ปลัดกระทรวง อว. ลงพื้นที่ตรวจระดับรังสี พร้อมตั้งเครื่องวัดเรียลไทม์ 9 จุด
ปลัดกระทรวง อว. พร้อมคณะ ลงพื้นที่ตรวจสอบระดับรังสีซีเซียม-137 ชี้ ไม่ส่งผลต่อสุขภาพ พร้อมทั้งตั้งเครื่องวัดเรียลไทม์ 9 จุด ใน จ.ปราจีนบุรี และพื้นที่ใกล้เคียง
ปลัดกระทรวง อว. ลงพื้นที่ตรวจสอบระดับรังสีบริเวณที่มีการจัดเก็บกากกัมมันตรังสี และโดยรอบโรงงานหลอมเหล็กพบว่า บริเวณโดยรอบโรงงานมีค่ารังสีอยู่ที่ 0.04-0.05 ไมโครซีเวิร์ด/ ชม. ส่วนบริเวณพื้นที่จัดเก็บกาก วัดในระยะห่างออกมา 3 เมตร ค่ารังสีที่วัดได้ 0.09 ไมโครซีเวิร์ด/ชม. อยู่ในระดับที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ
พร้อมสั่งการให้ติดตั้งเครื่องวัดรังสีแกมม่าในอากาศแบบเรียลไทม์ 9 จุด ใน จ.ปราจีนบุรี และพื้นที่ใกล้เคียง ตั้งห้องแล็ปเคลื่อนที่ตรวจละเอียด เผยนายกฯ ย้ำเร่งดำเนินการให้ข้อมูลที่ถูกต้องรวดเร็วให้ประชาชนคลายความกังวล
วันนี้ (22 มี.ค. 2566) ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ลงพื้นที่โรงหลอมเหล็ก จ.ปราจีนบุรี ที่มีการตรวจพบสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 เพื่อติดตามสถานการณ์และผลกระทบที่เกิดขึ้น และร่วมตรวจสอบการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีในบริเวณโรงงานและพื้นที่โดยรอบ
โดยมีนายรณรงค์ นครจินดา ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี พล.ต.ต. วินัย นุชชา ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปราจีนบุรี รศ.ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ รองปลัดกระทรวง อว. นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผอ.สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.)
ผศ.ดร.พงษ์แพทย์ เพ่งวานิชย์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการโรงพยาบาลของคณะแพทยศาสตร์พร้อมทีมแพทย์-พยาบาลจาก รพ.ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพ มศว.องครักษ์ รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และ รพ.มหาวิทยาลัยบูรพา เข้าร่วมตรวจสอบ
เมื่อไปถึง ดร.กิตติ์กวิน อรามรุญ หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี ปส. รายงานว่า ปส. ได้มีศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินส่วนหน้าในพื้นที่ และจัดตั้งห้องแล็ปเคลื่อนที่ เพื่อตรวจวัดระดับรังสีและการปนเปื้อน โดยจากการตรวจสอบจนถึงปัจจุบันระดับรังสีที่วัดได้โดยรอบโรงงานยังเทียบเท่ากับระดับรังสีในธรรมชาติและไม่พบการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม
พร้อมกันนี้ ยังมีการประสานงานผู้นำชุมชน ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ที่อยู่ในหมู่บ้านใกล้โรงงานภายในรัศมี 3 กม. มาร่วมตรวจสอบกระบวนการทำของเจ้าหน้าที่ เพื่อความมั่นใจและนำไปสื่อสารสร้างความเข้าใจกับลูกบ้านต่อไป
จากนั้น ปลัดกระทรวง อว. ได้นำคณะลงไปตรวจวัดพื้นที่ในโรงงานที่มีการจัดเก็บกากกัมมันตรังสี โดย ผศ.ดร.พงษ์แพทย์ ได้นำเครื่องตรวจวัดรังสีแกมม่ามาตรวจวัดบริเวณที่มีการจัดเก็บกากกัมมันตรังสี และโดยรอบโรงงาน พบว่า บริเวณโดยรอบโรงงานมีค่ารังสีอยู่ที่ 0.04-0.05 ไมโครซีเวิร์ด/ชม.
ส่วนบริเวณพื้นที่จัดเก็บกาก เมื่อวัดในระยะห่างออกมา 3 เมตร มีค่ารังสีที่วัดได้ 0.09 ไมโครซีเวิร์ด/ชม. ซึ่ง ผศ.ดร.พงษ์แพทย์ ให้ความเห็นว่า ค่ารังสีที่ตรวจพบถือว่าเป็นค่ารังสีพื้นฐานตามธรรมชาติ ยังไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งผลการตรวจสอบนี้ถือว่าเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับ ปส. และช่วยยืนยันให้ประชาชนคลายความกังวลได้
ทั้งนี้ค่าระดับรังสีที่กฎหมายกำหนดสำหรับประชาชนทั่วไปจะอยู่ที่ไม่เกิน 0.5 ไมโครซีเวิร์ด/ชม. ซึ่งก็ยังเป็นระดับที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ
ขณะเดียวกัน ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีข้อสั่งการให้เข้ามาดูแลและเร่งดำเนินการให้สถานการณ์คลี่คลายโดยเร็วที่สุด ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อว. จึงได้มอบหมายให้ตนนำทีมกระทรวง อว.และมหาวิทยาลัย มาร่วมตรวจสอบ ติดตามสถานการณ์และผลกระทบที่เกิดขึ้นร่วมกับทางจังหวัด
ซึ่งพบว่า กระบวนการที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้มีความรอบคอบ รัดกุม ค่าระดับรังสีในสิ่งแวดล้อมมีปริมาณต่ำ ค่าที่ตรวจวัดได้ตามจุดต่างๆ ก็ยังเป็นปกติ ไม่พบการปนเปื้อน ทั้งนี้ ได้สั่งการให้ ปส. ดำเนินการการติดตั้งเครื่องวัดรังสีแกมม่าในอากาศแบบเรียลไทม์ 9 จุดในพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี และพื้นที่ใกล้เคียง
นอกจากนี้ ก่อนเดินทางมาตนยังได้หารือกับ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ว่าสิ่งที่ต้องเร่งดูแลในขณะนี้คือสุขภาพของประชาชน ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ
จึงได้นำทีมแพทย์และพยาบาลจาก รพ.ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพฯ มศว.องครักษ์ รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และ รพ.มหาวิทยาลัยบูรพา ซึ่งเป็นโรงเรียนแพทย์ของกระทรวง อว. 3 สถาบันที่อยู่ในพื้นที่ไม่ไกลจาก จ.ปราจีนบุรี มาร่วมประเมินและให้บริการทางสุขภาพ
โดย รศ.นพ.พฤหัส ต่ออุดม ผอ. รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติที่ร่วมเดินทางมาในวันนี้ ได้รายงานว่า จากการสอบทานย้อนหลังตั้งแต่ 30-60 วัน ทั้งในหอผู้ป่วยนอก และแผนกฉุกเฉินของ รพ.ในพื้นที่ยังไม่พบผู้ป่วยหรือผู้ที่มีประวัติว่าได้รับหรือสัมผัสกับผู้ที่ได้รับสารกัมมันตรังสี
แต่อย่างไรก็ตามก็จะต้องมีการเฝ้าระวังค้นหาผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะแน่ใจ โดยกระทรวง อว. จะเร่งดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่คลายกังวลจะได้กลับมาใช้ชีวิตแบบปกติโดยเร็ว