ขึ้นทุกอย่างยกเว้นรายได้ “คนรุ่นใหม่” แห่กลับบ้าน ซุกอก “พ่อแม่"
ของแพง แต่ค่าแรงถูก เป็นเหตุผลให้คนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะวัย “มิลเลนเนียล” ทั่วโลก ยังคงต้องพักอาศัยอยู่กับพ่อแม่ และไม่พร้อมจะมีบ้านเป็นของตนเอง ขณะที่พ่อแม่ที่ควรจะพ้นวัย “ผู้ปกครอง” แล้ว แต่ก็ยังเต็มใจช่วยเหลือเรื่องเงินทอง เพื่อให้ลูก ๆ มีเงินใช้ โดยไม่สนคำครหาว่า “เกาะพ่อแม่กิน”
Key Points:
- จากอัตราเงินเฟ้อ และค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น แต่รายได้กลับไม่เพิ่ม ทำให้คนรุ่นใหม่ทั่วโลกที่แม้จะทำงานแล้ว ก็แต่ยังต้องอาศัยอยู่กับพ่อแม่ ไปจนถึงขอเงินพ่อแม่บ้างเป็นครั้งคราว
- ผลการสำรวจระบุว่า ฝั่งพ่อแม่เอง ส่วนใหญ่เต็มใจนำเงินเก็บออมหลังเกษียณมาใช้เพื่อช่วยเหลือลูก ๆ
- ขณะที่คนเจน Y และ เจน Z ชาวไทยยอมรับว่าใช้เงินแบบเดือนชนเดือน ทำให้ยังไม่คิดที่จะซื้อบ้านในตอนนี้ และกังวลว่าเงินจะไม่พอใช้ในแต่ละเดือน
การแพร่ระบาดโควิด-19 ผลักดันให้คนรุ่นใหม่ต้องพึ่งพาการเลี้ยงดูจากพ่อแม่มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการสนับสนุนทางด้านการเงิน หลังจากที่ต้องเข้าสู่โลกแห่งการทำงานตามช่วงวัย ทั้งที่ไม่มีประสบการณ์หรือเงินออมสำรอง
จากข้อมูลของสำนักสำรวจสำมะโนประชากรของสหรัฐในปี 2565 พบว่าผู้ชายประมาณ 18% และผู้หญิง 12% ที่มีอายุระหว่าง 25-34 ปี ยังคงอาศัยอยู่กับพ่อแม่ ขณะที่คนรุ่นใหม่ที่มีอายุระหว่าง 18-29 ปี ราว 48% ยังคงอาศัยอยู่กับผู้ปกครอง ซึ่งเป็นจำนวนที่มากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2515 โดยชาวมิลเลนเนียลส่วนใหญ่กลับสู่อ้อมอกพ่อแม่ตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งมีคำที่เรียกคนกลุ่มนี้ว่า “Boomerang Kids”
นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อ และการปรับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ยังส่งผลกระทบต่อคนรุ่นใหม่ที่กำลังมองหาที่พักอาศัยอีกด้วย ทำให้พวกเขายังคงตัดสินใจที่จะอยู่กับพ่อแม่ต่อไป
ผลสำรวจล่าสุดของ Pollfish บริษัทจัดทำโพล พบว่า ปัจจุบัน มีชาวมิลเลนเนียลหรือกลุ่มประชากรอายุระหว่าง 18-41 ปีในสหรัฐ ราว 18 ล้านคน หรือคิดเป็น 1 ใน 4 ที่ยังอาศัยอยู่กับพ่อแม่ของตน โดยกว่า 50% ระบุถึงเหตุผลที่กลับไปอยู่กับพ่อแม่เนื่องจาก “ค่าเช่าที่พักสูงขึ้น” ราว 15% ยอมรับว่า พวกเขาต้องเสียเงินไปกับค่าเช่าบ้านเป็นเงินมากกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้หลังจากหักภาษี
ส่วนเหตุผลอื่น ๆ ที่ทำให้ชาวมิลเลนเนียลตัดสินใจเป็น Boomerang Kids ได้แก่ ต้องการดูแลพ่อแม่ มีปัญหาสุขภาพ และตกงาน โดยที่พวกเขาไม่กลัวว่าจะโดนสังคมตราหน้าว่ายัง “เกาะพ่อแม่กิน” หรือ “ไม่รู้จักโต”
- พ่อแม่พร้อมนำเงินเก็บมาช่วยลูก
