‘แม่หนิงภูดอย’ เปลี่ยนชีวิตติดลบ ด้วย 'คุกกี้' กุ๊กไก่ไส้สับปะรด
'คุกกี้' กุ๊กไก่ไส้สับปะรด ผ่านการพัฒนา ลองผิดลองถูก ด้วยความตั้งใจของ 'แม่หนิง-เกศรินทร์ กลิ่นฟุ้ง' ที่ตัดสินใจกลับมาใช้ชีวิตที่บ้านเกิดใน จังหวัดลำปาง จากชีวิตที่ติดลบ สู่การปลดหนี้ได้ภายใน 6 ปี
Key Point :
- แม่หนิง เกศรินทร์ กลิ่นฟุ้ง เจ้าของขนมแบรนด์ แม่หนิงภูดอย จ.ลำปาง คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ตัดสินใจทิ้งชีวิตที่กรุงเทพฯ กลับบ้านเกิดที่ลำปาง พร้อมกับหนี้สิน 2 แสนบาท และรถ 1 คัน
- หลังจากได้ทำงานประจำ จึงได้ใช้เวลาว่าง เริ่มทำขนมขายโดยเลือกทำคุกกี้หนอนไหมไส้สับปะรดวางขายตามร้านต่างๆ เพื่อเป็นรายได้เสริม
- จุดเปลี่ยนแม่หนิงคือการเข้าอบรมโครงการวิสาหกิจและคุณธรรมชุมชนรักษ์น้ำของเอสซีจี ในการพัฒนาสินค้า วิธีการขายสินค้า ต่อยอดพัฒนาสร้างเอกลักษณ์สินค้า สู่การปลดหนี้ได้สำเร็จ
“กุ๊กไก่พาหนิงเดินทางมาไกลมาก ใครจะเชื่อว่า ผู้หญิงธรรมดาที่ทำขนมขายจะมาถึงจุดนี้”
คำบอกเล่าของ แม่หนิง เจ้าของขนมคุกกี้กุ๊กไก่ไส้สับปะรด ที่เรียกได้ว่าผ่านชีวิตติดลบ สู่การปลดหนี้ได้ใน 6 ปี โดยใช้ความใส่ใจลงในขนมทุกชิ้น เสมือนทำให้คนในครอบครัวทาน
เกศรินทร์ กลิ่นฟุ้ง หรือ แม่หนิง ในวัย 44 ปี เจ้าของขนมแบรนด์ แม่หนิงภูดอย จ.ลำปาง คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ตัดสินใจทิ้งชีวิตที่กรุงเทพฯ เมื่อราว 9 ปีก่อน กลับมาอยู่ที่บ้านเกิดจังหวัดลำปางเพื่อมาอยู่กับคุณพ่อคุณแม่และลูกชายซึ่งขณะนั้นอายุได้ 2 ขวบ ตอนนั้นเรียกได้ว่ากลับบ้านด้วยชีวิตติดลบ เพราะมาพร้อมกับหนี้สิน 2 แสนบาท และรถ 1 คัน แม่หนิงได้งานประจำที่จังหวัดลำปางและเริ่มทำขนมขายโดยเลือกทำคุกกี้ตัวหนอนไส้สับปะรดวางขายตามร้านต่างๆ เพื่อเป็นรายได้เสริม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“ที่เลือกคุกกี้ไส้สับปะรดเป็นขนมที่เราชอบกิน และอยากให้ลูกชายได้กิน จึงเป็นจุดเริ่มต้นว่า หากเราทำให้คนที่เรารักเราจะสรรหาสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูกเสมอ ดังนั้น เราทำกินแบบไหน ก็จะทำขายแบบนั้น โดยในช่วงแรกเริ่มศึกษาและทดลองทำขนมกินกันในครอบครัว แจกจ่ายให้คนรู้จักลองชิม พัฒนาจนทุกคนบอกว่าอร่อยจึงเริ่มจากฝากขายตามร้าน หมู่บ้านใกล้เคียง”
เปลี่ยนแนวคิด ออกจากเซฟโซน
