เหตุใดบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์จึงแพร่ระบาดในกลุ่มเด็กและเยาวชน? (2)
บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ในสหรัฐอเมริกา ต้องไปขึ้นทะเบียนกับ FDA-สหรัฐ แต่เหตุใดผู้สนับสนุนบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ จึงไม่เรียกร้องให้ผู้ผลิตไปขึ้นทะเบียนกับ อย.ของไทย แต่จะเรียกร้องให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกกฎหมาย โดยไม่ผ่านมาตรฐานการตรวจสอบความปลอดภัยต่อสุขภาพ?
พฤติกรรมองค์กรของบริษัทยาสูบ และเครือข่ายบริวาร ไม่มีความจริงใจ และไม่มีความน่าเชื่อถือใดๆ ทั้งสิ้น เพราะเป้าประสงค์คือต้องการกำไรให้มากที่สุดจากการขาย สินค้าแห่งความตาย เท่านั้น
หากผลิตภัณฑ์บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์มีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวนเป็นความจริง และช่วยในการเลิกสูบบุหรี่ได้จริง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สนับสนุนบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งรัฐมนตรีคนดังกล่าว ควรจะเรียกร้องให้ผู้ผลิตบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ไปขึ้นทะเบียนกับ อย. โดยเร็ว เพื่อพิสูจน์ว่าบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ปลอดภัยกว่าบุหรี่มวน และช่วยในการเลิกสูบบุหรี่ได้
ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข มีหน้าที่โดยตรงในการขึ้นทะเบียน และควบคุม กำกับ ดูแลผลิตภัณฑ์ทุกชนิดที่เกี่ยวข้องกับสาร นิโคติน เพื่อช่วยในการเลิกสูบบุหรี่มวน แต่ยังไม่มีผู้ผลิตบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์รายใดมาขอขึ้นทะเบียนกับ อย.
พฤติกรรมองค์กรของบริษัทยาสูบ ที่ไม่ยอมไปขึ้นทะเบียนกับ อย. เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ให้สังคมได้รับ
ทราบความจริงว่า ผู้ผลิตบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์มีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวน
ทั้งมีหลักฐานสนับสนุนจากเอกสารที่ผู้ผลิตบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ประเภทให้ความร้อน ที่ยอมรับต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (อย. สหรัฐ) ว่า บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ประเภทให้ความร้อนมีอันตรายต่อสุขภาพ และยังไม่มีหลักฐานว่าการเปลี่ยนมาใช้บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ประเภทให้ความร้อน ลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคที่มีสาเหตุจากการสูบบุหรี่มวนได้
ประเทศสหราชอาณาจักร
อัตราการใช้บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่มเยาวชนอังกฤษ อายุ 11-17 ปี คือร้อยละ 7.0 ในปี พ.ศ. 2565 เมื่อเปรียบเทียบกับปี พ.ศ. 2564 คือ ร้อยละ 3.3 และปี พ.ศ. 2563 คือร้อยละ 4.1 ซึ่งกฎหมายของสหราชอาณาจักรห้ามขายผลิตภัณฑ์ยาสูบให้ผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี
ในขณะที่กลุ่มเยาวชนอังกฤษ อายุ 11-17 ปี ที่เคยลองใช้บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ คือร้อยละ 15.8 ในปี พ.ศ. 2565 เมื่อเปรียบเทียบกับปี พ.ศ. 2564 คือ ร้อยละ 11.2 และปี พ.ศ. 2563 คือ ร้อยละ 13.9
อัตราการใช้บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่มนักเรียนระดับมัธยมของอังกฤษมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ระหว่างปี พ.ศ. 2557 และ พ.ศ. 2564 ทำให้เกิดความกังวลว่าประชากรอังกฤษกำลังก้าวเข้าสู่วิกฤติทาง สาธารณสุข
สาเหตุสำคัญคือ ร้านค้าปลีกต่างๆ มีผลิตภัณฑ์บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ที่มีสีสัน รวมทั้งรสชาติต่างๆ ที่ดึงดูดเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นการตลาดมุ่งเป้าไปยังกลุ่มเด็กและเยาวชน และเป็นการละเมิดกฎหมายควบคุมยาสูบของสหราชอาณาจักร
สหราชอาณาจักรดูเหมือนจะเป็นประเทศเดียวในโลก ที่สนับสนุนให้ใช้บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์เป็นผลิตภัณฑ์ช่วยในการเลิกสูบบุหรี่มวน แต่ก็ไม่น่าแปลกใจเพราะแนวคิดเรื่อง “การลดอันตราย” มาจากนักจิตวิทยาชาวอังกฤษที่ได้รับทุนสนับสนุนจากบริษัทยาสูบปลายทศวรรษที่ 1970 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการคิดค้นบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ประเภทให้ความร้อน ในปี พ.ศ. 2541 (Elias J, Ling PM, 2018.)
