กลุ่มชาติพันธุ์ แม่ฮ่องสอน ต้นแบบเครือข่ายงดเหล้า สร้างสุขภาวะในพื้นที่
เครือข่ายงดเหล้า สสส.หนุนกลุ่มชาติพันธุ์ทั่วไทย ขยายผลงานบุญประเพณีปลอดเหล้าชู จ. แม่ฮ่องสอน ต้นแบบสำเร็จ พร้อมจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หวังฟื้นฟูคุณค่างานบุญประเพณีส่งต่อลูกหลาน
สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) สสส. ร่วมกับ จังหวัดแม่ฮ่องสอน สภาวัฒนธรรมจังหวัดฯ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน และภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชนจังหวัดแม่ฮ่องสอนจัดเวทีแลกเปลี่ยนนโยบายสาธารณะชาติพันธุ์ ด้านงานบุญประเพณี เทศกาลและการลด ละ เลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ โดยมีผู้ร่วมกิจกรรมกว่า 100 คน จาก 20 ชาติพันธุ์ 27 กลุ่มพื้นที่
ทั้งนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนการดำเนินงานงดเหล้าและส่งเสริมสุขภาวะในกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์มีบริบท มีการออกแบบกิจกรรมและความสำเร็จที่แตกต่างกัน ภายในงานมีกิจกรรมเสวนาการขับเคลื่อนสุขภาวะของกลุ่มชาติพันธ์ผ่านกลไกของ สภาชาติพันธุ์ และการขับเคลื่อนประเด็นเรื่องเหล้าของกลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน
พร้อมกันนี้ ได้มีการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกัน เพื่อยกระดับเป็น “สมาพันธุ์เครือข่ายชาติพันธุ์สร้างสุข งดเหล้า ลดปัจจัยเสี่ยง” และเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงรูปธรรม โดยกิจกรรมในครั้งนี้ นายเชษฐา โมสิกรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน มอบหมายให้นายศรัณยู มีทองคำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมครั้งนี้ ณ โรงแรมอิมพีเรียล อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
เปิด“พื้นที่สุขภาวะ” ปรับพฤติกรรมรับชีวิตวิถีใหม่
ส่องมติ "สมัชชาสุขภาพกรุงเทพฯ" สร้าง กทม. สู่เมืองสุขภาวะ
ภาคีสุขภาพรวมพลัง สกัดสื่อชวนอ้วน ปกป้องสิทธิสุขภาวะเด็ก
กรุงเทพฯอ่วม สภาพอากาศวันนี้ ฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐาน 70 พื้นที่
กลุ่มชาติพันธุ์ แม่ฮ่องสอน นำร่องสร้างสุขภาพวะ
นายศรัณยู มีทองคำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นจังหวัดใหญ่อันดับ 8 ของประเทศไทย แต่มีประชากรเบาบาง มีกลุ่มชาติพันธุ์มากถึง 9 ชาติพันธุ์ 13 กลุ่ม
โดยจังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดที่มีกลุ่มชาติพันธ์ุมากที่สุด การที่สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) จัดเวทีแลกเปลี่ยนในครั้งนี้ มีประโยชน์อย่างยิ่ง เป็นการระดมสมองในการจะทำอย่างไรให้ประเพณีอันดีงามไม่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาเกี่ยวข้อง
ทำให้ได้ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์นำไปสู่การจัดกิจกรรมที่เหมาะสมของชนเผ่าต่างๆ ให้สามารถลดละเลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้อย่างจริงจัง เป็นการสร้างคุณค่าอันดีงามให้งานประเพณีวัฒนธรรม ทางจังหวัดมีความยินดีและพร้อมที่จะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ ในการผลักดันประเด็นนี้ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อเกิดเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาการดำเนินงานต่อไป
ด้านนายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงาน สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า เมื่อปี 2554 จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีอัตราการดื่ม ติด 10 อันดับแรกของประเทศ ทำให้ สคล.เข้าดำเนินงานรณรงค์งดเหล้าในชุมชน,งานบุญประเพณีและเทศกาลต่างๆ เมื่อปี 2560 อยู่ในอันดับที่ 37 และปี 2564 อยู่ในอันดับที่ 39 ซึ่งลดลงตามลำดับ การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นส่วนหนึ่งเป็นผลจากการมีการรณรงค์ของภาคีเครือข่ายหลายภาคส่วนของจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่ช่วยกันขับเคลื่อนงาน
ต้นแบบกลุ่มชาติพันธุ์ห้ามเลี้ยงเหล้าในงานประเพณี