แม่หนิง เล่าต่อไปว่า ในช่วงแรกทำเป็นคุกกี้ตัวหนอนไส้สับปะรด กระปุกละ 35 บาท และเริ่มอยากสร้างมาตรฐานให้กับสินค้าด้วยการขอ อย. แต่ตอนนั้นเราก็ยังตอบคำถามคนรอบข้างไม่ได้ว่า หากได้ อย.แล้วจะเป็นอย่างไร จะไปไกลได้แค่ไหน ก็ขนม 35 บาท คุกกี้ตัวหนอนธรรมดาที่ไหนก็มีขาย แต่เราอยากทำ เพราะเหมือนเราให้ความสำคัญกับขนม และให้ความสำคัญของลูกค้า หากเขามาเห็นว่าขนมแค่นี้ แต่ทำ อย. ก็สร้างความมั่นใจของลูกค้าด้วย
“ก่อนหน้านี้ไม่มีใครคาดคิดว่าขนมขี้เป่อ ขนมธรรมดาที่ใครก็ขายกัน จะกลายเป็นของฝากอัตลักษณ์ชุมชนจังหวัดลำปาง เพราะแม้แต่พ่อของหนิงยังบอกว่าไม่เห็นแตกต่างจากคนอื่น จะขายได้สักเท่าไหร่และไปได้สักแค่ไหน จุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตของหนิง มาจากความคิดว่าต้องศึกษาหาความรู้เพื่อพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ จึงเข้าอบรมในโครงการวิสาหกิจและคุณธรรมชุมชนรักษ์น้ำของเอสซีจี เมื่อราวๆ ปี 2561 ซึ่งได้ทั้งความรู้เรื่องการผลิตสินค้า การพัฒนาสินค้าของชุมชน และวิธีการขายสินค้า พร้อมลงมือนำความรู้มาต่อยอดพัฒนาสร้างเอกลักษณ์สินค้า”
แม่หนิง บอกว่า การเข้าร่วมโครงการฯ เหมือนเป็นการเปิดโอกาสให้กับตัวเอง ให้ออกจากเซฟโซน อีกทั้ง ความฝันที่อยากจะทำ อย. ซึ่งค่อนข้างมีข้อจำกัดเนื่องจากผลิตที่บ้าน ไม่มีโรงเรือน ต้องลงทุน แต่เราไม่มีเงิน และกู้ไม่ได้ หลังจากเข้าร่วมโครงการฯ ได้มีโอกาสไปดูต้นแบบที่พะเยา พบว่า เป็นบ้านเหมือนกัน แต่เขาสามารถทำได้ แต่ต้องแบ่งสัดส่วน สะอาด ถูกหลักอนามัย เป็นจุดเริ่มในการปรับพื้นที่บ้านให้เป็นพื้นที่ทำขนมและสุดท้ายก็สามารถขอ อย.ได้สำเร็จ
เปลี่ยนขนมธรรมดา สู่อัตลักษณ์ลำปาง
หลังจากนั้น พอมีคุณภาพแล้ว ต้องมาคิดต่อว่า จะสร้างความแตกต่าง อัตลักษณ์อย่างไร จากที่เป็นตัวหนอนธรรมดา 35 บาท ผ่านการปรับรูปแบบหลายครั้ง จากไก่แบนๆ ตัวเล็กๆ จนมาเป็นกุ๊กไก่ขาวที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ เพราะเป็นไก่ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดลำปาง
"นอกจากจะสร้างอัตลักษณ์ของเราแล้ว สามารถเพิ่มมูลค่าจาก 35 บาท เป็น 120 บาท โดยใช้ระยะเวลาในการทำเท่ากัน นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการเลือกบรรจุภัณฑ์ ให้เตะตาน่าหยิบจับไปเป็นของฝาก ลองเปลี่ยนจากถุงพลาสติก มาเป็นกระปุก จนสุดท้ายกลายเป็นกระปุกคุกกี้ที่มีฝาดึง นอกจากสวยงามแล้วก็ยังสามารถช่วยยืดอายุของขนมได้อีกด้วย”
