8 มีนาคม 'วันสตรีสากล' พม.เชื่อมั่นพลังหญิงไทย เท่าเทียมได้อย่างยั่งยืน

8 มีนาคม 'วันสตรีสากล' พม.เชื่อมั่นพลังหญิงไทย เท่าเทียมได้อย่างยั่งยืน

8 มีนาคม 'วันสตรีสากล' ถือเป็นวันที่รำลึกถึงความเป็นมาของการต่อสู้ของสตรีผู้ใช้แรงงาน ที่กว่าจะได้มาซึ่งโอกาสในการก้าวไปสู่ความเสมอภาค แม้สหประชาติมองว่า ความเท่าเทียมทางเพศจะเกิดขึ้นได้ในอีก 300 ปี แต่ พม. เชื่อว่าทำได้เร็วกว่านั้น 30 เท่า จากพลังสตรีของประเทศไทย

Key Point : 

  • 8 มีนาคม ของทุกปี เป็น ‘วันสตรีสากล’ เพื่อรำลึกถึงความเป็นมาของการต่อสู้ของสตรีผู้ใช้แรงงาน ที่กว่าจะได้มาซึ่งโอกาสในการก้าวไปสู่ความเสมอภาค
  • ที่ผ่านมา มีข้อมูลชี้ว่า ผู้หญิงทั่วโลกมีเพียง 28% ที่จบด้าน STEM และแม้ผู้หญิงจะเรียนสาขา STEM ได้เก่ง แต่เมื่อเข้าสู่โลกแห่งการทำงาน กลับต้องเผชิญกลับข้อจำกัดในการเจริญก้าวหน้า 
  • เลขาธิการสหประชาชาติ มองว่าหากดูจากสถานการณ์ในปัจจุบันและความก้าวหน้าในระดับนี้ ความเท่าเทียมกันทางเพศจะเกิดขึ้นในอีก 300 ปี
  • ภาครัฐ โดย กระทรวง พม. ได้มีการเดินหน้าเสริมพลังสตรีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านดิจิทัล ลดความเหลื่อมล้ำ ต่อยอดอาชีพ รับมือวิกฤติทางเศรษฐกิจ เร่งเดินหน้าสร้างความเท่าเทียม เชื่อว่าทำได้เร็วกว่าที่มีการคาดการณ์ 30 เท่า

 

8 มีนาคม ของทุกปี เป็น ‘วันสตรีสากล’ หรือ International Women's Day ถือเป็นวาระที่สตรีทั่วโลก รำลึกถึงความเป็นมาของการต่อสู้ของสตรีผู้ใช้แรงงาน ที่กว่าจะได้มาซึ่งโอกาสในการก้าวไปสู่ความเสมอภาค ความยุติธรรม และการไม่ถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศต้องใช้ระยะเวลาที่ยาวนาน จนถึงในปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า สตรีเป็นพลังสำคัญที่เคียงบ่าเคียงไหล่กับผู้ชาย ในการสร้างสรรค์ความเจริญให้กับสังคม

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

ไทยมีผู้หญิง 33 ล้านคน

 

ทั้งนี้ รัฐบาลไทยมีความมุ่งมั่นในการพลิกโฉมประเทศไทยให้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว และพร้อมสำหรับโลกยุค 5.0 โดยนำนวัตกรรม วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีดิจิทัล มาใช้เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ ให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ข้อมูลจาก กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ระบุว่า ประชากรไทย 65 ล้านคน มีผู้ชาย 31 ล้านคน และ ผู้หญิง 33 ล้านคน

 

ผู้หญิงทั่วโลกจบด้าน STEM เพียง 28% 

 

จากอดีตสังคมมองว่าผู้หญิงมีความสามารถไม่เทียบเท่าผู้ชาย เนื่องจากปัจจัยทางกายภาพและค่านิยมทางสังคมส่งผลต่อระบบความคิดที่ส่งผลต่อผู้หญิงเข้าศึกษาในศาสตร์ด้าน STEM หรือ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ในสัดส่วนที่น้อย

 

กระทรวง พม. ยังเผย สถิติทั่วโลก พบว่า มีผู้หญิงเพียง 28% เท่านั้นที่จบการศึกษาด้าน STEM ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยหญิงไทยอยู่ในเกณฑ์ค่าเฉลี่ยนี้เช่นกัน

 