เขาได้รับทุนจากอุตสาหกรรมยาสูบข้ามชาติถึง 2 แห่งในการวิจัยเพื่อหาผลิตภัณฑ์ที่ “ปลอดภัยกว่า” บุหรี่มวน “ผู้คนสูบบุหรี่เพราะต้องการนิโคติน แต่เสียชีวิตเพราะน้ำมันดิน” เป็นคำพูดที่เขาได้รับการจดจำมาจนทุกวันนี้
ในเวลาต่อมา หน่วยงานสาธารณสุขอังกฤษแถลงเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2558 ว่าบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ปลอดภัยกว่าบุหรี่มวน 95% ก็ได้รับการวิพากษ์ วิจารณ์อย่างรุนแรงจากวารสารการแพทย์ชั้นนำระดับโลกคือ The Lancet และ British Medical Journal
บทความในวารสาร British Medical Journal (Gornall J. 2015; McKee M and Capewell S, 2015.) โต้แย้งว่า รายงานของหน่วยงานสาธารณสุขอังกฤษมีจุดอ่อนมากมาย
ซึ่งแพทยสมาคมบริทิช (British Medical Association) คณะสาธารณสุขศาสตร์ของสหราชอาณาจักร ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (U.S. Centers for Disease Control and Prevention) สมาคมโรคปอดแห่งอเมริกา และองค์การอนามัยโลก ต่างมีความเห็นตรงกันข้ามกับหน่วยงานสาธารณสุขอังกฤษ
รายงานของหน่วยงานสาธารณสุขอังกฤษ มาจากการทบทวนงานวิจัย โดยการประชุมของ 12 คน จากการสืบค้นเกี่ยวกับผู้สนับสนุนการประชุม พบว่าหนึ่งในผู้สนับสนุน เคยได้รับทุนจากอุตสาหกรรมยาสูบข้ามชาติในการเขียนหนังสือเกี่ยวกับนิโคตินที่ใช้ในการลดอันตราย (The Lancet 2015)
การทบทวนงานวิจัยอย่างเป็นระบบ ซึ่งรายงานของหน่วยงานสาธารณสุขอังกฤษ ไม่ได้กล่าวถึงคือ หนึ่งในสาม (34%) ของงานวิจัย 76 ชิ้น ตีพิมพ์โดยนักวิจัยที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน การทบทวนอย่างเป็นระบบแสดงความกังวลเกี่ยวกับสารเคมีต่างๆ ที่มีอยู่ในบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสารบางชนิดก็มีอยู่ในบุหรี่มวน
การทบทวนอย่างเป็นระบบสรุปว่า “เนื่องจากปัญหามากมายในระเบียบวิธีวิจัย รวมทั้งการที่นักวิจัยมีผลประโยชน์ทับซ้อน และมีงานวิจัยจำนวนน้อย ซึ่งมีจำนวนตัวอย่างไม่มากพอ อีกทั้งความไม่สอดคล้อง ไม่มีความสม่ำเสมอ และผลวิจัยที่ขัดแย้งกัน รวมทั้งยังขาดข้อสรุปของผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว
จึงไม่สามารถมีข้อสรุปที่แน่ชัดเกี่ยวกับความปลอดภัยของบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ และไม่สามารถอ้างได้ว่าบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์มีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวน”
นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ความน่าเชื่อถือในหน่วยงานสาธารณสุขอังกฤษ เริ่มมีความไม่แน่ใจจากนักวิชาการ นักวิจัย นักสาธารณสุข และแพทย์ ทั้งในและนอกสหราชอาณาจักร
