'เทคโนโลยีอวกาศ' และดาวเทียม เรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิด
'เทคโนโลยีอวกาศ' และ 'ดาวเทียม' เรียกว่าใกล้ตัวกว่าที่คิด ไทยมีกิจการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอวกาศและอุตสาหกรรมต่อเนื่องกว่า 35,600 กิจการ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสร้างรายได้ให้กับประเทศได้ประมาณ 56,122 ล้านบาทต่อปี
Key Point :
- เทคโนโลยีอวกาศและดาวเทียม หลายคนมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่ความจริงแล้วใกล้ตัวกว่าที่คิดทั้งทางตรงและทางอ้อม ตั้งแต่การชมรายการทีวีต่างๆ หรือการใช้แอปพลิเคชันระบบนำทาง
- อุตสาหกรรมการบินและอวกาศ ถือเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศไทย โดย สดช. ได้มีจัดทำ แผนการส่งเสริมระบบนิเวศเศรษฐกิจอวกาศยุคใหม่ เพื่อให้เศรษฐกิจอวกาศของไทยเติบโต
- ปัจจุบัน มีโครงการ APSCO CubeSat Competition (ACC) ผ่านการแข่งขันการสร้างดาวเทียมเชิงวิศวกรรม เพื่อให้เยาวชนสามารถออกแบบ สร้างดาวเทียมเชิงวิศวกรรมด้วยตนเอง
ปัจจุบันเทคโนโลยีอวกาศมีบทบาทในการดำเนินชีวิตของผู้คนทั่วโลก อีกทั้ง อุตสาหกรรมอวกาศในระดับโลกมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง การศึกษาอุตสาหกรรมอวกาศในประเทศ พบว่า ประเทศไทยมีกิจการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอวกาศและอุตสาหกรรมต่อเนื่องกว่า 35,600 กิจการ โดย 95% เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และเป็น Startup และกิจการต่างๆ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสร้างรายได้ให้กับประเทศได้ประมาณ 56,122 ล้านบาทต่อปี
เมื่อพูดถึงดาวเทียมหรืออะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับอวกาศ คนส่วนใหญ่มักมองเป็นเรื่องไกลตัว แต่ความเป็นจริง ผลผลิตจากนวัตกรรมอวกาศแทรกซึมอยู่ในวิถีการใช้ชีวิตของผู้คนทั้งทางตรงและทางอ้อม ตั้งแต่ตื่นนอนที่สามารถรับชมรายการทีวีต่างๆ หรือขับรถออกจากบ้านก็สามารถใช้แอปพลิเคชันระบบนำทาง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนั้น เรายังสามารถคาดการณ์สภาพดินฟ้าอากาศที่ทำให้เรารู้ว่าเราควรต้องเตรียมตัวรับสภาพอากาศแบบไหน หรือการเตือนภัยพิบัติต่างๆ เช่น พายุ ไฟป่า หรือน้ำท่วม ทำให้สามารถป้องกันและบรรเทาการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งเราทุกคนได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอวกาศอยู่แล้วเพียงแต่ไม่รู้ตัว
ดาวเทียม มีกี่ประเภท
ข้อมูลจาก สำนักพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) GISTDA แบ่งประเภทดาวเทียม (Types of satellites) ตามลักษณะการใช้ประโยชน์ ได้ดังนี้
- ดาวเทียมดาราศาสตร์ (Astronomical satellites) เป็นดาวเทียมสำรวจดวงดาวต่างๆ ที่อยู่ห่างไกลโลก สำรวจกาแล็กซี (Galaxy) รวมทั้งสำรวจวัตถุต่างๆ ที่อยู่ในอวกาศ เช่น ดาวเทียม MAGELLAN สำรวจดาวศุกร์ดาวเทียม GALILEO สำรวจดาวพฤหัส เป็นต้น
- ดาวเทียมสื่อสาร (Communications satellites) เป็นดาวเทียมประจำที่ในอวกาศ เพื่อการสื่อสารโดยใช้คลื่นวิทยุในความถี่ไมโครเวฟ ส่วนใหญ่เป็นดาวเทียมวงโคจรค้างฟ้า ได้แก่ ดาวเทียม INTELSAT ดาวเทียม IRIDIUM และดาวเทียมไทยคม เป็นต้น