ทั้งนี้ โลกแห่งการทำงานด้านอุตสหากรรมเทคโนโลยีดิจิทัล และนวัตกรรมส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ของผู้ชายอย่างไรก็ดี มีข้อมูลชี้ว่า แม้ผู้หญิงจะเรียนสาขา STEM ได้เก่งมาก แต่เมื่อเข้าสู่โลกแห่งการทำงาน กลับต้องเผชิญกลับข้อจำกัดในการเจริญก้าวหน้าในการทำงาน ไม่เอื้อต่อการมีครอบครัวหรือ Work life balance ที่ดี หรือเจอกับการกดขี่ทางเพศ หรือ ปลดพนักงานโดยเฉพาะเพศหญิง

 

ผู้หญิง เสี่ยงเผชิญภัยไซเบอร์

 

ทั้งนี้ เมื่อหันมาดูพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของผู้หญิงจะพบว่า 

ใช้ซื้อขายสินค้า

  • 77.48% ใช้ซื้อสินค้า
  • 78.84% ใตรวจสอบราคาและคุณภาพของสินค้า
  • 22.77% ใช้ขายสินค้าออนไลน์

พฤติกรรมการใช้สื่อสังคมออนไลน์

  • 99.87% เฟซบุ๊กส์
  • 93.19% ไลน์
  • 79.95% ยูทูบ

 

 

จากพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ต พบว่า ผู้หญิงใช้อินเทอร์เน็ตซื้อสินค้าในสัดส่วนมากกว่าผู้ชายคิดเป็นร้อยละ 78.84 และที่น่าสนใจคือ พฤติกรรมการเลือกใช้สื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ของผู้หญิงเฉลี่ยสูงกว่า 90% สะท้อนว่าทำไมผู้หญิงจึงตกเป็นเหยื่อทางไซเบอร์

 

ปลดล็อกศักยภาพของผู้หญิงในด้านเศรษฐกิจดิจิทัล

 

ที่ผ่านมา กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ตระหนักถึงความท้าทายดังกล่าว ได้กำหนดนโยบายการเสริมพลังสตรีและการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีดิจิทัลไว้ในแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาสตรีแห่งชาติ พ.ศ. 2566-2570 เร่งลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลสำหรับผู้หญิงและเด็กหญิงโดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล ผ่านโครงการมากมาย อาทิ การให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง โดยไม่มีค่าใช้จ่ายภายใต้โครงการเน็ตประชารัฐ เพื่อให้เข้าถึงโอกาสทางการศึกษาและการประกอบอาชีพได้อย่างเท่าเทียม

 

อีกทั้ง เพื่อปลดล็อกศักยภาพของผู้หญิงในด้านเศรษฐกิจดิจิทัล โดยร่วมมือกับสมาคมธุรกิจสตรี เพิ่มองค์ความรู้ด้านธุรกิจและทักษะดิจิทัล แก่ผู้ประกอบการหญิงในธุรกิจเอสเอ็มอี มีหลักสูตรฝึกอาชีพออนไลน์สำหรับผู้หญิงทั่วประเทศ โดยศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัว 8 แห่ง และ สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ 4 แห่ง เพื่อให้ผู้หญิงรับมือกับวิกฤติเศรษฐกิจและสร้างความยืดหยุ่น ในการฟื้นตัว

 

และโครงการพัฒนาศักยภาพแรงงานสตรี STEM ในสถานประกอบการ เพื่อยกระดับแรงงานสตรี นอกจากนี้เพื่อเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรแก่ผู้หญิงและเด็กหญิงในโลกดิจิทัล ได้ร่วมมือกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการจัดการปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยีดิจิทัล ที่กระทำการรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กหญิงในโลกไซเบอร์ ถือเป็นการยกระดับทุนมนุษย์ต่อสตรีและนำพาประเทศสู่ความเสมอภาคทางเพศอย่างยั่งยืน เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

 

ขับเคลื่อนพลังสตรี พัฒนาประเทศ

 

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในฐานะประธานในพิธีงาน วันสตรีสากล ประจำปี 2566 ภายใต้แนวคิด ‘พลังสตรีและเด็กหญิง ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรมและเทคโนโลยี สู่ความเสมอภาคระหว่างเพศอย่างยั่งยืน’ จัดโดย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดย กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) ว่า เนื่องในโอกาสวันสตรีสากลประจำปี 2566 ในนามรัฐบาล ขอส่งความระลึกถึงและความปรารถนามายังสตรีไทยและผู้ปฏิบัติงานด้านการพัฒนาสตรีทุกท่าน