การที่หน่วยงานสาธารณสุขอังกฤษ ถูกยุบลงในเดือนสิงหาคม ปี ค.ศ. 2020 โดยมีองค์กรใหม่มาแทนที่ คือ สำนักงานพัฒนาสุขภาวะและความเหลื่อมล้ำ (Office for Health Improvement and Disparities - OHID) นั้นอาจจะมีหลายสาเหตุ
เช่น จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด 19 ที่ไม่สามารถควบคุมได้ แต่ความน่าเชื่อถือขององค์กรเสื่อมลงนับตั้งแต่สนับสนุนว่าบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์เป็นสิ่งที่ปลอดภัยกว่าบุหรี่มวน
เมื่อเวลาผ่านไป พร้อมกับหลักฐานเชิงประจักษ์จากงานวิจัยทั่วโลกที่บ่งชี้ถึงอันตรายของบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น รวมทั้งการเปิดโปงถึงความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานสาธารณสุขอังกฤษ และอุตสาหกรรมยาสูบข้ามชาติ จึงนำไปสู่การยุบองค์กร
นอกจากนี้ รายงานของสำนักงานสื่อสารมวลชนเชิงสืบสวน (The Bureau of Investigative Journalism) บ่งชี้ว่าหน่วยงานสาธารณสุขของอังกฤษ มีความสัมพันธ์กับองค์กรบังหน้าของอุตสาหกรรมยาสูบข้ามชาติ
ทั้งๆ ที่ สหราชอาณาจักรร่วมลงนามในสนธิสัญญานานาชาติ ซึ่งจำกัดการพบระหว่างอุตสาหกรรมยาสูบและรัฐมนตรี / เจ้าหน้าที่ทางด้านสาธารณสุข
เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2565 ผู้แทนจากสำนักงานพัฒนาสุขภาวะและความเหลื่อมล้ำ (OIHD) นำเสนอผ่านทางออนไลน์ สถานการณ์บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ของสหราชอาณาจักรต่ออนุกรรมาธิการฯ ในกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร หลังจากการนำเสนอมีการแลกเปลี่ยนและซักถามในประเด็นดังต่อไปนี้
เนื่องจากจำนวนงานวิจัยเกี่ยวกับบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์เพิ่มมากขึ้น และมีการค้นพบสารอันตรายต่อสุขภาพในบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ซึ่งไม่พบในบุหรี่มวน (Eaton DL, Kwan LY, Stratton K, 2018)
ดังนั้น การอ้างอิงว่าบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์มีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวน 95% ไม่น่าจะเป็นไปได้ ผู้นำเสนอจากสหราชอาณาจักรยอมรับข้อมูลดังกล่าว แต่เชื่อว่ายังมีความปลอดภัยกว่าบุหรี่มวน
ประเด็นต่อมา อัตราการสูบบุหรี่มวนทั่วโลกลดลงอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ ค.ศ. 2008 ก่อนที่บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์แบบให้ความร้อน จะเริ่มเข้าสู่ตลาดในปี ค.ศ. 2014 และมีการวิเคราะห์ว่า บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ถูกผลิตขึ้นมาเพื่อประโยชน์เชิงพาณิชย์ของอุตสาหกรรมยาสูบข้ามชาติ ไม่ใช่เพื่อสุขภาพของผู้บริโภค (Addiction at any cost, 2020)