- ดาวเทียมสำรวจทรัพยากรโลก (Earth observation satellites) เป็นดาวเทียมที่ถูกออกแบบ เฉพาะเพื่อการสำรวจ ติดตามทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมต่างๆ ของโลก รวมทั้งการทำแผนที่ต่างๆ ได้แก่ ดาวเทียมLANDSAT RADARSAT ALOS และ THEOS เป็นต้น
- ดาวเทียมนำร่อง (Navigation satellites) เป็นดาวเทียมนำร่องที่ใช้คลื่นวิทยุและรหัสจากดาวเทียมไปยังเครื่องรับสัญญาณบนพื้นผิวโลก สามารถหาตำแหน่งบนพื้นโลกที่ถูกต้องได้ทุกแห่ง และตลอดเวลา ได้แก่ดาวเทียม NAVSTAR GLONASS และ GALILEO เป็นต้น
- ดาวเทียมจารกรรม (Reconnaissance satellites) เป็นดาวเทียมสำรวจความละเอียดสูง หรือดาวเทียมสื่อสารที่ใช้เพื่อกิจการทางการทหาร การจารกรรม หรือการเตือนภัยจากการโจมตีทางอากาศ ได้แก่ ดาวเทียม KEYHOLE และ LACROSSE เป็นต้น
- ดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา (Meteorological satellites) เป็นดาวเทียมสำรวจเพื่อภารกิจการพยากรณ์อากาศของโลก ได้แก่ ดาวเทียม NOAA GMS และ GOES เป็นต้น
ดร.พรเทพ นวกิจกนก ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการธีออส-2 สำนักพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) GISTDA กล่าวในงาน แถลงข่าวเปิดตัวโครงการความร่วมมือด้านอวกาศแห่งเอเชียแปซิฟิก APSCO Cubesat Competition จัดโดย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) โดยระบุว่า เทคโนโลยีอวกาศ หรือ ดาวเทียมเป็นเรื่องใกล้ตัว แม้แต่ในมือถือ เช่น ดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นการทำแผนที่ ด้านเกษตรกรรม การทำสมาร์ทฟาร์มมิ่ง เทคโนโลยีเชิงตำแหน่ง ภัยพิบัติ PM2.5 ก็สามารถใช้ดาวเทียมในการสำรวจได้ รวมถึง ไฟป่า น้ำท่วม เป็นตัวอย่างในการใช้ประโยชน์ดาวเทียมในด้านต่างๆ ข้อได้เปรียบของดาวเทียม คือ การสื่อสารได้ทุกพื้นที่
ทั้งนี้ การมีส่วนร่วมในการส่งเสริมสนับสนุนเทคโนโลยีอวกาศภายในประเทศ ของ GISTDA ซึ่งมีความพร้อมหลายด้านไม่ว่าจะเป็นบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านพัฒนาดาวเทียมสำรวจโลก ถัดมา คือ โครงสร้างพื้นฐานอย่างศูนย์ประกอบและทดสอบดาวเทียม (Assembly integration and testing (AIT) เป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานด้านอุตสาหกรรมการบินและอวกาศของประเทศ ตั้งอยู่ภายในอุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ ที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เป็นศูนย์ที่มีความทันสมัยได้มาตราฐานสากล เพื่อรองรับการพัฒนาชิ้นส่วนอุปกรณ์ สร้าง ประกอบ และทดสอบดาวเทียม โดยเฉพาะดาวเทียมขนาดเล็ก (น้ำหนัก 10-500 กิโลกรัม) ภายใต้โครงการธีออส-2 ปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อย สามารถเป็นศูนย์กลางในการส่งเสริมทดสอบและประกอบดาวเทียมให้เกิดขึ้นในประเทศ
"ปัจจุบัน GISTDA อยู่ระหว่างการดำเนินโครงการธีออส-2 โดยสร้างดาวเทียมแล้วเสร็จ 2 ดวง อยู่ระหว่างรอนำส่ง ซึ่งคาดว่าจะนำส่งได้ในปลายปีนี้ โดยทั้ง 2 ดวงจะเป็นก้าวสำคัญในการส่งเสริมให้เทคโนโลยีอวกาศเกิดขึ้นในประเทศ"
นอกจากนี้ GISTDA ต่อยอดจากโครงการธีออส-2 โดยขยับไปสู่ โครงการธีออส-3 ซึ่งปัจจุบัน มีการทำเวิร์กช็อปผู้ประกอบการที่มีประสบการณ์การทำชิ้นส่วนดาวเทียมกับโครงการธีออส-2 และมีการทำเวิร์กช้อปกับ End User เพื่อมองถึงความต้องการที่จะใช้ดาวเทียมในอนาคต โดยโครงการธีออส-2 และ โครงการธีออส-3 จะยังคงเน้นในเรื่องของดาวเทียมสำรวจธรรมชาติตามมิชชั่นของ GISTDA