 

"องค์การสหประชาชาติ ได้ประกาศให้วันที่ 8 มีนาคมของทุกปี เป็นวันสตรีสากล เพื่อให้ประเทศสมาชิกทั่วโลก ได้ตระหนักถึงคุณค่า ความสำคัญ และความเคารพในศักดิ์ศรีรวมทั้งการพัฒนางานด้านต่างๆ เพื่อสร้างความเสมอภาคทางสังคมให้แก่สตรี" 

 

ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการสร้างโอกาสให้แก่ประชาชนทุกกลุ่ม ทุกช่วงวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มสตรีที่ถือเป็นประชากรที่มีจำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศ รัฐบาลได้คำนึงถึงศักยภาพของสตรีในการเป็นพลังขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศในหลากหลายมิติ จึงได้ยกระดับการส่งเสริมบทบาทสตรีให้สามารถมีส่วนร่วมในการเป็นพลังทางสังคม พร้อมทั้งการรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนของสังคม ปรับเปลี่ยนเจตคติ ต่อบทบาทสตรี บนพื้นฐานของการเคารพศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์

 

ในการจัดงานวันสตรีสากล ประจำปี 2566 นี้ ประเทศไทย ได้กำหนดแนวคิด พลังสตรีและเด็กหญิง ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรม เทคโนโลยี สู่ความเสมอภาคระหว่างเพศอย่างยั่งยืน เพื่อให้สตรีทุกช่วงวัย ได้มีส่วนในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม สามารถยกระดับคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ที่ดีต่อตนเอง ครอบครัวและชุมชนได้อย่างยั่งยืน พร้อมทั้ง ร่วมพลิกโฉมประเทศไทย ให้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วด้วยการใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์ภายในปี 2570

 

แพลตฟอร์มดูแลสตรีและครอบครัว

 

ด้าน จินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กล่าวว่า วันสตรีสากล ถือเป็นวาระที่สตรีทั่วโลกร่วมกันรำลึกถึงความเป็นมา ในการต่อสู้ของแรงงานสตรี โอกาสในการก้าวไปสู่ความเสมอภาค ความยุติธรรม และการไม่ถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ ปัจจุบัน เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่า สตรีเป็นพลังสำคัญทางเศรษฐกิจ ที่เคียงบ่าเคียงไหล่กับผู้ชาย ในการสร้างสรรค์ความเจริญให้กับสังคม

 

กระทรวง พม. ตระหนักถึงความสำคัญของวันสตรีสากล จึงได้จัดกิจกรรมทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเป็นประจำทุกปี เพื่อเสริมสร้างกำลังใจให้ผู้หญิงและองค์กรเครือข่ายที่ทำงานด้านการเสริมพลังและยกระดับสถานภาพสตรี โดยการจัดงานในปีนี้ ภายใต้แนวคิด ‘พลังสตรีและเด็กหญิง ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรมและเทคโนโลยี สู่ความเสมอภาคระหว่างเพศอย่างยั่งยืน’ โดยกระทรวง พม. ร่วมกับภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชน ดำเนินการคัดเลือกสตรี บุคคล หน่วยงาน องค์กรดีเด่นที่ทำงานด้านการพัฒนาศักยภาพและคุ้มครองสิทธิสตรี

 

รวมทั้งการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศจากทั่วประเทศ เพื่อประกาศเกียรติคุณ ยกย่อง เชิดชูเกียรติ โดยในปีนี้ มีสตรีบุคคล หน่วยงาน องค์กร ที่ผ่านการคัดเลือก รวม 58 รางวัล จาก 15 สาขา และ 1 รางวัลเกียรติยศสำหรับสตรีดีเด่น ที่ทำคุณประโยชน์ต่อสังคมอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ เป็นสตรีที่เคยได้รับรางวัลสตรีดีเด่นเนื่องในวันสตรีสากลมาแล้ว 3 ครั้ง โดยแต่ละครั้งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 5 ปี

 