ผลการสำรวจของ Savings.com เว็บไซต์เกี่ยวกับการออม เมื่อปี 2022 พบว่า 1 ใน 2 ของผู้ปกครองเด็กที่มีอายุมากกว่า 18 ปีขึ้นไป ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่บุตรหลานของตนให้มีเงินพอใช้ในแต่ละเดือน โดยเฉลี่ยแล้วคิดเป็น 23% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด หรือราว 605 ดอลลาร์ ซึ่งมากกว่าเงินออมเพื่อใช้ในการเกษียณอายุที่ 490 ดอลลาร์
ส่วนใหญ่ของผู้ปกครอง 1,000 คนที่ทำการสำรวจให้เงินบุตรที่มีอายุ 24 ปีหรือต่ำกว่า ขณะที่อีก 17% กำลังช่วยเหลือทางการเงินแก่ลูกหลานที่มีอายุระหว่าง 25-29 ปี และส่วน 19% ยอมรับว่าสนับสนุนทางการเงินให้แก่ลูกที่มีอายุ 30 ปี
นอกจากนี้ การวิจัยยังพบว่า 25% ของผู้ปกครองยินดีที่จะดึงเงินสดออกจากบัญชีออมทรัพย์หรือบัญชีเกษียณของพวกเขา ส่วน 17% จะยอมเป็นหนี้ ส่วน 9% จะยอมยกเลิกแผนการเกษียณอายุก่อนกำหนดเพื่อหาเงินต่อ และ 7% จะรีไฟแนนซ์บ้านเพื่อลดค่าใช้จ่าย โดยผู้เป็นลูกจะนำเงินไปใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็น เช่น ค่าอาหาร ค่าเช่าห้อง แต่ถึงกระนั้นผู้ปกครอง 66% เห็นว่าบุตรหลานใช้เงินของพวกเขาเป็นค่าโทรศัพท์ และ 46% ถูกใช้ในช่วงวันหยุด
- “มิลเลนเนียลไทย” ใช้เงินแบบเดือนชนเดือน
หากดูสถานการณ์ของสหรัฐแล้ว แทบไม่มีความแตกต่างของประเทศไทยที่คนรุ่นใหม่ยังคงต้อง “ขอเงิน” จากพ่อแม่ แม้ว่าจะเริ่มเข้าสู่วัยทำงานแล้วก็ตาม เนื่องจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ ทั้งฐานเงินเดือนที่ไม่เพียงพอต่อค่าครองชีพ ค่าการเดินทาง และค่าเช่าห้อง โดยเฉพาะในพื้นที่เมืองใหญ่และเมืองหลวง ยังไม่ต้องพูดถึงเงินเก็บ เพราะถึงแม้จะใช้เงินแบบกระเบียดกระเสียด ก็ยังอยู่ในสภาวะ “เดือนชนเดือน” อยู่ดี
สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เราจะเห็นว่า คนรุ่นใหม่ “ไม่อิน” กับแนวคิดประเภท “ใช้ชีวิตอย่างประหยัดให้เหลือเงินเก็บ” เนื่องจากแนวคิดดังกล่าว ไม่ได้สอดคล้องกับความเป็นจริงของค่าใช้จ่ายในเมืองหลวง แถมยังเป็นการสั่งสอนและก้าวก่ายการใช้ชีวิตของผู้อื่นอีกด้วย
ผลสำรวจความคิดเห็นของชาวเจน Y และ เจน Z ชาวไทย โดย Deloitte ประเทศไทย บริษัทตรวจสอบบัญชีและที่ปรึกษาทางการเงินเมื่อปี 2565 พบว่า “67% คนไทยกลุ่มเจน Y และ 68% ของชาวเจน Z” ต้องใช้เงินแบบเดือนชนเดือน และกังวลว่าจะไม่มีเงินใช้จ่ายหนี้ต่าง ๆ ในแต่ละเดือน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก ที่อยู่เพียง 46% และ 47% ตามลำดับ
เมื่อถามต่อว่าคนรุ่นใหม่กังวลเรื่องอะไรมากที่สุด 36% ของคนเจน Y ระบุว่าเป็นห่วงเรื่องค่าครองชีพมากที่สุด เพราะว่าค่าอาหาร ค่าเดินทาง และค่าที่พักนั้นปรับราคาขึ้นสูง ขณะที่ชาวเจน Z 33% เป็นห่วงว่าจะไม่สามารถหางานทำได้ นอกจากนี้ 3 ใน 4 ของทั้งเจน Y และเจน Z ต่างเห็นตรงกันว่า ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนได้ถ่างกว้างมากขึ้นเรื่อย ๆ
- มิลเลนเนียลไทยเกาะพ่อแม่กิน ?