โดยพัฒนาเซ็นเซอร์ต่างๆ ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องของสภาพอากาศ ฝุ่น และในอนาคตจะมีการเลือกเซ็นเซอร์ที่เหมาะสมตามความต้องการและมีการวิเคราะห์ได้มากขึ้น รวมถึงการใช้ข้อมูลในภาคพื้นดินร่วมด้วยเพื่อวิเคราะห์ความเข้มข้นของฝุ่นอีกด้วย
"ปัจจุบัน ไทยมีความพร้อมไม่ว่าจะเป็นบุคลากร โครงสร้างพื้นฐาน และภาครัฐ ก็มีนโยบายที่จะสนับสนุนเทคโนโลยีให้เกิดขึ้นภายในประเทศ เพราะเทคโนโลยีอวกาศเป็นโอกาสของประเทศในการยกระดับเทคโนโลยีในประเทศ โดยหากมองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไทยถือเป็นอันดับต้นๆ ที่มีศักยภาพ นอกเหนือจาก สิงคโปร์ เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย โดยไทยถือว่าอยู่ในอันดับต้นๆ"
ปี 2583 เศรษฐกิจอวกาศทั่วโลกมูลค่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ
ด้าน สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญถึงอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ ซึ่งเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศไทยในการเป็นกลไกใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต
ดร.พรพรรณ ตันนุกิจ ผู้อำนวยการกองกิจการอวกาศแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เผยว่า สดช. ได้มีจัดทำ แผนการส่งเสริมระบบนิเวศเศรษฐกิจอวกาศยุคใหม่ (New Space Economy) อยู่ระหว่างร่างดำเนินการ ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ คือ การพัฒนาส่งเสริมการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ส่งเสริมห่วงโซ่คุณค่าทางด้านเศรษฐกิจอวกาศ วิจัย พัฒนาบุคลากร และบริการเสริมต่างๆ เพื่อให้เศรษฐกิจอวกาศของประเทศเติบโตยั่งยืนต่อไป
“มอร์แกน สแตนเลย์ มีการคาดการณ์ไว้ว่า ในปี 2583 มูลค่าทางเศรษฐกิจอวกาศของทั่วโลกจะสูงถึง 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ สดช. จึงมีการส่งเสริมผลักดันแผนดังกล่าว โดยดูระบบนิเวศต่างๆ ทุกด้านไม่ว่าจะเรื่องของซัพพลายเชน การร่วมมือกับต่างประเทศ กฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ ผลักดันให้เศรษฐกิจอวกาศของไทยมีมูลค่าสูงมากขึ้น และสเต็ปต่อไปของ สดช. คือ การวัดมูลค่าเศรษฐกิจอวกาศของประเทศไทย”
ขณะนี้ เศรษฐกิจอวกาศใหม่ๆ กำลังจะเข้ามา และรัฐบาลได้ทำทุกวิถีทาง ทุกแนวทาง และทุกมิติในการผลักดัน ส่งเสริมให้อุตสาหกรรมอวกาศของไทยเติบโต และต้องการให้อุตสาหกรรมมีผู้ประกอบการเพิ่มมาขึ้นเพื่อให้เกิดการแข่งขัน และเกิดสินค้า นวัตกรรม บริการรูปแบบใหม่ๆ จากการหลอมรวมเทคโนโลยีดิจิทัลและเทคโนโลยีอวกาศเข้าด้วยกัน
ACC-Thailand พัฒนาขีดความสามารถไทย
ทั้งนี้ สดช. เป็นหน่วยงานตัวแทนประเทศไทยร่วมเป็นหนึ่งในองค์การความร่วมมือด้านอวกาศแห่งเอเชียแปซิฟิก (Asia Pacific Space Cooperation Organization; APSCO) ได้จัดทำโครงการ APSCO Cubesat Competition (ACC) เพื่อถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีการพัฒนาดาวเทียม CubeSat ให้แก่ประเทศสมาชิกผ่านกิจกรรมการแข่งขันการสร้างดาวเทียมเชิงวิศวกรรม (Engineering Model) โดยมอบหมายให้ ‘มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร’ หรือ MUT เป็นเจ้าภาพในการดำเนินกิจกรรม ‘โครงการ ACC-Thailand’ นับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยในการเป็นเจ้าภาพจัดงานและเป็นหนึ่งในภาคีอวกาศระดับเอเชียแปซิฟิก
