงในหนึ่งสัปดาห์

กม.ไทยทำงานไม่เกิน48ชม.ต่อสัปดาห์

อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยมีการคุ้มครองคนทำงาน โดยตามพ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน ระบุว่า

"เวลาทำงานปกติทั่วไปไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน หรือตามที่นายจ้าง-ลูกจ้างตกลงกัน และไม่เกิน 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยต้องมีเวลาพัก ไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน หลังลูกจ้างทำงานมาแล้วไม่เกิน 5 ชั่วโมงติดต่อกัน"

ส่วนวันหยุดนั้น ต้องไม่น้อยกว่า 1 วันต่อสัปดาห์ โดยให้มีระยะห่างกันไม่เกิน 6 วัน สำหรับงานโรงแรม งานขนส่ง งานในป่า งานในที่ทุรกันดาร หรืองานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวงอาจตกลงกันสะสมและเลื่อนวันหยุดประจำสัปดาห์ไปหยุดเมื่อใดก็ได้ภายในระยะเวลา 4 สัปดาห์ติดต่อกัน

ในกรณีที่งานมีลักษณะต้องทำติดต่อกันไป ถ้าหยุดจะเสียหายแก่งานหรือเป็นงานฉุกเฉิน นายจ้างอาจให้ลูกจ้าง ทำงานล่วงเวลา หรือทำงานในวันหยุดเท่าที่จำเป็นก็ได้ โดยกรณีที่มีการทำงานล่วงเวลาต่อจากเวลาทำงานปกติไม่น้อยกว่า สองชั่วโมง นายจ้างต้องจัดให้ลูกจ้างมีเวลาพัก ไม่น้อยกว่ายี่สิบนาที ก่อนที่ลูกจ้างเริ่ม ทำงานล่วงเวลา (ยกเว้นงานที่มีลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำติดต่อกันไป โดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้างหรือเป็นงานฉุกเฉิน)

สิทธิประโยชน์กรณีเสียชีวิตเนื่องจากการทำงาน 

  • เงินค่าทำศพ จ่ายให้แก่ผู้จัดการศพ จำนวน 50,000 บาท
  • เงินทดแทนกรณีเสียชีวิตจ่ายให้ทายาทผู้มีสิทธิ ในอัตราร้อยละ 70 ของค่าจ้างรายเดือน มีกำหนด 10 ปี
  • เงินบำเหน็จชราภาพจากกองทุนประกันสังคม 

ทั้งนี้ผู้มีสิทธิตามกฏหมาย ที่จะได้ รับค่าทดแทนในอัตราร้อยละ 70 ของค่าจ้างรายเดือน เป็นระยะเวลา 10 ปี นั้น กฏหมายระบุว่าจะได้รับค่าทดแทน ต่อเมื่อลูกจ้างตายหรือสูญหายไปในระหว่างการทำงาน หรือปฏิบัติงานตามคำสั่งของนายจ้าง หรือการที่ลูกจ้างสูญหายไปในระหว่างการเดินทาง โดยพาหนะทางบก ทางอากาศ หรือทางน้ำ ซึ่งมีเหตุอันควรเชื่อว่าประสบอันตรายและถึงแก่ความตาย ผู้ที่มีสิทธิที่จะได้รับค่าทดแทนตามกฎหมาย มีดังนี้ 

  • มารดา บิดาตามกฎหมาย
  • สามี หรือภรรยาตามกฎหมาย
  • บุตรอายุไม่ถึง 18 ปี 
  • บุตรที่ยังเรียนอยู่ไม่ถึงปริญญาตรี
  • บุตรอายุ 18 ปีขึ้นไป และทุพพลภาพหรือจิตฟั่นเฟือน
  • บุตรที่เกิดภายใน 310 วัน หลังจากลูกจ้างตายหรือสูญหาย

หากไม่มีบุคคลข้างต้น ให้ผู้อยู่ในอุปการะของลูกจ้าง ก่อนลูกจ้างถึงแก่ความตายหรือสูญหายเป็นผู้มีสิทธิ แต่ผู้อยู่ในอุปการะดังกล่าวจะต้องได้รับความเดือดร้อน เพราะขาดอุปการะจากลูกจ้างที่ตายหรือสูญหาย

สิทธิประโยชน์กรณีเสียชีวิตไม่เนื่องจากการทำงาน 

  •  เงินค่าทำศพสูงสุด 50,000 บาท
  • เงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต 
  • เงินบำเหน็จชราภาพ  โดยทายาทผู้เสียชีวิตจะเป็นผู้ได้รับ

รายละเอียดดังนี้  

1. ค่าทำศพ

  •  สำหรับผู้ประกันมาตรา 33 และ มาตรา 39 ( ที่จ่ายเงินสมทบ 1 ใน 6 เดือน ก่อนเดือนที่เสียชีวิต) ได้รับค่าทำศพ 50,000 บาท ซึ่งจะจ่ายให้แก่ผู้จัดการศพ
  • สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 40 (ที่จ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่า 6 ใน 12 เดือน เว้นแต่กรณีเสียชีวิต จากอุบัติเหตุ จ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่า 1 ใน 6 เดือน ก่อนเดือนที่เสียชีวิต)
  • ทางเลือกที่ 1 และ 2 จะได้รับค่าทำศพ 25,000 บาท
  • ทางเลือกที่ 3 ได้รับค่าทำศพ 50,000 บาท

 2.เงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต

สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39

  • เมื่อจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 36 - 119 เดือน จะได้เงินสงเคราะห์ 50% ของค่าจ้าง เฉลี่ย 4 เดือน
  • หากจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 120 เดือนขึ้นไป จะได้เงินสงเคราะห์ 50% ของค่าจ้างเฉลี่ย 12 เดือน

สำหรับผู้ประกันมาตรา 40

  • ทางเลือกที่ 1 และ 2 จ่ายเงินสมทบมาแล้ว 60 เดือน ก่อนเดือนที่เสียชีวิต จะได้รับเงินสงเคราะห์ 8,000 บาท

ทั้งนี้ หากผู้ประกันตนเสียชีวิตก่อนกำหนด ทายาทจะได้รับประโยชน์ทดแทนเป็นเงินบำเหน็จชราภาพเมื่อผู้ประกันตนเสียชีวิตตามกฎหมายประกันสังคมกำหนด

อ้างอิง:Jobsdb ,สำนักงานประกันสังคม