วิธีหนึ่งที่คนรุ่นใหม่มักจะทำให้มีรายได้พอใช้จ่ายในแต่ละเดือน นอกจากจะหารายได้เสริมแล้ว คือจำใจต้องขอเงินจากพ่อแม่ แม้ว่า ค่านิยมรวมถึงความคาดหวังในสังคมไทย ส่วนใหญ่มีชุดความคิดว่า เมื่อลูกหางานทำได้แล้ว ควรต้องส่งเงินให้พ่อแม่และเลี้ยงดูพ่อแม่ แต่ในปัจจุบันแม้ลูกจะมีงานทำแล้ว ก็ยังเอาตัวแทบไม่รอด
จากผลการศึกษาของ รศ.ดร.เดือนเพ็ญ ธีรวรรณวิวัฒน์ และ วศิน แก้วชาญค้า จาก Panel data เรื่อง การเกื้อกูลและโครงสร้างครอบครัวในครอบครัวผู้สูงอายุไทย โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสำรวจ Health, Aging, and Retirement in Thailand (HART) ในปี 2558 และปี 2560 ซึ่งเป็นการศึกษาก่อนยุคโควิด-19 พบว่า 50% ของครอบครัวที่ทำการสำรวจ มีการเกื้อกูลในครอบครัว เช่น พ่อแม่ให้เงินลูก หรือ ลูกให้เงินพ่อแม่ โดย 35.41% ลูกส่งเงินให้แก่พ่อแม่
มีเพียงร้อยละ 4.65% เท่านั้นที่พ่อแม่ในวัยสูงอายุยังคงให้เงินลูกใช้ ส่วนอีก 9.94% นั้นมีการเกื้อกูลในครอบครัวทั้ง 2 ทาง แต่สิ่งที่น่าสนใจ คือพ่อแม่จะให้เงินลูกโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 27,000 บาทต่อปี ส่วนลูกให้เงินพ่อแม่เพียงปีละ 21,600 บาท ซึ่งอนุมานได้ว่าพ่อแม่ที่ให้เงินลูกใช้อยู่มักจะมีฐานะทางการเงินที่ดีกว่า
นอกจากนี้ ผลการศึกษายังชี้ให้เห็นว่า ถ้าลูกยังอาศัยอยู่กับพ่อแม่ มีแนวโน้มสูงที่พ่อแม่จะให้เงินลูก แต่ในทางกลับกัน ลูกไม่ได้ให้เงินพ่อแม่ อีกทั้งพ่อแม่ที่อายุเกิน 60 ปีที่ยังให้ความช่วยเหลือทางการเงินกับลูกที่โตแล้ว จะมีความสัมพันธ์ทางบวกและความสุขในชีวิตมากยิ่งขึ้น เนื่องจากรู้สึกว่าชีวิตของตนเองมีคุณค่าและมีความหมาย เพราะสามารถเป็นที่พึ่งพิงของลูกได้ และยังได้อยู่พร้อมหน้ากันทั้งครอบครัว รวมถึงมองว่าลูกยังไม่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ
ขณะที่ ผลสำรวจของ DDproperty เว็บไซต์ด้านอสังหาริมทรัพย์เมื่อปี 2564 พบว่า ชาวมิลเลนเนียลไทยยังไม่พร้อมที่จะซื้อบ้านเป็นของตนเอง เนื่องจากปัญหาหนี้ครัวเรือน การชะลอตัวทางเศรษฐกิจและการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้คนรุ่นใหม่ถึง 58% ยังไม่มีแผนที่จะย้ายออกจากบ้านของพ่อแม่ในช่วง 1 ปีข้างหน้านี้
ส่วนสาเหตุหลักที่ทำให้ชาวมิลเลนเนียลยังเลือกที่จะอาศัยอยู่กับพ่อแม่ เพราะต้องการอยู่ดูแลพ่อแม่สูงถึง 49% ตามมาด้วย ไม่มีเงินเพียงพอในการหาที่อยู่ใหม่ 43% และ อีก 22% ระบุว่าตั้งใจจะรับช่วงต่อบ้านจากรุ่นพ่อแม่อยู่แล้ว