สถิติในอังกฤษที่อัตราการสูบบุหรี่มวนลดลง ในขณะที่การใช้บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้น มั่นใจได้อย่างไรว่าการสูบบุหรี่มวนลดลงเป็นเพราะเปลี่ยนไปสูบบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์
ผู้นำเสนอจากสหราชอาณาจักรไม่สามารถกล่าวอย่างมั่นใจได้ว่า ความสัมพันธ์ (correlation) ระหว่างอัตราการสูบบุหรี่มวนที่ลดลง เป็นเพราะผู้สูบบุหรี่มวนเปลี่ยนไปสูบบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์แทน แต่กล่าวว่าน่าพอใจสำหรับนโยบาย ‘ลดอันตราย’ (Harm Reduction)
ประเด็นต่อมาคือ ควรจะทำอย่างไรเพื่อจัดตั้งกองทุนเยียวยาสำหรับผลกระทบต่อสุขภาพระยะยาวของผู้สูบบุหรี่ อิเล็กทรอนิกส์ โดยให้อุตสาหกรรมยาสูบข้ามชาติจ่ายเงินเข้ากองทุน
และอ้างถึงการที่รัฐสภาอังกฤษเสนอร่างกฎหมาย เพื่อจำกัดเพดานกำไรของอุตสาหกรรมยาสูบ เพื่อนำมาเป็นงบประมาณสำหรับการควบคุมยาสูบในอังกฤษ (All Parties Parliamentary Group on Smoking and Health, 2021)
ผู้นำเสนอบ่ายเบี่ยงที่จะตอบประเด็นนี้ แต่เบี่ยงเบนไปยังกรณีที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา (เมื่อมีการฟ้องร้องอุตสาหกรรมยาสูบ - Master Settlement) และให้ดูประเทศออสเตรเลียเป็นแบบอย่างในการจัดตั้งกองทุน
เป็นที่ชัดเจนว่า ผู้แทนจากสำนักงานพัฒนาสุขภาวะและความเหลื่อมล้ำ (OIHD) สะท้อนแนวคิดของการลดอันตราย และสนับสนุนอุตสาหกรรมยาสูบข้ามชาติ
สถานการณ์การแพร่ระบาดของบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่มเด็กและเยาวชนอังกฤษ บ่งชี้ถึงความหายนะทางสาธารณสุขที่กำลังเกิดขึ้นและสร้างความกังวลแก่ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์และสาธารณสุข และตัวการสำคัญที่ก่อปัญหานี้คือบริษัทยาสูบ
หลักฐานสำคัญคือหากบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์มีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวนเป็นความจริง เหตุใดอุตสาหกรรมยาสูบจึงไม่ยุติการผลิตบุหรี่มวน? การอ้างว่าบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์เป็นเทคโนโลยีใหม่ ปลอดภัยต่อสุขภาพกว่าบุหรี่มวน แต่บริษัทยาสูบก็ยังผลิตบุหรี่มวนโดยไม่มีการลดปริมาณใดๆ
สิ่งนี้บ่งบอกว่า ผู้ผลิตบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ ไม่มีความจริงใจใดๆ แต่มุ่งมั่นที่จะขาย สินค้าแห่งความตาย เท่านั้น
ผู้ที่มีวิจารณญาณคงไม่หลงคำพูดที่ โกหก หลอกลวงสังคม เฉไฉ ฉ้อฉล และมุ่งเป้าการตลาดไปยังเด็กและเยาวชน ของอุตสาหกรรมยาสูบและเครือข่ายบริวาร ดังที่กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐอเมริกาฟ้องอุตสาหกรรมยาสูบข้ามชาติ (United States vs. Philip Morris. D.O.J. Lawsuit. 1999.)