‘โครงการ ACC-Thailand’ นับเป็นก้าวสำคัญของประเทศไทยในการพลิกบทบาทและสนับสนุนทุนวิจัยและองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีอวกาศและดาวเทียมในระดับมหาวิทยาลัย พัฒนาขีดความสามารถให้กับบุคลากร นิสิต นักศึกษา รวมถึงสนับสนุนผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเอื้อประโยชน์และต่อยอดให้กับประเทศชาติอย่างมหาศาล
ดร.พรพรรณ กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลได้หลอมรวมกับเทคโนโลยีอวกาศมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีดาวเทียม ทำให้ต้นทุนการสร้างมีราคาถูกลง เพราะดาวเทียมไม่จำเป็นต้องมีขนาดใหญ่อีกต่อไป ผู้ที่สามารถออกแบบและสร้างดาวเทียมไม่ได้จำกัดเฉพาะกลุ่มของผู้เชี่ยวชาญที่มีองค์ความรู้ในด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมเท่านั้น
ที่ผ่านมา เยาวชนไทยได้พิสูจน์ผลงานด้านการออกแบบและสร้างดาวเทียมขนาดเล็กในเวทีการแข่งขันระดับนานาชาติ คว้ารางวัลและสร้างเกียรติยศให้กับประเทศนับครั้งไม่ถ้วน ซึ่งประเทศไทยไม่เคยขาดคนเก่ง เพียงแต่เวทีที่จะสร้างโอกาสให้เยาวชนไทยได้แสดงศักยภาพยังมีอยู่จำกัด
รัฐบาลได้ตระหนักถึงความสำคัญของการส่งเสริมเพื่อสร้างขีดความสามารถของบุคลากรภายในประเทศด้านการออกแบบดาวเทียม การกำหนดภารกิจ การสร้างและประกอบดาวเทียมขนาดเล็ก เช่น ดาวเทียม CubeSat เนื่องจากดาวเทียมขนาดเล็กมีต้นทุนการผลิตต่ำแต่สามารถใช้งานตอบโจทย์ได้ทั้งเชิงพาณิชย์หรือภารกิจเฉพาะทางได้มากขึ้น และเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมเศรษฐกิจอวกาศยุคใหม่ หรือ New Space Economy ของประเทศไทย ซึ่งการได้ร่วมมือกับนานาชาติ เช่น องค์การความร่วมมือด้านอวกาศแห่งเอเชียแปซิฟิก (Asia-Pacific Space Cooperation Organization: APSCO)
ส่งผลให้ได้ประโยชน์จากการถ่ายทอดองค์ความรู้ของเทคโนโลยีที่มีความสำคัญเกี่ยวข้องกับการออกแบบและสร้างดาวเทียม ถือเป็นหนึ่งในกลไกหรือเครื่องมือเชิงนโยบายที่ใช้ผลักดันให้บุคลากรของประเทศไทยได้บูรณาการความรู้ในศาสตร์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างดาวเทียม อาทิ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์ มาใช้ในการประดิษฐ์และแก้ปัญหาผ่านการลงมือปฏิบัติจริง
เปิดโอกาสเยาวชนออกแบบดาวเทียม
โครงการ APSCO CubeSat Competition (ACC) เป็นโครงการหนึ่งของ APSCO ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีการพัฒนาดาวเทียม CubeSat ให้แก่ ประเทศสมาชิกทั้ง 8 ประเทศ ได้แก่ ไทย จีน ปากีสถาน อิหร่าน เปรู มองโกเลีย บังคลาเทศและทูร์เคีย ผ่านการแข่งขันการสร้างดาวเทียมเชิงวิศวกรรม (Engineering Model) ที่มีขนาดรวมไม่เกิน 3U ภายในระยะเวลา 3 ปี เพื่อให้เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการมีโอกาสเรียนรู้ตั้งแต่การออกแบบภารกิจ การออกแบบดาวเทียม จนกระทั่งสามารถสร้างดาวเทียมเชิงวิศวกรรมได้ด้วยตนเอง
โดยให้แต่ละประเทศสมาชิกทำการคัดเลือกทีมเยาวชนเข้าแข่งขันจำนวน 5 ทีม (ทีมละ 5 คน) ร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่มีการประเมินผลโดยผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติ เพื่อให้ผลการสร้างดาวเทียมในขั้นตอนต่างๆ เป็นไปตามมาตรฐานสากล จากนั้นจึงทำการคัดเลือกหนึ่งทีมสุดท้ายที่มีศักยภาพสูงสุดของแต่ละประเทศสมาชิกเพื่อรับทุนสนับสนุนการสร้างดาวเทียมเชิงวิศวกรรมเป็นจำนวน 100,000 USD (ประมาณ 3 ล้านบาทเศษ)
