ถาม-ตอบซีเซียม-137 การปฏิบัติตัวอย่างไรให้ปลอดภัย แจงภาพที่ปรากฏในสื่อ
ถาม-ตอบ ข้อสงสัยกรณีวัสดุกัมมันตรังสี "ซีเซียม-137" ที่สูญหายจากโรงไฟฟ้า จังหวัดปราจีนบุรี เกี่ยวกับความปลอดภัยของประชาชนและการปฏิบัติตัวในการดำรงชีวิต รวมถึงภาพที่ปรากฏในสื่อ
สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ถาม-ตอบ ข้อสงสัยกรณีวัสดุกัมมันตรังสี "ซีเซียม-137" ที่สูญหายจากโรงไฟฟ้า จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งหลังได้ตรวจสอบและตรวจวัดระดับปริมาณรังสีในพื้นที่โรงงานหลอมโลหะที่เกิดเหตุพบการปนเปื้อนสารในเตาหลอมโลหะจำนวน 1 เตาจากทั้งหมด 3 เตา อย่างไรก็ตาม การปนเปื้อนของสารนั้นอยู่ในระดับต่ำ
1.กรณีมีการปนเปื้อนวัสดุกัมมันตรังสี "ซีเซียม-137" ในเหล็กที่ถูกหลอมหรือไม่ และภายในพื้นที่โรงงานมีการปนเปื้อนหรือไม่?
ตอบ : ไม่พบการปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์เหล็กแปรรูป เนื่องจากวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 เมื่อเข้าสู่กระบวนการหลอมโลหะที่ต้องใช้อุณหภูมิสูงมาก วัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ซึ่งมีจุดหลอมเหลวต่ำกว่าจะระเหยปนเปื้อนกับผลพลอยได้จากการหลอมเหล็ก (ฝุ่นแดง/ฝุ่นเหล็ก) และถูกกักอยู่ในเตาหลอมที่มีระบบการกรองอากาศแบบระบบปิด เพื่อเตรียมนำส่งต่อในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยไม่ปล่อยให้เกิดการฟุ้งกระจายในสิ่งแวดล้อม
ซึ่งกรณีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจพบ จึงได้ดำเนินการจัดเก็บผลพลอยได้จากการหลอมเหล็กดังกล่าวไว้ในสถานที่ที่ปลอดภัย รวมทั้งดำเนินการตรวจสอบโรงหลอม พบว่ามีการปนเปื้อนบางส่วนภายในโรงงาน ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการให้มีความปลอดภัยต่อไป
2.ผลพลอยได้จากการหลอมเหล็กที่ปนเปื้อนวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ถูกเก็บไว้ในโรงงานและมีเพียงผ้าใบพลาสติกปิดกั้นไว้ เหมาะสม ปลอดภัยหรือไม่?
ตอบ : ตามที่ภาพปรากฏในสื่อ เป็นการจัดเก็บผลพลอยได้จากการหลอมเหล็กที่ปนเปื้อนวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ซึ่งเป็นภาพหลังจากการเคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่ที่เป็นโรงหลอมในระบบปิด เป็นสถานที่จัดเก็บแบบชั่วคราว เพื่อรอการขนส่งไปยังสถานที่จัดเก็บแบบถาวรต่อไป อีกทั้งยังรอรวบรวมจัดเก็บผลพลอยได้จากการหลอมเหล็ก (ที่ยังไม่เย็นตัว) ที่ค้างอยู่ในกระบวนการหลอม
ส่วนการใช้ผ้าใบปิดนั้น เป็นการป้องกันการฟุ้งกระจาย มิใช่การป้องกันรังสี โดยระยะห่างจากถุงเก็บผลพลอยได้จากการหลอมเหล็กปนเปื้อน ระยะประมาณ 1-2 เมตร รวมถึงระยะห่างไปถึงระยะผ้าใบปิดกั้นเขต มีปริมาณรังสีอยู่ในระดับปกติ ปลอดภัยต่อผู้ปฏิบัติงานและประชาชนในพื้นที่โดยรวม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- โคบอลต์-60 ถึง ซีเซียม-137 กลไกกำกับดูแล ‘หละหลวม’
- ซีเซียม-137 ในเตาหลอมเหล็ก ผู้เชี่ยวชาญชี้ ปริมาณต่ำ - ไม่น่าเป็นกังวล
3.ผลพลอยได้จากการหลอมเหล็กที่ปนเปื้อนวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ยังเก็บไว้ในโรงงาน จะปลอดภัยต่อประชาชนรอบพื้นที่โรงงานหรือไม่?
ตอบ : ทีมปฏิบัติการฯ ได้จำกัดบริเวณจัดเก็บผลพลอยได้จากการหลอมเหล็กที่ปนเปื้อนวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 และควบคุมดูแลโดยผู้เชี่ยวชาญของ ปส. กรณีเหตุการณ์ครั้งนี้ จากการตรวจสอบตัวอย่างสิ่งแวดล้อม (ดิน น้ำ อากาศ) โดยรอบระยะ 5 กม. ไม่พบการแพร่กระจายการปนเปื้อนวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 สู่สิ่งแวดล้อม ซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่โดยรอบและบริเวณใกล้เคียง
ส่วนการตรวจสอบวัดปริมาณรังสีภายในร่างกาย (ปัสสาวะ) โดย ปส.อยู่ระหว่างรอผลการตรวจสอบ และสำหรับผลเลือดซึ่งผ่านการตรวจโดยสาธารณสุขจังหวัด พบว่าค่าเม็ดเลือดขาว ค่าเกล็ดเลือด ค่าการทำงานของตับและไตเป็นปกติ และต่อจากนี้จะดำเนินการเก็บตัวอย่างผลผลิตการเกษตร อาหาร เครื่องอุปโภคบริโภคเพื่อดำเนินการตรวจวัดการปนเปื้อน เพื่อสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยต่อไป
4.ประชาชนบริเวณใกล้เคียง ยังสามารถอาศัยในพื้นที่ได้อย่างปกติหรือไม่ ควรปฏิบัติตนอย่างไรเพื่อความปลอดภัย?
ตอบ : ประชาชนบริเวณใกล้เคียงยังสามารถอาศัยในพื้นที่และดำรงชีวิตได้ตามปกติ เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญจาก ปส.ได้ดำเนินการควบคุมสถานการณ์ไม่ให้เกิดการปนเปื้อนกัมมันตรังสีในสิ่งแวดล้อมเรียบร้อยแล้วตามข้อ 3