กระทรวง พม. มุ่งมั่นในการนำนวัตกรรม และเทคโนโลยีดิจิทัล ที่เป็นมิตรต่อสตรีและเด็กหญิงมาใช้ในการเสริมพลังสตรีและเด็กหญิงโดยเฉพาะอย่างยิ่งแม่เลี้ยงเดี่ยวและสตรีกลุ่มเปราะบางอื่นๆ ให้มีทักษะในการประกอบอาชีพ ด้วยการอบรมทั้งออนไลน์และออนไซต์ รวมทั้งการพัฒนาแพลตฟอร์มการพัฒนาสินค้าออนไลน์เพื่อให้สตรีรู้เท่าทันและเข้าถึงเทคโนโลยี โดยจัดทำ FAMILY LINE แพลตฟอร์ม ในการสนับสนุนทางสังคมและจิตใจแก่สตรีและครอบครัวที่ประสบปัญหาในครอบครัวหรือปัญหาสังคม รวมทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับครอบครัว

 

รวมถึง มีสายด่วน 1300 รับแจ้งเหตุความรุนแรงในครอบครัวและปัญหาสังคมต่างๆ และได้ร่วมกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตรวจแห่งชาติ ในการจัดการปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่กระทำความรุนแรงต่อสตรีและเด็กหญิงในโลกไซเบอร์อีกด้วย

 

"สำหรับ ผู้ที่ได้รับรางวัล เกียรติยศสำหรับสตรีดีเด่น ประจำปี 2566 ได้แก่ คุณหญิงณัฐิกา วัธนเวคิน อังอุบลกุล เป็นหนึ่งในสุภาพสตรีที่โดดเด่นในเรื่องของการบริหารธุรกิจและอุทิศตนเพื่อสังคม และมีผลงานที่โดดเด่น ประจักษ์ต่อสายตาสังคม อีกทั้งยัง ได้รับรางวัลต่อเนื่อง 3 ครั้งด้วยกัน"

 

พม.เคียงข้างสตรีไทย

 

จุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า แนวคิดการจัดงานในปีนี้ คือ ‘พลังสตรีและเด็กหญิง ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรมและเทคโนโลยี สู่ความเสมอภาคระหว่างเพศอย่างยั่งยืน’ ในวันที่ 8 มีนาคมของทุกปี เป็นวันที่เราปักหมุดความก้าวหน้าของสตรีของไทย

 

เมื่อเร็วๆ นี้ นายแอนโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ หรือยูเอ็น แถลง ณ ที่ประชุมของคณะกรรมาธิการว่าด้วยสถานภาพสตรี แห่งสหประชาชาติ หรือ CSW ว่า หากดูจากสถานการณ์ในปัจจุบันและความก้าวหน้าในระดับนี้ ความเท่าเทียมกันทางเพศจะเกิดขึ้นในอีก 300 ปี 

 

ขณะที่ นายจุติ ยืนยันว่า จากการที่ ได้เห็นถึงพลังสตรีของประเทศไทยมานานแล้ว และเชื่อมั่นว่าจะทำได้เร็วกว่านั้นถึง 30 เท่า คุณหญิงณัฐิกา คือ สุภาพสตรีตัวอย่างท่านหนึ่ง ซึ่งทำงานมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2529 จึงได้รับรางวัลต่อเนื่องมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม ต้องขอบคุณทุกคนที่ทำให้เราก้าวหน้า วันนี้โลกได้เปลี่ยนแปลงไปเยอะ ไม่ใช่แค่สตรีเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องของความเท่าเทียมทางเพศ ทุกคนต้องมีที่ยืนทางสังคม ปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมไทยเดินหน้ามาไกลมาก วันนี้ กระทรวง พม. ได้เห็นว่าปลัดกระทรวงคนแรกของกระทรวงเป็นสตรี และยังเป็นวุฒิสมาชิกที่ยังทำงานต่อเนื่องและเข้มแข็ง นอกจากนี้ ยังมีอธิบดีหญิง

 

“หวังว่าพลังของทุกคนที่มีจะไม่มีวันหมด น้ำใจจะไม่มีวันเหือดแห้ง และทุกอย่างที่ทุกท่านฝันจะเป็นจริงได้ เชื่อมั่นว่าประเทศไทยจะทำได้เร็วกว่าที่ทั่วโลกคาดการณ์ไว้ ให้คำมั่นว่า กระทรวง พม. นอกจากเราไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เราจะไปด้วยกันกับสุภาพสตรีทั่วประเทศ” รมว.พม.กล่าวทิ้งท้าย