“ส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในการพัฒนากิจการดาวเทียม คือ บุคลากรผู้เชี่ยวชาญในอุตสหากรรมขั้นสูง ต้องอาศัยเทคโนโลยีและความสามารถ การพูดคุยระหว่างมหาวิทยาลัยและอุตสาหกรรมเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อผลิตบุคลากรให้ตอบโจทย์อุตสาหกรรม ภาครัฐ อุตสาหกรรม และมหาวิทยาลัย ต้องทำงานร่วมกันในการผลิตบุคลากร อัพสกีล รีสกีล สวทช. มีความพร้อมในการสนับสนุนการพัฒนาบุคลากร และอุตสาหกรรมดาวเทียมประเทศไทยทุกรูปแบบ” ดร.พรพรรณ กล่าว
ทั้งนี้ ACC-Thailand นับเป็นก้าวย่างสำคัญที่จะจุดประกายและเปิดโอกาสให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา ผู้เชี่ยวชาญ และผู้สนใจได้ใช้ความรู้ ความสามารถในการออกแบบและสร้างดาวเทียม CubeSat ตลอดจนเป็นสะพานเชื่อมให้ภาคธุรกิจ/อุตสาหกรรมตระหนักถึงความเป็นไปได้ในการต่อยอดธุรกิจของตนด้วยเทคโนโลยีที่เยาวชนไทยสร้างขึ้น
สร้างนวัตกรรมเปลี่ยนโลก
สำหรับแนวโน้มด้านเทคโนโลยีอวกาศที่เกี่ยวข้องกับดาวเทียมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ผศ.ดร.ภานวีย์ โภไคยอุดม อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร มีความเห็นว่า มีความก้าวหน้าอย่างมาก โดยเฉพาะ จีน ญี่ปุ่น อินเดียและเกาหลีใต้ ที่สามารถสร้างและปล่อยดาวเทียมได้เอง โดยมีแนวโน้มที่จะมุ่งสร้างดาวเทียมขนาดเล็กในวงโคจรต่ำ (Low Earth Orbit: LEO) ที่มีน้ำหนักไม่เกิน 50 กิโลกรัม ที่ระดับความสูงจากพื้นโลกไม่เกิน 1,000 กิโลเมตร
ด้วยเหตุผลด้านค่าใช้จ่ายในการสร้างและการนำส่งขึ้นสู่วงโคจรที่ไม่สูงมากนัก ใช้บุคลากรจำนวนน้อยและใช้เวลาพัฒนาไม่นาน ทำให้สามารถสร้างดาวเทียมได้จำนวนมากขึ้น ซึ่งเหมาะสำหรับการกำหนดภารกิจดาวเทียมแบบกลุ่ม (Satellite Constellation) ที่สามารถประยุกต์ใช้งานได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น และจะมีบทบาทอย่างมากในการขับเคลื่อนสังคมและยกระดับเศรษฐกิจของประเทศ
ทั้งการใช้งานด้านการทหารและพลเรือน อาทิ งานด้านความมั่นคงหรือบังคับใช้กฎหมาย การจัดการเมืองอัจฉริยะ (Smart City) การเกษตรความแม่นยำสูง (Precision Agriculture) การตรวจติดตามและเฝ้าระวังภัยพิบัติ ทั้งไฟป่าหรือน้ำท่วม ตลอดรวมถึงเทคโนโลยีในอนาคต อย่างอินเทอร์เน็ตดาวเทียม (Satellite Internet) ที่เป็นการยกระดับการเชื่อมต่อสู่โลกอินเทอร์เน็ตอีกขั้น นั่นคือ สามารถเชื่อมต่อได้ตลอดเวลาถึงแม้โครงสร้างพื้นฐานของระบบเครือข่ายจะล้มเหลว เท่ากับเป็นการสร้างความมั่นใจและลดความสูญเสียของภาครัฐและเอกชน
“โครงการ ACC-Thailand จึงเป็นกิจกรรมสำคัญที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร มุ่งมั่นให้เป็นเวทีประลองฝีมือสำหรับเยาวชนที่จะเป็นกำลังหลักของประเทศชาติในอนาคต และยังเป็นต้นแบบของกิจกรรมที่สามารถพัฒนาบุคลากรไปพร้อมกับเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังเช่น เทคโนโลยีอวกาศ ซึ่งกิจกรรมนี้ไม่เพียงสร้างเยาวชนให้มีศักยภาพแล้ว ยังผลักดันเยาวชนให้สามารถสร้างนวัตกรรมที่อาจเปลี่ยนโลกด้วยก็เป็นได้” ดร.ภานวีย์ กล่าว