“ถามว่าเพิ่มมูลค่ามากแค่ไหน กุ๊กไก่พาหนิงเดินทางมาไกลมาก ใครจะเชื่อว่า ผู้หญิงธรรมดาที่ทำขนมขายจะมาถึงจุดนี้ กระบวนการทำขนมทำด้วยคนทั้งหมด โดยมีคุณป้า คุณน้า คุณแม่ ช่วยกันลงมือทำ และในอนาคต อยากจะเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ให้คนเข้ามาแลกเปลี่ยน เข้ามารับแรงบันดาลใจ”
6 ปี กับชีวิตที่หมดหนี้
ปัจจุบัน แม่หนิงลาออกจากงานประจำเพื่อใช้เวลาในการทำในสิ่งที่รัก และได้ใช้เวลากับครอบครัวได้มากขึ้น เวลานี้หนี้สินที่มีหมดไปภายในระยะเวลา 6 ปี น้องภูดอยลูกชายซึ่งอายุ 11 ขวบ ที่รักในงานศิลปะก็ได้เข้ามาช่วยสร้างจุดขายโดยการวาดภาพบนกล่องขนมอีกด้วย
“พอถึงจุดหนึ่งหนี้หมดภายในเวลา 6 ปี เราได้กลับมาอยู่บ้าน มันมีความสุข เราเจอคำถามว่า ทำไมถึงลาออกมาทำขนม จะได้เหรอ จะไหวหรือไม่ แต่เรามองว่ารายได้ขนมกับรายได้งานเท่าๆ กัน แต่สำคัญ คือ สุขภาพของเรา พอหมดหนี้ก็ง่ายกับการตัดสินใจออกจากงานประจำ เราได้ต่อเติมสถานที่ทำขนม หลังคา ประตู พื้น อุปกรณ์ทั้งหมดมาจากเงินทำขนม”
เดินทางขึ้นโต๊ะอาหาร เอเปค 2022
ขณะเดียวกัน ในปีที่ผ่านมา ขนมธรรมดาอย่าง ‘กุ๊กไก่ไส้สับปะรด’ ได้มีโอกาสก้าวไปเป็นส่วนหนึ่งในขนมของว่างขึ้นโต๊ะอาหารในงานประชุมระดับชาติ เอเปค 2022 ที่มีประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ จากการที่เอเปค ได้ส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสนับสนุนวิสาหกิจชุมชน
นอกจากนี้ แม่หนิง ไม่ได้หยุดแค่สร้างชีวิตที่ดีขึ้นตัวเอง แต่ยังส่งต่อแรงบันดาลใจให้คนอื่น ๆ โดยนำสินค้าของแต่ละชุมชนมารวมกัน จัดเป็นกระเช้าของขวัญผลิตภัณฑ์ชุมชน จังหวัดลำปาง เป็นการขยายตลาด เป็นการกระจายรายได้ให้แต่ละชุมชนขยายวงกว้างออกไปอีกด้วย
“สิ่งที่ได้เรียนรู้และนำมาปรับใช้โดยพลังชุมชนของเอสซีจี คือการสร้างจุดขายด้วยการสร้างอัตลักษณ์ เช่น ปรับคุ้กกี้ตัวหนอนไส้สับปะรดกลายเป็นรูปไก่ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์จังหวัดลำปาง และปรับบรรจุภัณฑ์ให้สวยงาม น่าซื้อ เป็นของขวัญของฝาก รวมทั้งปรับปรุงกระบวนการผลิตให้ได้มาตรฐาน อย. นอกจากนี้ ได้เรียนรู้เทคนิคการขายทั้งออนไลน์และออฟไลน์เพื่อเข้าถึงลูกค้าทั่วประเทศ ส่งต่อการจ้างงานให้กลุ่มเยาวชน ผู้สูงวัยใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ และสร้างรายได้ร่วมกัน” แม่หนิง กล่าวทิ้งท้าย
สามารถดูรายละเอียดได้ที่ เฟซบุ๊ก แม่หนิง ภูดอย Line : maeningphudoi