ทั้งนี้ ทำให้มีพื้นที่ต้นแบบหลายพื้นที่ อาทิ งานปอยส่างลอง(ปลอดเหล้า) ในอำเภอเมือง นอกจากนี้ที่อำเภอปางมะผ้า กลุ่มชาติพันธุ์ได้กำหนดกฎระเบียบของชุมชน เช่น เจ้าภาพห้ามเลี้ยงเหล้าในงาน หากเจ้าภาพเลี้ยงเหล้าชาวบ้านจะไม่ไปช่วยงาน ห้ามดื่มและนำสุราเข้าไปในสถานที่สำคัญทางศาสนา ห้ามนำสุราเข้าไปในงานศพและงานบุญ รวมถึงงานบุญประเพณีห้ามเลี้ยงสุรา เป็นต้น
ความสำเร็จของพื้นที่ต่างๆ ในการลดการดื่มของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เป็นต้นแบบที่ดีที่จะขยายผลไปสู่พื้นที่อื่นๆ ซึ่งภายหลังกิจกรรมในครั้งนี้จะได้นำบทเรียนที่ได้ไปยกระดับและพัฒนาการทำงานรณรงค์ โดยร่วมกันค้นหาแนวทางและข้อเสนอในการขับเคลื่อนร่วมกันทั้งในภาพรวมและในแต่ละพื้นที่ โดยจังหวัดแม่ฮ่องสอนซึ่งมีกลุ่มชาติพันธุ์มากที่สุดจะเป็นต้นแบบที่ดีในการขับเคลื่อนงานสุขภาวะในชาติพันธุ์ต่างๆ
นายประเสริฐ ประดิษฐ์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอนและในฐานะชาวไทใหญ่ กล่าวว่า การจัดเวทีครั้งนี้นับเป็นการรวมของพี่น้องชาติพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดจากเครือข่ายทั่วประเทศ ถึง 27 กลุ่ม อาทิ กะเหรี่ยงแดง ไทใหญ่ ลีซู ลาหู่ ปะโอ ม้ง ปกาเกอญอ ไทยญวน ไทใหญ่ ไทเบิ้ง ลาวแง้ว ไทพวน ไทยทรงดำ ไทย-รามัญ ลาวเวียง กูย เขมร ลาว และ ภูไท เป็นต้น จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีชุมชนต้นแบบงานประเพณีปลอดเหล้าหลายพื้นที่ อาทิ
(1) บ้านห้วยขานโดดเด่นเรื่องงานบุญประเพณีปลอดเหล้าโดยขับเคลื่อนผ่านโครงการหมู่บ้านศีลห้า
(2) บ้านผาบ่อง (ผาบ่องโมเดล) โดดเด่นเรื่องการขับเคลื่อนงานบุญประเพณีปลอดเหล้าในระดับตำบล หมู่บ้านนวัตวิถี ไทใหญ่ทาวส์ และชุมชนการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
(3) ชุมชนป๊อกกาดเก่า เป็นต้นแบบของสังคมเมืองที่สามารถจัดงานประเพณีปลอดเหล้ามานานกว่า 10 ปี เริ่มต้นจากการขับเคลื่อนงานปอยส่างลองปลอดเหล้าซึ่งเป็นงานบุญประเพณีการบวชสามเณรของชาวไทใหญ่ และสามารถขยายไปสู่งานบุญประเพณีปลอดเหล้าทั้งหมดของตำบลจองคำ อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน
“10 กว่าปีก่อน ในกลุ่มชาติพันธุ์ จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีการดื่มหนักมากโดยเฉพาะวันรับแขกในงานเทศกาลปอยส่างลอง ผลกระทบที่ตามมา คือ ภาพลักษณ์การท่องเที่ยวเสียหาย มีการทะเลาะวิวาท เกิดอุบัติเหตุ ที่สำคัญเกิดมีหนี้สินตามมาจำนวนมาก เพราะงบประมาณในการจัดงานโดยเฉพาะค่าเหล้าไม่ต่ำกว่าหนึ่งหมื่นถึงสามหมื่นบาทต่อเจ้าภาพ บางรายค่าใช้จ่ายเป็นแสน ปี 2556 เราจึงมาหารือกันและสร้างข้อตกลงกันว่า งานปอยส่างลองต้องไม่มีการเลี้ยงเหล้า ซึ่งทุกคนต่างเห็นด้วยและร่วมมือกันจนเกิดผลสำเร็จ เกิดเป็นกระแส และสามารถขยายผลไปสู่งานบุญประเพณีอื่นๆ ทั้งออกพรรษา ลอยกระทง งานศพ ต่อไปเราจะขยายผลไปสู่ชนเผ่าลีซู โดยจะดำเนินการไปทีละชนเผ่าในพื้นที่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน” นายประเสริฐ ประดิษฐ์ กล่าว
น.ส.กาญจน์ฐิตา มนุษย์พัฒนา ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่บ้านพัฒนา อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน กล่าวว่า บ้านเราเป็นหมู่บ้านสีขาวจะไม่มีการขายเหล้าในหมู่บ้าน โดยจุดเริ่มต้นจากสถาบันครอบครัวมีปัญหา จากการดื่มสุราของพ่อบ้าน เกิดปัญหาทะเลาะวิวาทและนำไปสู่ความรุนแรง กลุ่มแม่บ้านจึงรวมตัวกันมาหารือกับผู้นำชุมชน ขอให้ไม่มีการขายเหล้าในหมู่บ้าน
เพื่อลดจำนวนคนดื่มลง ถ้าไม่มีคนขายก็จะช่วยลดจำนวนคนดื่มลงได้ทางหนึ่ง ส่วนการเข้าร่วมโครงการของ สคล.เริ่มประมาณปี 2564 เราต้องการป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ และเพื่อให้เยาวชนของเราทราบถึงโทษของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การเข้าร่วมกิจกรรมของเครือข่ายในครั้งนี้เราสนใจแบบอย่างของจังหวัดราชบุรีในเรื่องของการกอด
การสวมกอดกันของคนในครอบครัวจะทำให้เกิดความอบอุ่นและกล้าที่จะเปิดใจพูดคุยกันมากขึ้น อันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความไม่เข้าใจกันระหว่างคนในครอบครัวได้ ซึ่งจะนำไปปรับใช้กับเผ่าปกาเกอญอของเรา เพราะเผ่าเราให้ความสำคัญกับสถาบันครอบครัวมาก กิจกรรมใดดีประสบความสำเร็จเราก็จะนำไปปรับใช้