ประเทศนิวซีแลนด์
จากการสำรวจของกระทรวงสาธารณสุขล่าสุด พบว่าเยาวชนนิวซีแลนด์อายุ 15-17 ปี มีอัตราการสูบบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2 ในปี พ.ศ. 2561 เป็นร้อยละ 6 ในปี พ.ศ. 2564 ในขณะที่กลุ่มอายุ 18-24 ปี เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5 ในปี พ.ศ. 2561 เป็นร้อยละ 15 ในปี พ.ศ. 2564
ในขณะที่การสำรวจของหน่วยงานรณรงค์เพื่อปลอดควันยาสูบ 2025 (Action for Smokefree 2025 - ASH) พบว่า ชนเผ่าเมารีที่เป็นเยาวชนชายสูบบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์อย่างน้อยเดือนละครั้ง มีอัตราเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 19 ในปี พ.ศ. 2562 เป็นร้อยละ 30 ในปี พ.ศ. 2564
สาเหตุหนึ่งของการแพร่ระบาดในกลุ่มเยาวชนนิวซีแลนด์ มาจากจำนวนที่เพิ่มขึ้นของร้านขายบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ จาก 666 แห่งในเดือนกุมภาพันธ์ ปี พ.ศ. 2565 เป็นมากกว่า 950 แห่งในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน หรือเกือบร้อยละ 40
ช่องโหว่ทางกฎหมาย ทำให้มีการลักลอบขายผลิตภัณฑ์บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์แก่เยาวชน เนื่องจากภายใต้กฎหมายนิวซีแลนด์ ร้านพิเศษเฉพาะเท่านั้นจึงจะขายผลิตภัณฑ์บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ได้ แต่ร้านสะดวกซื้ออื่นๆ และสถานีเติมน้ำมัน จำกัดให้ขายบุหรี่ที่ไม่ดึงดูดเยาวชน
และร้านสะดวกซื้อเหล่านี้ละเมิดกฎหมายด้วยการแบ่งแยกพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วนเพื่อขายผลิตภัณฑ์บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ด้วย ซึ่งร้านสะดวกซื้อเหล่านี้มีอัตราร้อยละ 15 ที่ละเมิดกฎหมาย (Rowe D, 2022.)
จำนวนความหนาแน่นของร้านขายบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์เป็นสิ่งที่น่าตกใจ บางพื้นที่มีจำนวนถึง 15 แห่งภายในรัศมี 1 กิโลเมตร สิ่งนี้บ่งชี้ว่าการแพร่ระบาดของบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่มเยาวชน เป็นเพราะร้านค้าผลิตภัณฑ์บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์มีอยู่แพร่หลายทุกหนแห่ง
ในขณะเดียวกัน นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย บ่งชี้จากการทบทวนวรรณกรรมงานวิจัยจากทั่วโลกจำนวน 200 ชิ้นว่า เยาวชนที่สูบบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ซึ่งไม่เคยสูบบุหรี่มวนมาก่อน มีโอกาสเสี่ยงเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าที่จะสูบบุหรี่มวนในอนาคต
เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่สูบบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ และในประเทศออสเตรเลียผู้ใช้บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์แบบ นิโคตินเหลว จะต้องมีใบสั่งจากแพทย์เท่านั้นจึงจะได้รับอนุญาตให้ใช้บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ได้
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย โอทาโก (University of Otago) ในนิวซีแลนด์ พบว่าการเพิ่มขึ้นของเยาวชนผู้ใช้บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ในนิวซีแลนด์ มีมากกว่าจำนวนผู้เลิกสูบบุหรี่มวน นั่นหมายความว่ามีจำนวนเยาวชนผู้ใช้บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นมากกว่าจำนวนผู้เลิกสูบบุหรี่มวน ดังนั้น จะอ้างไม่ได้ว่าบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์เป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยในการเลิกสูบบุหรี่มวน
ปัจจุบันมีร่างกฎหมาย ‘สิ่งแวดล้อมปลอดบุหรี่และผลิตภัณฑ์ควบคุม’ พิจารณาโดยคณะกรรมาธิการของรัฐสภา ซึ่งมุ่งลดปริมาณความเข้มข้นของนิโคตินในบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ ห้ามร้านค้าแสดงผลิตภัณฑ์บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ที่มีสีสันดึงดูดเยาวชน ลดจำนวนร้านค้าในชุมชน
รวมถึงห้ามขายผลิตภัณฑ์บุหริอิเล็กทรอนิกส์ที่มีรสชาติต่างๆ เช่น รสผลไม้ โดยร่างกฎหายฉบับนี้มีจุดประสงค์เพื่อยุติการแพร่ระบาดของผลิตภัณฑ์บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่มเยาวชน
มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายว่า ควรเพิ่มอายุของผู้ที่จะซื้อผลิตภัณฑ์ยาสูบและบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์เป็น 21 ปี และควรจะต้องมีใบสั่งจากแพทย์เท่านั้นสำหรับผู้ที่ต้องการใช้บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์
สรุป
ประเทศที่พัฒนาแล้วเช่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และนิวซีแลนด์ ต่างอนุญาตให้ผลิตภัณฑ์บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์จำหน่ายได้อย่างถูกกฎหมาย แต่ปัญหาคือการแพร่ระบาดของบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่มเด็กและเยาวชนในประเทศเหล่านี้ ซึ่งสาเหตุสำคัญคือการตลาดมุ่งเป้าไปยังกลุ่มเด็กและเยาวชน
ในขณะที่การสำรวจการบริโภคยาสูบระดับโลกในเยาวชน (Global Youth Tobacco Survey) ซึ่งเป็นการสำรวจเยาวชนอายุ 13 ถึง 15 ปี ใน 75 ประเทศ พบว่า ประเทศที่มีนโยบายห้ามใช้ผลิตภัณฑ์บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์มีอัตราการใช้บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์น้อยกว่า 0.6 เท่าเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่ไม่มีนโยบายห้ามบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ (Sreeramareddy CT, Acharya K, Manoharan A, 2022)
ดังนั้น ประชาชนทั่วไป รวมทั้งเยาวชน ควรที่จะได้รับทราบข้อมูลที่เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์และเป็นปัจจุบัน (up-to-date) ในการพิจารณาว่าบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์มีประโยชน์ในการช่วยเลิกสูบบุหรี่จริงหรือไม่ และมีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวนจริงหรือไม่
ในขณะเดียวกัน การพิจารณานโยบายที่เหมาะสมสำหรับบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ จำเป็นที่จะต้องพิจารณาอย่างครอบคลุมในทุกมิติ เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะ
เอกสารอ้างอิง
All Parties Parliamentary Group on Smoking and Health, 2021. Smokefree 2030 Fund, page 12. Available at: https://cdn.ash.ten4dev.com/uploads/APPGTCP2021.pdf?v=1652361624
Addiction at any cost, 2020. Chapter 2 page 27-28. Available at: https://exposetobacco.org/wp-content/uploads/STOP_Report_Addiction-At-Any-Cost.pdf
Eaton DL, Kwan LY, Stratton K (editors), 2018. Public Health Consequences of E-cigarettes. Toxicology of e-cigarette constituents. Available at: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK507184/
Elias J, Ling PM, 2018. Invisible smoke: third-party endorsement and the resurrection of
heat-no-burn tobacco products. Tob Control 27 (Supl 1): s96-s101.
Etter L, 2021. The Devil’s Playbook. Crown, an imprint of Random Hourse, New York
Gornall J. 2015. Public Health England’s troubled trail. BMJ 351: h5826.
doi: https://doi.org/10.1136/bmj.h5826 (Published 03 November 2015)
McKee M and Capewell S, 2015. Evidence about electronic cigarettes: a foundation
built on rock or sand? British Medical Journal 351: h4863 doi: 10.1136/bmj.h4863
Rowe D, 2022. Steep nationwide rise in vape stores fuelling a youth vaping ‘epidemic’. The
Spinoff. Available at: https://thespinoff.co.nz/society/10-10-2022/steep-nationwide-rise-in-vape-stores-fuelling-a-youth-vaping-epidemic
Sreeramareddy CT, Acharya K, Manoharan A, 2022. Electronic cigarettes use and ‘dual use’
among the youth in 75 countries: estimates from Global Youth Tobacco Surveys (2014-2019). Sci Rep 12: 20967. Available at: https://doi.org/10.1038/s41598-022-25594-4
The Lancet 2015. Editorial. E-cigarettes: Public Health England’s evidence-based confusion.
Vol. 386: 9996. August 29, 2015. DOI: https://doi.org/10.1016/S0140-6736(15)00042-2
Available at: https://www.thelancet.com/journals/lancet/article/PIIS0140-6736(15)00042-2/fulltext