- การพึ่งพาพ่อแม่เกิดขึ้นทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม สำหรับบริบท “การอยู่กับพ่อแม่” ของสังคมไทยกับสหรัฐนั้นอาจจะมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง เนื่องจาก คนรุ่นใหม่ชาวไทย ที่อาศัยอยู่กับพ่อแม่ มีทั้งแบบเต็มใจและไม่เต็มใจ ไม่ว่าจะเป็น พ่อแม่ไม่ยอมปล่อยให้ออกไปอยู่ข้างนอก หรือปัญหาค่าใช้จ่ายก็ตาม หรือต้องการดูแลพ่อแม่ เป็นต้น
ข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนแบบนับซ้ำ หรือ SES Panel (Socio-Economic Survey) พบว่า สัดส่วนของครัวเรือนในประเทศไทย กลุ่มที่แต่งงานแล้วและมีลูกโดยอยู่อาศัยร่วมกับพ่อแม่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการมีลูกเล็กวัย 0–5 ปี จะเพิ่มโอกาสการอยู่ร่วมกับพ่อแม่ถึง 32–34% เพราะต้องการให้พ่อแม่มาช่วยเลี้ยงดูลูกของตนเองในช่วงที่ต้องไปทำงาน รวมถึงดูแลบ้าน
ขณะที่สหรัฐนั้นโดยปรกติแล้ว เมื่อลูกเรียนจบระดับมัธยมปลาย หรือ มีงานทำแล้วมักจะย้ายออกจากบ้านพ่อแม่ ไปใช้ชีวิตตามลำพัง แต่ปัจจุบันเหล่า Boomerang Kids กลับมาเพราะมีปัญหาทางการเงิน รายได้ไม่เพียงพอเป็นหลัก และปรากฏการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในไทย หรือสหรัฐเท่านั้น แต่กำลังลุกลามไปทั่วโลก
หลายประเทศในยุโรปที่มีคนรุ่นใหม่ว่างงานหรือไม่ได้ทำงานมาก มีแนวโน้มที่จะอาศัยอยู่กับพ่อแม่นานยิ่งขึ้น โดยค่าเฉลี่ยอายุของคนรุ่นใหม่ที่ย้ายออกจากบ้านพ่อแม่ในสหภาพยุโรปเมื่อปี 2564 อยู่ที่ 26.5 ปี ส่วนคนหนุ่มสาวชาวจีนที่ยังหางานไม่ได้ ยังคงจะต้องอยู่กับพ่อแม่ต่อไปเรื่อย ๆ แต่ต่อให้หางานได้แล้ว พวกเขาอาจจะมีรายได้น้อยกว่าเงินบำนาญของคนรุ่นก่อน ด้วยซ้ำ ซึ่งแน่นอนว่าทั้งหมดนี้เป็นผลกระทบมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันทั้งปัญหาเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 สภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ อัตราเงินเฟ้อและการปรับอัตราดอกเบี้ย ส่งผลให้คนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะชาวมิลเลนเนียลหรือเจน Z ที่พยายามใช้ชีวิตให้อยู่รอดให้ได้ แต่ยังติดกับดักเงินเดือนที่ไม่สูงพอ ทำให้ต้องกลับไปพึ่งพาพ่อแม่ที่มีฐานะที่ดีกว่า จึงไม่สามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่าพวกเขา “ไม่รู้จักโต” หรือ “เกาะพ่อแม่กิน”
ที่มา: มนุษย์ต่างวัย, Insider 1, Insider 2, Thairath Plus, The Bangkok Insight, Yahoo